ทอมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก

โดย ปริญญา วานิช

หลายคนคงเคยได้ยินคำคมที่ถูกพูดถึงกันมากจากการสร้างแรงบันดาลใจที่ว่า “genius is one percent inspiration and ninety-nine percent perspiration” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยอย่างไพเราะคือ “อัจฉริยะเกิดจากแรงบันดาลใจเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และอีก 99 เปอร์เซ็นต์คือความอุตสาหะ” วาทะดังกล่าว  Thomas Alva Edison หรือ โทมัส อัลวา เอดิสัน ยอดนักประดิษฐ์ผู้เป็นต้นแบบที่สร้างสรรค์งานประดิษฐ์ต่างๆ

ผลงานหลายชิ้นของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนเชื่อว่า ความอุตสาหะ พากเพียร จะทำให้เกิดความเป็นอัจฉริยะขึ้นได้ในตัวเอง เฉกเช่นกับ โทมัส อัลวา เอดิสัน ที่ทำงานอย่างหนักด้วยความอุตสาหะ พากเพียร จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถหลากหลายหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งก็ว่าได้ อีกทั้งยังเป็นนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ประดิษฐ์อุปกรณ์สำคัญๆมากมาย จนได้รับฉายาว่า “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” (The Wizard of Menlo Park ) เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มนำหลักการของ การผลิตจำนวนมาก และกระบวนการประดิษฐ์ มาประยุกต์รวมกันได้อย่างลงตัว


ที่มา :  https://www.compgamer.com/

โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1847 ณ เมืองมิลาน (Milan) รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เป็นลูกคนที่ 7 และคนสุดท้าย ของนายแซมมวล เอดิสัน (Samuel “The Iron Shovel” Edison, Jr.) และนางแนนซี แมทธิวส์ เอลเลียต (Nancy Matthews Elliott) ขณะที่เขาเกิด บิดาของเขามีอายุ 43 ปี และมารดาของเขามีอายุ 37 ปี ในช่วงวัยเด็ก ทุกคนมักเรียกเอดิสันว่า “อัล” วัยเด็กของอัลเขาเป็นคนที่สนใจในเรื่องรอบตัวไม่ใช่แต่ตำราคร่ำครึเพียงเท่านั้น และมีนิสัยที่ชอบถามคนอื่นๆเมื่อเกิดความสงสัย เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องต่างๆอย่างถ่องแท้ และนอกจากนี้เขายังชอบทดลองทำอะไรใหม่ๆด้วยตัวเอง จนบางครั้งก็นำความเดือดร้อนมาให้แก่เขาเองและคนรอบข้างอยู่เสมอๆ เช่น เมื่อเขาทดลองเกี่ยวกับไฟด้วยตนเองก็ทำให้เกิดเพลิงไหม้ในที่สุด แต่ยังโชคดีที่ชาวบ้านสามารถดับเพลิงไว้ได้ทัน

เอดิสันมีนิสัยรักการอ่านหลงใหลในหนังสือที่มีภาพเนื้อหาและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เขาสนใจและทดลองตามหนังสือที่ได้อ่าน บิดามารดาของเขาจึงสร้างห้องใต้ดินเพื่อให้เขาได้ทดลองต่างๆตามหนังสือ และเขาก็ได้ทำการทดลองมากมายในห้องใต้ดินนั้น  เมื่อเอดิสันอายุได้เพียง 12 ขวบ ใน ค.ศ. 1859 เอดิสันตัดสินใจออกหางานทำเพื่อหารายได้พิเศษโดยการขายลูกอมและหนังสือพิมพ์บนรถไฟ ต่อมา ค.ศ. 1860 เอดิสันประสบอุบัติเหตุซึ่งส่งผลให้การได้ยินของเขาเสื่อมลง เขาจึงมีปัญหาด้านการได้ยิน ทำให้หูชั้นในของเขาติดเชื้อและมีลักษณะเกือบจะเป็นหูหนวก ต่อมาในขณะที่ได้ทำการทดลองในรถไฟก็เกิดเพลิงไหม้ขึ้นเขาจึงถูกไล่ออกและถูกทำร้ายร่างกายก็ยิ่งส่งผลต่อการได้ยินของเขาไปอีก

ค.ศ. 1863 เอดิสันเข้าเป็นพนักงานส่งโทรเลข และในปีเดียวนั้น เขาเปลี่ยนบริษัททำงานถึง 4 ครั้ง ตามสถานที่ต่าง ๆ ในอเมริกาและแคนาดา ค.ศ. 1864 เขาประดิษฐ์เครื่องบันทึกการนับคะแนน และยื่นขอจดสิทธิบัตร แต่เครื่องนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้งานแต่อย่างใด ในปี ค.ศ. 1869 เขาเดินทางไปยังนิวยอร์ก และเปิดบริษัทวิศวกรไฟฟ้าขึ้น บริษัทนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ต่อมาไม่นานใน ค.ศ. 1871 เขาสร้างอาคารซึ่งเปิดเป็นโรงงานและศูนย์วิจัย และได้พบรักและแต่งงานกับ แมรี สติลเวลล์ (Mary Stilwell) ผู้มีอายุน้อยกว่าเอดิสันถึง 8 ปี และในปีนั้น แนนซีผู้เป็นมารดาของเอดิสัน ก็เสียชีวิตลงในวัย 61 ปี

ค.ศ. 1876 เขาสร้างอาคารโรงงานและศูนย์วิจัยใหม่ที่เมนโลพาร์ก (Menlo Park) รัฐนิวเจอร์ซีย์ และเริ่มลงมือประดิษฐ์โทรศัพท์ ในปี ค.ศ. 1877 เอดิสันประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงขึ้น และเป็นที่มาของฉายา “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” ที่เขาสามารถประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ


เอดิสันใน ค.ศ. 1877
ที่มา : https://upload.wikimedia.org/w

ต่อมาในปี ค.ศ. 1878 เอดิสันเริ่มศึกษาค้นคว้าคิดที่จะทำหลอดไฟ เพราะไฟส่องสว่างในสมัยนั้นสามารถก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย เขาจึงมีความคิดที่ประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมา

ค.ศ. 1879 เขาประดิษฐ์หลอดไฟไส้คาร์บอนสำเร็จ และเริ่มออกแบบสวิตช์เปิด-ปิดหลอดไฟให้ติดตั้งในบ้านเรือนได้ง่าย นับเป็นจุดเริ่มต้นของหลอดไฟบนโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่
ค.ศ. 1880 เขาเปลี่ยนไส้หลอดไฟจากคาร์บอนเป็นไม้ไผ่ญี่ปุ่น เพราะหลอดคาร์บอน ส่องสว่างได้นาน 40 ชั่วโมง แต่หลอดไม้ไผ่ญี่ปุ่น ส่องสว่างได้นานถึง 900 ชั่วโมง
ค.ศ. 1882 เขาสร้างโรงจ่ายกระแสไฟฟ้าขึ้นที่นิวยอร์ก และเริ่มประกาศเทคโนโลยีหลอดไฟให้เป็นที่รู้จัก
ค.ศ. 1883 เขาประดิษฐ์หลอดไฟรุ่นใหม่ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไปได้ ทำให้หลอดไฟแพร่กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ของโลกเร็วขึ้น
ค.ศ. 1884 แมรี ภรรยาของเขาเสียชีวิตลงด้วยโรคไทฟอยด์ในวัยเพียง 29 ปีเท่านั้น
ค.ศ. 1886 เอดิสันจึงแต่งงานใหม่กับมินา มิลเลอร์ (Mina Miller) ผู้มีอายุน้อยกว่าเอดิสันถึง 19 ปี
ค.ศ. 1891 เขาประดิษฐ์เครื่องถ่ายภาพตัดต่อสำเร็จ บันทึกภาพเคลื่อนไหว ซึ่งนำไปสู่การสร้างภาพยนตร์ ในปี ค.ศ. 1893 ที่สร้างโรงถ่ายภาพยนตร์แห่งแรกของโลกได้
ในปี ค.ศ. 1896 บิดาของเอดิสันเสียชีวิตลงในวัย 92 ปี และในปีนั้น เอดิสันรู้จักกับ เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนสนิทกัน
ค.ศ. 1898 เขาเริ่มประดิษฐ์แบตเตอรี่ และประดิษฐ์สำเร็จใน ค.ศ. 1909 ใช้เวลานานถึง 11 ปี
ค.ศ. 1912 เกิดการใช้เครื่องถ่ายภาพตัดต่อและเครื่องบันทึกเสียงพร้อมกัน ทำให้เกิดเป็น ภาพยนตร์ที่มีทั้งภาพและเสียงในยุคสมัยนั้น

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1931 ทอมัส อัลวา เอดิสัน ยอดนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันแห่งศตวรรษที่ 19 ก็ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคเบาหวานและไตวาย ถือเป็นการจบชีวิตของผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า และเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์กว่า 1,000 รายการ นอกจากนั้นนักประดิษฐ์ผู้นี้ยังได้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ ชื่อ Edison Trust ต่อมานิตยสารไลฟ์ (Life) ได้ยกย่องให้นักประดิษฐ์ผู้มีนามว่า ทอมัส อัลวา เอดิสัน เป็น “หนึ่งใน 100 คนที่สำคัญที่สุดในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา” ถือเป็นนักอัจฉริยะทางความคิดที่เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกเลยก็ว่าได้

ตลอดระยะเวลากว่า 84 ปีที่เอดิสันมีชีวิตอยู่บนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แม้ชีวิตจะประสบกับปัญหาต่างๆ มากมายมาโดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่เอดิสันไม่เคยละทิ้งคือความพยายามความมุ่งมั่นและอุตสาหะ กระทำในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบและมองว่าเป็นสิ่งที่ดี นั่นคือ การค้นคว้าและทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อคิดค้นพัฒนาสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งช่วงหนึ่งของชีวิตที่ต้องขึ้นไปขายของเพื่อยังชีพหรือกระทั่งการทดลองทางเคมีหลายอย่างที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ หรือการถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกิดขึ้นจากความล้มเหลวทั้งสิ้น เอดิสันเกิดความล้มเหลวในการทดลองค้นคว้าสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆมานับครั้งไม่ถ้วน ขณะที่คนอื่นมองว่าการที่ได้ทดลองมาเกือบพันครั้งแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ และยิ่งทำให้ชีวิตล้มเหลว แต่เอดิสันกลับมองว่า “เขาได้เรียนรู้มากกว่าใครคนอื่น”  ความล้มเหลวของชีวิตของนักประดิษฐ์ผู้นี้ถือเป็นบทเรียนที่สามารถสร้างราคาให้แก่ใครหลายคนได้ หรืออาจสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของมนุษย์ไม่มากก็น้อย สมควรอย่างยิ่งที่จะยกฉายา ให้กับ Thomas Alva Edison หรือ โทมัส อัลวา เอดิสัน สุดยอดนักประดิษฐ์ผู้สร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์ว่าเป็น “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” อย่างที่สุด


อ้างอิง

คัสซินส์ มาร์กาเร็ต. (2511). โธมัส อัลวา เอดิสัน. พระนคร: ก้าวหน้า.

แพลตต์ ริชาร์ด. (2549). สิ่งประดิษฐ์ของโลก. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(2562).ทอมัส เอดิสัน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 กุมพาพันธ์ 2561, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/ทอมัส_เอดิสัน

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข. (2553). 20 ยอดนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพล (5). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 กุมพาพันธ์ 2561, จาก: http://www0.tint.or.th/nkc/nkc53/content/nstkc53-022.html

อ่านเพิ่มเติม »

ฟอนต์ (font) กราฟฟิกที่มองผ่านตัวอักษร

โดย จิราพร สาระนันท์

เมื่อฟอนต์กลายมาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้กับงานออกแบบในปัจจุบัน การสร้างงานใดๆ เริ่มตั้งแต่เอกสารทั่วไป รายงานราชการ รูปเล่มหนังสือ การ์ด โลโก้ โปสเตอร์ ป้ายโฆษณาอื่นๆ ฟอนต์จะถูกนำมาสื่อสารตามจุดประสงค์ของงานเพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์งานนั้นจริงๆ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ฟอนต์ เป็นสิ่งที่จะทำให้ตัวหนังสือต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมาดูมีคุณค่า มีความสวยงาม มีความเหมาะสมในตัวเอง และ “ฟอนต์” นี่เองที่เป็นตัวตัดสินแรกๆ ว่าจะทำให้คนดูรู้สึกอยากอ่านหรือไม่อยากอ่านงานของเรา

นอกจากการออกแบบสร้างสรรค์รูปภาพที่สวยงาม องค์ประกอบสี เนื้อหาการบรรยายที่น่าสนใจ ชวนดึงดูดให้ติดตาม สิ่งหนึ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามในงานออกแบบผลงานหรือผลิตภัณฑ์เลยคือเรื่องของการใช้ “ฟอนต์ (font)” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “รูปแบบตัวอักษร” ซึ่งในหลายครั้งที่งานออกแบบก็มาพลาดเพราะสิ่งนี้ การออกแบบที่ดีจึงจะต้องรู้จักเลือกฟอนต์ที่เหมาะสมต่องาน ซึ่งจะสามารถสร้างความแตกต่าง ความสวยงาม และทำให้งานดูดีมีมูลค่าได้อย่างเห็นได้ชัด เพื่อที่จะให้ผู้อ่านรู้สึกถึงอารมณ์ของงานที่เราสื่อสารออกไป
                     

ที่มา : https://www.siamzone.com/

ฟอนต์ (Font)  เป็นรูปแบบตัวอักษรมีอยู่มากมายในวินโดวส์ การเลือกใช้งานฟอนต์นั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละงาน ฟอนต์ทุกๆ แบบมีชื่อประจำทั้งฟอนต์สากล หรือฟอนต์อื่นๆ ที่อาจรู้จักในวงจำกัดเพราะอาจถูกออกแบบไว้ใช้สำหรับภาษาที่ใช้ในแต่ละประเทศ

ในขณะเดียวกันอาจกล่าวได้ว่า ฟอนต์ก็คือภาษาภาพที่วิวัฒนาการจากลายมือของมนุษย์ เป็นรูปแบบตัวอักษรที่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับงานตามยุคสมัย

การส่ง “สาร” ให้ถึงผู้อ่านคือหน้าที่ของ “ฟอนต์” หากเลือกฟอนต์ได้ถูกต้องเข้ากับงานจะทำให้ผู้อ่านเดาได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ทั้งนี้ฟอนต์เป็นสิ่งสร้างภาพจำในใจผู้อ่าน เป็นอักษรสร้างอารมณ์ เพิ่มความน่าสนใจให้งานออกแบบดูโดดเด่น ซึ่งในการปรับแต่งนั้นคงไม่ใช่แค่การทำให้ตัวอักษรดูใหญ่ หนา เด่น ชัดอ่านง่ายเพียงเท่านั้น แต่การออกแบบควรจะสามารถทำด้วยวิธีการที่หลากหลายแล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ เช่น การใช้รูปทรงต่างๆ การจัดวาง หรือการเลือกใช้สีและลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์มาประกอบด้วย ดังนั้นการเลือกรูปแบบตัวอักษร การประยุกต์ใช้ การใส่ลูกเล่นต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างมาก


ที่มา : https://www.siamzone.com/

นอกจากการเลือกฟอนต์ใดๆ มาใช้งานแล้ว การวางตำแหน่งตัวอักษรให้เหมาะสมกับพื้นที่ว่างและองค์ประกอบต่างๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญกับการออกแบบตัวงาน หากเป็นงานประเภทที่มีตัวหนังสือเยอะ เนื้อหาอ่านยาก ยิ่งต้องระวังการเว้นวรรคหรือช่องไฟระหว่างตัวอักษร ควรเลือกฟอนต์ที่ชวนอ่าน อ่านง่าย สบายตา  ถ้าตัวเล็กเกินไปหรือเบียดเกินไป อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอึดอัดเหมือนถูกขังอยู่ในที่แคบๆ และชวนปวดศีรษะ หากต้องการเน้นข้อความให้เกิดจุดเด่นก็ควรทำเพียงชุดเดียว จึงจะทำให้ไม่สับสน


ที่มา : https://www.katemoross.com/

ปัจจุบันมีเว็บไซต์หลายเว็บที่ให้บริการดาวน์โหลดฟอนต์ฟรี อย่างเช่น ฟอนต์.คอม เป็นเว็บไซต์สำหรับผู้สนใจในการออกแบบ ใช้งานฟอนต์ และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการออกแบบอื่นๆ อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดฟอนต์ไปใช้งานได้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่ต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตที่มีการระบุข้อตกลงพิเศษเฉพาะฟอนต์ และอีกหนึ่งแอปพลิเคชันอย่าง Microsoft Font Maker แอปสร้างฟอนต์ด้วยลายมือของเราเองบน Windows 10 เพียงแค่เราเขียนตัวอักษรให้ตรงกับช่องตัวอักษรที่กำหนดแล้วแอปจะสร้างฟอนต์ให้เราใช้งานเป็นอันเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามสามารถสร้างได้แค่ฟอนต์ภาษาอังกฤษเท่านั้น ยังไม่รองรับการสร้างฟอนต์ภาษาไทย

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับตัวอักษรกันขนาดนั้นด้วย? ก็เพราะตัวอักษรทุกตัวสามารถดึงดูดสายตาของกลุ่มเป้าหมายได้ดี และเพื่อให้เกิดการจดจำได้ง่ายเราจึงควรเลือกใช้หรือออกแบบมาพร้อมกับ Story ที่บอกเล่าเรื่องราวและบุคลิก หรือที่มาที่ไปของตัวอักษรนั้นๆ เพื่อความสวยงามในการนำเสนองาน


อ้างอิง  

ตุลย์ เล็กอุทัย. (2556). อักษรอารมณ์. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.posttoday.com/life/life/253993https://www.posttoday.com/life/life/253993

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล. (2561). ไม่มีวันไหนที่เราไม่เห็นตัวอักษร. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://thematter.co/pulse/cadson-demak-bits/61525

เบญสิร์ยา ปานปุญญเดช. (2555). รูปแบบของตัวอักษร. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.km-web.rmutt.ac.th/?p=315#

ปิยะนุช พร้อมประพันธ์. (2560). Typography แค่ตัวอักษรต้องสอนกันด้วยหรอ?. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://medium.com/@agencylikeme/

ฟอนต์.คอม. ฟอนต์เติมวิญญาณใส่งานอักษร. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก  https://www.f0nt.com.
The paperless. (2560).

“ฟอนต์” นั้นสำคัญไฉน กับ 5 เหตุผลที่เราต้องใส่ใจ “ฟอนต์”. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.thepaperless.co/

อ่านเพิ่มเติม »

พระแม่กาลี เทวีผู้ทรงมหิทธา

โดย โชคชัย คำจันทา

หนึ่งในเทวีผู้ทรงมหิทธาในศาสนาฮินดู นั่นคือ “พระแม่กาลี” หรือ “กาลิกา” ซึ่งใครหลายคนคงทราบกันดีว่าพระแม่กาลีนั้นเป็นอวตารปางหนึ่งของพระอุมาเทวี ซึ่งทรงมีอำนาจอิทธิฤทธิ์ในการปราบปรามสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มีเทวานุภาพอันแรงกล้าสามารถสร้างความวิบัติแก่เหล่าอสูรอย่างรุนแรง นอกจากนี้พระแม่กาลียังมีรูปกายที่แฝงเร้นไว้ซึ่งความน่ากลัว หากผู้บูชาพระแม่กาลีอย่างถูกต้องและเคร่งครัดพระแม่ก็จะประทานความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ และอำนาจเหนือผู้อื่น



ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระศรีมหาอุมาเทวีเทพสตรีแห่งสวรรค์ ชายาของพระศิวะ มีความประสงค์ที่จะออกปราบอสูรร้าย ซึ่งพระองค์ได้ขอพรต่อพระศิวะผู้เป็นเจ้าเพื่อให้ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ แล้วจึงเสด็จออกบำเพ็ญตบะทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ให้มีฤทธิ์อำนาจปราบศัตรูร้ายได้ทั้งปวง ซึ่งได้ทำพิธีในเขตอุทยานป่าหิมพานต์ โดยพระศรีมหาอุมาเทวีได้ทรงมอบหมายให้องค์ขันทกุมาร ซึ่งเป็นโอรสของพระศิวะและพระแม่อุมาเทวีรับหน้าที่ดูแลไม่ให้ใครย่างกรายเข้าไปในพิธีโดยเด็ดขาด

เมื่อเวลาผ่านไปพระศิวะจึงได้เสด็จเข้าไปในอุทยานเพื่อให้รู้แน่ว่าเกิดเหตุอันใดขึ้น พระองค์ก็ได้พบกับพระขันทกุมารจึงสอบถามและขอเข้าพบพระอุมาเทวี พระขันทกุมารจึงไม่สามารถให้พระศิวะเข้าพบพระแม่อุมาเทวีได้ด้วยทรงรับสั่งไม่ให้ใครย่างกรายเข้ามาขณะทำพิธี เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้นและเกิดการปะทะกำลังกันระหว่างพระขันทกุมารกับพระศิวะ เหตุการณ์ผ่านไปไม่นานนักพระแม่อุมาเทวีบำเพ็ญตบะเสร็จจึงได้เสด็จออกมา แต่สิ่งที่ปรากฏกลายเป็นรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นพระแม่กาลี!! โดยองค์พระขันทกุมารเมื่อเห็นพระแม่กาลีก็ทรงทราบได้ว่านี่คือพระมารดาของตน

พระแม่อุมาได้ฟังคำจากพระขันทกุมารว่าพระศิวะไม่มีความเกรงใจและจะผ่านเข้าไปในพิธีให้ได้ พระแม่กาลีจึงเกิดความโมโห ตาถลนออกนอกเบ้า หน้าตาดุดัน แลบลิ้นยาวน่าเกลียดน่ากลัว ทำปากแบะกว้างเห็นเขี้ยวโง้ว มีเลือดไหลจากมุมปากและตามมือและลำตัว ส่งกลิ่นคาวคลุ้งไปทั่ว ทรงตรงเข้าหาพระศิวะทันทีด้วยความโมโห เมื่อพระศิวะเห็นถึงกับตกใจรีบหลบหนีไปทันที พระแม่กาลีก็ทรงไล่ตามจนพระศิวะพ้นจากเขตอุทยานไป จากนั้นพระนางจึงย้อนกลับไปหาพระขันทกุมารด้วยเห็นถึงความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่ยอมผิดคำสัตย์ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้ ถึงแม้ว่าพระศิวะจะเป็นพระบิดาของตนก็ตาม เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่พอพระทัยแก่พระแม่กาลีเป็นอย่างมาก



จากนั้นพระแม่กาลีจึงรีบเสด็จออกจากอุทยานโดยทันทีเพื่อตามล่าสังหารอสูรทารุณ ซึ่งไม่นานพระองค์ก็ได้เผชิญหน้ากับอสูรทารุณ และเกิดการต่อสู้กันด้วยเวลาที่ยาวนาน เหตุนี้ทำให้พระแม่กาลีทรงใช้ดาบฟันคออสูรขาด เลือดของอสูรก็หยดลงพื้น อสูรจำนวนมากจึงผุดขึ้นมาจากหยดเลือดเหล่านั้น อสูรที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ตามหยดเลือดของอสูรทารุณ พระแม่กาลีเห็นดังนั้นจึงคิดว่าคงไม่มีวันฆ่าอสูรตนนี้ให้ตายได้เป็นแน่ พระองค์จึงคิดกลอุบายเพื่อจะเอาชัยชนะในครั้งนี้ให้ได้ โดยการตัดหัวของอสูรพร้อมทั้งดูดกินเลือดอสูรก่อนที่เลือดจะตกลงพื้น เมื่อกินจนหมดสิ้นแล้วรูปกายของพระแม่กาลีจึงอ้วนใหญ่ขึ้น และในมือนั้นถือหัวของอสูรที่ตัดร้อยเป็นพวงไว้ อสูรทารุณจึงสิ้นฤทธิ์ลง

หลังจากชนะอสูรพระนางทรงดีพระทัยจึงกระโดดโลดเต้นเพื่อฉลองชัยชนะ แต่ด้วยตบะอันแรงกล้าทำให้เกิดความเดือดร้อน ต่อโลกธาตุทั้งปวงเมื่อพระนางกระทืบพระบาท พระศิวะจะเข้าห้ามปรามก็เกรงความดุร้ายของพระนาง จึงใช้อุบายทรงทอดพระกายลงบนพื้นที่พระนางจะกระทืบพระบาท เมื่อพระกาลีเห็นพระศิวะที่พื้น ด้วยปางหนึ่งที่เป็นพระปารวตี ซึ่งรักและภักดีในพระศิวะยิ่งก็ทรงชะงักและหยุดการกระทำนั้น เหล่าเทวดาทั้งหลายทั้งมวลจึงยกย่องพระศิวะและพระแม่กาลี พากันศรัทธาในพระองค์ยิ่งขึ้นจากการปราบอสูรร้ายและการแก้ไขเหตุการณ์ในครั้งนี้


เทวรูปพระแม่กาลีศิลปะบาหลี
ที่มา : https://th.wikipedia.org/

ตามความเชื่อว่าพระแม่กาลีนั้นทรงมีความลึกลับที่สุดในบรรดาเทพเทวาทั้งปวง พระนางทรงมีความดุดัน เกรี้ยวกราด รูปลักษณ์และอุปนิสัยล้วนเต็มไปด้วยความน่ากลัว แต่กระนั้นพระนางก็จะทำลายเฉพาะอสูร ปีศาจ และมนุษย์ที่กระทำการชั่วร้ายเท่านั้น เพราะพระแม่กาลีก็คือเทพที่ปกป้องคุ้มครองผู้กระทำความดีเช่นเดียวกันกับเทพทุกพระองค์ ฉะนั้นแม้ผู้ที่บูชาพระแม่อย่างเคร่งครัด แต่เป็นคนที่ไม่ดีมีความคิดที่ชั่วร้าย พระแม่ท่านก็จะทำลายบุคคลผู้นั้นเสียเช่นกัน



ตามตำราอินเดียโบราณที่เมืองกัลกัตตากล่าวไว้ว่าการบูชาพระแม่กาลี ผู้บูชามักจะสังเวยพระแม่ด้วยเลือดแพะ น้ำสีแดง เพราะน้ำสีแดงถือเป็นสิ่งสำคัญมากเนื่องจากสีแดงคือ สีแห่งพลัง ที่มีการเคลื่อนไหว เป็นสีแห่งการกำเนิดและความเร่าร้อนตลอดจนเปรียบได้ดั่งโลหิตของอสูรร้าย นอกจากนี้ยังมีการถวายขนมสีแดง อาหารคาว (เป็นเทพองค์เดียวของฮินดูที่ถวายเนื้อสัตว์อาหารคาวได้) เนื้อสัตว์จะต้องปรุงสุกหรือกึ่งสุกกึ่งดิบแล้วนำมาถวายได้ แต่ห้ามถวายเนื้อวัวเนื้อควาย ควรใช้เนื้อไก่หรือเนื้อเป็ด ถ้าถวายอาหารคาวก็ควรมีเหล้าถวายด้วย แต่ถ้าถวายเพียงขนมก็ไม่จำเป็นต้องมีเหล้า

ผู้บูชาที่เคร่งครัดจำต้องสวดบูชาสรรเสริญพระแม่กาลีด้วยมนต์ที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอที่ว่า
"โอม ศรี มหากาลิกาไย นะมะห์
โอม เจมาตากาลี
โอม สตี เยมา ตา กาลี
โอม ศรี มหากาลี มาตา นมัช"
นอกจากนี้จำต้องทำสมาธิทุกวันเพื่อประกอบ "ปราณยาม" หรือการทำสมาธิด้วยการหายใจเข้า-ออกโดยลากให้ยาวสุดเป็นระยะเวลาเท่าๆ กัน อย่างสม่ำเสมอทุกวัน และควรถือศีลอดบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อถวายแด่พระองค์



พระแม่กาลียังคงได้รับความนิยมและเคารพนับถือมากในปัจจุบันดังจะเห็นได้จากการนำเสนอผ่านสื่อซีรีส์เรื่อง พระมหากาลี เทพีพิทักษ์โลก โดยมีการดัดแปลงโครงเรื่องหรือตำนานเพียงบางส่วนแต่ก็ยังคงเหลือเค้าโครงเดิมของตำนานเป็นส่วนมาก ไม่เพียงแต่เค้าโครงเรื่องเท่านั้นแต่รูปลักษณ์ของพระแม่กาลียังผิดแผกแปลกไปจากเดิมตามยุคสมัย เพื่อง่ายต่อการนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อและผู้ที่รับชมสื่อจะสามารถเข้าถึงสารได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะผู้นำเสนอต้องการที่จะกล่าวถึงบทบาทสำคัญของพระแม่กาลี อีกทั้งยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้คนหันกลับมาเคารพและศรัทธาพระแม่กาลีเป็นจำนวนมากดั่งเช่นในอดีต

ถึงแม้ว่าความเชื่อและศรัทธาในพระแม่กาลี มิได้มากล้นเหมือนดังในอดีต หากแต่ยังคงไว้ซึ่งตำนานที่มีมาอย่างยาวนาน และประวัติศาสตร์ที่ยังถูกเล่าขานสืบต่อกันมาผ่านสื่อซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่อยากจะสื่อเรื่องราวให้ทุกผู้ทุกคนได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของพระองค์ ทั้งนี้รูปแบบการนับถือในปัจจุบันก็อาจจะแตกต่างกันออกไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป


อ้างอิง

สยามคเณศ.(ม.ป.ป.) พระแม่กาลี เทวีผู้ทรงมหิทธา. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
https://siamganesh.com/kali.html?

วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี.(ม.ป.ป.) กาลี. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5

sanook. (2556).พระแม่กาลี. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
https://guru.sanook.com/2702/

popcornfor2.(2561) [ภ.อินเดีย] มหากาลี เทวีพิทักษ์โลก. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
http://www.popcornfor2.com/cafe/view-7820

อ่านเพิ่มเติม »