จักรพรรดิกุบไลข่าน

โดย กาญจนา วงค์มณี

หากพูดถึงนักรบชาวมองโกลที่ยิ่งใหญ่ หลายคนคงจะพอได้ยินชื่อกันมาบ้าง นั่นก็คือ จักรพรรดิกุบไลข่าน (Kublai Khan) หรือ จักรพรรดิซีโจ๊วฮ่องเต้ ที่เป็นข่านหรือที่เรียกว่าจักรพรรดิของมองโกล และยังเป็นจักรพรรดิราชวงศ์หยวนคนแรกของจีน ผู้ที่รวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่น

จักรพรรดิกุบไลข่าน มีพระชนมายุอยู่ในช่วงปี ค.ศ  1215 – 1294 พระราชบิดาของจักรพรรดิกุบไลข่าน พระนาม ลิตู ส่วนพระราชมารดามีพระนามว่า พระนางซอร์กัจตานิ เบกิเป็นพระราชนัดดาของจักรพรรดิเจงกีสข่าน นักรบชาวมองโกล ที่ได้รวบรวมแผ่นดินและก่อตั้งจักรวรรดิมองโกล พระอัยยิกามีพระนามว่า บูร์ไต



จักรพรรดิกุบไลข่าน ได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นข่าน หรือจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิมองโกล เมื่อ ค.ศ. 1260 และสิ่งที่ทำให้โลกต้องจารึกชื่อจักรพรรดิกุบไล ข่าน ลงในประวัติศาสตร์ก็เนื่องจากจักรพรรดิกุบไล ข่าน ได้เข้ายึดครองแผ่นดินจีนและโค่นล้มราชวงศ์ซ้อง จากนั้นก็ทรงสถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นปกครองจีน เป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ ในพระนาม หยวนซีโจ๊วฮ่องเต้

วิธีที่จักรพรรดิกุบไลข่าน ใช้ในการยึดครองแผ่นดินจีนคือการเปลี่ยนแปลงความคิดของชาวจีนเป็นหลัก และใช้วิธีทางการทหารเป็นรองลงมา เนื่องจากสมัยนั้นคนจีนกระจัดกระจาย จึงทำให้มีวัฒนธรรมและภาษาที่ต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือภาษาเขียนเท่านั้น ทำให้ชาวจีนรวมตัวกันได้อย่างหลวมๆผ่านวรรณกรรมตัวหนังสือ นั่นทำให้จักรพรรดิกุบไลข่าน ประกาศว่าตนเองจะเป็นผู้รวบรวมแผ่นดินจีน โดยใช้ชาวจีน เป็นหลักในการเข้ายึดครองครั้งนี้ และจักรรพรรดิกุบไล ข่าน ยังได้เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นภาษาจีนว่า ซีหยวน (zhiyuan) ที่แปลว่า การเริ่มต้นที่สมบูรณ์ มีการตั้งราชวงศ์ต้าหยวน ขึ้นมา ที่มีความหมายว่า การเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ และยังมีการรับวัฒนธรรมบางอย่างของจีนมาด้วย เช่น การสร้างสุสาน มีการสร้างป้ายชื่อหน้าสุสานให้แก่คนตายด้วย



เมื่อจักรพรรดิกุบไลข่าน ได้เข้ายึดครองแผ่นดินจีนได้ ก็ทรงสถาปนาเมืองปักกิ่งขึ้นเป็นเมืองหลวง ในสมัยราชวงศ์หยวน จักรพรรดิกุบไลข่านทรงเริ่มโครงการพัฒนาหลายๆ ด้าน เช่น การตั้งระบบควบคุมนักโทษ จัดตั้งสภาองคมนตรี เพื่อกำหนดนโยบายด้านการทหาร มีการตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบุกเบิกที่ดิน ให้ประชาชนทำกิน มีการขุดสร้างคูคลองเพื่อเป็นระบบชลประทานใช้ในการเกษตร การตั้งสำนักงบประมาณ เพื่อหาเงินเข้าราชสำนัก การดูแลการจับจ่ายเงินแต่ละกระทรวง มีการส่งเสริมด้านวรรณกรรม บทประพันธ์ต่างๆ จนเป็นที่กล่าวขานว่าบทงิ้วในสมัยจักรพรรดิกุบไลข่าน นั้นดีมากจนไม่มีบทงิ้วในสมัยใดในประวัติศาสตร์จีนเทียบได้ และยังขอให้สังฆราชปาซือปา ช่วยประดิษฐ์ตัวอักษรมองโกล โดยเรียกว่า  ปาซือปาจื้อ นอกจากนี้ยังมีการตั้งสถาบันการแพทย์หลวง เพื่อผลิตแพทย์ เกิดการพัฒนาในด้านการแพทย์ ด้านวิทยาการใหม่ๆ ส่วนในฤดูหนาวจะมีการบังคับให้เด็กๆไปเรียนหนังสือ ซึ่งในสมัยของพระองค์ มีโรงเรียนมากถึง  20,166 โรง และยังเน้นความรู้เกี่ยวกับด้านประวัติศาสตร์จีน เพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ในการปกครองอีกด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อจักรพรรดิกุบไลข่าน ได้ใช้กำลังทหารเข้ายึดครองเมืองใดๆก็ตาม จะรีบตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาทันที  เพื่อให้เข้าไปดูแลซ่อมแซมสถานที่ที่เสียหายจากการถูกโจมตี และเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนเมืองที่ถูกยึด ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า จักรพรรดิกุบไลข่าน ไม่ได้เป็นแค่นักรบอย่างเดียว แต่ทรงเป็นนักพัฒนาด้วย และนอกจากนี้ในสมัยที่จักรพรรดิกุบไลข่าน ขึ้นครองแผ่นดินจีน ก็ได้มีการสานสัมพันธไมตรีกับทางชาติตะวันตก โดยเฉพาะกับองค์สันตะปาปาแห่งศริสต์ศาสนา และพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส รวมทั้งทูต สมณทูต นักสอนศาสนา พ่อค้าและประชาชน ที่เดินทางจากยุโรปเข้ามาในแผ่นดินจีน ในส่วนของจีนเองก็เคยส่งทูตไปยังกรุงวาติกันและราชสำนักฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน



ที่โด่งดังที่สุดในเรื่องการติดต่อกับชาติตะวันตกก็คือการมาถึงของ มาร์โก โปโล นักเดินทางสำรวจ ชาวอิตาลี เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ค้นพบเส้นทางสายไหมสู่ดินแดนจีน และเข้าสู่เมืองปักกิ่งในปี ค.ศ. 1271 ได้เข้าพบจักรพรรดิกุบไลข่าน หลังจากนั้นมาร์โก โปโล ก็ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองหางโจว มีหน้าที่ช่วยงานในราชสำนักยาวนานถึง 17 ปี ก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านเกิด การเดินทางตามเส้นทางสายไหมมายังแผ่นดินจีนของมาร์โค โปโล นั้นได้บันทึกลงในหนังสือที่ชื่อว่า อิลมีลีโอเน (Il Milione) การเดินทางและการบันทึกนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวตะวันตกรู้จักแผ่นดินจีนและชาติตะวันออก

ในสมัยจักรพรรดิกุบไลข่าน อาณาจักรจีนกว้างใหญ่ไพศาลมาก ทางตะวันออกจดเกาหลี ตะวันตกจดประเทศโปแลนด์ ทิศเหนือจดรัสเซีย ไซบีเรีย ส่วนทางใต้ครอบครองอาณาเขตเกือบครึ่งอินโดจีน รวมดินแดนต้าลี่ และอันนัม เวียดนาม ตังเกี๋ย รวมทั้งพม่า รวมพื้นที่ทั้งหมด 30 ล้านตารางกิโลเมตร และยังพยายามขยายอาณาเขตโดยเข้าโจมตีญี่ปุ่นและชวา แต่ไม่สำเร็จ ต้องพ่ายแพ้กลับมา เนื่องจากนักรบชาวมองโกลนั้นเก่งกาจในการรบบนหลังม้ามากกว่าการรบแบบกองทัพเรือ ซึ่งชาวมองโกลไม่เชี่ยวชาญพอ และยังมีคลื่นพายุเป็นอุปสรรคในการโจมตี



ในบั้นปลายชีวิตของพระองค์ ก็ทรงใช้ชีวิตในแผ่นดินจีนอย่างหรูหราฟูฟ่า เพราะในสมัยนั้นจีนรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก รวมแล้วจักรพรรดิกุบไล ข่าน ครองราชย์ยาวนานถึง 35 ปี สวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1294 ในวัย 79 ปี ถือเป็นฮ่องเต้ที่อายุยืนที่สุดในราชวงศ์หยวนเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าแม้จักรพรรดิกุบไลข่าน เป็นชาวมองโกล แต่ชาวจีนก็ให้การยอมรับในการขึ้นมาเป็นจักรพรรดิราชวงศ์หยวน เนื่องจากในยุคของจักรพรรดิกุบไล ข่าน ได้เข้ายึดครองอาณาจักรต่างๆ จนทำให้จีนมีแผ่นดินที่กว้างขวาง และมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการทหาร การเดินเรือ หรือแม้กระทั่งศิลปวิทยาการต่างๆของจีนที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่โลกต้องจารึกชื่อของจักรพรรดิกุบไล ข่าน ผู้ยิ่งใหญ่ไว้ในประวัติศาสตร์ให้แต่ละยุคสมัยได้จดจำ


อ้างอิง

ต้น หล่อศิริรัตน์. (2549). เจงกีสข่าน ตอนที่ 5: เมื่อกุบไลข่านบุกตะลุยยึดเมืองจีน.  (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก https://www.gotoknow.org/posts/86126

เตยจ๋า. (2553). ประวัติกุบไลข่าน ทายาทเจงกิส ข่าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=angelonia17&month=12-2010&date=27&group=23&gblog=10

วีมินโฮ. (ม.ป.ป.). กุบไลข่าน มหาจักรพรรดิสายเลือดมองโกล...ครองแผ่นดินเกือบครึ่งโลก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก http://historyofchina-korea-japan.blogspot.com/2015/11/blog-post.html#.WFz3NlOLTIU

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น