อาร์เทมิส (Artemis) เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์

โดย มะลิวัลย์ ทำทอง

ในอดีตมนุษย์ยังไม่ค้นพบหลักการทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์สรรพสิ่งต่างๆในโลกใบนี้ มนุษย์จึงเชื่อว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นฝีมือของสิ่งที่เหนือธรรมชาติ จึงทำให้มนุษย์ในสมัยโบราณนับถือเทพเจ้า ภูต ผี ปีศาจ เพื่อที่จะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ รวมทั้งคอยปกปักรักษาชีวิตของตนเองและบ้านเมือง ชาวกรีกโบราณ ก็เป็นอีกชนชาติหนึ่งที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าเป็นอย่างมาก ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า


อาร์เทมิส จันทราเทพีแห่งกรีก
ที่มา : http://www.tumnandd.com/

เทพีอาร์เทมิส (Artemis) เป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่ชาวกรีกนับถือ พระนางเป็นลูกสาวคนโตของเทพซูส (เทพแห่งท้องฟ้าและสายฟ้า) และเทพีเลโต อีกทั้งยังเป็นน้องสาวฝาแฝดของเทพอะพอลโล (เทพแห่งดวงอาทิตย์) โดยชาวกรีกนับถือพระนางเป็นตัวแทนของดวงจันทร์ การล่าสัตว์ และความรัก

เทพีอาร์เทมิสยังทรงเป็นเทพีผู้ถือพรหมจรรย์เจริญรอยตามเทพีเฮสเทียและเทพีอาธีน่า เพราะพระองค์ทรงเห็นความทุกข์ของเทพีเลโตผู้เป็นมารดาที่ต้องลำบากกับความรักที่เป็นพระชายาของเทพซูสจนถูกเทพีเฮร่าตามราวี จึงทำให้พระนางมิโปรดและกลัวที่จะออกเรือน จึงวิงวอนให้เทพซูสสาบานว่าจะไม่จับคู่สมรสให้พระนางหรือให้พระนางสมรสไม่ว่ากรณีใด และให้พระนางเป็นเทพีผู้ครองพรหมจรรย์ ซึ่งเทพซูสก็ให้พระนางสาบานโดยมีแม่น้ำสติกซ์ ซึ่งไหลรอบนรกเป็นพยานในการปฏิญาณว่าไม่ขอมีครอบครัวและจะรักษาพรหมจรรย์ไว้ยิ่งชีพ

แต่ก็ยังมีตำนานบางตอนที่กล่าวว่าเทพอาร์เทมิสได้ไปหลงรักสหายสนิทของตน ซึ่งมีนามว่า “โอไรออน” เขาเป็นนายพรานผู้ฉมังในการล่าสัตว์ มีสุนัขคู่ใจชื่อว่าซิริอุส ทุกๆวันพระนางและสหายจะร่วมกันล่าสัตว์ด้วยกัน พระนางหลงรักนายพรานหนุ่มและคิดที่จะสละความเป็นเทพีผู้ครองพรหมจรรย์ เพื่อแต่งงานกับโอไรออน เทพอะพอลโลรู้ถึงความคิดนี้เข้าและกลัวว่าพระนางจะต้องรับโทษจากการผิดคำสาบานต่อหน้าแม่น้ำสติกซ์ จึงวางแผนที่จะล้มเลิกความคิดของน้องสาวฝาแฝด จนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมขึ้น

โดยอะพอลโลสั่งให้โอไรออนเดินลุยน้ำทะเลไปยังเกาะแห่งหนึ่งกลางทะเล และเมื่อโอไรออนเดินไปถึงยังจุดที่ไกลจนเมื่อมองจากเกาะดีลอสแล้วจะเห็นเพียงศีรษะของโอไรออนที่มองดูเหมือนกับเกาะกลางน้ำ เทพอะพอลโลก็ชวนเทพีอาร์เทมิสมาล่าสัตว์แข่งกัน และท้าพนันให้พระนางยิงธนูทะลุเกาะกลางทะเลที่อะพอลโลชี้ให้ดูให้ได้ พระนางตกหลุมพรางของเทพฝาแฝด เหนี่ยวสายธนูเต็มแรงจนลูกธนูทะลุศีรษะของโอไรออนถึงแก่ความตาย เมื่อพระนางทรงทราบว่าตนได้ฆ่าชายที่รักลงด้วยน้ำมือของตนเองแล้ว จึงนำศพของโอไรออนและซิริอุสสุนัขคู่ใจขึ้นไปไว้บนท้องฟ้าในตำแหน่งของกลุ่มดาวนายพราน และดาวสุนัขใหญ่

เทพีอาร์เทมิส ถือเป็นจันทราเทพีผู้ปกครองช่วงเวลาในตอนกลางคืน และถือเป็นเทพีผู้มอบแสงสว่างให้แก่รัตติกาลอีกด้วย ในขณะเดียวกัน พระนางก็ยังมีแนวทางที่แตกต่างจากเทพีองค์อื่นๆที่รักสวยรักงาม โดยเทพีอาร์เทมิส จะมีลักษณะออกแนวแข็งแกร่ง โปรดการล่าสัตว์ พระนางจะมีอาวุธคู่กายเป็นคันธนูและลูกศรติดตัวเอาไว้อยู่เสมอ มีสัตว์คู่ใจคือกวางหรือหมี พระนางจึงมักถูกนับถือในนามของเทพีผู้คุ้มครองสัตว์ป่าเสียมากกว่า หากมีผู้ใดที่เข้าไปในเขตป่าของพระนางโดยไม่ได้รับการยินยอม หรือเข้ามาทำร้ายสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตของพระนางแล้ว หากพระนางทราบเข้าก็จะทำการสังหารบุคคลผู้นั้นจนตายด้วยลูกธนู


มหาวิหารอาร์เทมีส (The Temple of Artemis)
ที่มา : http://www.bloggang.com/

นอกจากนี้ชาวกรีกยังได้สร้างวิหารอาร์เทมิส โดยเป็นวิหารสร้างด้วยหินอ่อน เพื่อถวายเทพีอาร์เทมีส ผู้มาจากสวรรค์ ผู้ช่วยชาวเมืองให้พ้นจากหายนะและภัยพิบัติได้ อยู่ในเมืองอีเฟซุส บนชายฝั่งแห่งหนึ่ง (ซึ่งปัจจุบันนี้ คือประเทศตุรกี) ในรัชสมัยของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ จัดเป็นวิหารที่สวยงามแห่งหนึ่งจนกลายเป็นที่รู้จักว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคเก่า แต่วิหารแห่งนี้ได้ถูกทำลายสิ้น จนเหลือแต่ซากปรักหักพัง

ถึงแม้วิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าไปมากเพียงใดก็ตาม จนสามารถพิสูจน์ว่าเทพเจ้าก็เป็นเพียงแค่ความเชื่อ ไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่ผู้คนก็ยังคงเลือกที่จะศรัทธาต่อเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพราะเทพเจ้าก็เปรียบเสมือนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยไม่จำเป็นต้องตรงตามหลักเหตุผลใดๆ


อ้างอิง

ชญา ปิยะชาติ. (2556). กรีก-โรมัน ประวัติศาสตร์และอารยธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป.

อนันตชัย จินดาวัฒน์. (2552). กำเนิดอารยธรรมโบราณ. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป.

ดวงธิดา ราเมศวร์. (2559). ประวัติศาสตร์กรีกโบราณ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : บริษัทยูโรปา เพลส จำกัด

เอดิธ แฮมิลตัน. (2554). ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพและวีรบุรุษกรีก-โรมัน-นอร์ส. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: อมรินทร์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น