พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)

โดย พิรามน ฮามพิทักษ์

มหาบุรุษและนายทัพผู้ไม่เคยปราชัยใครในสงคราม กษัตริย์แห่ง Macedonia และผู้มีชัยเหนือดินแดนเปอร์เซีย พระนามนั้นคือ กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 มหาราช พระองค์ถูกจัดว่าเป็นนายทัพผู้ชาญฉลาดหนึ่งใน เจ็ดคนที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก ( อีก 6 คนคือ Hannibal, Julius Caesar, Gustavus Adolphus, Jurenne, Prince, Eugene และ Frederick มหาราช)



รูปปั้นอเล็กซานเดอร์ ณ พิพิธภัณฑ์ อังกฤษ

อเล็กซานเดอร์ทรงพระราชสมภพในฤดูร้อน  356 BC ที่เมือง Pella ซึ่งขณะนั้น คือเมืองหลวงของอาณาจักร Macedonia พระราชบิดาของพระองค์คือ กษัตริย์ Philip ที่ 2 แห่ง Macedon และพระราชมารดา คือราชินี Olympias แห่งกรีซ เมื่อพระองค์พระชนมายุ 12 พรรษา มีผู้นำม้า Bucephalus ถูกนำมาถวายกษัตริย์ Philip ที่ 2 พระองค์ได้ทรงข้าได้สำเร็จ ในขณะที่บรรดาขุนพลและนายทหารต่างๆ ของกองทัพ Macedonia ได้พากันพยายามขี่มัน แต่ไม่มีใครทำได้สำเร็จ เมื่อกษัตริย์ Philip ที่ 2 ทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนี้พระองค์จึงตรัสว่า “อาณาจักร Macedonia ได้เล็กเกินไปสำหรับราชบุตรของพระองค์แล้ว” ดังนั้นพระองค์จึงทรงตระเตรียมการให้พระโอรสขึ้นครองราชย์อย่างดีที่สุด โดยได้มอบหมายให้นักปราชญ์กรีกที่มีชื่อเสียงที่สุด ในโลกในยุคนั้นคือ Aristotle เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแก่พระโอรสของพระองค์ และได้ทรงฝึกความสามารถทางทหารให้แก่ พระโอรสด้วย เมื่อกษัตริย์ Philip ที่ 2 เสด็จสวรรคตเพราะถูกลอบปลงพระชนม์ บรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ที่อยู่ภายใต้การปกครองของ Macedonia เห็นได้โอกาสจึงประกาศอิสรภาพ


อาณาจักร Macidonia สมัยพระเจ้าฟิลลิปที่ 2
  
อเล็กซานเดอร์ด้วยวัยเพียง 20 พระชันษา ได้กรีธาทัพไปปราบเจ้าเมือง เหล่านั้นราบคาบ พออีก 2 ปีต่อมา อเล็กซานเดอร์ทรงสนพระทัยที่จะรุกรานอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และ กว้างขวางมากเพราะมีอาณาเขตตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจรดอินเดียกองทัพอเล็กซานเดอร์ได้บุกเข้าโจมตีอาณาจักร เปอร์เซียเป็น ครั้งแรกในปี 332 BC ทั้งๆ ที่มีกำลังพลเพียง 35,000 คน ซึ่งนับว่าน้อยกว่ากำลังของกองทัพเปอร์เซีย หลายเท่าตัว แต่กองทัพของอเล็กซานเดอร์ก็ชนะด้วยเหตุผล สามประการคือ ประการแรก กองทัพมีความเข้มแข็งมาก ประการที่สอง อเล็กซานเดอร์เป็นแม่ทัพที่ฉลาดเฉลียว และประการที่สามคือ อเล็กซานเดอร์ทรงมีความกล้าหาญ ในการนำทัพรุกฆ่าข้าศึกด้วยพระองค์เอง


กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ นำทัพข้ามแม่น้ำ Granicus วาดโดย Peter Connolly

จากนั้นกองทัพอเล็กซานเดอร์ก็ได้บุกคืบหน้าต่อไปยังอียิปต์ และยึดครองอียิปต์ได้ แล้วอเล็กซานเดอร์ก็ได้สถาปนาตนเป็นฟาโรห์ และได้นำทัพต่อไปยัง Babylon เพื่อเดินทางสู่ Persepolis อันเป็นนครหลวงของอาณาจักรเปอร์เซีย เพื่อสังหารกษัตริย์ Darius ที่ 3 และสามารถทำได้สำเร็จในอีก 3 ปีต่อมา  ถึงแม้อเล็กซานเดอร์จะได้ครอบครองอาณาจักรเปอร์เซียทั้งอาณาจักรแล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ยังทรงปรารถนาจะครอบครองทั้งอินเดีย จึงได้ทรงกรีฑาทัพเข้า Afghanistan ผ่านภูเขาฮินดูกูฎมุ่งสู่ India กองทัพของพระองค์ได้ชนะกองทหารของมหาราชา Porus แห่งอินเดีย และได้ทรงครอบครองอินเดียตะวันตก จากนั้นทรงคิดจะรุกราน อินเดียตะวันออกต่ออีก แต่เหล่าทหารของพระองค์ที่ต่างก็รู้สึกเหนื่อยสงครามและหน่ายชัยชนะเป็นที่สุด ได้ตัดสินใจไม่ยอมเดินทัพต่อไป อเล็กซานเดอร์จึงต้องยกทัพกลับเปอร์เซีย

อาณาจักร Macedonian  ของอเล็กซานเดอร์มหาราช

จากนั้น พระองค์ได้ทรงเริ่มปรับปรุงอาณาจักรและกองทัพของพระองค์ ตามความเชื่อเดิมของพระองค์นั้น อารยธรรมที่ศิวิไลซ์ที่สุดคือ อารยธรรมกรีก อารยธรรมอื่นใดที่ไม่ใช่กรีก เป็นอารยธรรมถ่อยทั้งสิ้น แต่เมื่อพระองค์ทรงได้ปกครอง อาณาจักรเปอร์เซีย พระองค์ก็ตระหนักได้ว่าอารยธรรมเปอร์เซียใช่ว่าจะป่าเถื่อน แต่เป็นอารยธรรมที่รุ่งเรืองเช่นเดียวกับอารยธรรมกรีก ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงรวบรวมอารยธรรมทั้งสองเข้าด้วยกัน โดยได้รับทหารเปอร์เซียเข้ามาเป็นทหารในกองทัพหลายพันคน ถึงแม้จะได้ครอบครองแผ่นดินไปแล้วค่อนโลก แต่อเล็กซานเดอร์ยังไม่พอพระทัยกับพระราชอาณาจักรที่พระองค์ทรงมีอยู่ พระองค์ทรงดำริจะรุกรานอาระเบีย อินเดียและโรมต่อ แต่ในวันที่ 13 มิถุนายน 232 BC ขณะที่ทรงประทับอยู่ที่ Babylon อเล็กซานเดอร์ได้ทรงประชวรด้วยมาลาเรีย (นักประวัติศาสตร์บางคนสงสัยว่าพระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยยาพิษ) พออีก 10 วันต่อมาพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ ขณะที่มีพระชนมายุได้ 33 ชันษาเท่านั้นเอง  และเนื่องด้วยพระองค์ไม่มีการแต่งตั้งรัชทายาท บรรดาแม่ทัพของพระองค์จึงได้จับพระราชมารดา พระมเหสีและพระโอรสสำเร็จโทษหมด จากนั้นก็ได้แบ่งแยกอาณาจักรกันปกครอง จึงถึงคราวล่มสลายแห่งอาณาจักรกรีก

ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถมากและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล กองทัพในรัชสมัยของพระองค์เป็นกองทัพที่เกรียงไกรที่สุดในโลก เพราะได้ทำศึกต่อสู้ชนะกองทัพกรีก พิชิตอาณาจักรเปอร์เซีย ยึดอียิปต์เป็นเมืองขึ้นและได้ส่วนหนึ่งของอินเดียไปครอบครอง พระบรมศพของพระองค์ได้ถูกนำไปฝังในอียิปต์ และหายสาบสูญไปตั้งแต่นั้นมาโดยไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลย

อย่างไรก็ตาอิทธิพลของอเล็กซานเดอร์มหาราชที่มีต่อโลกทุกวันนี้ คือการได้รวมอารยธรรมกรีก (ตะวันตก) เข้ากับอารยธรรมเปอร์เซีย (ตะวันออก) มีผลทำให้อารยธรรมทั้งสองรุ่งโรจน์มาก เพราะอารยธรรมกรีกได้แพร่หลายสู่อิหร่าน ซีเรีย อียิปต์ อินเดีย และในขณะเดียวกัน อารยธรรมจากดินแดนเหล่านี้ก็ได้แพร่กลับสู่กรีก นั่นถือเป็นผลมาจากวิสัยทัศน์อันกว่างไกลของอเล็กซานเดอร์มหาราชที่ยังผลมาจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง

Alexander the Great Alexander of Macedon Biography. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2557 จาก http://www.historyofmacedonia.org/AncientMacedonia/AlexandertheGreat.html.

Alexander the Great. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2557 จาก http://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/alexander_the_great.shtml

James Romm. Who kill Alexander the Great?. Published in History Today Volume: 62 Issue: 4 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น