เชอร์ล็อก โฮมส์ (Sherlock Holme)

PW Choun | 00:12 |
โดย ธัญพิชชา  ประพัศรางค์

เชอร์ล็อก โฮมส์ อมตะนวนิยายแนวสืบสวนที่โด่งดังไปทั่วโลก เนื่องด้วยบุคลิกของโฮมส์ ที่นักเขียนนิยาย สร้างขึ้นมาให้มีบุคลิกที่น่าหลงใหล ทั้ง ฉลาด สุขุม ถึงขนาดที่มีกลุ่มแฟนคลับคนรักเชอร์ล็อก โฮมส์ เกือบพันกลุ่มทั่วโลก โดยถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ซีรีย์ ละครวิทยุ และสื่ออื่นๆ จำนวนมาก จนกระทั่งบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ระบุว่า เชอร์ล็อก โฮมส์เป็นตัวละครที่มีผู้แสดงมากที่สุด ถึง 75 คน ซึ่งนวนิยายเรื่องนี้ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากเชื่อว่าเชอร์ล็อก โฮมส์มีตัวตนจริงๆ และได้เขียนจดหมายถึงโฮมส์ตามที่อยู่ที่ปรากฏในนิยาย เชอร์ล็อก โฮมส์ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักสืบ

เชอร์ล็อก โฮมส์ ประพันธ์โดย เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ เป็นนักเขียนและนายแพทย์คนสำคัญของสกอตแลนด์ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากนายแพทย์โจเซฟ เบลล์ โดยเขาสามารถระบุอาการและโรคของคนไข้ได้เพียงจากการสังเกตสภาพภายนอก หรือสามารถอธิบายเรื่องราวได้มากมายจากข้อสังเกตเพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้โคนัน ดอยล์ ทึ่งมาก อีกทั้งนายแพทย์เบลล์ยังเคยช่วยเหลือการสืบสวนคดีของตำรวจบางคดีอีกด้วย

ภาพวาด เชอร์ล็อก โฮมส์
ในนิตยสารสแตรนด์ ค.ศ. 1891
ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/

โคนัน ดอยล์ ได้แต่งเรื่องเชอร์ล็อก โฮมส์ ไว้ทั้งสิ้น 60 เรื่อง เป็นเรื่องยาว 4 เรื่อง และเรื่องสั้น 56 เรื่อง โดยวางเรื่องให้นายแพทย์จอห์น เอช. วอตสัน หรือหมอวอตสัน เพื่อนสนิทคู่หูของโฮมส์ เป็นผู้บรรยายเรื่อง แต่ก็มีอีก 2 เรื่องที่โฮมส์เล่าเอง และอีก 2 เรื่องเล่าโดยผู้อื่น โดยเหตุการณ์ในนิยายจะอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1878 – 1903 และคดีสุดท้ายเกิดในปี ค.ศ. 1914

 แต่แม้นิยายเรื่องนี้จะโด่งดังไปทั่วโลก ก่อนที่จะได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือนั้น นิยายเชอร์ล็อก โฮมส์ ตอนแรก เรื่อง แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) เคยถูกหนังสือพิมพ์ต่างๆปฏิเสธถึง 3 แห่ง โคนัน ดอยล์ จึงได้ส่งนิยายเรื่องนี้ให้สำนักพิมพ์ Ward Lock & Co แล้วหัวหน้ากองบรรณาธิการจึงเอาต้นฉบับให้ภรรยาตัดสิน ปรากฏว่าภรรยาเขาชอบผลงานนี้มาก เชอร์ล็อก โฮมส์จึงถือกำเนิดในที่สุด เรื่องแรก ตีพิมพ์ในหนังสือ Beeton’s Christ mas Annual ในปี ค.ศ. 1837 เรื่องที่สองตีพิมพ์ในหนังสือ Lippincoff’s Monthly Magazine ในปี ค.ศ. 1890 หลังจากนั้น ปี ค.ศ. 1891 ได้ตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ประจำ นิตรสาร The Strand ทำให้นิยายเรื่องนี้มีผลตอบรับดีมากจนคาดไม่ถึง

ในตอนแรก ตอน แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) ได้เล่าถึงการเจอกันของตัวละครเอกทั้งสองคือ โฮมส์ และ หมอวอตสัน โฮมส์เป็นนักสืบ ส่วนหมอวอตสันต้องการพักผ่อนหลังจากเกษียนตัวเองจากสงครามอัฟกานิสถาน ทั้งสองรู้จักกันครั้งแรกเนื่องจากทั้งสองต้องการหาผู้ร่วมเช่าห้องพักด้วยกันในกรุงลอนดอน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งสองได้เช่าชั้นสองของบ้านมิสซิสฮัดสัน ตั้งอยู่ที่ 221B ถนนเบเกอร์  แรกนั้นๆหมอวอตสันได้รู้สึกถึงความแปลกของโฮมล์ แต่เมื่อคุ้นเคยกันก็เริ่มเข้าใจในตัวโฮมส์ และมองเห็นความสำคัญของสิ่งที่โฮมส์ทำ นับจากนั้นมาหมอวอตสันก็ได้ร่วมในการสืบคดีของโฮมส์


รูปแผนผังบ้าน 221B
ที่มา : http://www.dazui.com/Web/

เชอร์ล็อก โฮมส์ มีชื่อเต็มว่า วิลเลียม เชอร์ล็อก สก๊อต โฮลมส์ เป็นชาวอังกฤษ  มีนิสัยรักสันโดษ แต่ก็ยังไม่เท่าพี่ชาย คือ ไมครอฟต์ โฮมส์ ที่คอยช่วยเหลือในบางคดี เชอร์ล็อก มีรูปร่างผอมสูง จมูกโด่งเป็นสันเหมือนเหยี่ยว มีความรู้รอบตัวในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเคมี ฟิสิกส์ และความรู้เกี่ยวกับพืชมีพิษตระกูลต่าง ๆ และเขายังเก่งเรื่องเล่นไวโอลิน แต่ไม่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์เลย โฮมส์มีศัตรู ชื่อ ศาสตราจารย์เจมส์ มอริอาร์ตี ผู้ที่ปราดเปรื่องด้านอาชญากรรม อีกทั้งยังเป็นตัวการเบื้องหลังในบางคดีที่เกิดขึ้นอีกด้วย

โคนัน ดอยล์ ได้บรรยายถึงพื้นฐานการศึกษาและทักษะของโฮมส์ไว้ในนิยายตอนแรก แรงพยาบาท ว่าเขาเคยเป็นนักศึกษาสาขาเคมี ที่สนใจไปสารพัด โดยเฉพาะวิชาความรู้ในการคลี่คลายคดีอาชญากรรม บันทึกคดีแรกของโฮมส์ที่ได้เขียน เรื่อง เรือบรรทุกนักโทษ (Gloria Scott) ได้เล่าถึงถึงสาเหตุที่ทำให้โฮมส์หันมายึดถืออาชีพนักสืบ คือเขามักใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การสังเกตและการทดลอง มาใช้ประกอบในการพิจารณาคดีอาชญากรรมเสมอ แม้ว่าเขาจะชอบปกปิดเอาไว้ และมักสร้างความประหลาดใจแก่ผู้อื่นโดยค่อยๆเผยปมคดีให้ทราบทีละน้อย

ในเรื่องยาว แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) หมอวอตสันเคยประเมินทักษะต่าง ๆ ของโฮมส์ไว้ ดังนี้
1. ความรู้ด้านวรรณกรรม — น้อยมาก
2. ความรู้ด้านปรัชญา — ไม่มี
3. ความรู้ทางดาราศาสตร์ — ไม่มี
4. ความรู้ด้านการเมือง — น้อยมาก
5. ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ — ไม่แน่นอน ชำนาญพิเศษด้านพืชมีพิษและฝิ่น แต่ไม่รู้ด้านการทำสวน
6. ความรู้ด้านธรณีวิทยา — ชำนาญ แต่มีข้อจำกัด สามารถบอกความแตกต่างระหว่างดินแต่ละชนิด เช่นหลังจากออกไปเดินเล่น สามารถระบุตำแหน่งที่ได้รับรอยเปื้อนดินบนกางเกงได้ว่ามาจากส่วนไหนของลอนดอน โดยดูจากสีและลักษณะของดิน
7. ความรู้ด้านเคมี — ยอดเยี่ยม
8. ความรู้ด้านกายวิภาค — แม่นยำ แต่ไม่เป็นระบบ สันนิษฐานได้ว่ามาจากการศึกษาด้วยตนเอง
9. ความรู้ด้านอาชญวิทยา — กว้างขวาง ดูเหมือนจะรู้จักเหตุสะเทือนขวัญอย่างละเอียดทุกเรื่องในรอบศตวรรษ
10. ความรู้ด้านดนตรี — เล่นไวโอลินได้ดีมาก และยังเป็นเจ้าของไวโอลินสตราดิวาเรียส อันมีชื่อเสียง
11. เป็นนักมวยและนักดาบ
12. มีความรู้กฎหมายอังกฤษเป็นอย่างดี
ในนิยายตอนอื่นๆเช่น ตอน ความลับที่หุบเขาบอสคูมบ์ (The Boscombe Valley Mystery) โฮมส์ก็แสดงให้เห็นถึงความรู้เกี่ยวกับยาสูบเป็นอย่างดี ตอน รหัสตุ๊กตาเต้นรำ (The Dancing Man) โฮมส์ได้แสดงถึงทักษะในการถอดรหัส ส่วนความสามารถในการปลอมตัวของโฮมส์ได้ใช้ประโยชน์หลายครั้ง เช่น การปลอมเป็นกะลาสีในตอน จัตวาลักษณ์ (The Sign of the Four) เป็นนักบวชผู้ถ่อมตนใน เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย (A Scandle in Bohemie) เป็นคนติดยาใน ตอน ชายปากบิด (The Man with the Twisted Lip) เป็นพระชาวอิตาลีในตอน ปัจฉิมปัญหา (The Final Problem) หรือแม้แต่ปลอมเป็นผู้หญิงในตอน เพชรมงกุฎ (The Mazarin Stone) เป็นต้น

โฮมส์มีความสามารถในการวิเคราะห์หลักฐานทางกายภาพอย่างถูกต้องแม่นยำ กระบวนการตรวจสอบหลักฐานของเขามีหลายวิธี เช่น การเก็บรอยรองเท้า รอยเท้าสัตว์ หรือรอยล้อรถจักรยาน เพื่อวิเคราะห์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเกิดอาชญากรรม หรือการวิเคราะห์ประเภทของยาสูบเพื่อระบุตัวตนของอาชญากร อีกทั้งโฮมส์เคยตรวจสอบร่องรอยผงดินปืน และเปรียบเทียบกระสุนที่พบในที่เกิดเหตุ ทำให้แยกแยะได้ว่าฆาตกรมีสองคน นอกจากนี้ โฮมส์ยังเป็นคนแรกๆ ที่มีแนวคิดในการตรวจสอบลายนิ้วมือ

โฮมส์มีอารมณ์แปลก บางทีก็เศร้าซึม พูดน้อย บางทีก็ร่าเริง หมอวอตสัน เพื่อนสนิทของเชอร์ล็อก โฮมส์ ได้บรรยายถึงลักษณะต่างๆของโฮมส์ไว้ในบันทึกคดี อย่างเช่น ในเวลาที่กำลังครุ่นคิดเรื่องคดี จะไม่ทานข้าวเช้า ชอบทดลองเคมี แล้วทิ้งข้าวของในห้องกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ โฮมส์สูบไปป์จัดมาก ชอบแกล้งตำรวจโดยการให้ข้อมูลปลอมหรือปกปิดหลักฐานบางอย่าง แต่แม้โฮมส์จะชอบกลั่นแกล้งตำรวจ เขาก็ยกความดีความชอบในคดีให้แก่ฝ่ายตำรวจอยู่เสมอ เขาเป็นมิตรที่ดีของสกอตแลนด์ยาร์ดโดยเฉพาะสารวัตรเลสเตรด มีความเป็นสุภาพบุรุษและให้เกียรติผู้หญิงมาก

แต่นิสัยที่หมอวอตสันเห็นว่าเลวร้ายและรับไม่ได้เลยของโฮมส์ ก็คือ การที่โฮมส์ชอบเสพโคเคนกับมอร์ฟีน ซึ่งวอตสันเห็นว่าเป็นความชั่วประการเดียวของเขาโฮมส์ยังเป็นนักแสดงที่เก่งมาก เพื่อดึงความสนใจของผู้ต้องสงสัย เพื่อไม่ให้เห็นหลักฐานบางอย่าง นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า โฮมส์เป็นนักอ่าน นักศึกษา มีความรู้ด้านอาชญวิทยาอย่างกว้างขวาง และให้ความนิยมนับถือบรรดานักสืบผู้ชำนาญเป็นอย่างมาก คำพูดของโฮมส์ที่ทำให้ผู้อ่านติดปากกันดี ก็คือ "ถ้าเราตัดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งหมดออกไป สิ่งที่เหลืออยู่ ไม่ว่ามันจะดูเหลือเชื่อเพียงใด แต่มันก็เป็นความจริง"

มีบางเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า หมอวอตสันประเมินโฮมส์ผิดไปบ้าง เช่น เหตุการณ์ในตอน เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย ซึ่งโฮมส์สามารถตระหนักถึงความสำคัญของเคานต์ฟอนแครมได้ทันที หรือในหลาย ๆ คราวที่โฮมส์มักเอ่ยอ้างถึงถ้อยคำในพระคัมภีร์ไบเบิล เชกสเปียร์ หรือเกอเธ่ และโฮมส์เคยบอกกับหมอวอตสันว่า เขาไม่สนใจว่าโลกหรือดวงอาทิตย์จะหมุนรอบใครกันแน่ เพราะมันไม่มีประโยชน์ต่อการคลี่คลายคดีสักนิด

เชอร์ล็อก โฮมส์ ไม่ว่าบุคลิกต่างต่างๆของโฮมส์ ความฉลาด ความมีเสน่ห์ของตัวละครและนิยาย  จึงทำให้เป็นนิยายที่ทรงอิทธิพลต่อวรรณกรรมและการแสดงในประเภทรหัสคดีจำนวนมาก อย่างเช่น การ์ตูนยอดฮิต เรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ผู้แต่งการ์ตูนเรื่องนี้ยังปรากฏให้เห็นว่า คุโด้ ชินอิจิ ตัวเอกของการ์ตูนเรื่องนี้คลั่งไคล้เชอร์ล็อก โฮมส์มาก แม้แต่ชื่อตัวการ์ตูนยอดนักสืบจิ๋ว ชื่อ เอโดงาวะ โคนัน ก็มาจากชื่อผู้แต่งเชอร์ล็อก โฮมส์ นั่นก็คือ เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ นั่นเอง รวมทั้งยังมีการสร้างพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์ ตั้งขึ้นในตำแหน่งที่น่าจะเป็นบ้านในนวนิยายในกรุงลอนดอน นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นสำหรับตัวละครในนิยาย


รูปพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์
ที่มา : http://bookmole.blogspot.com/ 

เชอร์ล็อก โฮมส์ ได้ให้ข้อคิดหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การขยันหาความรู้เพื่อพัฒนาอาชีพตนเอง การสังเกต การทดลองผิดถูก ความพยายามของโฮมส์และความตั้งใจของโฮมส์ทำให้เขาสามารถคลี่คลายคดีได้สำเร็จ ในชีวิตจริงก็เช่นกัน หากนำความตั้งใจศึกษาหาความรู้มาพัฒนาตนเอง ตั้งใจทำงาน  งานทุกอย่างก็จะสำเร็จราบรื่น เหมือนดั่งการคลี่คลายบันทึกคดี เชอร์ล็อก โฮมส์


อ้างอิง

วิกิพีเดีย. (2559).  เชอร์ล็อก โฮมส์. ค้นข้อมูล 4 มีนาคม 2560, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/เชอร์ล็อก_โฮมส์

เด็กดีดอทคอม. (2558). 19 ข้อที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับ "ยอดนักสืบเชอร์ล็อก โฮล์มส์". ค้นข้อมูล 4 มีนาคม 2560, จาก https://www.dek-d.com/writer/37230/

ดูนี่. (ม.ป.ป.). สาวก Sherlock Holmes ห้ามพลาด สิ่งที่ไม่เคยรู้ และพิพิธภัณฑ์ Holmes. ค้นข้อมูล 4 มีนาคม 2560, จาก https://www.doonee.com/inside/100

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น