พระนางศุภยาลัต

โดย รวิพร ภักดีสมัย

พระนางศุภยาลัตราชินีองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรพม่า ราชินีผู้ที่สร้างภาพจำให้ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ ภาพของราชินีผู้ที่โหดเหี้ยมและร้ายกาจ ผู้ที่เป็นต้นเหตุของการสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก  จนนำไปสู่การสูญสิ้นแผ่นดินเกิด
         
พระนางศุภยาลัต เป็นพระธิดาในพระเจ้ามินโดง แห่งราชวงศ์คองบอง  และพระนางซินผิ่วมะฉิ่น (พระนางอเลนันดอ) ทรงประสูติเมื่อวันที่  13 ธันวาคม ค.ศ.1859  ทรงมีพระเชษฐภคินีคือ พระนางศุภยาจี และมีพระขนิษฐาคือเจ้าหญิงศุภยากะเล ชีวิตในวัยเด็กของพระนางมีเพื่อนเล่นมากมายภายในราชวัง  แต่ลักษณะนิสัยของพระนางมักจะดื้อรั้น  ชอบวางอำนาจเหนือเจ้าหญิงองค์อื่นๆ  เมื่อเจริญชันษายิ่งมีทิฐิแรงกล้า รักแรงเกลียดแรงและในบางครั้งจะเป็นผู้ที่โมโหร้ายมาก ซึ่งจะมีความคล้ายกับพระมารดา  พระองค์ได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมิชชันนารีของบาทหลวงด็อกเตอร์ จอห์น  มาร์คส์  ในกรุงมัณฑะเลย์  เช่นเดียวกับราชนิกุลองค์อื่นๆ


       
ก่อนที่พระเจ้ามินโดงจะสวรรคตพระองค์ไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นองค์รัชทายาท เมื่อพระองค์ทรงประชวรหนักพระนางซินผิ่วมะฉิ่น จึงหาทางขยายอำนาจของตนโดยการเลือกผู้ที่จะมาเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป  เนื่องจากพระนางไม่มีพระโอรส และผู้ที่ถูกเลือกคือเจ้าชายธีบอ  ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระโอรสในพระเจ้ามินโดงและพระนางแลซา  ด้วยความที่ก่อนหน้านั้นเจ้าชายธีบอทรงเป็นสามเณรและใช้ชีวิตแค่เพียงในวัด ไม่ได้รู้เรื่องภายนอกมากนัก จึงง่ายต่อการถูกควบคุยโดยพระนางซินผิ่วมะฉิ่น
         
พระเจ้ามินโดงสวรรคต เมื่อวันที่ 1ตุลาคม ค.ศ.1878  ในกลางดึกของคืนวันนั้นได้มีการวางแผนออกอุบายหลอกให้พระโอรสและพระธิดาพร้อมครอบครัวเข้าเฝ้าพระเจ้ามินโดงเป็นครั้งสุดท้าย แต่เหตุการณ์กลับพลิกผัน พวกเขาถูกกล่าวหาว่า คิดการกบฏจึงถูกคุมตัวไปขัง และต่อมาเกิดเหตุสังหารหมู่อย่างโหดร้ายที่สุด  การสังหารหมู่ในครั้งนี้ทางรัฐบาลให้เหตุผลว่า  เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อยและเพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักร
       
ภายในวันที่ 1 ตุลาคม1878  เป็นวันเดียวกันกับที่พระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์ พระนางซินผิ่วมะฉิ่นต้องการให้พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาองค์ใหญ่คือพระนางศุภยาจี  เมื่อพระนางศุภยาลัตทรงทราบก็เกิดความไม่พอพระทัยเป็นอย่างมากเพราะทรงรักกับพระเจ้าธีบอมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ พระนางจึงส่งจดหมายถึงพระเจ้าธีบอเพื่อให้พระเจ้าธีบอทรงปฏิเสธการอภิเษกสมรสกับพระนางศุภยาจี หลังจากนั้นไม่นาน

พระนางศุภยาลัตก็ได้เข้าไปประทับอยู่ตำหนักพระเจ้าธีบอ  ซึ่งสิ่งที่พระองค์กระทำนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อจารีตประเพณีเป็นอย่างมาก พระนางซินผิ่วมะฉิ่นและเหล่าเสนาอำมาตย์ทราบเข้า จึงทูลเตือนพระเจ้าธีบอว่าเป็นการไม่เหมาะสม แต่พระองค์ก็ทรงเพิกเฉยต่อคำเตือนของพระนางซินผิ่วมะฉิ่น อย่างไรก็ตามพระเจ้าธีบอก็ต้องทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงใหญ่ตามราชประเพณี แต่ผู้ที่ครองใจพระเจ้าธีบอกลับเป็นพระนางศุภยาลัต เพราะพระนางทรงทำทุกวิถีทางที่จะทำให้พระเจ้าธีบอเป็นของพระนางแต่เพียงผู้เดียว นับจากวันนั้นเป็นต้นมา พระนางศุภยาลัตก็มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อใดที่กล่าวถึงพระราชินีก็จะหมายถึงพระนางศุภยาลัตเพียงผู้เดียว
       
ชีวิตรักของพระนางมีหลายครั้งที่พระเจ้าธีบอติดพันหญิงอื่นซึ่งโดยธรรมเนียมแล้วพระมหากษัตริย์สามารถมีมเหสีได้หลายพระองค์ แต่พระนางทรงไม่ยินยอม จนทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น  ซึ่งเริ่มจากเจ้าชายยะหน่องสหายคนสนิทของพระเจ้าธีบอ ต้องการที่จะลดอำนาจของพระนางศุภยาลัต โดยการโน้มน้าวให้พระเจ้าธีบออภิเษกกับหญิงอื่น เจ้าชายยะหน่อง ได้แนะนำสตรีงามนามว่า มิขิ่นจี ให้กับพระเจ้าธีบอ และพระองค์ก็หลงรักนางพร้อมให้สัญญาว่าจะแต่งตั้งสตรีงามท่านนี้เป็นมเหสีฝ่ายเหนือ จากนั้นจึงให้นางปลอมตัวเป็นชายเข้ามาอยู่ในวังซึ่งสามารถปิดบังพระราชินีได้เป็นเวลาหลายเดือน  พระนางทราบเรื่องหลังจากที่ทรงประสูติพระธิดาองค์ที่สองได้ไม่นาน ทำให้ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างมากและเกิดเหตุทะเลาะกันอย่างรุนแรง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น พระนางจึงส่งคนไปลอบสังหารมิขิ่นจี ขณะเดียวกันยังสามารถกำจัดศัตรูคนสุดท้ายของพระนางได้นั่นคือเจ้าชายยะหน่อง  เนื่องจากมีผู้ร้องทุกข์เกี่ยวกับเจ้าชายยะหน่องเป็นจำนวนมากถึงเรื่องการฉุดคร่าลูกสาวของชาวบ้าน กดขี่ประชาชนและแผนการที่จะกำจัดพระเจ้าธีบอ มีการพบหลักฐานดังกล่าวจริง โดยเฉพาะหลักฐานที่บ้านของเจ้าชายยะหน่องมีเตียงทองคำเหมือนของพระมหากษัตริย์ทำให้เจ้าชายยะหน่องถูกคุมขังและถูกลอบสังหารในปี ค.ศ.1882
         
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้พระนางมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้รัชสมัยของพระนางมีข้อปฏิบัติที่ว่า สามี ห้ามหย่าร้างภรรยา ทอดทิ้งหรือปฏิบัติไม่ดีต่อภรรยา  หลักการนี้ถูกนำมาใช้ในราชสำนักรวมไปถึงราษฎรของพระนาง   หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง  ซึ่งแนวคิดนี้ถือว่าเป็นแนวคิดใหม่สำหรับชาววัง ถ้าเกิดเรื่องราวในทำนองนี้จะทำให้พระนางให้ความสนใจทันที แต่สำหรับเรื่องอื่นไม่ได้ทรงสนพระทัยมากนัก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะยังทรงพระเยาว์ ขาดความรู้ และไม่เคยทราบเรื่องราวภายนอกพระราชวัง  การที่ทั้งสองพระองค์ทรงไม่ได้สนใจกิจการบ้านเมืองก็ย่อมทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อราษฎรเป็นอย่างมาก เกิดการปล้นฆ่าเป็นจำนวนมากและนอกจากนั้นยังเกิดเหตุการณ์รุนแรงและเป็นภัยต่อประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ภาวะสงคราม

ปี ค.ศ.1884 รัฐบาลพม่าตรวจพบว่าบริษัท บอมเบย์-เบอร์ม่า  เทรดดิ้ง คอมปานี ซึ่งเป็นของรัฐบาลอังกฤษที่รัฐบาลพม่าให้สัมปทานไม้สัก มีการละเมิดสัญญาที่ตกลงกันไว้  โดยการลักลอบการขนท่อนซุงขนาดใหญ่และแจ้งบิดเบือนให้เล็กกว่าความจริง ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก มีการตรวจสอบและพบว่ามีการทุจริตจริง จึงมีการออกคำสั่งให้จ่ายค่าปรับ 25,000 ปอนด์สเตอร์ลิง แต่ทางฝ่ายอังกฤษไม่ยอมจึงนำไปสู่ปัญหาในที่สุด ทางฝ่ายอังกฤษมีหนังสือถึงรัฐบาลพม่าเนื้อความว่า ถ้าหากทางพม่าไม่ยอมรับเงื่อนไข อังกฤษจะประกาศสงคราม เสนาบดีเต่งกะด๊ะมินจีจึงเสนอให้พระเจ้าธีบอเปิดสงครามและพระนางศุภยาลัตก็ทรงเห็นด้วย พระองค์ทรงมั่นพระทัยว่ากองทัพของพระเจ้าธีบอสามารถที่จะรับมือกับอังกฤษได้ แต่ทางเสนาบดีกินหวุ่นมินจี กลับบอกว่าควรที่จะใช้สันติวิธี คำแนะนำนี้ส่งผลให้พระนางศุภยาลัตไม่พอพระทัยเป็นอย่างมาก และมีการกล่าวบริภาษกินหวุ่นมินจีอย่างรุนแรง ในที่สุดพระเจ้าธีบอก็ทรงเลือกประกาศสงคราม และฝ่ายอังกฤษเปิดฉากสงครามเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ.1885
         
ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1885 ทางพม่ามีการส่งจดหมายยุติสงครามกับทางกองทัพอังกฤษ แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากทางอังกฤษ รุ่งเช้าของวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1885 พระนางศุภยาลัตเสด็จไปยังหอคอยทรงกลม ได้ทอดพระเนตรเห็นกองทัพอังกฤษ จากนั้นทรงทรุดพระวรกายลง ซบพระพักตร์ลงกับพื้น ทรงพระกันแสงและมีการกล่าวโทษว่าเป็นเพราะตนจึงทำให้หายนะมาสู่พระเจ้าอยู่หัวและแผ่นดิน

หลังจากที่พม่ายอมแพ้ต่ออังกฤษครอบครัวของพระองค์  ถูกเนรเทศให้ไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดียเป็นเวลานานถึง 31 ปี ในระหว่างนั้นทางครอบครัวก็ประสบปัญหามากมายทั้งภายในและภายนอก
จนปี ค.ศ.1916  พระเจ้าธีบอสิ้นพระชนม์ที่เมืองรัตนคีรี พระนางศุภยาลัตและพระธิดาจึงได้รับอนุญาตให้กลับสู่พม่า ในปี ค.ศ.1919  และพระนางศุภยาลัตสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน  ค.ศ.1925  ด้วยพระชนมายุ 66 ชันษา  หนังสือพิมพ์ The Rangoon Times  ได้มีการตีพิมพ์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า “ชาวพม่าอาลัยการจากไปของพระราชินี ไม่ใช่เพราะความยิ่งใหญ่ในอดีตของพระนางแต่เป็นเพราะความศรัทธาในศาสนาและการสร้างกุศลของพระนางภายหลังที่ถูกขับจากบัลลังก์”                                                                                 
ความรู้อันมีขีดจำกัดและความเดียงสาต่อโลกภายนอกของพระนางนำมาซึ่งหายนะต่าง ๆ จากชีวิตที่เคยมีอำนาจอันสูงส่ง ต้องจบลงด้วยบั้นปลายชีวิตที่แตกต่าง ความหลงในอำนาจ ที่คิดว่าทำให้ตนเองอยู่เหนือทุกสิ่ง แต่เมื่ออำนาจถูกทำลายลงความโทมนัสครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตจึงเข้ามาแทนที่


อ้างอิง

คึกฤทธิ์  ปราโมช, ม.ร.ว. (2529). พม่าเสียเมือง  (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพพฯ: สยามรัฐ.

ซา, สุดาห์.(2558).ราชันผู้ผลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง (พิมพ์ครั้งที่ 5).แปลจาก The King in Exile :
The Fall of  the Royal of Burma โดยสุภัตรา  ภูมิประภาส.กรุงเทพฯ : มติชน.

นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2505). พระราชพงศาวดารพม่า: เล่ม 3 พระนิพนธ์ พระ เจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. (ม.ป.ท.) : คุรุสภา.

นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2505). พระราชพงศาวดารพม่า: เล่ม 4 พระนิพนธ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์.  (ม.ป.ท.) : คุรุสภา.

ฟีลดิ้ง-ฮอลล์, แฮโรลด์.(2559). ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน (พิมพ์ครั้งที่ 3).แปลจาก
Thibaw’s Queen โดยสุภัตรา  ภูมิประภาสและสุภิดา  แก้วสุขสมบัติ. กรุงเทพฯ:มติชน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น