ซูสีไทเฮา (Empress Dowager Cixi)

โดย เกษตร อัคพิน

เมื่อเอ่ยถึงประเทศจีนในสมัยโบราณหลายๆ คนคงนึกถึงความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานรวมทั้งวัฒนธรรมที่แน่นแฟ้น และเมื่อกล่าวถึงการปกครองในระบอบศักดินาของประเทศจีนหลายคนก็คงจะนึกถึงการว่าราชการหลังม่านไม้ไผ่และซูสีไทเฮาผู้ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการและผู้ว่าราชการหลังม่านไม้ไผ่หลายรัชสมัย ชีวประวัติของพระนางมีความน่าสนใจดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

สมเด็จพระจักรพรรดินีสี้ยวชิงเสี่ยน หรือ สมเด็จพระจักรพรรดินีฉือสี่พระพันปีหลวง หรือในพระนามที่พวกเรารู้จักกนดี "ซูสีไทเฮา" เดิมทรงเป็นราชนิกุลชาวแมนจูในประวัติศาสตร์จีนสมัยราชวงศ์ชิง  ในวัยสาวพระนางเป็นสนมของพระเจ้าเสียนเฟิง และประสูติโอรส ต่อมาเมื่อพระเจ้าเสียนเฟิงสิ้นพระชนม์ในปี 1861 โอรสของพระนางก็ได้ครองราชย์และขึ้นเป็นพระเจ้าถงจื้อ ทำให้พระนางในฐานะราชมารดาจึงได้เป็นพระพันปี หลังจากนั้นนางได้ยึดอำนาจจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมกับพระพันปีฉืออัน อัครมเหสีพระเจ้าเสียนเฟิง พอพระพันปีฉืออันสวรรคตลง นางจึงสำเร็จราชการแต่ผู้เดียว ต่อมาในปี 1875 เมื่อพระเจ้าถงจื้อสวรรคต นางจึงสภาปนาหลานของพระนางขึ้นเป็นพระเจ้ากวังซฺวี่ ซึ่งถือว่าขัดกับระเบียบการสืบสันตติวงศ์ แล้วนางก็สำเร็จราชการแทนพระเจ้าแผ่นดินต่อไป


ที่มา: http://hot.ohozaa.com/

ในด้านการปกครองนางทรงปฏิเสธการบริหารราชการแผ่นดินอย่างตะวันตก แต่ก็ส่งเสริมการปฏิรูปทางวิทยาการและทางทหารหลายประการ รวมถึงขบวนการพัฒนาแบบตะวันตก ในปี 1898 พระนางพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเพื่อให้พระเจ้ากวังซฺวี่ปฏิบัติราชกิจด้วยพระองค์เอง พระเจ้ากวังซฺวี่ทรงเริ่มการปฏิรูปร้อยวัน แต่ซูสีไทเฮาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกิดผลได้จริง นอกจากนี้จะส่งผลเสียต่อระบบราชวงศ์ นางจึงทำการยึดอำนาจและยกเลิกการปฏิรูปร้อยวัน พระนางยังทรงขัดพระเจ้ากวังซฺวี่ไว้ตำหนักกลางสระก่อนดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการอีกครั้ง รวมแล้วทรงเป็นพระราชวงศ์ผู้ปกครองประเทศจีนโดยพฤตินัยถึงสี่สิบแปดปี และเมื่อสวรรคตแล้วไม่นานราชวงศ์แมนจูและระบอบราชาธิปไตยในจีนก็สิ้นสุดลงและประเทศจีนก็เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนในวันที่ 1 มกราคม 1912

ถึงแม้ว่านักประวัติศาสตร์ทั้งจีนและต่างชาติมักจะกล่าวว่า พระนางทรงเป็นผู้ปกครองที่กดขี่และเป็นต้นเหตุของการล่มสลายของราชวงศ์ชิง แต่นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่เห็นว่าการที่พระนางเข้ามานั้นก็เพื่อยุติความวุ่นวายในบ้านเมืองอันเกิดจากการปฏิรูปอย่างไร้ทิศทางของพระเจ้ากวังซฺวี่ และผู้สนับสนุนพระเจ้ากวังซฺวี่ประสบความสำเร็จในการทำให้พระนางกลายเป็นแพะรับบาปในสิ่งที่นอกเหนือความควบคุมของนาง เพราะราชวงศ์ชิงสิ้นสุดลงไปหลังจากที่นางเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ นางก็มิได้โหดร้ายมากไปกว่าผู้ปกครองคนอื่น ๆ ที่มีมา กับทั้งนางยังเป็นนักปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าการปฏิรูปของนางจะสายเกินไปก็ตาม

หลังจากสวรรคตแล้วซูสีไทเฮาทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระจักรพรรดินีเสี้ยวชิงฉือสี่ตวนโย้วคังอี๋จาวยู้จวงเฉิงโช้วกงชิงเสี้ยนฉงซีเป่ย์เทียนซิงเชิงเสี่ยน" เรียกโดยย่อว่า "สมเด็จพระจักรพรรดินีเสี้ยวชิงเสี่ยน" ทั้งนี้ พระศพซูสีไทเฮาได้รับการเก็บไว้ ณ สุสานหลวงของราชวงศ์ชิงฝ่ายตะวันออก ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันออกเป็นระยะทาง 125 กิโลเมตร เคียงข้างกับพระศพของซูอันไทเฮาและสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง

ส่วนฮวงซุ้ยของซูสีไทเฮานั้นมีพระราชเสาวนีย์ให้เตรียมไว้สำหรับพระองค์เอง ตั้งแต่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่แล้ว และมีขนาดใหญ่โตมโหฬารกว่าของซูอันไทเฮาหลายเท่านัก อย่างไรก็ดี เมื่อฮวงซุ้ยสร้างเสร็จครั้งแรกก็ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย มีพระราชเสาวนีย์ให้ทำลายเสียทั้งหมดแล้วให้สร้างใหม่ใน ค.ศ.1895 (พ.ศ.2437) หมู่ฮวงซุ้ยใหม่ของซูสีไทเฮาประกอบด้วยเหล่าพระอาราม  พระที่นั่ง และพระทวาร ซึ่งประดับประดาด้วยใบไม้ทองและเครื่องเงินเครื่องทองตลอดจนรัตนชาติ อัญมณีต่างๆ อย่างหรูหรา

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1928 (พ.ศ.2470) พลเอกซุนเตี้ยนอิง  แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ยกพลเข้าปิดล้อมและยึดหมู่ฮวงซุ้ยของซูสีไทเฮา แล้วสั่งทหารให้ถอดเอาของมีค่าที่ประดับประดาฮวงซุ้ยออกทั้งหมดก่อนจะระเบิดเข้าไปถึงห้องเก็บพระศพ แล้วเปิดหีบและขว้างพระศพออกมาเพื่อค้นหาของมีค่า ไข่มุกเม็ดโตซึ่งบรรจุในพระโอษฐ์พระศพ ตามความเชื่อโบราณว่าจะพิทักษ์พระศพมิให้เน่าเปื่อย ยังถูกฉกเอาไปด้วย ว่ากันว่าไข่มุกเม็ดดังกล่าวได้รับการนำเสนอให้แก่นายเจียงไคเช็ก หัวหน้าพรรคฯ และนายเจียงไคเช็กได้นำไปเจียระไนเป็นเครื่องประดับรองเท้าของ นางซ่งเหม่ยหลิง ภริยาตน แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานรองรับเรื่องดังกล่าวทั้งนี้ แต่โชคดีว่าไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่พระศพของซูสีไทเฮา ต่อมาภายหลัง ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) รัฐบาลจีนได้สั่งให้ปฏิสังขรณ์หมู่ฮวงซุ้ยของซูสีไทเฮา และปัจจุบันก็เป็นสุสานพระศพราชวงศ์จีนที่มีความงดงามแห่งหนึ่ง

กล่าวโดยสรุปคือซูสีไทเฮาทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัติย์หลายพระองค์ ซึ่งพระนางทรงเป็นผู้ที่มีอิทธิพลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ประวัติของซูสีไทเฮามีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี หลายคนจดจำนางในด้านความโหดร้าย แต่อีกด้านหนึ่งที่ทำให้พระนางเป็นที่กล่าวขานก็คือ พระนางเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประว้ติศาสตร์จีนได้สำเร็จ

อ้างอิง

photoontour.com. 2557.ประวัติซูสีไทเฮาโดยละเอียด Chusri Taihao พระนางสูสีไทเฮา.สืบค้นวันที่ 30 สิงหาคม, 2557 จาก http://www.photoontour.com/outbound/beijing/beijing0501.htm

วิกิพีเดีย. 2557. ซูสีไทเฮา(ออนไลน์). สืบค้นวันที่ 30 สิงหาคม, 2557  จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ซูสีไทเฮา

hakkapeople.com. ชีวิตของ "พระนางฉือซีไท่โฮ่ว" (ฉบับสมบูรณ์-จบ). สืบค้นวันที่ 8 ธันวาคม,  2557 จาก http://hakkapeople.com/node/471

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น