สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลน (The Hanging Garden of Babylon)

โดย วณัฐชญา  ประทุมนันท์

ย้อนกลับไปเมื่อราว 600 ปีก่อนคริสตกาล บนผืนแผ่นดินที่ราบลุ่มริมแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสอันเป็นจุดเริ่มต้นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลกอย่างอารยธรรมเมโสโปเตเมีย  ได้ปรากฏสิ่งก่อสร้างปริศนาซึ่งมีความสูงเทียบเท่าภูเขาขนาดหย่อมๆ  เร้นกายอยู่ภายใต้แสงอาทิตย์อันเจิดจ้าบนมหานครซึ่งถูกกล่าวขานเป็นตำนานจากปากของนักเดินทางและพ่อค้าวาณิชทั่วทุกดินแดน  รวมถึงนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกอีกหลายคนกล่าวว่า กรุงบาบิโลนภายใต้การปกครองของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 นั้นเป็นมหานครที่สร้างความตื่นตะลึงแก่สายตาของนักเดินทางในยุคโบราณได้อย่างถึงที่สุดเพราะความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรและขนาดอันมหึมาของภูเขาสูงฝีมือมนุษย์ซึ่งถูกขนานนามว่า  "สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลน"

ตามตำนานกล่าวว่าผู้ที่ริเริ่มสร้างสวนลอยแห่งนี้ขึ้นคือกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ที่ 2  ผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในเรื่องของการสร้างวิหาร ถนนหนทาง กำแพง และพระราชวัง กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ได้สร้างอุทยานนี้มอบให้แก่พระนางเอมิทิสซึ่งเป็นพระมเหสี  เนื่องจากบ้านเกิดเมืองนอนของพระมเหสีองค์นี้ตั้งอยู่เหนืออาณาจักรเปอร์เชียขึ้นไปและรายล้อมด้วยเทือกเขาสูงและต้นไม้เขียวชอุ่ม  ซึ่งแตกต่างกับดินแดนของอาณาจักรบาบิโลนซึ่งเป็นเป็นพื้นที่กึ่งทะเลทรายอันแห้งแล้งแทบจะสิ้นเชิง  ดังนั้นเมื่อพระนางเอมิทิสทรงเดินทางมาอยู่กับกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์นั้น  พระนางจึงรู้สึกไม่พอพระทัยและรู้สึกเศร้าเพราะคิดถึงบ้านอยู่เสมอ  จึงเป็นเหตุให้กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ผู้เป็นสวามีทรงตัดสินพระทัยสร้างสวนลอยแห่งนี้เพื่อบรรเทาอาการคิดถึงบ้านของมเหสีโดยไม่ลังเล



สวนลอยแห่งบาบิโลนตั้งอยู่ริมแม่น้ำยูเฟรติส(ซึ่งในปัจจุบันคือประเทศอิรัก) ถึงจะใช้คำว่า  'ลอย'  แต่สวนนี้ไม่ได้ลอยอยู่เหนือพื้นจริงๆ  หากแต่ส่วนที่ลอยออกมาคือระเบียงที่ทอดยาวขึ้นไปเป็นชั้นๆ  เหนือพื้นดิน  ประดับประดาด้วยต้นไม้  ไม้ดอก ไม้เลื้อยมากมาย   จากบันทึกหลายเล่มของนักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวกรีกโบราณได้กล่าวว่าสวนลอยบาบิโลนมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  มีความยาวด้านละ 120 เมตร พื้นบันไดทำด้วยหินอ่อน  มีระเบียงที่ถูกสร้างวนไปมาเป็นชั้นๆ เหมือนกับขั้นบันไดจนกระทั่งมีความสูงถึง 100 เมตร  ล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งถูกสร้างด้วยอิฐเผาหนา 7 เมตร และมีการทดน้ำขึ้นไปบนชั้นและระเบียงต่างๆ เพื่อหล่อเลี้ยงต้นไม้และดอกไม้นานาพันธุ์ซึ่งปลูกอยู่ข้างบน  รวมถึงน้ำพุและน้ำตกที่ถูกสร้างไว้บนอุทยานเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ

สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลนนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ขนาดอันใหญ่โตมโหฬารของอุทยานเท่านั้น  หากแต่วิธีการสร้างสวนและวิถีชลประทานเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งความน่าทึ่งของสิ่งก่อสร้างนี้เช่นเดียวกัน  ในการที่จะสร้างสวนที่ใหญ่ราวกับยกภูเขาทั้งลูกมาตั้งไว้กลางทะเลทรายนี้กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์และเหล่าสถาปนิกต่างก็หนักใจไม่น้อย  เพราะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่จะต้องสร้างสถาปัตยกรรมซึ่งจะต้องสามารถรองรับน้ำหนักของต้นไม้จากทั่วทุกสารทิศ ได้โดยไม่พังทลายลงมาเสียก่อน  หรือจะเป็นเรื่องการเสาะหาพันธุ์ไม้  และที่หนักใจมากกว่านั้นก็คือการทดน้ำขึ้นไปเลี้ยงต้นไม้ด้านบน

ในเรื่องของโครงสร้างนั้นสถาปนิกได้นำโครงสร้างระบบเพดานโค้งมาใช้ในการแก้ไขปัญหาในการรับน้ำหนัก  ส่วนด้านน้ำนั้น  ถ้าจะหวังให้ฝนตกลงมาเองก็คงจะเป็นเรื่องยาก  เพราะภูมิประเทศของมหานครบาบิโลนเองตั้งอยู่ในพื้นที่กึ่งทะเลทราย  เรียกได้ว่าอาบแสงอาทิตย์ร้อนๆ ต่างสายฝนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ดังนั้นการแก้ปัญหาในเรื่องน้ำก็คงจะหนีไม่พ้นต้องทดน้ำจากแม่น้ำยูเฟรติสที่ตั้งอยู่ข้างๆ ขึ้นไป  แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ  จะทดขึ้นไปอย่างไร?

เนื่องจากยังไม่มีการค้นพบหลักฐานที่แน่ชัดในเรื่องของการทดน้ำ  นักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมโสโปเตเมียได้มีการสันนิษฐานทฤษฏีต่างๆ ไว้ 2 – 3 ทฤษฏี   บ้างก็ว่าใช้แรงงานคนหรือสัตว์ในการขนน้ำจากแม่น้ำขึ้นไปยังสวนด้านบน  บ้างก็ว่าใช้สายพานตักน้ำขึ้นไป  ซึ่งสายพานนี้คือเครื่องทดน้ำในยุคโบราณ  ประกอบด้วยล้อขนาดใหญ่  2  ล้อ ล้อหนึ่งอยู่ข้างบนใกล้กับบ่อน้ำที่ถูกสร้างไว้  ในขณะที่อีกล้อหนึ่งอยู่ด้านล่างติดกับแหล่งน้ำ (ในที่นี้คือแม่น้ำยูเฟรติส)  ล้อทั้งสองถูกเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยโซ่ซึ่งมีถังน้ำแขวนไว้  เมื่อเริ่มหมุนสายพาน  ถังน้ำก็จะขยับและตักน้ำจากแม่น้ำขึ้นไปยังบ่อด้านบน  ผ่านระบบท่อที่มีความลาดเอียงต่างๆ กัน  เพื่อนำน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นไม้และน้ำพุในอุทยาน  ส่วนอีกทฤษฏีที่มีการกล่าวถึงคือการใช้ระหัดสูบน้ำของอาร์คิมิดิส(Archimedes' screw)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีใบพัดทรงเกลียวหมุนอยู่ในท่อสูบ ใช้วิธีการหมุนด้วยมือทดน้ำขึ้นไปยังอุทยาน  แต่ทฤษฏีนี้ถูกโต้แย้งกลับมาว่ามีความเป็นไปได้น้อยเพราะอาร์คิมิดิสคิดค้นระบบนี้ขึ้นหลังจากสวนลอยถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วกว่า 300 ปี



ในปีค.ศ.1899  ได้มีการขุดค้นพบซากเมืองบาบิโลน โดย  Robert  Koldeway  นักโบราณคดีชาวเยอรมัน  หากแต่ไร้ซึ่งวี่แววของสวนลอยอันงดงามตระการตาแต่อย่างใด  นักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญในรุ่นต่อๆ  มาจึงเกิดคำถามขึ้นว่า  "สวยลอยแห่งกรุงบาบิโลนนั้นมีอยู่จริงๆ หรือ?"  และคำถามของพวกเขาก็ถูกเฉลยโดยสมมุติฐานของ  สเตฟานี่ ดัลลี่  ผู้เชี่ยวชาญด้านอารายธรรมเมโสโปเตเมียจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด  ผู้เขียนหนังสือ “The Mystery of The Hanging Garden of Babylon”  สเตฟานี่กล่าวว่าสวนลอยแห่งบาบิโลนนั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นที่อาณาจักรบาบิโลน  แต่จริงๆ แล้วสวนลอยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนิเนเวห์อันเป็นเมืองหลวงสำคัญของชาวแอสซีเรียซึ่งอยู่ห่างจากอาณาจักรบาบิโลนขึ้นไปทางเหนือถึง 300 ไมล์  สาเหตุที่นักโบราณคดียุคเก่าเชื่อว่าสถานที่ตั้งของสวนลอยแห่งนี้อยู่ที่เมืองบาบิโลนเป็นเพราะการแปลบันทึกคูนิฟอร์มอย่างไม่ถูกต้องจนกระทั่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดของทุกๆ ฝ่าย  และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้หาสวนลอยแห่งบาบิโลนที่ซากกรุงบาบิโลนไม่พบเสียที

แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าสวนลอยอันใหญ่โตมโหฬารและวิจิตรตระการตานี้ถูกสร้างไว้ที่ใดอย่างแท้จริง  แต่อย่างไรก็ตามสิ่งก่อสร้างนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและวิถีชลประทานในยุคที่เทคโนโลยีไฮเทคยังเข้าไม่ถึงของชาวโบราณได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ  ซึ่งความใหญ่โตและความน่าอัศจรรย์นี้เองที่ทำให้สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลนถูกจัดอันดับขึ้นเป็นหนึ่งใน  7  สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ  รอการขุดค้นพบและรอการพิสูจน์ให้ประจักษ์สู่สายตาชาวโลกอยู่ภายใต้ทรายสีทองแห่งดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันเป็นถิ่นกำเนิดหนึ่งในอารยธรรมที่สำคัญของโลกกลมๆ ใบนี้นี่เอง


อ้างอิง:

Ancient History Encyclopedia. The Hanging Gardens of Babylon: The Mysterious Wonder of the Ancient. [Online]. Available from: http://www.ancient.eu/article/129. [Accessed 25th September 2014].

National Geographic. The Hanging Gardens of Nineveh?. [Online]. Available from: http://news.nationalgeographic.com/news/2013/13/130531-babylon-hanging-gardens-nineveh-seven-wonders. [Accessed 25th September 2014].

The Museum of Unnatural Mystery. The Hanging Gardens of Babylon. [Online]. Available from: http://www.unmuseum.org/hangg.htm. [Accessed 25th September 2014].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น