ขุมทรัพย์ใต้พิภพหลุมใหญ่แห่งคิมเบอร์ลีย์ (Kimberley Mine)

โดย อรปรียา วรจินดา

ใต้พิภพของโลกเรานั้นคือขุมทรัพย์ขนาดใหญ่เนื่องจากมีพลังงานความร้อนมหาศาลซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย เช่น การนำพลังงานความร้อนมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ในการเกษตรกรรมอุตสาหกรรม และนอกจากนี้ยังก่อให้เกิดแหล่งอัญมณีอย่างมหาศาล และอัญมณีที่จะกล่าวในที่นี้ก็คือ เพชร แม้ว่าเพชรจะอยู่ในพื้นพิภพแต่ด้วยความชาญฉลาดของมนุษย์ก็สามารถที่จะขุดขึ้นมาและทำเป็นเหมือง เหมืองเพชรบนโลกนั้นมีหลายแห่ง แต่ที่จะนำมากล่าวนี้เป็นเหมืองที่น่าสนใจแห่งหนึ่งซึ่งก็คือ เหมืองคิมเบอร์ลีย์

เหมืองคิมเบอร์ลีย์ (Kimberley Mine) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าหลุมใหญ่ (Big Hole) เป็นเหมืองเพชรในเมืองคิมเบอร์ลีย์ ประเทศแอฟริกาใต้  เหมืองแห่งนี้มีลักษณะเป็นหลุมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเกิดจากการขุดโดยมนุษย์ ราว 50,000 คน ลงแรงขุดเหมืองนี้ด้วยพลั่ว โดยเริ่มขุดตั้งแต่ ค.ศ.1871 จนกระทั่งปิดตัวลงในปี 1914  เหมืองมีความลึกถึง 1,097 เมตร เมื่อการทำเหมืองปิดตัวลง มีการขนดินออกไปถึง 25 ล้านตันและมีการค้นพบเพชร 3 ตัน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 47,000,000 ปอนด์


เหมืองคิมเบอร์ลีย์ (Kimberley Mine) หรือ หลุมใหญ่ (Big Hole)
   
การขุดเหมืองคิมเบอร์ลีย์นั้นส่งผลให้เมืองคิมเบอร์ลีย์เป็นเมืองส่งออกอุตสาหกรรมเพชรขนาดใหญ่ ซึ่งได้สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับเมืองคิมเบอร์ลีย์ ทำให้เมืองนี้เป็นเมืองแรกของซีกโลกใต้ที่ได้ติดตั้งไฟฟ้าบนถนน มีการสร้างโรงเรียน และ มหาวิทยาลัยขึ้น และยังทำให้ผู้คนจำนวนมากมีอาชีพเนื่องจากการทำเหมืองนั้นต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้คนมากมายอพยพเข้ามาในเมืองนี้ ส่งผลให้มีการคมนาคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน หรือ การสร้างทางรถไฟขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เมืองคิมเบอร์ลีย์นั้นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง

ถึงแม้ว่าการขุดเหมืองคิมเบอร์ลีย์นั้นจะก่อกำเนิดอุตสาหกรรมแห่งเพชรยุคใหม่และส่งผลประโยชน์มากมายให้แก่แอฟริกาใต้ แต่ทว่าในทางกลับกันในอดีตนั้นก็ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อแอฟริกาใต้เช่นกัน ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าเพชรแห่งความขัดแย้ง (Conflict Diamond) หรือ เพชรสีเลือด (Blood Diamond)



เหตุการณ์เพชรแห่งความขัดแย้ง (Conflict Diamond) หรือ เพชรสีเลือด (Blood Diamond)  เหตุที่เรียกว่าเพชรสีเลือดนั้นเพราะเป็นเพชรที่ผลิตในพื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาล พวกกบฏพวกนี้ได้ขายเพชรเพื่อใช้เป็นทุนในการซื้ออาวุธหรือเป็นทุนเสริมสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งขึ้น โดยพวกกบฏได้บังคับใช้แรงงานจากชาย หญิง ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก นอกจากนี้ยังได้จากการขโมยระหว่างการขนส่งหรือจากการโจมตีเหมืองของผู้ประกอบการอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งบางครั้งใช้ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ กระบวนการทั้งหมดนี้ได้มาจากการข่มขู่ การทรมาน และการฆาตกรรม ซึ่งทำให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงได้เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเพชรสีเลือด

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นต่อมาจึงได้เกิดกระบวนการคิมเบอร์ลีย์ (Kimberly Process) ขึ้น เพื่อป้องกันเพชรที่ได้จากแหล่งผิดกฎหมาย
     


ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเหมืองคิมเบอร์ลีย์ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง และยังได้มีการเสนอชื่อเหมืองแห่งนี้ให้ยูเนสโกพิจารณาประกาศเป็นมรดกโลกอีกด้วย แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

การค้นพบเพชรที่คิมเบอร์ลีย์นั้นเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านแม้ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าอย่างมากมายมหาศาลและส่งผลประโยชน์ให้แก่แอฟริกาใต้ได้ แต่ทว่าในทางกลับกันก็มีผลกระทบอย่างร้ายแรงทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อตัวมนุษย์เอง มีมนุษย์จำนวนมากที่ตกเป็นทาสของอัญมณีที่มีค่านี้เพียงเพราะสามารถสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้กับตนได้ จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ทารุณกรรมจนถึงชีวิต เพียงเพราะหลงลืมไปว่าอัญมณีนั้นแท้จริงแล้วก็คือหินก้อนหนึ่งที่มนุษย์เป็นคนตีค่าราคาให้กับมันและสุดท้ายก็ตกเป็นทาสให้กับมันเอง


อ้างอิง

กำเนิดเพชร.สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 , จาก : http://www.thejewelshouse.com/store/article/view/กำเนิดเพชร-23932-th.html

กำเนิดอุตสาหกรรมเพชรยุคใหม่.สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 , จาก: https://wol.jw.org/th/wol/d/r113/lp-si/102005845

บาดแผลบนแผ่นดิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 , จาก: https://www.thairath.co.th/content/509390

เบื้องหลังการค้นพบสิ่งอัศจรรย์ของโลก.--กรุงเทพฯ:นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์,2549.

เพชรสีเลือดแห่งความขัดแย้ง.สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 , จาก: http://www.geothai.net/blood-diamond/

Kimberley, Northern Cape [Web log post]. Accessed on 19 August 2017,  Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Kimberley,_Northern_Cape

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น