วัฒนธรรมเคป็อป (K-Pop)

โดย ชัยดิลก อัสสพันธ์

ยุคโลกาภิวัฒน์โลกไร้พรมแดนทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว สินค้าและวัฒนธรรมจากประเทศหนึ่งหลั่งไหลสู่อีกประเทศหนึ่ง หรือจากซีกโลกหนึ่งไปสู่อีกซีกโลกหนึ่งอย่างมากมายและง่ายดาย กระแสอเมริกานิยม (Americanization) ที่เคยเกิดขึ้นหลายสิบปีก่อนอาจกล่าวได้ว่าคือ ตัวอย่างแรกๆ ของกระบวนการผ่อนถ่ายขายสินค้าผ่านการแทรกซึมของวัฒนธรรมอเมริกัน โดยมีสินค้าฮอลลีวูด (Hollywood Product) เป็นตัวนำร่อง

เมื่อลมพัดหวนกลับมายังฝั่งตะวันออก วัฒนธรรมเอเชียกลายเป็นจุดสนใจของชาวโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศจีนกลายเป็นพี่ใหญ่แห่งเอเชียที่ดูจะเป็นตัวเต็ง เพราะเป็นประเทศแรกของเอเชียที่เริ่มเผยแพร่วัฒนธรรมจีนผ่านภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ส่งไปจำหน่ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่อมาก็กระแสนิยมญี่ปุ่น ที่เริ่มมาแรงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สร้างมูลค่าและค่านิยมอันดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นได้มากขึ้น และกลายเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมในโลกอีกประเทศหนี่ง

จนกระทั่งในปัจจุบันที่จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวัฒนธรรมเคป็อป หรือที่เรียกกันว่า  Korean pop culture ในปัจจุบันได้รับความนิยม มีอิทธิพล และแพร่กระจายไปทั่วเอเชีย จากเดิมที่เกาหลีใต้เป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่ยูเนสโกเคยจัดอันดับให้เป็นหนึ่งประเทศยากจนเมื่อหลายสิบปีก่อน เพราะเป็นประเทศที่ผ่านสงครามซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมที่ไม่โดดเด่นเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านจีน หรือญี่ปุ่นที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง แต่เกาหลีใต้ได้พยายามประชาสัมพันธ์ตัวเอง และเผยแพร่วัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลงต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมผ่านการวางแผนยุทธศาสตร์ มีการเตรียมความพร้อมที่ชัดเจนและจริงจัง จนกลายเป็นแบรนด์สินค้าวัฒนธรรมที่มีศักยภาพอย่างยิ่งในการเจาะตลาดเอเชีย สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล โดยมีวัฒนธรรมหรือกระแส K-Pop ที่เต็มไปด้วยศิลปินหรือนักร้องเกาหลี (Idol) ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเดี่ยวหรือศิลปินกลุ่ม และเป็นที่นิยมอย่างถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จัดเป็นผลผลิตชั้นยอดของเกาหลีใต้ที่พัฒนาให้ศิลปินเหล่านี้กลายเป็น “แบรนด์ทางวัฒนธรรม”



นักสังคมวิทยา จอห์น ลี ได้อธิบายถึงการได้รับความนิยมของวัฒนธรรมเคป็อปนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยลักษณะการรวมแนวทางดนตรีที่ทันสมัยเหมือนฝั่งตะวันตกไม่ว่าจะเป็น อิเล็กทรอนิกส์ อาร์แอนบี และ       ฮิปฮอบ เข้าด้วยกันจนเกิดเป็นลักษณะดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง การเต้นที่พร้อมเพรียงกันของ         วงเกิร์ลกรุ๊ปและบอยแบรนด์ อีกทั้งเพลงยังมีท่วงทำนองที่เข้าถึงง่ายผ่านการร้องโดยศิลปินที่มีหน้าตาสวยหล่อ และจะไม่มีเรื่องเซ็ก รอยสัก, เจาะ, ยาเสพติด เหมือนศิลปินฝั่งทางด้านตะวันตก สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นลักษณะของวัฒนธรรมเกาหลีสมัยใหม่  จึงทำให้วัฒนธรรมเคป็อปนั้นได้รับความนิยมไปทั่วทั้งเอเชียและทั่วโลกในปัจจุบัน โดยผ่านความร่วมมือระหว่าง รัฐบาล สื่อ และผู้ประกอบการด้านบันเทิงต่างๆ ซึ่งมีนโยบายการจัดการที่จริงจัง ในการนำเอาวัฒนธรรมเคป็อปเผยแพร่ไปยังมุมต่างๆ ของโลก ทำให้จากหลายปีที่ผ่านมาวัฒนธรรมเคป็อปได้รับความนิยมและการตอบรับที่ชัดเจน ถือได้ว่าเป็นความประสบความสำเร็จที่สำคัญของเกาหลีใต้ก็ว่าได้ เพราะนอกเหนือไปจากความนิยมและผลตอบรับอย่างมากจากแฟนๆ ในเอเชียแปซิฟิก ยังพบว่าในส่วนของยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ตะวันออกกลาง ก็ได้รับความนิยมและการตอบรับจากกระแสวัฒนธรรมเคป็อปที่ได้แพร่กระจายมาเช่นเดียวกัน

หากพิจารณามองสังคมและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้เมื่อ 20 ปีก่อน ก็จะสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ได้ไหลผ่านสังคมของเกาหลีใต้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งการลดลงของจริยธรรมขงจื้อ การปฏิเสธพิธีกรรมและค่านิยมที่ดั้งเดิมที่มองว่าเราควรที่จะให้เกียรติกับร่างกายที่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ให้มา ไม่ควรที่จะแสดงร่างกายของตน ยึดถือใบหน้า รูปร่างที่ดั้งเดิมของตนเองโดยไม่ตกแต่งหรือศัลยกรรมเพื่อความงาม แต่ในปัจจุบันผู้คนในเกาหลีใต้นิยมความสวยความงามเพิ่มมากขึ้น โดยจะสังเกตได้จาก ดารา นักร้องหรือไอดอล ต่างมีหน้าตาที่สวยหล่อ สูง ผอม ด้วยการทำศัลยกรรมจนกลายเป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งที่ดึงดูดให้คนทั่วโลกต้องการเข้ามาทำศัลยกรรมที่เกาหลีใต้ จากการพิจารณาสังคมและวัฒนธรรมข้างต้น ก็จะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ผ่านการพัฒนาในกระบวนการทำให้วัฒนธรรมเป็นสินค้าของเกาหลีใต้ ซึ่งมีการวิเคราะห์ความเป็นมาของวัฒนธรรมเกาหลีใต้สมัยใหม่ว่า พวกเขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการตกเป็นอาณานิคมของประเทศญี่ปุ่น และการได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอเมริกาและโลกาภิวัฒน์ที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เกิดการพัฒนาและหลอมรวมเกิดเป็นวัฒนธรรมเกาหลีสมัยใหม่ ผ่านระบบการทำงานของนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ เพลง ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ  นอกจากการหลอมรวมวัฒนธรรมจนเกิดเป็นลักษณะของวัฒนธรรมเกาหลีสมัยใหม่แล้ว ยังมีการพัฒนาที่ได้รับอิทธิพลด้านกลยุทธ์และการวางแผนที่ทำให้เกาหลีใต้นำมาปรับปรุงและพัฒนามาตลอด ทั้งการออกแบบสินค้าจากประเทศเดนมาร์ก เทคโนโลยีการผลิตจากประเทศเยอรมัน และกลยุทธ์การตลาดจากประเทศญี่ปุ่น



ดังนั้นวัฒนธรรมเคป็อปจึงถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นผลผลิตของกระบวนการครอบโลกที่เรียกว่า โลกาภิวัฒน์ และเป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากการผลิตของสื่อมวลชนและสินค้าในระบบทุนนิยมที่ได้รับการผลิตคิดค้น นำเสนอและเผยแพร่ในสังคมหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยหากเรามองวัฒนธรรมสมัยใหม่เพียงผิวเผินก็อาจทำให้เราเกิดความไม่เข้าใจ มีอคติกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ แต่อย่าลืมว่าวัฒนธรรมที่สูญสลายไปในอดีต สาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าไม่สามารถปรับตัวกับกระแสปัจจุบันได้ ดังนั้นเราต้องรู้เท่าทันและเข้าใจมัน ในเนื้อแท้ มิใช่เปลือกนอกที่กลวงเปล่า วัฒนธรรมสมัยใหม่จึงเป็นสีสันของยุคสมัยใหม่ เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง เพราะวัฒนธรรมไม่ใช่ค่านิยม อุดมคติ หรือความใฝ่ฝัน วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งประเสริฐหรือเครื่องมือบอกถึงความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตของคน วัฒนธรรมคือสิ่งที่เป็นธรรมดาสามัญหรือวิถีธรรมดาสามัญของโลกและชีวิตเท่านั้นเอง


อ้างอิง 

Sohn Ji-young.  2557.  “Understanding contemporary South Korea through K-pop.”[ออนไลน์].     สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2560, จาก: http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20140714000987  .

“เบื้องหลังความสำเร็จแห่กระแส K-POP กับมนตรา 3 ประการ.”[ออนไลน์].  2552.  สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2560, จาก http://forums.soshifanclub.com/index.php?showtopic=24772 

สุภัทรา สุชชู.  2549.  “Hallyu คลื่นความมั่งคั่งของเกาหลี.”[ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2560, จาก http://www.positioningmag.com/ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น