อัลคาทราซ (Alcatraz) ตำนานคุกสุดโหดแห่งซานฟรานซิสโก

โดย อาทิตยา  คำมุงคุณ

เมื่อพูดถึง “คุก”แน่นอนว่าคงเป็นสถานที่ที่ไม่มีใครอยากไปหรือแม้แต่มีทัศนคติที่ดีต่อคำๆนี้  เพราะ คุก คือสถานที่สำหรับการจองจำหรือคุมขังนักโทษ  และคงจะมีหลายคนที่เคยได้ยินและรู้จัก “คุกอัลคาทราซ” สุดยอดคุกโหดระดับโลก


เกาะอัลคาทราซ
ที่มา : http://www.prisonhistory.net/

อัลคาทราซ  (Alcatraz) มีอีกชื่อเรียกว่า The Rock เป็นเกาะกลางทะเล ตั้งอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกค้นพบครั้งแรกโดย ฆวน มานูเอล เด อยาลา อี อรันซา นักเดินเรือชื่อดังชาวสเปน และได้ตั้งชื่อเกาะอันโดดเดี่ยวแห่งนี้ว่า "ลา อิสลา เด โลส อัลกาตราเซส"  แปลว่า เกาะแห่งนก ต่อมาชาวอังกฤษเรียกเพี้ยนเป็น “อัลคาทราซ”


แผนผังคุก

ตลอดเวลาใช้งานเป็นเวลา 29 ปี มีการพยายามแหกคุกถึง 14 ครั้ง นักโทษเหล่านั้นส่วนใหญ่ถูกจับกุมได้ และบางคนก็ถูกยิงจนเสียชีวิต แต่มี 3 คน คือ แฟรงค์ มอร์รีส  จอห์น แองกลิน และ แคลเรนซ์ แองกลิน
ที่สามารถหนีรอดออกไปได้อย่าไร้ร่องรอย โดยการวางแผนการแหกคุกเจาะช่องลมระบายอากาศ ใต้อ่างล้างหน้า โดยใช้อุปกรณ์คือ ช้อนโลหะ เหรียญ และสว่านไฟฟ้าที่ทำขึ้นเอง เจาะคอนกรีต โดยในทุกครั้งที่เจาะจะให้อีกคนคอยเล่นดนตรีเพื่อไม่ให้ผู้คุมได้ยินเสียงเจาะ พวกเขามุดหนีไปทางช่องระบายอากาศ และทำหุ่นให้เหมือนว่ายังมีคนนอนอยู่ที่เตียงเพื่อหลอกตาผู้คุม จากนั้นจึงหนีว่ายลงทะเล ซึ่งเขาได้เอาเสื้อกันฝนที่ขโมยมาเก็บไว้ใช้ในการข้ามทะเล แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยันว่าพวกเจารอดชีวิตหรือไม่ เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความฮือฮาให้กับโลกในยุคนั้นเป็นอย่างมาก


แผนที่การหลบหนีจากคุกอัลคาทราซทั้ง 14 ครั้ง

ใน พ.ศ. 2506 คุกอัลคาทราซได้ปิดตัวลงตามคำสั่งของ โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพราะเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการในการบริหารจัดการสูงมาก และตัวเรือนจำเองก็ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนเสื่อมสภาพ จากนั้นจึงถูกยกให้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ "Golden Gate National Recreation Area" ปัจจุบันอัลคาทราซเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี จึงนับว่าเป็นสถานที่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งทางการศึกษาประวัติศาสตร์


ภาพภายในคุกอัลคาทราซ 

เห็นได้ว่าสถานที่ที่เคยเป็นที่หวาดผวาของเหล่าผู้กระทำความผิด ในปัจจุบันได้ถูกทำให้เป็นสถานที่ที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ ที่นักท่องเที่ยวควรได้ไปเยี่ยมชม ถึงแม้จะมีกลิ่นอายของความน่ากลัว ความหดหู่ จากการรับรู้เรื่องราวของคุกแห่งนี้ แต่สำหรับการศึกษาแล้วสถานที่แห่งนี้น่าจะให้ประโยชน์และความน่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน


อ้างอิง

Category: Chasing dreams. (2559). America in memories : The last episode in California. ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2560, จาก https://breathemyworld.com/

Ocean View Publishing. (2017). ALCATRAZ HISTORY. ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2560, จาก http://www.alcatrazhistory.com/

ไทยรัฐออนไลน์. (2560). แหกคุกบันลือโลก. ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2560, จาก https://www.thairath.co.th/content/217750

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2558). เกาะอัลคาทราซ. ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2560,จาก https://th.wikipedia.org/wiki/เกาะอัลคาทราซ


อ่านเพิ่มเติม »

ขุมทรัพย์ใต้พิภพหลุมใหญ่แห่งคิมเบอร์ลีย์ (Kimberley Mine)

โดย อรปรียา วรจินดา

ใต้พิภพของโลกเรานั้นคือขุมทรัพย์ขนาดใหญ่เนื่องจากมีพลังงานความร้อนมหาศาลซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย เช่น การนำพลังงานความร้อนมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ในการเกษตรกรรมอุตสาหกรรม และนอกจากนี้ยังก่อให้เกิดแหล่งอัญมณีอย่างมหาศาล และอัญมณีที่จะกล่าวในที่นี้ก็คือ เพชร แม้ว่าเพชรจะอยู่ในพื้นพิภพแต่ด้วยความชาญฉลาดของมนุษย์ก็สามารถที่จะขุดขึ้นมาและทำเป็นเหมือง เหมืองเพชรบนโลกนั้นมีหลายแห่ง แต่ที่จะนำมากล่าวนี้เป็นเหมืองที่น่าสนใจแห่งหนึ่งซึ่งก็คือ เหมืองคิมเบอร์ลีย์

เหมืองคิมเบอร์ลีย์ (Kimberley Mine) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าหลุมใหญ่ (Big Hole) เป็นเหมืองเพชรในเมืองคิมเบอร์ลีย์ ประเทศแอฟริกาใต้  เหมืองแห่งนี้มีลักษณะเป็นหลุมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเกิดจากการขุดโดยมนุษย์ ราว 50,000 คน ลงแรงขุดเหมืองนี้ด้วยพลั่ว โดยเริ่มขุดตั้งแต่ ค.ศ.1871 จนกระทั่งปิดตัวลงในปี 1914  เหมืองมีความลึกถึง 1,097 เมตร เมื่อการทำเหมืองปิดตัวลง มีการขนดินออกไปถึง 25 ล้านตันและมีการค้นพบเพชร 3 ตัน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 47,000,000 ปอนด์


เหมืองคิมเบอร์ลีย์ (Kimberley Mine) หรือ หลุมใหญ่ (Big Hole)
   
การขุดเหมืองคิมเบอร์ลีย์นั้นส่งผลให้เมืองคิมเบอร์ลีย์เป็นเมืองส่งออกอุตสาหกรรมเพชรขนาดใหญ่ ซึ่งได้สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับเมืองคิมเบอร์ลีย์ ทำให้เมืองนี้เป็นเมืองแรกของซีกโลกใต้ที่ได้ติดตั้งไฟฟ้าบนถนน มีการสร้างโรงเรียน และ มหาวิทยาลัยขึ้น และยังทำให้ผู้คนจำนวนมากมีอาชีพเนื่องจากการทำเหมืองนั้นต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้คนมากมายอพยพเข้ามาในเมืองนี้ ส่งผลให้มีการคมนาคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน หรือ การสร้างทางรถไฟขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เมืองคิมเบอร์ลีย์นั้นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง

ถึงแม้ว่าการขุดเหมืองคิมเบอร์ลีย์นั้นจะก่อกำเนิดอุตสาหกรรมแห่งเพชรยุคใหม่และส่งผลประโยชน์มากมายให้แก่แอฟริกาใต้ แต่ทว่าในทางกลับกันในอดีตนั้นก็ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อแอฟริกาใต้เช่นกัน ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าเพชรแห่งความขัดแย้ง (Conflict Diamond) หรือ เพชรสีเลือด (Blood Diamond)



เหตุการณ์เพชรแห่งความขัดแย้ง (Conflict Diamond) หรือ เพชรสีเลือด (Blood Diamond)  เหตุที่เรียกว่าเพชรสีเลือดนั้นเพราะเป็นเพชรที่ผลิตในพื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาล พวกกบฏพวกนี้ได้ขายเพชรเพื่อใช้เป็นทุนในการซื้ออาวุธหรือเป็นทุนเสริมสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งขึ้น โดยพวกกบฏได้บังคับใช้แรงงานจากชาย หญิง ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก นอกจากนี้ยังได้จากการขโมยระหว่างการขนส่งหรือจากการโจมตีเหมืองของผู้ประกอบการอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งบางครั้งใช้ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ กระบวนการทั้งหมดนี้ได้มาจากการข่มขู่ การทรมาน และการฆาตกรรม ซึ่งทำให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงได้เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเพชรสีเลือด

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นต่อมาจึงได้เกิดกระบวนการคิมเบอร์ลีย์ (Kimberly Process) ขึ้น เพื่อป้องกันเพชรที่ได้จากแหล่งผิดกฎหมาย
     


ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเหมืองคิมเบอร์ลีย์ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง และยังได้มีการเสนอชื่อเหมืองแห่งนี้ให้ยูเนสโกพิจารณาประกาศเป็นมรดกโลกอีกด้วย แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

การค้นพบเพชรที่คิมเบอร์ลีย์นั้นเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านแม้ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าอย่างมากมายมหาศาลและส่งผลประโยชน์ให้แก่แอฟริกาใต้ได้ แต่ทว่าในทางกลับกันก็มีผลกระทบอย่างร้ายแรงทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อตัวมนุษย์เอง มีมนุษย์จำนวนมากที่ตกเป็นทาสของอัญมณีที่มีค่านี้เพียงเพราะสามารถสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้กับตนได้ จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ทารุณกรรมจนถึงชีวิต เพียงเพราะหลงลืมไปว่าอัญมณีนั้นแท้จริงแล้วก็คือหินก้อนหนึ่งที่มนุษย์เป็นคนตีค่าราคาให้กับมันและสุดท้ายก็ตกเป็นทาสให้กับมันเอง


อ้างอิง

กำเนิดเพชร.สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 , จาก : http://www.thejewelshouse.com/store/article/view/กำเนิดเพชร-23932-th.html

กำเนิดอุตสาหกรรมเพชรยุคใหม่.สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 , จาก: https://wol.jw.org/th/wol/d/r113/lp-si/102005845

บาดแผลบนแผ่นดิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 , จาก: https://www.thairath.co.th/content/509390

เบื้องหลังการค้นพบสิ่งอัศจรรย์ของโลก.--กรุงเทพฯ:นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์,2549.

เพชรสีเลือดแห่งความขัดแย้ง.สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 , จาก: http://www.geothai.net/blood-diamond/

Kimberley, Northern Cape [Web log post]. Accessed on 19 August 2017,  Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Kimberley,_Northern_Cape

อ่านเพิ่มเติม »

ห้องสมุดดินเหนียวเมืองนิเนเวห์ (Nineveh)

โดย อภินันท์ วิชัย

การศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นเป็นเรื่องที่คนรุ่นหลังให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ทราบประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การค้นพบทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ทำให้เราได้ทราบว่ามนุษย์ได้เริ่มประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้เป็นครั้งแรกของโลกคือการรู้จักประดิษฐ์อักษรลิ่มหรืออักษรคูนิฟอร์มของชาวสุเมเรียนที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงแผ่นเดินเหนียวเก็บไว้ในห้องสมุดดินเหนียวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งห้องสมุดดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญที่สุด คือ ห้องสมุดดินเหนียวเมืองนิเนเวห์ (Nineveh Library)

ที่มา: https://allmesopotamia.wordpress.com/
ห้องสมุดดินเหนียวเมืองนิเนเวห์เป็นภูมิปัญญาของอารายธรรมเมโสโปเตเมีย ซึ่งตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำไทกรีสและยูเฟรตีส ปัจจุบัน คือ ประเทศอิรักและบางส่วนของประเทศอิหร่าน ที่ในอดีตเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวสุเมเรียน บาบิโลเนียน และอัสซีเรียน ห้องสมุดดินเหนียวแห่งนี้เป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ที่เก็บแผ่นดินเหนียวที่มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย

เริ่มตั้งแต่ชาวสุเมเรียนเป็นชนชาติแรกที่ประดิษฐ์อักษรลิ่มหรืออักษรคูนิฟอร์มขึ้นมา โดยการใช้ไม้ตัดปลายให้แหลมกดลงแผ่นดินเหนียวที่เปียกแล้วนำไปเผาไฟหรือตากแดดให้แห้งเกิดเป็นตัวอักษรลิ่มบนแผ่นดินเหนียวบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้และมีการจัดเก็บแผ่นเดินเหนียวที่บันทึกข้อความเป็นห้องสมุดตามสถานที่ต่างๆ ทั้งห้องสมุดส่วนตัว ห้องสมุดของวัด และห้องสมุดของรัฐบาล

ที่มา: http://www.ancient-origins.net/
จากการค้นพบของนักโบราณคดีชาวอังกฤษในปี พ.ศ. 2303 - พ.ศ. 2306 ทำให้ทราบว่าห้องสมุดดินเหนียวเมืองนิเนเวห์ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอัสเซอร์บา นิปาล กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอัสซีเรียพระองค์ได้รับสั่งให้รวบรวมแผ่นอักษรลิ่มหรือคิวนิฟอร์มมาไว้ที่ห้องสมุดแห่งนี้และมีการทำนุบำรุงจนได้รับการยกย่องเป็นที่รู้จักกันมาก

จากการค้นพบนักโบราณคดีได้พบบันทึกแผ่นดินเหนียวเป็นจำนวนมากประมาณ 25,000 แผ่น ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้  ได้แก่ ศาสนา วรรณกรรม การเมืองการปกครอง เช่น พบบันทึกประมวลกฎหมายของพระเจ้าฮัมมูราบี กษัตริย์แห่งบาบิโลนที่ได้ทรงรับสั่งให้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของโลกและเป็นต้นแบบของกฎหมายลายลักษณ์อักษรในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นประมวลกฎหมายอาญาที่ยึดหลักตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่ใครทำผิดอย่างไรก็จะได้รับการลงโทษอย่างนั้น

นอกจากนั้นยังพบวรรณกรรมต่างๆ เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับเทพพระเจ้า บดสวดต่างๆ และนิยายที่มีชื่อเสียงอย่างมหากาพย์กิลลาเมซเป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เขียนลงบนแผ่นดินเหนียวขนาดใหญ่ 12 แผ่น รวมทั้งสิ้น 3,000 บรรทัดกล่าวถึงอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในอาณาจักรบาบิโลเนีย

จารึกมหากาพย์กิลกาเมช ที่มา: http://www.komkid.com/
หลังจากอาณาจักรอัสซีเรียถูกรุกรานห้องสมุดดินเหนียวต่างๆ จึงถูกทำลายไปด้วย ความนิยมการบันทึกข้อความลงบนแผ่นเดินเหนียวก็ไม่เป็นที่นิยมเพราะระยะต่อมามีวัสดุอื่นๆ ที่คงทนมากกว่าแผ่นดินเหนียวทำให้การบันทึกข้อความลงบนแผ่นดินเหนียวนั้นเริ่มหายไป เหลือเพียงแต่ห้องสมุดเมืองนิเนเวห์ที่ยังคงมีบันทึกแผ่นดินเหนียวหลายหมื่นแผ่นให้เราได้ศึกษา จึงถือได้ว่าเป็นห้องสมุดดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นับว่าห้องสมุดดินเหนียวเมืองนิเนเวห์ป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญคัญของโลกที่ทำให้เราสามารถค้บพบเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตแสดงถึงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่ต้องการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ จึงได้ประดิษฐ์อักษรเขียนลงแผ่นดินเหนียวเก็บไว้ในห้องสมุดจนเกิดเป็นห้องสมุดดินเหนียวและเป็นต้นแบบของห้องสมุดในการจัดเก็บเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ถ่ายทอดความรู้ ศิลปะ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมต่างๆ จนกลายเป็นรากฐานของอารยธรรมโลกในยุคปัจจุบัน

อ้างอิง

จุมพล  วนิชกุล. (2546). พัฒนาการของสารนิเทศ. ค้นเมื่อ วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560, จาก  http://wachum.com/eBook/1631101/doc1-4.html

ภัทราพร   เตชวาณิชย์. (2556). ห้องสมุดดินเหนียว. ค้นเมื่อ วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560, จาก   https://pattraporn093.wordpress.com/2013/12/23/ห้องสมุดดินเหนียว/

April Holloway. (2556). Sip Like a Sumerian: Ancient Beer Recipe Recreated from Millennia-Old

Cuneiform Tablets. ค้นเมื่อ วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560, จาก http://www.ancient-origins.net/news-history-archaeology


อ่านเพิ่มเติม »

หมู่บ้านชนกลุ่มน้อยในมณฑลยูนนาน

โดย อชิรญาณ์ ชมพบ

มณฑลยูนนานถือได้ว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อย่างอุทยานป่าหิน เขาซีซาน หรือเมืองโบราณต้าหลี่ และสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายให้ได้เยี่ยมชมกันแล้ว อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของมณฑลยูนนานที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ นั่นก็คือ หมู่บ้านชนกลุ่มน้อยที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ที่ได้ชื่อว่ามีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศจีน

หมู่บ้านชนกลุ่มน้อย ตั้งอยู่ริมทะเลสาบเตียนฉือ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน โดยคุนหมิงตั้งอยู่บนที่ราบสูง มีภูเขาล้อมรอบตัวเมือง 3 ด้าน ทิศใต้ติดกับทะเลสาบ และมีสภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง 15-18 องศาเซลเซียส จนได้รับสมญานามว่าเป็น “เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ (Spring City)  ของจีน” หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เป็นเมืองที่อากาศดีที่สุดของจีน

ที่มา : http://ticket.lvmama.com/scenic-101086
สาธารณรัฐประชาชนจีนมีชนกลุ่มน้อยทั้งหมด 56 ชนเผ่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่บ้านชนกลุ่มน้อยที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยที่หลากหลายมากถึง 25 ชนเผ่าด้วยกัน ที่นี่นอกจากจะมีชาวฮั่นเป็นชนกลุ่มใหญ่แล้ว ยังมีชนเผ่าอื่นๆอีก ซึ่งประกอบไปด้วย เผ่าไต, เผ่าไป๋, เผ่าอี๋, เผ่าน่าซี, เผ่าว้า, เผ่าปู้หล่าง, เผ่าจีโน, เผ่าลาหู่, เผ่าธิเบต, เผ่าจิงโพ, เผ่าฮานี, เผ่าเตออัง, เผ่าจ้วง, เผ่าแม้ว, เผ่าสุย, เผ่านู่, เผ่ามองโกล, เผ่าปูอี, เผ่าตรุง, เผ่าลีซู, เผ่าพูมี, เผ่าหม่าน, เผ่าหุย, เผ่าเหย้า และเผ่าอาชัง

หมู่บ้านชนกลุ่มน้อยมีเนื้อที่ 520 ไร่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 4A ของประเทศ ซึ่งหมู่บ้านชนกลุ่มน้อยแห่งนี้เป็นหมู่บ้านจำลองที่ถูกจัดสร้างขึ้นให้ชนกลุ่มน้อยทั้งหลายได้อาศัยอยู่ตามพื้นเพเดิมของตนเอง และทำมาหากินกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม ภายในหมู่บ้านชนกลุ่มน้อยมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ เช่น ภูเขา และทะเลสาบ นักท่องเที่ยวนอกจากจะได้ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้วยังได้ชื่นชมธรรมชาติที่สวยงามอีกด้วย

ที่มา : http://ticket.lvmama.com/scenic-101086
โดยหมู่บ้านชนกลุ่มน้อยที่เมืองคุนหมิงแห่งนี้มีการแบ่งพื้นที่ของแต่ละชนเผ่าอย่างชัดเจน ด้านหน้าทางเข้าของแต่ละหมู่บ้านมีป้ายชื่อชนกลุ่มน้อยและแนะนำชนกลุ่มน้อยโดยสังเขป ซึ่งอธิบายถึงถิ่นกำเนิดเดิม สภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนกลุ่มนั้นๆเอาไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทำความเข้าใจ ส่วนบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยนั้นสร้างขึ้นตามสภาพจริงที่แสดงออกถึงลักษณะของชนกลุ่มน้อยแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป มีสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตน มีการแต่งกายประจำชนเผ่าของตนเองเป็นกิจวัตรประจำวัน มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนหมู่บ้านทั่วไป รายได้ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยว และทำเกษตรกรรม ผู้คนอัธยาศัยดี เป็นมิตร พึ่งพาอาศัยกัน นอกจากนี้ยังมีการแสดงและมีวัฒนธรรมที่เผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และศึกษากันอย่างใกล้ชิด นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้ถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยทั้ง 25 ชนเผ่าในเวลาเดียวกัน

นอกจากนั้นภายในหมู่บ้านของแต่ละชนเผ่ายังมีการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองให้นักท่องเที่ยวได้ชม และมีส่วนร่วมในการแสดงด้วย  เช่น การเต้นรำ  ร้องเพลง และการละเล่นของแต่ละชนเผ่า โดยการแสดงนั้นจะมีเวลาและรอบการแสดงที่ระบุไว้ชัดเจน นักท่องเที่ยวนอกจากจะได้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์แล้ว ยังได้ความสนุกสนานเพลิดเพลินด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสัมผัสกับบรรยากาศวิถีชีวิตแห่งชนเผ่าอย่างใกล้ชิด สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยมีค่าเข้าชมราคา 90 หยวน/คน (หรือประมาณ 450 บาท) เวลาเปิด-ปิด แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 08:30-17:00 และ 18:00-22:00

ที่มา : https://travel.thaiza.com/foreign/188577/
เนื่องจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยในหมู่บ้านแห่งนี้ ที่ถือได้ว่ามีอยู่มากที่สุดในประเทศจีน อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า  จึงทำให้หมู่บ้านชนกลุ่มน้อยได้รับการประกาศให้เป็นฐานวัฒนธรรมแห่งชาติของมณฑลยูนนาน, หน่วยสาธิตการท่องเที่ยวแห่งชาติ, เขตท่องเที่ยวอารยธรรมอันงดงามของมณฑลยูนนาน นอกจากนี้ยังได้รับการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่มีตัวตนในมณฑลยูนนาน จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO อีกด้วย

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยเป็นสิ่งที่เราหาดูได้ยากในปัจจุบัน หมู่บ้านชนกลุ่มน้อยที่เมืองคุนหมิงจึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นและดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากถึง 25 ชนเผ่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่ต่างชนชาติกันอย่างใกล้ชิดแบบรวดเดียวจบจึงมักจะเดินทางมาที่นี่ หมู่บ้านชนกลุ่มน้อย จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าจดจำอีกแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนาน

อ้างอิง

ข้อมูลและภาพประกอบของชนเผ่าต่างๆ ทั้งหมดในประเทศจีน ซึ่งมากถึง 56 ชนเผ่า. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2560, จาก : http://www.travelprothai.com/

ข้อมูลพื้นฐานของมณฑลยูนนาน และเขตอาณา - สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2560, จาก : http://www.thaiembassy.org/

หมู่บ้านวัฒนธรรมยูนนาน. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2560, จาก : http://meetawee.com/home/

云南民族村. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2560, จาก : https://baike.baidu.com/

อ่านเพิ่มเติม »

แอนน์ โบลีน (Anne Boleyn) ตำนานราชินีหัวขาดแห่งอังกฤษ

โดย พลอยจรัส เรือโป๊ะ

หากกล่าวถึงเรื่องราวสยองขวัญที่ถูกเล่าขานกันมาถึงตำนานความน่ากลัว และความเฮี้ยนของโลกหนึ่งในนั้นก็คงจะไม่พ้นเรื่องราวของแอนน์ โบลีน (Anne Boleyn) ราชินีผู้อาภัพแห่งอังกฤษ เรื่องราวชีวิตและความรักที่ขมขื่นเฉกเช่นบทโศกในละคร ก่อเกิดเป็นตำนานความเฮี้ยนแห่งหอคอยลอนดอน

พระนางแอนน์ โบลีน เป็นบุตรีของเซอร์ทอมัส โบลิน กับเลดีเอลิซาเบธ โบลิน และได้เป็นพระมเหสีพระองค์ที่ 2 ในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ และเป็นพระราชมารดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ความรักของพระนางแอนน์นั้นเริ่มต้นที่พระนางถูกพระบิดา สั่งให้แต่งงานกับญาติของพระนางคือ เจมส์ บัทเลอร์แต่เจมส์ก็เสียชีวิตเสียก่อน แอนน์ โบลีนจึงได้ถูกส่งเข้าราชสำนักเพื่อรับใช้สมเด็จพระราชินีแคทเธอรีน แห่งอรากอน

ในขณะนั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษได้ทรงเบื่อพระนางแคทเทอรีนแห่งอรากอน เนื่องจากโดยเวลานี้พระนางแคทเทอรีนประสบปัญหาจากการมีบุตร และพระนางแคทเทอรีนนั้นมีพระชนมายุสูงวัยกว่าพระเจ้าเฮนรี ทำให้ในปี พ.ศ. 2068 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษเกิดตกหลุมรักแอนน์ โบลีน และต้องการแต่งงานด้วย ทำให้พระเจ้าเฮนรีหาเหตุที่ว่าพระนางแคทเทอรีนเคยอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอาเทอร์นั้นเป็นการผิดบัญญัติแห่งพระเจ้า หลังจากหย่ากับพระนางแคทเทอรีน  และพระนางได้ถูกขับไล่ออกไปจากพระราชวัง


พระนางแอนน์ โบลีน
ที่มา : https://th.wikipedia.org/

จุดเริ่มต้นแห่งเรื่องราวแห่งความผิดและความตายได้เกิดขึ้น หลังจากที่พระเจ้าเฮนรี่ได้แต่งงานกับพระราชินีแอนน์ พระราชอำนาจหลังพระราชบัลลังก์ฉายเด่นชัดจากสมเด็จพระราชินีพระองค์นี้ พระนางแอนน์นั้นยังถูกกล่าวขานว่า “ราชินีแห่งอังกฤษที่โดดเด่นและสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมี” ชีวิตคู่ของพระองค์ช่วงแรกนั้นช่างมีความสุขแต่พอนานวันเข้า พระเจ้าเฮนรีทรงไม่ชอบท่าทางของแอนน์ที่ทำเพื่อตนเองและชอบโต้แย้งกับพระองค์ พระนางแอนน์ไม่เกรงกลัวต่ออันตรายใดๆ ทรงใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย พระนางพยายามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง  ข้าราชการแบ่งฝักฝ่ายเป็นสองพวกคือ “คนของพระราชา” และ “คนของพระราชินี”


พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8
ที่มา : https://th.wikipedia.org/

หลังจากการล้มเหลวจากการได้บุตร พระเจ้าเฮนรีมองการล้มเหลวเป็นการทรยศพระองค์ ในวันคริสต์มาสพระเจ้าเฮนรีได้สนทนากับทอมัส เครนเมอร์ และ ทอมัส ครอมเวลล์ในเรื่องการขับไล่พระนางแอนน์ โบลีน และโปรดให้พระนางแคทเทอรีน แห่งอรากอนกลับมา และได้มีการสั่งประหารศัตรูของพระนาง ผู้ซึ่งต่อต้านนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์

ต่อมาในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2079 ข่าวการสวรรคตของพระนางแคทเทอรีนก็ได้ทราบถึงพระเจ้าเฮนรีและพระนางแอนน์  หลังจากมีการชันสูตรพระศพของพระนางแคทเทอรีน แห่งอรากอนได้พบว่า หัวใจของพระนางกลายเป็นสีดำ ต่างก็มีคนเชื่อว่าไม่พระเจ้าเฮนรีก็พระนางแอนน์ที่ได้ลอบวางยาพิษพระนางแคทเทอรีน แต่บ้างก็ว่าพระเจ้าเฮนรีทรงเสียพระทัยในการจากไปของพระนางแคทเทอรีนอย่างมากเช่นกัน  พระนางแอนน์มีบุตรีคนเดียวคือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ

และเหตุการณ์ต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อนางเจน เซมัวร์นางสนองโอษฐ์ในพระราชาเข้ามาอยู่ในราชวังและแล้วเรื่องการคบชู้สู่ชาย การร่วมประเวณีกับผู้ใกล้ชิด และการทรยศ ก็เกิดขึ้น ในวันสุดท้ายของเดือนเมษายน นักดนตรีชาวเฟลมมิชที่พระนางแอนน์เรียกไปรับใช้ชื่อว่า มาร์ก สเมียตัน ได้ถูกจับกุมและทรมานร่างกาย เพราะได้ถูกตั้งข้อหาว่าคบชู้กับพระราชินีแต่ระหว่างการทรมานเขาได้สารภาพผิด ต่อมาชาวต่างชาติ เฮนรี นอร์ริส ได้ถูกจับในเดือนพฤษภาคมแต่เนื่องจากเขาเป็นชนชั้นสูงจึงไม่ถูกทรมาน เขาได้ปฏิเสธและสาบานว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ 2 วันต่อมาเซอร์ฟรานซิส เวสตันได้ถูกจับกุมในข้อกล่าวหาเดียวกัน วิลเลียม แบร์ตันบ่าวรับใช้ของพระเจ้าเฮนรีก็ถูกจับกุมในข้อกล่าวหานี้เช่นกัน สุดท้ายก็มีการจับกุมพระอนุชาของพระนางแอนน์ จอร์จ โบลีนในข้อหาคบชู้กับสายเลือดเดียวกัน

วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2079 พระนางแอนน์ได้ถูกจับกุมและส่งไปหอคอยแห่งลอนดอน นักโทษคนอื่นได้รับการปลดปล่อยเหลือแต่พระนางแอนน์และจอร์จ โบลีน 3 วันต่อมาแอนน์ได้ถูกกล่าวหาว่าได้คบชู้สู่ชายกับสายเลือดเดียวกัน และทรงเป็นผู้ทรยศ หลังจากการตัดสิน จอร์จ โบลีนพระอนุชาได้ถูกประหาร

ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2079 แอนโทนี คิงส์ตันผู้เป็นยามเฝ้าประตูได้บันทึกไว้ว่า พระนางแอนน์นั้นดูมีความสุขและเตรียมตัวเตรียมใจที่จะได้รับการประหาร พระเจ้าเฮนรีได้ทำตามคำขอของพระนางแอนน์เป็นครั้งสุดท้ายโดยได้จ้างเพชฌฆาตจากฝรั่งเศสมาทำการประหารโดยใช้ดาบตามธรรมเนียมฝรั่งเศส เนื่องจากพระนางแอนน์กลัวการประหารด้วยขวานทื่อๆตามธรรมเนียมอังกฤษ ในเช้าของวันที่ 19 ทหารได้มาเชิญพระนางเข้ารับการประหาร แอนโทนี คิงส์ตันได้เขียนบันทึกเป็นภาษาอังกฤษว่า พระนางแอนน์ได้ทรงฉลองพระองค์สีแดง พระเกศารวบด้วยผ้าลินินสีขาวซึ่งเป็นธรรมเนียมฝรั่งเศส พระนางทรงมีนางสนองโอษฐ์ 4 คนเดินตามจนถึงแท่นประหาร

กล่าวกันว่าหลังจากที่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ประหารชีวิตพระนางแอนน์ โบลีน ด้วยการตัดพระเศียร ที่Tower Green แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดทราบว่าที่แท้จริงแล้วพระนางแอนน์นั้นได้ทรยศและคบชู้จริงหรือไม่ แต่ดวงวิญญาณของพระนางก็ยังคงสิงสถิตอยู่ที่นั่น มีทหารยามพบเป็นสตรีสวมผ้าคลุมศีรษะออกมาเดินเล่นริมระเบียงที่ถูกปิดตาย เพียงแต่สตรีผู้นั้นได้ถือศีรษะของตนออกมาเล่นด้วย ไม่ก็พระนางจะลากโซ่ตรวนในห้องประหารแล้วกรีดร้องเสียงดัง และเห็นพระนางแอนน์ โบลีน นำทหารในสมัยนั้นและเลดี้หรือสตรีระดับสูงเข้ามาในโบสถ์ที่หอคอยแห่งลอนดอน จนเงาพวกนั้นค่อย ๆ หายไป แล้วปล่อยให้โบสถ์นั้นเงียบสงัดไปดื้อ ๆ เป็นต้น ทุกวันนี้ยังมีผู้คนพบเจอสิ่งแปลกประหลาดเรื่อยมาจนเป็นที่มาของความหลอนสั่นประสาทนี้


อ้างอิง

แอนน์ โบลีน พระราชนีแห่งอังกฤษ.(2560). (ออนไลน์).
เข้าถึงได้จาก: https://th.wikipedia.org/ (วันที่สืบค้น13/09/2560).

แอนน์ โบลีน.(2556).(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: https://teen.mthai.com/variety/81648.html (วันที่สืบค้น13/09/2560).

ตำนาน ราชินี หัวขาด แห่งอังกฤษ | เรื่องเล่าจากความมืด Ep:57.(2558). (ออนไลน์).
เข้าถึงได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=uxxKbCVic0M&t=564s (วันที่สืบค้น13/09/2560).

แอนน์ โบลีน ราชินีไร้หัว สยองซะไม่มี [P36].(2559). (ออนไลน์).
เข้าถึงได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=zd6ntGONCYc (วันที่สืบค้น13/09/2560).

อ่านเพิ่มเติม »

โซดอมและกอมมอราห์ (Sodom and Gomorrah) ตำนานนครแห่งบาป

โดย ประไพจิตร  ภูหนองโอง

โซดอมและกอมมอราห์ (Sodom and Gomorrah) เป็นตำนานที่ปรากฏขึ้นทั้งในพระคัมภีร์ ไบเบิล และอัลกุรอาล ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ทั้งสองคัมภีร์มีจุดเริ่มต้นที่ใกล้เคียงกัน คือถือกำเนิดขึ้นในบริเวณของดินแดนเยรูซาเร็ม ปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอิสราเอล อีกทั้งยังมีต้นกำเนิดมาจากศาสนายิว หรือยูดาย เช่นเดียวกันจึงมีตำนานความเชื่อหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน  หนึ่งในนั้นก็คือ เมืองแฝด โซดอมและกอมมอราห์ นครที่ถูกพระเจ้าทำลายลงด้วยความที่มีบาปหนาเกินกว่าแผ่นดินจะรับไหว ในพระคัมภีร์ไบเบิล และในอัลกุรอาล ได้ปรากฏข้อความแสดงถึงการลงโทษเมืองที่เต็มไปด้วยความชั่วร้ายแห่งนี้

ที่มา: http://ansorimas.blogspot.com/
ตามตำนานเชื่อกันว่า ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของ โซดอมและกอมมอราห์นั้น อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าหุบเขาซิดดิม (Siddim) ใกล้กับทะเลสาป "Dead Sea" หรือทะเลมรณะ  ซึ่งเป็นตำนานความลึกลับมานานจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1848 นักธรณีวิทยาที่สำรวจบริเวณนั้นจึงรู้ว่า น้ำในทะเลแห่งนี้เต็มไปด้วยเกลือ มีความเค็มสูงสุดถึง 33.7 % สูงกว่ามหาสมุทรปกติ จนไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ปัจจุบันที่ตั้งของทะเลสาป "Dead Sea" ฝั่งตะวันออกติดกับประเทศจอร์แดน ฝั่งตะวันตกตอนเหนือติดกับเขตเวสต์แบ็งค์ (West Bank) ประเทศปาเลสไตน์ ฝั่งตะวันตกและใต้ติดกับประเทศอิสราเอล และอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 422 เมตร  ทางตอนเหนือของทะเลสาบมีสภาพเป็นโคลนขุ่นดำ  ส่วนทางตอนใต้ชายฝั่งมีลักษณะเหมือนก้อนเกลือขนาดใหญ่ รอบ ๆ บริเวณทะเลสาบ จะมีเกลือจับก้อนหินก้อนดินกลายเป็นโขดเขาเกลือขึ้นเรียงรายอยู่มาก หนึ่งในจำนวนนี้ได้แก่ เสาหินเกลือ (Pillar of Salt) ที่มีรูปร่างคล้ายสตรียืนอยู่

เมืองโซดอมและกอมมอราห์นั้น ตามตำนานที่ได้บันทึไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวไว้ว่า เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย และบาปหนาจนเกินกว่าที่แผ่นดินจะแบกรับได้ ดังนั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงทำลายเมืองนี้ฝังไว้ใต้ธรณีเสีย ตามพระคัมภีร์ ไบเบิล อิบรอฮีม(อับราฮัม) ได้ส่ง “ลูฏ”(โลต) หลานชายของท่านไปยังเมืองโซดอมเพื่อตักเตือนชาวเมืองให้เห็นถึงผลร้ายของความชั่วร้ายต่าง ๆ ในเมือง และละเว้นจากพฤติกรรมนี้เสีย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เวลาผ่านไปหลายปีปรากฎว่ายิ่งนานวัน ศีลธรรมของผู้คนในเมืองโซดอมและกอมมอราห์จะยิ่งเสื่อมทรามลงเรื่อย ๆ เมื่อไม่สามารถยับยั้งลงได้ ลูฏจึงวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ลงโทษเมืองโซดอมและกอมมอราห์เพื่อมิให้ความบาปของผู้คนในเมืองนี้แพร่ออกไปยังดินแดนอื่น ดังนั้นพระผู้เป็นเจ้าจึงตัดสินใจทำลายเมืองทั้งสองนี้โดย "กำมะถันและไฟจากพระยะโฮวาลงมาจากฟ้าตกที่เมืองโซดอมและกอมมอราห์” พระองค์ได้ทรงทำลายเมืองเหล่านี้ คือแถบที่ราบนั้นทั้งหมดและพลเมืองทั้งสิ้นและบรรดาพืชพันธุ์ที่งอกขึ้นจาก แผ่นดินให้พินาศไปสิ้น" พระองค์ส่งทูตสวรรค์สามองค์และอย่าได้หยุดหันหลังกลับไปมองเมืองที่กำลังถูกทำลายเป็นอันขาด แต่ภริยาของลูฏไม่เชื่อฟัง อาจเป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็น จึงได้หันกลับไปมอง ผลคือ ร่างของนางกลายเป็นเสาหินเกลือ (Pillar of Salt) ติดตรึงอยู่ ณ ที่นั้น


แผนที่บริเวณทะเลสาป "Dead Sea" 

จากการศึกษาค้นคว้าโดยนักธรณีวิทยาและนักโบราณคดีอย่างละเอียด ร่องรอยของเมืองโซดอมและกอมมอราห์ปรากฏให้เห็นผ่านทางแผนที่เมืองแห่งที่ราบลุ่มทั้ง 5 ในไบเบิล เป็นภาพโมเสกโบราณ อยู่ในโบสถ์กรีก ยุคไบเซนไทน์ (Byzantine) ของเมืองมาดาบา (Madaba) ประเทศจอร์แดน ทำให้เชื่อว่าเมืองแห่งที่ราบลุ่มทั้ง 5 ในไบเบิล อยู่ริมทะเลสาบ"Dead Sea" ในฝั่งประเทศจอร์แดน ซึ่งเมืองโซดอมและกอมมอราห์อยู่ไกล้ๆ กับบริเวณที่เรียกว่า ลิซานเพนินซูลา (Lisan Peninsula) ใกล้ ๆ กับซากเมือง (Bab edh-Dhra) ที่เชื่อว่าเป็นเมือง โซอา (Zoor) ตามหลักฐานที่ปรากฏในทางโบราณคดีและธรณีวิทยาปรากฏว่า พื้นที่บริเวณนั้นในช่วงยุค 4,000 ก่อนได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เนื่องจากเป็นบริเวณรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยก้อนกำมะถันเกือบบริสุทธิ์ที่ติดไฟได้ ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าสาเหตุการล่มสลายของโซดอมและกอมมอราห์ที่อยู่ในยุคที่ใกล้เคียงกับช่วงเวลานั้นเกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และในไบเบิลยังได้กล่าวถึงก้อนหินติดไฟที่พุ่งลงมาจากท้องฟ้า ซึ่งอาจหมายถึงการระเบิดของแมกม่าจากใต้เปลือกโลกก่อเกิดเป็นภูเขาไฟระเบิดทำให้ก้อนกำมะถันพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วตกลงมาในเมือง เผาเมืองโซดอมและกอมมอราห์ ประกอบกับแผ่นดินไหวทำให้เมืองทั้งหมดจมลงไป และอาจอยู่ไต้ทะเลสาป "Dead Sea"

ตำนานนครแห่งบาปโซดอมและกอมมอราห์ แท้จริงแล้วคือเมืองที่ล่มสลายจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ จากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่เปลือกโลก แต่เนื่องจากมนุษย์ในยุคนั้นไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ จึงเชื่อว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของพระเจ้าที่ลงโทษความชั่วร้ายความบาป ของผู้คนในเมืองโซดอมและกอมมอราห์ เมื่อศาสนาคริสต์ และอิสลามกำเนิดขึ้นมาผู้ที่เขียนพระคัมภีร์จึงนำเอาตำนานเมืองโซดอมและกอมมอราห์มาเขียนบันทึกไว้ เพื่อเตือนให้สาวกเชื่องฟังพระผู้เป็นเจ้า มีความเกรงกลัวต่อบาป ประพฤติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงามเท่านั้นเอง


อ้างอิง : 

ดาบแห่งอัลเลาะห์ อะคาเดมี่. (2558,09 28). เรื่องราวของนบีลูฏ (โลฏในไบเบิล). [เว็ปบล็อก]. สืบค้นจาก http://ansorimas.blogspot.com/2015/09/blog-post_94.html

ทีมงานขั้นเทพ. (2555,06 21). Oh...My....GOD ตอนที่ 62:ว่าด้วยเรื่อง ยุคสุดท้าย. [เว็ปบล็อก].
สืบค้นจาก https://my.dek-d.com/Rosy/story/viewlongc.php?id=399277&chapter=62

Al-Qamar. (2553,03 18). ดวงอาทิตย์ตกลงในน้ำขุ่นดำ ที่ไหนหรือ?.  [เว็ปบล็อก]. สืบค้นจาก https://alquranstories.wordpress.com/2010/03/18/sunsets/

MCC HD. (2559,06 01). สารคดี Discovery | เมือง คนบาป ของ จอร์แดน. [วิดิโอออนไลน์]. สืบค้นจาก
https://www.youtube.com/watch?v=07WH-Ky67rE

อ่านเพิ่มเติม »

เพอร์เซโฟนีราชินีแห่งยมโลก (Persephone) ต้นกำเนิดการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล

โดย กมลชนก คำภา

ทุกคนล้วนรู้ดีว่าโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลตามเวลาใน 1 ปี แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่ามีตำนานที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลไว้อยู่ เป็นเรื่องราวในสมัยโบราณที่มีสวรรค์ นรก เวทย์มนตร์ ปิศาจ เทพเจ้า และมนุษย์ซึ่งการเปลี่ยนแปลงฤดูการนี้เริ่มมาจากรักต้องห้ามของเทพเจ้ากรีกผู้เป็นที่เคารพนับถือของมนุษย์โลกในขณะนั้น คือตำนานความรักของเทพฮาเดสและเทพีเพอร์เซโฟนี

เพอร์เซโฟนี(Persephone) เป็นเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิเธอเป็นลูกสาวของเทพีดีมิเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์และมหาเทพซุส (Zeus) ผู้ปกครองโอลิมปัส เมื่อเพอร์เซโฟนีเดินคู่กายไปกับแม่ของเธอพื้นที่นั้นจะเต็มไปด้วยพืชพรรณธัญหารที่อุดมสมบูรณ์ เธอมีอีกนามหนึ่งว่า คอเร (Kore) ซึ่งแปลว่าดอกไม้

ที่มา: https://en.wikipedia.org/
เพอร์เซโฟนีเป็นเทพีหญิงสาวที่มีความน่ารัก สดใส ไร้เดียงสาและงดงามมาก เธอมีน้ำเสียงที่ไพเราะที่เมื่อเปล่งเสียงออกมาก็สามารถปลุกความมีชีวิตชีวาให้แก่ธรรมชาติ ไม่ว่าเธอจะย่างกรายไปที่ไหน ดอกไม้พืชพรรณก็จะบานชูช่อเปล่งประกายความงามออกมา เหล่าสัตว์ทั้งหลายล้วนมักเข้ามาคลอเคลียเธอ ทำให้เธอเป็นที่หมายปองของเหล่าเทพ แต่เทพีดีมิเทอร์นั้นรักและหวงเธอเป็นอย่างมาก จึงพาเธอไปอยู่ที่ห่างไกลจากโอลิมปัสและปฏิเสธเหล่าเทพที่มาสู่ขอลูกสาวของเธอไปจนหมด

อยู่มาวันหนึ่ง เพอร์เซโฟนีเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิผู้น่ารักสดใสไร้เดียงสาอยู่ๆก็ได้กลายเป็นราชินีแห่งยมโลกหรือนรกใต้พื้นพิภพ หลังจากถูกเทพฮาเดส (Hades) ผู้เป็นเทพผู้ปกครองยมโลกและคนตาย ผู้เย็นชาซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชายของเทพซุสหรือเป็นลุงของเพอร์เซโฟนี ลักพาตัวเธอไปปกครองนรกด้วยกัน รักต้องห้ามนี้ที่เกิดขึ้น

มีตำนานหลักๆ อยู่ 2 ตำนาน ที่หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินมา บอกเล่าความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตำนานแรกคือ วันหนึ่งพื้นดินเกิดการสั่นสะเทือนรามไปถึงใต้พิภพจนฮาเดสร้อนใจจึงได้ประทับราชรถเทียมม้าขึ้นมาบนพื้นพิภพและได้พบกับเพอร์เซโฟนีที่กำลังเก็บดอกไม้อยู่ ฮาเดสตกหลุมรักเพอร์เซโฟนีทันที แต่กิตติศัพท์ความหวงลูกสาวของเทพีดีมิเทอร์นั้นเป็นที่เลื่องลือ ฮาเดสได้ตัดสินใจเข้าไปขอเพอร์เซโฟนีกับซุส ซึ่งซุสก็ได้เห็นดีเห็นงามด้วยแต่เทพีดีมิเทอร์นั้นหวงลูกสาวมากและคงไม่ยอมยกลูกสาวให้กับฮาเดสเป็นแน่ ซุสผู้น้องจึงแนะนำให้ฮาเดสจับตัวลูกสาวของตนไปซะดีกว่า ฮาเดสจึงได้ลักพาตัวเพอร์เซโฟนีไปเสียเลย

อีกตำนานหนึ่งคือ ตั้งแต่เล็ก เพอร์เซโฟนีนั้นมีความแน่วแน่มากที่จะประพฤติตนเป็นเทพีพรหมจรรย์เช่นเดียวกับ เฮสเทีย (Hestia) ผู้เป็นป้า อาธีน่า (Athena) และอาร์เทมีส (Artemis) ผู้เป็นพี่ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับ อโฟรไดท์ (Aphrodite) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความงามและความรักเป็นอย่างมาก เพราะมีเทพีที่เป็นเทพีพรหมจรรย์ถึง 3 คนก็มากเกินไปแล้วสำหรับพระนาง ยังจะต้องมีคนที่ 4 อีกหรือ?

ที่มา: https://owlcation.com/
อยู่มาวันหนึ่งพื้นดินเกิดการสั่นสะเทือนจนพื้นใต้พิภพเกิดรอยแตกร้าว ทำให้เทพฮาเดสผู้ปกครองใต้พิภพเกิดความร้อนใจ จึงได้ประทับราชรถเทียมม้าคู่ขึ้นมาตรวจสอบทันที และเมื่อราชรถเทียมม้าขึ้นมาถึงพื้นดิน เทพีอโฟรไดท์ซึ่งเดินนวยนาดอยู่แถวนั้นพอดีได้เห็นเทพฮาเดส จึงเกิดความคิดสนุกขึ้นมาว่า เทพฮาเดสเป็นราชาแห่งยมโลกผู้โดดเดี่ยวไร้รักเพราะไม่มีเทพีองค์ใดหมายปองที่จะลงไปอยู่ในนรกใต้พื้นพิภพกับพระองค์และเพอร์เซโฟนีเองก็กำลังจะประพฤติตนเป็นพรหมจรรย์ เทพีอโฟรไดท์จึงวางแผนให้ฮาเดสและเพอร์ซิโฟนีได้พบรักกัน จึงสั่งให้ อีรอส (Eros) หรือ คิวปิด กามเทพแห่งรักไปยิงศรรักใส่ฮาเดส เพื่อที่จะให้ฮาเดสนั้นตกอยู่ในห้วงรักบ้าง

อีรอสได้ทำหน้าที่แผลงศรรักทันที หากฮาเดสต้องมนต์ของศรรัก จะทำให้ฮาเดสตกหลุมรักสิ่งแรกที่เห็นทันที เมื่อศรรักถูกยิงไปที่ฮาเดสอย่างแม่นยำ ฮาเดสก็ได้ตกอยู่ในห้วงรักทันที โดยสิ่งแรกที่ฮาเดสเห็นนั้นก็คือเทพีเพอร์เซโฟนีที่กำลังเก็บดอกไม้อยู่!! ฮาเดสไม่สนความผิดชอบชั่วดี จึงตรงรี่เข้าฉุดเพอร์เซโฟนีขึ้นราชรถเทียมม้าและกลับไปสู่พื้นพิภพโดยทันที ท่ามกลางความตกใจของเพอร์เซโฟนีและกรีดร้องเรียกหาแม่ของเธอ

ในขณะที่ฮาเดสขับราชรถจะกลับลงสู่พื้นพิภพ ก็ได้ผ่านแม่น้ำไซยานี ซึ่งเกิดความปั่นป่วนราวกับจะขัดขวางพระองค์เอาไว้ แต่ก็ไม่สามารถต้านทานพลังของฮาเดสได้ เพอร์เซโฟนีรู้สึกได้ว่าแม่น้ำพยายามจะช่วยเธอ เธอจึงได้ถอดสายรัดเอวของเธอลงทิ้งไปในแม่น้ำ เพื่อหวังว่าสายน้ำนี้จะพัดพาเอาสายรัดเอวไปให้แม่ของเธอ

ทางด้านเทพีดีมิเทอร์เมื่อรู้ตัวว่าลูกสาวที่รักสุดสวาทขาดใจหายไป ก็ได้ออกตามหาเพอร์เซโฟนีไปทั่วและดีมิเทอร์ก็ได้ทราบเรื่องจากพวกนางไม้ที่คอยตามเพอร์เซโฟนีแล้วก็เฮลิออสหรือดวงอาทิตย์ ที่เห็นเรื่องราวทั้งหมด จึงเศร้าโศกเสียใจเพราะดีมิเทอร์ไม่สามารถทำอะไรฮาเดสได้ เพราะมัวแต่ร้องไห้หาลูกสาว จึงหลงลืมที่จะบันดาลให้พืชผลงอกงามส่งผลให้พืชผลแห้งเหี่ยว มนุษย์เกิดความอดอยากและล้มตายเป็นจำนวนมาก ดีมิเทอร์ได้ร้องเรียนให้ซุสพาลูกสาวของตนกลับคืนมา ซุสที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้และทนดูไม่ไหวเนื่องจากมนุษย์ล้มตายและไม่มีของเซ่นไหว้ จึงได้ส่งเทพเฮอร์มีสนักเจรจาลงไปยังยมโลกเพื่อขอตัวเพอร์เซโฟนีคืน แต่ฮาเดสนั้นไม่ยอมคืนตัวเพอร์เซโฟนีให้ เฮอร์มีสจึงได้สร้างข้อตกลงขึ้นใหม่โดยกล่าวว่าเพอร์เซโฟนีนั้นไม่สามารถอยู่ในยมโลกได้เนื่องจากเป็นที่ของคนตาย หากอยู่ต่อไปจะถือว่าผิดกฎธรรมชาติ แต่ถ้าหากเพอร์เซโฟนีได้กินอะไรก็ตามที่อยู่ในยมโลกแล้ว จะทำให้เพอร์เซโฟนีเป็นคนของยมโลกทันที ฮาเดสย่อมมีสิทธิ์ในเธอ

ระหว่างที่อาศัยอยู่ในยมโลกใต้พื้นพิภพนั้น เพอร์เซโฟนีได้กินทับทิมไป 3 เม็ด โดยที่เธอไม่ได้ทราบ
เงื่อนไขข้อตกลงนี้เลย เมื่อเดินทางกลับขึ้นมายังพื้นโลก ฮาเดสก็ได้ทวงถามสิทธิ์ในการครอบครองเพอร์เซโฟนีกับซุสทันทีซุสเกิดความลำบากในการตัดสินใจเป็นอย่างมาก จึงตัดสินยอมให้เพอร์เซโฟนีกลับไปอยู่กับฮาเดสตามจำนวนของเมล็ดทับทิมที่กินไปเป็นเวลา 3 เดือน และสามารถกลับขึ้นมาอยู่บนพื้นดินกับดีมิเทอร์ผู้เป็นแม่ได้เป็นเวลา 9 เดือน ดังนั้นช่วงเวลาที่เพอร์เซโฟนีและดีมิเทอร์ได้อยู่ด้วยกันบนพื้นโลก พืชพรรณธัญหารของมนุษย์จะเจริญเติบโตงอกงามอุดมสมบูรณ์ สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ แต่เมื่อถึงยามที่เพอร์เซโฟนีจะต้องกลับลงไปยังยมโลก ดีมิเทอร์ผู้เป็นแม่ก็จะเศร้าโศกเสียใจ ส่งผลให้พืชพรรณไม่สามารถเจริญงอกงามหรือเพาะปลูกขึ้นได้ถือเป็นฤดูหนาวหรือฤดูแล้งในแต่ละพื้นที่ เรื่องราวนี้จึงเป็นที่มาของการเกิดฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปบนพื้นโลก

เพอร์เซโฟนีที่ได้กลายเป็นราชินีแห่งยมโลกนั้น ได้เปลี่ยนตัวเองจากเด็กสาวที่น่ารักใสซื่อบริสุทธิ์เป็นราชินีผู้เย็นชาเนื่องจากเธอไม่ได้ต้องการที่จะอยู่ในยมโลกที่มีแต่ความมืดมิดและคนตาย ฮาเดสจึงมักนำอัญมณีของมีค่ามาประจบเอาใจเธอ เพอร์เซโฟนีจึงมีความรู้สึกรักฮาเดสอยู่บ้าง และฮาเดสเองก็เป็นสามีที่ซื่อสัตย์ ไม่ค่อยมีพฤติกรรมเชิงชู้สาวเหมือนเทพผู้น้ององค์อื่นๆ ทำให้เพอร์เซโฟนีนั้นค่อนข้างหวงฮาเดสอยู่พอสมควรคล้ายคำพูดในปัจจุบันที่ว่า รักนะแต่ไม่แสดงออก เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้ฮาเดสนอกลู่นอกทาง เช่น มีพรายสาวมายั่วยวน ก็ถูกแม่ยายหรือเทพีดีมิเทอร์และเพอร์เซโฟนีไล่กระทืบจนตาย และสาปให้กลายเป็นต้นมิ้นต์ มีพรายน้ำที่ชื่อว่าเลอซีที่ฮาเดสชอบพอ แต่โชคร้ายที่อายุสั้นเพราะป่วยตายทั้งๆ ที่พรายน้ำเป็นอมตะ อาจกล่าวได้ว่าการป่วยตายนี้เป็นฝีมือของดีมิเทอร์แม่ยายที่หวงลูกเขยอีกก็เป็นได้...

และแน่นอนว่าตัวของเพอร์เซโฟนีเองแม้จะกลายเป็นราชินีแห่งยมโลกอยู่ใต้พื้นพิภพไปแล้ว กิตติศัพท์ความน่ารักงดงามของเธอก็ยังคงทำให้ชายหนุ่มเพ้อฝัน ถึงขั้นลงทุนเดินทางมายังยมโลก เพื่อมาขอเพอร์เซโฟนีจากฮาเดส แน่นอนว่าล้วนเจออิทธิฤทธิ์ของราชาแห่งยมโลกผู้หวงราชินียิ่งกว่าอะไร กลั่นแกล้งจนกลับพื้นดินโลกไม่ถูกกันเลยทีเดียว

อ้างอิง

Bearry Channel. (2559). Greek Bearry EP 7 เพอร์เซโฟนี (Persephone) ราชินีแห่งนรก และต้นก าเนิดของฤดูหนาว. ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560, จาก https://www.youtube.com/watch?v=WTsoi8Jc8_4

ginger bread. (ม.ป.ป.). ต านานรักเทพเฮดีสเทพแห่งโลกหลังความตาย กับ เทพธิดาเพอร์ซิโฟเนเทพธิดาแห่งฤดูใบไม้ผลิ. ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560 จาก, https://board.postjung.com/706088.html

เพอร์เซฟะนี Persephone. (2560). ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560, จาก http://storylegendsth.blogspot.com/2017/03/Persephone.html

จาตุรันต์ เสียงดี. (2555). ต านานกรีกโบราณกับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง "Persephone". ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560, จาก https://www.gotoknow.org/posts/83595

อ่านเพิ่มเติม »