การฝังเข็ม ศาสตร์การแพทย์ของจีน

โดย กนิษฐา กางสี

หากกล่าวถึงสุดยอด ศาสตร์การรักษาที่มีความสำคัญ และมีชื่อเสียงนับตั้งแต่สมัยโบราณกาลของโลกแล้ว หนึ่งในนั้นเชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึง ศาสตร์การฝังเข็มของจีน ด้วยประวัติศาสตร์และอารยธรรมนานกว่า 5000 ปี ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการการรักษาโรคโดย การฝังเข็ม ซึ่งได้รับการยอมรับของโลกแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ความรู้ ที่มีความสำคัญต่อศาสตร์การรักษาโรคของการแพทย์ในสมัยปัจจุบัน

ศาสตร์การฝังเข็ม (针灸) มีต้นกำเนิด มาจาก ลุ่มแม่น้ำหวงเหอ (黄河 ) ซึ่งมนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ของจีนได้รู้จักใช้มือหรือก้อนหิน กด ถูบนร่างกายในจุดที่เจ็บปวดเพื่อช่วยให้อาการทุเลาลง


เข็มที่พบในสุสานราชวงศ์หมิง

พัฒนาการฝังเข็มในยุคหิน พวกเขารู้จักนำเอาเศษหินมาใช้ทำเป็นเครื่องมือสำหรับกด นวด แทงหรือกรีดระบายหนอง ต่อมาในสมัยยุคหินใหม่ เครื่องมือจำพวกก้อนหินเหล่านี้ได้ถูกปรับปรุงให้มีรูปร่างบาง มีขนาดเล็กลง  ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการรักษานี้ เรียกว่า “เปียนสือ”(หินชนิดหนึ่ง)

หลังจากที่เทคโนโลยีการหลอมเหล็กพัฒนาขี้นอย่างมาก ในยุคราชวงศ์ชางเมื่อประมาณ 2400 ปีก่อน ทำให้มีการสร้างเข็มที่สร้างจากโลหะชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เข็มสำริด เข็มเหล็ก เข็มทองคำ และเข็มเงินตามลำดับใช้รักษาโรคแทน และทำให้วิชาการแพทย์โดยการฝังเข็มได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสมัยนี้เองที่การฝังเข็มของจีนได้แพร่ไปยังเกาหลี และญี่ปุ่น  จนกระทั่งในช่วง ศตวรรษที่ 16 การฝังเข็มก็ได้แพร่ความนิยมเข้าสู่แผ่นดินยุโรป นับตั้งแต่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาขึ้นในปี ค.ศ.1949 รัฐได้ให้ความสำคัญกับศาสตร์การแพทย์นี้อย่างมากมาย จึงทำให้การฝังเข็มนี้ไม่ถูกลืมเลือน

ลักษณะของเข็มที่ใช้ในการรักษา

ในปัจจุบันเข็มที่ยังนิยมใช้มากที่สุดคือ “เข็มเส้นขน (Filiform needle)” เข็มสำหรับใช้ในการฝังเข็มจะมีส่วนประกอบอยู่ 5 ส่วน คือ ปลายเข็ม ตัวเข็ม โคนเข็ม ด้ามเข็มและหางเข็ม ดังภาพ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเข็มฉีดยาแต่ทว่าก็ยังมีข้อแตกต่าง เช่น ส่วนเข็มที่ใช้สำหรับฝังเข็มเป็นเส้นลวดเนื้อตัน มีปลายแหลมมนหรือเหลี่ยมตัด และขนาดเล็กบางกว่ามาก ต่างกับเข็มฉีดยาที่ตัวมีลักษณะเป็นโลหะท่อกลวง ปลายแหลมบากตัด เมื่อปักเข็มลงในผิวหนัง ผู้ป่วยที่ถูกฉีดยาจึงรู้สึกเจ็บมากกว่าการฝังเข็ม

จุดฝังเข็มแบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ

1.จุดฝังเข็มในระบบเส้นลมปราณ จุดฝังเข็มที่มีตำแหน่งชื่อ และเส้นลมปราณที่สังกัดแน่นอน มีคุณสมบัติในการรักษาอาการหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นลมปราณนั้นๆ

2.จุดฝังเข็มนอกระบบเส้นลมปราณ หรือ จุดฝังเข็มพิเศษ จุดฝังเข็มที่มีชื่อและตำแหน่งแน่นอน แต่ยังไม่จัดเข้าอยู่ในระบบเส้นลมปราณ มีคุณสมบัติในการรักษาอาการหรือโรคที่จำเพาะ

3.จุดอาซื่อ หรือ จุดกดเจ็บ จุดที่มีอาการกดเจ็บ คำว่า อาซื่อ มาจากเสียงร้องของผู้ป่วยเวลากดจุดนี้ ซึ่งจุดอาซื่อไม่มีชื่อและตำแหน่งแน่นอน อาจอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดความผิดปกติหรือห่างไกลก็ได้

นอกจากนี้แต่ละจุดต่างมีชื่อเรียกของตัวเอง โดยทุกชื่อไม่เพียงแต่มีความหมายทางการแพทย์ แต่ยังแสดงถึงความรุ่งเรืองทางอารยธรรมสมัยโบราณ การทำความเข้าใจความหมายของชื่อจุด จะทำให้เรียนรู้และจดจำตำแหน่งของจุดและคุณสมบัติที่ใช้ในการรักษาได้เป็นอย่างดี
 

ที่มา: http://www.chatchawan.net/

การรักษาโรคโดยวิธีการฝังเข็ม

ศาสตร์การฝังเข็ม ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยในร่างกายโดยการกระตุ้นก่อให้เกิดการหลั่งสารฮอร์โมนลดอาการปวด และอักเสบ การเกร็งของกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ทำให้เกิดการขจัดของเสียที่เป็นสาเหตุของอาการปวด  อีกทั้งยังปรับการทำงานของอวัยวะ และระบบต่าง ๆ ให้เกิดความสมดุลตามปกติ ดังอย่าง เช่น
1) รักษาอาการปวดต่างๆ เช่น ไมเกรน ตึงเครียด ปวดหลัง ปวดหัว
2) กลุ่มโรคเกี่ยวกับเส้นประสาท เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต กระดูกทับเส้น
3) โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ข้อเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง
4) โรคเกี่ยวกับภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ ลมพิษ หอบหืด ภูมิต้านทานไวเกิน (เอสแอลดี) รูมาตอยด์
5) โรคอื่นๆที่เกี่ยวกับอาการทางร่างกายที่เกิดจากจิตใจ ได้แก่ นอนไม่หลับ ใจเต้น ใจสั่น อาหารไม่ย่อย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยการฝังเข็มก็ยังมีข้อจำกัดในการรักษาโรคที่อวัยวะภายในเสียหายมีอาการเรื้อรังมานาน โดยเฉพาะจากผู้สูงอายุ หรือ  สตรีที่มีภาวะตั้งครรภ์ โรคเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด โรคเร่งด่วนที่ต้องการการรักษาโดยการผ่าตัด หรือโรคที่ยังไม่ทราบการวินิจฉัยที่แน่นอน

แต่จากการกล่าวมาทั้งหมดนั้นเห็นได้ชัดว่าการรักษาโรคด้วยวิธีการฝังเข็มนั้น นับเป็นศาสตร์การรักษาที่ให้คุณประโยชน์สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของอารยธรรมจีน ที่ควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์สืบต่อไป

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การรักษาโดยการฝังเข็ม ไม่ใช่การรักษาที่ดีที่สุดที่สามารถรักษาได้ทุกโรค สุขภาพที่เจ็บปวดเรื้อรังคอยทำลายระบบอวัยวะภายในร่างกาย หากไม่ใส่ใจและขาดการดูแลรักษาที่ดีและถูกต้อง ไม่ว่าจะใช้การฝังเข็มหรือทานยาวิเศษ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีความก้าวหน้าของการแพทย์มาช่วยในการรักษา ก็ช่วยไม่ได้ หากยังไม่เอาใจใส่และดูแลสุขภาพของตนเอง


อ้างอิง

การฝังเข็ม ..ว่าด้วยเข็ม. (ม.ป.ป). สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2559, จาก: http://www.thaiacupuncture.net/web/index.php/2012-09-02-15-30-15/82-2012-08-28-03-58-30.html

การฝังเข็ม. (2559).  สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/การฝังเข็ม

โกวิท คัมภีรภาพ. (2546).  ศาสตร์การฝังเข็ม. กรุงเทพฯ: การศาสนา.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา.(ม.ป.ป).  การฝังเข็ม ศาสตร์ที่ยั่งยืนAcupuncture. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2559, จาก: http://www.happyhomeclinic.com/alt08-acupuncture.htm

ศาสตร์การฝังเข็ม. (ม.ป.ป). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก : http://www.acupuncturethai.com/13625114ศาสตร์การฝังเข็ม-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น