The Black Dahlia คดีฆาตกรรมโหดที่ยังเป็นปริศนา

โดย ชฎาพร มะลิซ้อน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ดิฉันได้ไปดูหนังเรื่อง Spider Man: Far From Home โดยในหนังมีฉากที่ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ พ่อหนุ่มสไปเดอร์แมนของเรานั้นไปซื้อสร้อยดอกรักเร่สีดำเพื่อจะเอาไปให้สาวที่เขาชอบ โดยมีคำพูดนึงในหนังที่กล่าวว่า “Black Dahlia คือการฆาตกรรม” เนื่องจากสาวที่พ่อหนุ่มสไปเดอร์แมนชอบนั้นชอบเรื่องราวของการฆาตกรรมมาก ทำให้ดิฉันสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวของคดีฆาตกรรม The Black Dahlia ที่แม้จะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังถูกกล่าวถึงมาจนถึงปัจจุบัน

The Black Dahlia นั้นถือเป็นคดีฆาตกรรมในสหรัฐอเมริกา ปี 1947 ที่โหดเหี้ยม และโด่งดังมาก แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ชื่อจริงของหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อในคดีฆาตกรรมอันโหดเหี้ยมนี้ หญิงสาวที่ได้รับฉายาว่า “Black Dahlia”


ที่มา: https://www.google.com/

Black Dahlia หรือแม่สาวดอกรักเร่สีดำนี้มีชื่อว่า Elizabeth Short เกิดวันที่  29  พฤศจิกายน 1924 ที่เมือง Hyde Park รัฐ Massachusetts U.S.A. พ่อชื่อ Cleo Short และแม่ชื่อ Phoebe Short เธอเป็นลูกสาวคนที่ 3 จากลูกสาวทั้งหมด 5 คน เมื่อเธอเกิดได้ไม่นานก็ได้ย้ายไปอยู่ Medford ตอนนั้นฐานะทางบ้านของเธอถือว่าดีมาก เนื่องจากพ่อของเธอเปิดบริษัทออกแบบ และผลิตสนามมินิกอล์ฟ จนกระทั่งในปี 1929 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจวอลล์สตรีท ทำให้บริษัทพ่อของเธอเจอสภาวะขาดทุนอย่างรุนแรง และล้มละลาย พ่อของเธอคิดจะเอาตัวรอดคนเดียวในวิกฤตนี้ จึงจัดฉากฆ่าตัวตายโดยการขับรถไปจอดทิ้งไว้ที่สะพานและหายตัวไป ทำให้แม่ของเธอและตำรวจเชื่อว่า พ่อของเธอกระโดดสะพานและจมหายตายไปในน้ำแล้ว ซึ่งในขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 5 ปีเท่านั้น แม่ของเธอจึงต้องออกไปทำงานพาร์ททามเพื่อหาเงิน อีกทั้งยังรับเงินสวัสดิการจากรัฐเพื่อดูแลลูกๆ ทั้งหมด

12 ปีหลังจากพ่อของ Elizabeth ตายไป จู่ๆวันนึงแม่ของเธอก็ได้รับจดหมายจากพ่อของเธอที่ทุกคนเชื่อว่าตายแล้ว ในจดหมายล้วนมีแต่ความรู้สึกผิด และคำขอโทษ อีกทั้งพ่อของเธอยังขอกลับมาอยู่ด้วย แต่แม่ของเธอโกรธมากจึงปฏิเสธการกลับมาของพ่อ ถึงแม้แม่ของเธอจะโกรธพ่อมากเพียงใด แต่ Elizabeth กลับมองเห็นช่องทางที่จะได้ทำตามความฝันของตัวเธอเอง นั่นคือการเป็นดารา เพราะเนื่องจากเธอมีหน้าตาที่สวย และเมื่อตอนที่เธอยังเด็ก การดูหนังในโรงหนังนั้นถือเป็นความสุขที่สุดของเธอ เธอจึงแอบติดต่อพ่ออย่างลับๆ เพื่อความฝันของตน จนกระทั่งในปี 1943 เธอได้ย้ายไปอยู่กับพ่อที่ Vallejo รัฐ California ซึ่งตอนนั้นเธอมีอายุ 19 ปี แต่หลังจากที่เธอย้ายมาอยู่กับพ่อเพียงไม่กี่เดือน เธอก็โดนพ่อไล่ออกจากบ้าน เพราะเธอมีนิสัยขี้เกียจ เอาแต่นอนทั้งวัน ตื่นมากลางดึกก็แต่งตัวออกไปเที่ยว กินเหล้าสังสรรค์ และควงผู้ชายไม่ซ้ำหน้า ไม่เคยช่วยพ่อดูแลทำความสะอาดบ้าน

หลังจากที่ Elizabeth ย้ายออกจากบ้านพ่อ เธอไปอาศัยอยู่กับเพื่อนของเธอที่ Santa Barbara และในวันที่ 23 กันยายน 1943 เธอถูกจับในข้อหาดื่มสุราทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เธอจึงต้องมารายงานตัว และคุมประพฤติ หลังจากนั้นตำรวจได้พาเธอกลับไปส่งที่บ้านแม่ของเธอที่ Massachusetts แต่ความฝันนั้นหากยังไม่สามารเอื้อมถึงได้ ใครล่ะจะยอมปล่อยไป ความอยากเป็นดาราของเธอนั้นจึงยังอยู่ หลังจากกลับไปอยู่กับแม่ได้ไม่นาน เธอก็ย้ายกลับมาอยู่ที่ California เพื่อสานฝันของตน และคราวนี้เธอไปได้ถึง Hollywood ที่นั่นเองที่เธอได้ตกหลุมรักกับทหารอากาศนายหนึ่งคือ ร้อยโท Joseph Gordon Fickling ทั้งสองวางแผนที่จะแต่งงานกัน แต่แผนนี้ก็ต้องพังลงเพราะ Joseph นั้นถูกเรียกตัวไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2

ในช่วงหลังจากนั้น Elizabeth ได้รับงานถ่ายแบบ และงานแสดงเล็กๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอดังขึ้นมาเลยสักนิด เธอเริ่มเบื่อหน่ายกับชีวิต จึงย้ายไปอยู่กับญาติที่ Miami และที่นั่นเธอได้พบรักกับนักบินอีกคนนึงคือ พลตรี Matthew Michael Gordon เขาได้ให้สัญญากับเธอว่าหลังจากที่เขากลับมาจากสงครามที่อินเดีย เขาจะมาแต่งงานกับเธอ แต่โชคร้ายที่เครื่องบินของเขาตกทำให้เขาเสียชีวิต Elizabeth เสียใจมากจนกลายเป็นคนเก็บตัวไปช่วงนึง เมื่อเวลาผ่านไปสักพักเธอเริ่มทำใจได้ เธอจึงกลับไปติดต่อหา ร้อยโท Joseph แฟนเก่าของเธอ และเธอก็ตกหลุมรักเขาอีกครั้ง เธอจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ Long Beach กับเขา แต่ในท้ายที่สุดความรักของทั้งสองก็ไปกันไม่รอด ทั้งสองจึงตัดสินใจแยกทางกัน

เดือนตุลาคม 1946 Elizabethได้ย้ายไปอยู่บ้านของ Mark Hansen ซึ่งเป็นเจ้าของไนท์คลับแห่งหนึ่ง Mark นั้นถือเป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งเขาชอบเธอมาก และพยายามหว่านล้อมให้เธอมาทำงานกับเขา หรือร่วมหลับนอนกับเขา แต่เธอปฏิเสธ หลังจากที่เธออยู่นั่นได้แค่เดือนกว่าๆ ก็ถูกไล่ออกมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน หลังจากโดนไล่ออกมาเธอจึงต้องไปอาศัยอยู่ที่ห้องเช่าราคาถูก แต่เธอก็อาศัยอยู่ที่นั่นไม่นานมากนัก ในวันที่ 8 ธันวาคมปีเดียวกัน เธอนั่งรถบัสย้ายจาก LA ไปที่ San Diego หลังจากย้ายมาที่นี่ไม่นานเธอก็ได้เพื่อนใหม่คือ Dorothy French เขาจึงชวนเธอไปอยู่ด้วยกันที่บ้านกับครอบครัวของเขา Elizabeth อยู่ที่นั่นอย่างสบาย และยังทำนิสัยเดิมๆ ที่เคยทำคือ ไม่ช่วยงานบ้านอะไรเลย ตกดึกมาก็ควงผู้ชายออกไปสังสรรค์ จนครอบครัว French ทนไม่ไหว ในช่วงต้นเดือนมกราคมครอบครัว French  จึงขอให้เธอย้ายออก

ในเช้าวันที่ 8 มกราคม 1947 Elizabeth ย้ายออกจากบ้านของครอบครัว French โดยมีผู้ชายคนหนึ่งมารับเธอ ชายคนนั้นคือ Robert Manly เขารู้จักกับ Elizabeth จากการไปสังสรรค์ปาร์ตี้ เธอได้ขอให้เขาไปส่งเธอที่ Hollywood และในคืนนั้นทั้งสองจึงเปิดโรงแรมนอนด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกันแต่อย่างใด รุ่งเช้าของวันที่ 9 มกราคม เธอบอกให้โรเบิร์ตไปส่งเธอที่โรงแรม Biltmore เพราะเธอจะไปพบพี่สาวของเธอ แล้วจึงเดินทางกลับบ้านที่ Massachusetts Robert จึงไปส่งเธอที่นั่นในช่วงบ่าย และเห็นเธอกำลังโทรหาใครสักคนเพื่อติดต่อหาที่พักใน Hollywood แต่เนื่องจากเขารีบไปทำธุระที่อื่นต่อจึงไม่ได้อยู่รอพบพี่สาวของเธอด้วย และหลังจากวันนั้น Elizabeth ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย


ภาพในที่เกิดเหตุ
ที่มา: https://www.google.com/

เช้าวันที่ 15 มกราคม 1947 มีคนแจ้งว่าพบร่างไร้ลมหายใจของหญิงสาวคนนึงที่บริเวณ Leimert Park LA เมื่อตำรวจมายังที่เกิดเหตุ และตรวจสอบพบว่าร่างนั้นอยู่ในลักษณะนอนหงาย แขนทั้งสองข้างยกขึ้นเหนือศีรษะ ร่างถูกหั่นออกเป็นสองท่อนอย่างประณีต เนื่องจากไม่มีการแตกหักของกระดูก และรอยหั่นที่เนี้ยบมาก ร่างที่ถูกหั่นเป็นสองท่อนนั้นวางห่างกันประมาณ 1 ฟุต บนใบหน้ามีแผลที่เกิดจากรอยกรีดจากมุมปากทั้งสองข้าง ลากขึ้นไปสู่ใบหู ยาวประมาณ 3 นิ้ว และที่ศีรษะยังมีรอยฟกช้ำจากการถูกของแข็งทุบอย่างแรง ที่คอมีรอยเชือกรัด และยังมีรอยกรีดในบริเวณต่างๆตามร่างกาย เช่น ข้อมือ ข้อเท้า รวมไปถึงรอยกรีดที่เป็นแผลฉกรรจ์ที่ลากยาวตั้งแต่ใต้สะดือไปจนถึงบริเวณหัวหน่าว และหัวนมด้านขวายังถูกมีดกรีดออกไป นอกจากนี้ฆาตกรยังได้กรีดเอาผิวหนังบริเวณต้นขาด้านซ้ายที่มีรอยสัก และโกนเอาขนในที่ลับยัดใส่ในช่องคลอด และที่น่าตกใจที่สุดคือร่างนี้ถูกถ่ายเลือดออกจนหมดตัว และถูกชำระล้างทำความสะอาดมาอย่างดีแล้ว หลังจากนั้นได้มีการยืนยันแล้วว่าร่างที่เป็นเหยื่อในการฆาตกรรมอันโหดเหี้ยมนี้คือ Elizabeth Short นั่นเอง ซึ่งตอนที่เธอเสียชีวิตเธอมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น

คดีฆาตกรรมนี้โด่งดังไปทั่วภายในชั่วข้ามคืน สื่อต่างๆให้ความสนใจในคดีนี้เป็นอย่างมาก และที่คดีนี้ได้รับฉายาว่า The Black Dahlia เนื่องจากเพื่อนของเธอตั้งให้เพราะเธอเป็นคนผิวขาว มีผมสีดำ แล้วก็แต่งชุดสีดำ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีหนังเรื่อง Blue Dahlia ออกมา เพื่อนของเธอจึงตั้งฉายาล้อเลียนหนังเรื่องนั้นให้เธอ และหลังจากที่คดีนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก ก็มีผู้คนมากมายมาสารภาพว่าตัวเขานี่แหละที่เป็นฆาตกรที่ฆ่า Elizabeth แต่ก็ได้รับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ทุกคน

มาจนถึงวันนี้ ก็เป็นเวลากว่า 72 ปีแล้วที่คดีฆาตกรรมอันโหดร้ายนี้ยังไม่สามารถหาตัวฆาตกรได้ และยังคงทำให้ผู้ที่ได้มาอ่านเรื่องราวของคดี The Black Dahlia ยังคงเกิดคำถามในใจว่าใครกันแน่ที่เป็นฆาตกรที่ฆ่าเธออย่างโหดเหี้ยม อีกทั้งคดีนี้ยังเป็นตอนจบที่น่าเศร้าของผู้หญิงคนนึง ที่มีความฝันอยากเป็นดารา แต่ช่วงที่เธอมีชีวิตอยู่นั้นเธอกลับไม่มีชื่อเสียงเลย แต่เมื่อเธอตายชื่อเสียงของเธอกลับโด่งดังไปทั่ว เพื่อนๆ คิดไหมคะ ว่าหาก Elizabeth ยังมีชีวิตอยู่และได้มีเวลาทำตามความฝันของตัวเองต่อ ทุกวันนี้เธออาจจะเป็นดาราชื่อดังที่เราทุกคนรู้จักก็ได้ สุดท้ายนี้ก่อนที่เราจะจากลากันดิฉันอยากให้เพื่อนๆ ไม่ลืมชื่อของ Black Dahlia หรือแม่สาวดอกรักเร่สีดำ ว่าชื่อที่แท้จริงของเธอนั้นคือ “Elizabeth Short”


อ้างอิง 

James Bartlett. (2017). The Black Dahlia: Los Angeles' most famous unsolved murder. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน  พ.ศ.2562, จาก: https://www.bbc.com/news/world-us-canada-38513320

Morgan Korzik. (2016). The Black Dahlia: The 1947 Murder of Elizabeth Short. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2562, จาก: http://blackdahlia.web.unc.edu/the-life-of-elizabeth-short/

The Common Thread. (2018). BLACK DAHLIA แบล็ค ดาห์เลีย ปริศนาศพสยองข้างทาง WHAT HAPPENED EP. 06 | The Common Thread. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2562, จาก: https://www.youtube.com/watch?v=WSLu-TEbHjg

นครินทร์ จันทร์ศร และพีท ศรีทนนท์. คดีฆาตกรรมดอกรักเร่สีดำ : Black Dahlia. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2562, จาก: https://sites.google.com/site/specialresponsibility/khdi-khatkrrm-dxkrak-re-si-da-the-black-dahlia

พี่ซูม. (2560). ปริศนาคดีหลอนข้ามทศวรรษที่กลายเป็นหนังสือขายดี ใครฆ่า 'Black Dahlia'. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2562, จาก: https://www.dek-d.com/writer/46601/


อ่านเพิ่มเติม »

กฎหมายสิบสองโต๊ะ (Law of The twelve Table) กฎหมายแห่งโรม

โดย บัญชาฤทธิ์ พลพันธ์

“ที่ใดมีสังคม ที่นั่นย่อมมีกฎหมาย” (Ubi societas , ibi jus)  

สุภาษิตละตินข้างต้นแสดงนัยยะที่ว่ากฎหมายถูกสร้างขึ้น เมื่อมนุษย์ได้มีการรวมตัวกันและมีการปฏิสัมพันธ์กันเป็นสังคม กฎหมายจึงเป็นเสมือนหลักเกณฑ์กำหนดความประพฤติของคนในสังคมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย กฎหมายที่ใช้อยู่ในแต่ละสังคมก็ย่อมแตกต่างกันออกไป โดยในอดีตกฎหมายถูกกำหนดผ่านจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอันถือเป็นบรรทัดฐานทางสังคม แต่เมื่อสังคมมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น ถึงขั้นที่สามารถประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้ได้ จึงมีการนำเอาจารีตประเพณีนั้นมาบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรดังเช่น กฎหมายสิบสองโต๊ะของชาวโรมัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมกฎหมายขึ้น และเป็นการยอมรับว่ากฎหมายควรเป็นสิ่งที่เปิดเผยให้คนทั่วไปได้รู้ได้เห็นและศึกษาหาเหตุผลได้

มูลเหตุของการเกิดขึ้นของกฎหมายสิบสองโต๊ะนั้น เนื่องจากชาวโรมันแบ่งชนชั้นเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ พวกแพทริเชียน (Patricians) ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง ชนชั้นสูงหรือคนมั่งมี เป็นผู้มีที่ดินมาก และพวกเพลเบียน (Plebeians) เป็นชนชั้นที่ถูกปกครอง ราษฎรสามัญที่ยากจน และมักจะตกเป็นทาส (Slave) ของพวกแพทริเชียนโดยหนี้สิน พวกเพลเบียนมีจำนวนมากกว่าพวกแพทริเชียน แต่ไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ ในการปกครองเพราะอำนาจส่วนใหญ่ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงศาสนาล้วนอยู่ในมือของพวกแพทริเชียน ประกอบกับกฎหมายของกรุงโรมไม่ได้มีบัญญัติไว้แน่นอน พวกแพทริเชียนจึงเปลี่ยนแปลงและตัดสินคดีความตามความพึงพอใจและเป็นประโยชน์กับฝ่ายตนโดยอ้างจารีตประเพณี ซึ่งไม่ได้ป็นลายลักษณ์อักษร สร้างความไม่พอใจให้พวกเพลเพียนที่ถูกกดขี่ข่มเหง จึงเกิดการเรียกร้องกับทางการโรมันให้มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนชาวโรมันทุกคน


ภาพชนชั้นในสังคมของชาวโรมัน
ที่มาภาพ: https://i.pinimg.com/

ทางการโรมันจึงได้มีการคัดเลือกคณะกรรมการจำนวน 10 คน เรียกว่า เดเซมวีร์ (Decemvirs) ซึ่งประกอบด้วยพวกแพทริเชียนเป็นส่วนใหญ่เป็นผู้จัดทำกฎหมายขึ้น กฎหมายนี้เป็นการรวบรวมเอาจารีตประเพณีที่ใช้เป็นกฎหมายอยู่ในขณะนั้นมาบันทึกเป็นลายลักษณ์ โดยจารึกลงบนแผ่นทองแดง (โต๊ะบรอนซ์) จำนวน 10 โต๊ะ ในปี 451 ก่อนคริสต์ศักราช และได้รับการรับรองโดยสภา Senate และ Carnitia Centuriata ในระยะต่อมาในปี 450 ก่อนคริสต์ศักราชได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอีกคณะหนึ่ง จำนวน 3 คน ซึ่งเลือกจากพวกเพลเบียนให้ทำหน้าที่จัดทำกฎหมายเพิ่มเติมอีก 2 โต๊ะ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 โต๊ะ แล้วนำไปตั้งประกาศไว้ในที่ฟอรัม (Forum) หรือที่สาธารณะใจกลางเมืองให้ชาวโรมันได้ทราบทั่วกัน และรู้จักกันอย่างแพร่หลายในนามของ “กฎหมายสิบสองโต๊ะ”

สำหรับบทบัญญัติของกฎหมายสิบสองโต๊ะนั้น ซึ่งได้มาจากฉบับที่คัดลอกเพื่อการศึกษาเป็นส่วนตัวและจากเอกสารอื่น ๆ ทำให้ทราบว่าประกอบด้วย

          โต๊ะที่ 1, 2 และ 3 เกี่ยวกับวิธีการพิจารณาความแพ่งและการบังคับคดี
            โต๊ะที่ 4                  เกี่ยวกับอำนาจบิดาในฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัว
            โต๊ะที่ 5, 6 และ 7     เกี่ยวกับการสืบมรดกและทรัพย์สิน
            โต๊ะที่ 8              เกี่ยวกับการละเมิด หรือกฎหมายอาญา
            โต๊ะที่ 9              เกี่ยวกับกฎหมายมหาชน
            โต๊ะที่ 10              เกี่ยวกับกฎหมายศักดิ์สิทธิ์
            โต๊ะที่ 11 ,12      เป็นกฎหมายเพิ่มเติม ซึ่งรวมทั้งกฎหมายห้ามมิให้มีการสมรสระหว่าง
                                                    พวกชนชั้นสูง (Patrician) กับพวกสามัญชน (Plebeians)


ภาพชาวโรมันศึกษากฎหมายสิบสองโต๊ะ
ที่มาภาพ: http://skyridgeairlines.weebly.com/

เป็นที่น่าเสียดายว่ากฎหมายสิบสองโต๊ะถูกทำลายในปี 390 ก่อนคริสต์ศักราช เนื่องจากโรมถูกพวกโกล(Goul) รุกราน และถูกเผา ทำให้กฎหมายสิบสองโต๊ะถูกทำลายไปด้วย และไม่เป็นที่เชื่อได้อย่างแน่นอนว่ากฎหมายสิบสองโต๊ะที่ศึกษาอยู่ในภายหลังจะถูกต้องตามต้นฉบับจริงหรือไม่ แต่การจัดทำกฎหมายสิบสองโต๊ะขึ้นมานั้นได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการช่วยให้พวกแพทริเชียนและเพลเบียน มีความความสามัคคีกัน ทำให้ชาวโรมันรู้กฎหมายเท่าเทียมกัน แก้ไขกฎหมายบางส่วนที่ไม่ยุติธรรมแก่สามัญชน อีกทั้งลดการตึงเครียดในการต่อสู้ทางการเมืองและสังคม แม้ประมวลกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ใช่เรื่องวิชาการที่จะนำมาสร้างระบบกฎหมายที่ดีได้ แต่ก็เป็นผลงานทางด้านกฎหมายที่ทำให้กฎหมายได้เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ กฎหมายสิบสองโต๊ะยังถือเป็นต้นแบบของกฎหมายที่ถูกพัฒนามาเป็นประมวลกฎหมายของโรม นั่นก็คือ ประมวลกฎหมายจัสติเนียน ที่มีเนื้อหาสาระละเอียดและมีระบบระเบียบ เป็นประโยชน์ในการศึกษาและเป็นแม่บทของประมวลกฎหมายของโลกในเวลาต่อมา

การที่บุคคลจะอยู่ร่วมกันในสังคมจึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักกฎหมายเพื่อปฏิบัติตนตามกฎหมาย หรือไม่ละเมิด ไม่ฝ่าฝืนตามที่กฎหมายนั้นบัญญัติไว้ ซึ่งถือเป็นเป้าประสงค์สำคัญแห่งการเกิดขึ้นของกฎหมาย เพื่อที่จะทำให้คนในสังคมนั้น ๆ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

อ้างอิง

ชาญชัย แสวงศักดิ์ และวรรณชัย บุญบำรุง. (2543). สาระน่ารู้เกี่ยวกับการจัดทำประมวลกฎหมายของต่าง
ประเทศและของไทย. กรุงเทพฯ:นิติธรรม.

ทศพร มูลรัตน์. (2559). ระบบกฎหมายของโลก. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2562, จาก
https://www.baanjomyut.com/library/global_community/05_2_2.html

ลูกศร. (2554). การศึกษากฎหมาย. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2562, จาก http://smartlaw-pp.blogspot.com/

สุเมธ จานประดับและคณะ. (2550). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และระบบกฎหมายหลัก. กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อ่านเพิ่มเติม »