หน้ากาล ทวารบาลในงานสถาปัตยกรรมชวา

โดย นลพรรณ พิมพ์ทิพย์

ในช่วงยุคประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของเอเชียตะวันออกเชียงใต้ได้มีความนิยมอย่างแพร่หลายของปราสาทหินที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นที่อาณาจักรขอม จาม พม่า ไทย หรือแม้กระทั่งในเกาะชวาที่ตั้งอยู่ค่อนข้างห่างไกลจากทวีปหลักทั้งยังล้อมรอบด้วยทะเล   บนเกาะนี้จะพบสถาปัตยกรรมที่เป็นปราสาทหินกระจายตัวอยู่มากเนื่องจากได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธและพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดียผ่านทางช่องแคบมะละกาเข้ามาผสมผสานกับรูปแบบท้องถิ่นก่อเกิดเป็นศิลปะที่มีรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะตัว

งานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกกออกจากกันได้  ปราสาทหินจึงถูกประดับตกแต่งด้วยรูปปั้นและลายแกะสลักมากมายไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นราศกทวารบาล สิงห์ทวารบาล ลายมกร ลายต้นปาริชาติ รวมทั้งหน้ากาลหรืออีกชื่อหนึ่งคือเกียรติมุขที่อยู่เหนือกรอบประตู ซุ้มหลอก และหน้าต่าง ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ทางเข้าของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  มีลักษณะเป็นหน้าของอสูรหรือสิงห์ที่ดุร้าย ไม่มีลำตัวจะมีเพียงแต่แขนสองข้างเท่านั้น



เกียรติมุขหรือกีรติมุข มีความหมายว่า ใบหน้าอันทรงเกียรติ หรือหากแปลอีกนัยหนึ่งจะได้ความหมายว่า ทางเข้าของอาคารด้านหน้า  ส่วนคำว่าหน้ากาลนั้นย่อมมาจากคำว่า กาละ เทพอสูรที่ปรากฏอยู่ในตำนานความเชื่อของศาสนาฮินดู  มีผู้สันนิษฐานว่าหน้ากาลที่เก่าแก่ที่สุดอาจจะเกิดมาจากความเชื่อของชาวอารยันที่นับถือเทพเจ้าจากธรรมชาติทั้งยังยึดถือในศาสนาพราหมณ์เป็นอย่างมาก  และก็มีอีกความเชื่อหนึ่งที่เชื่อว่าหน้ากาลมีที่มากจากจีนหรือธิเบต เนื่องจากการพบหลักฐานสำคัญคือ หน้ากากเต้าเจ้หรือเทาเที่ยซึ่งหมายถึงเทพเจ้าผู้ตะกละ บนเครื่องสำริดของจีน

เทาเที่ย (饕餮)  เป็นมังกรลำดับที่ห้าในบรรดาลูกมังกรทั้งเก้าของจีน  มีรูปลักษณ์เหมือนหมาป่า นิสัยดุร้าย ชอบกินดื่มและตะกละ  มักถูกนำไปประดับบนภาชนะสำริดหรือบริเวณด้านข้างของสะพานเพื่อป้องกันน้ำท่วม

เทาเที่ย 

ส่วนตามตำนานของฮินดูนั้นเล่าว่ามียักษ์ตนหนึ่งนาม ชลันธร ได้รับพรจากพระศิวะให้ไม่มีผู้ใดสามารถต่อกรได้  ก่อเหตุระรานผู้อื่นไปทั่วจนกระทั้งได้ส่งราหูไปส่งสารท้ารบกับพระศิวะว่าหากตนชนะก็จะขอรับพระนางปารพตี ชายาพระศิวะมาเป็นมเหสีของตน เมื่อพระศิวะได้รับฟังก็เกิดความพิโรธจนดวงเนตรที่สามได้เบิกขึ้นและมีอสูรหน้าตาดุร้ายคล้ายสิงห์มีนิสัยตะกละกลืนกินกระทั้งกาลเวลาผุดออกมาไล่ล่าเพื่อกินราหู  ด้วยความหวาดกลัวพระราหูจึงขอขมาและขอให้พระศิวะช่วยตน  พระศิวะจึงสั่งมิให้ ‘กาละ’ ไล่ล่าราหูและให้กลืนกินตัวเองแทน  มันจึงกัดกินร่างกายของตนจนเหลือเพียงส่วนหัวและแขนเท่านั้น ซึ่งสร้างความเวทนาแก่พระศิวะ พระองค์จึงรับสั่งให้กาละไปเฝ้าอยู่หน้าประตูวิมารของพระองค์และให้นามใหม่ว่า กีรติมุข หากใครไม่เคารพก็จะไม่ได้รับพรจากพระองค์    บ้างก็เล่าว่า กาละถูกลงโทษจากความดื้อรั้นของตนให้คอยเฝ้าอารักขาหน้าประตูวิมารและไม่มีสิทธิกินอาหารใดๆจนต้องกัดกินร่างกายของตนทีล่ะส่วนแทน

หน้ากาลในศิลปะชวากลางและชวาตะวันออกมีความแตกต่างกันเล็กน้อย  ในยุคชวากลางหน้ากาลจะไม่มีริมฝีปากล่าง มีลวดลายเปลวไฟอยู่เหนือหน้าผากและมีรูปสิงห์อยู่สองข้าง  ส่วนในยุคชวาตะวันออกนั้นได้พัฒนาให้มีริฝีปากล่างตามคติอินเดียที่เลือนหายไป และมีหน้าตาดุร้ายมากขึ้น ชี้นิ้วขู่ในท่าดรรชนีมุทรา ลายเปลวไฟเหนือหน้าผากก็เปลี่ยนเป็นลายต้นปาริชาติหรือตรีศูล ส่วนลายมกรก็หายไปเหลือเพียงหน้ากาลโดดๆ เท่านั้น

คนโบราณเชื่อว่าหน้ากาลเป็นสัญลักษณ์ของเวลาที่กลืนกินกระทั้งตนเองหรือเป็นสัญลักษณ์ของความโกรธที่สามารถทำลายทุกสิ่งรวมทั้งตนเองด้วย   นอกจากนี้หน้ากาลยังเหมือนใบหน้าของคนเวลาโมโหจึงเป็นเหมือนสิ่งเตือนสติให้ผู้ที่จะเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำรวมกาย วาจา  ใจ ของตนเอง


อ้างอิง

D-Mathhistory. (2559). กาลหรือเกียรติมุข ยลปราสาทศิลปะอินเดีย. ออนไลน์. ค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์  2560, จาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/MATHHISTORY/2016/04/11/entry-1

MRG Online. (2548). เส้นสายบนชายคากับลูกมังกรทั้งเก้า. ออนไลน์. ค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์  2560, จาก : http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000076377

กิตติ. (2548). When the Kala’ catch you. ออนไลน์. ค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์  2560, จาก : http://www.amulet2u.com/board/q_view.php?q_id=1648

ผศ.เบญจวรรณ กองสาสนะ. (มปป). ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตะวันออก : ชวา. (มปพ).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น