ต้นกำเนิดตัวอักษรเกาหลี

โดย นรารัตน์ ทองสง

การอ่านออกและเขียนได้ เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ยิ่งประชาชนในประเทศสามารถอ่านออกและเขียนหนังสือได้ ทำให้เกิดการบันทึกความรู้ ความสามารถทางภูมิปัญญาต่าง ๆ และนำไปเรียนรู้หรือนำไปพัฒนาต่อได้เร็ว เพื่อช่วยให้ประเทศล้ำหน้าไปได้ไกลกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ตัวอักษรเกาหลี เป็นต้น ซึ่งเป็นอักษรที่ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง

โดยดั้งเดิมนั้นชาวเกาหลีใช้ตัวอักษรของจีน ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลในประเทศเกาหลีตั้งแต่ 2,000 ปีมาแล้ว เมื่อจีนได้เข้ามาปกครองประเทศเกาหลีในช่วง พ.ศ. 435 ถึง พ.ศ. 856 ทำให้ภาษาจีนมีการใช้อย่างกว้างขวาง และเริ่มใช้อักษรจีนโบราณในการเขียนภาษาเกาหลี เมื่อประมาณ พ.ศ. 1000

อักษรจีนที่ยืมมาใช้ในภาษาเกาหลีและออกเสียงเป็นภาษาจีนสำเนียงเกาหลี เรียกว่า “อักษรฮันจา” อักษรจีนได้แพร่เข้าสู่อาณาจักรเกาหลีผ่านพระพุทธศาสนา ซึ่งตำราที่นำอักษรฮันจามาเผยแพร่ มีชื่อว่า “อักษรพันตัว” ชาวเกาหลีได้ปรับใช้ภาษาจีนให้เข้ากับไวยากรณ์ อักษรฮันจาได้ใช้ในการเขียนภาษาเกาหลีมาตลอด จนกระทั่งพระเจ้าเซจงได้ประดิษฐ์ตัวอักษรฮันกึลขึ้นมา ในระหว่างปี พ.ศ. 1987 - 1989

“อักษรฮันกึล” (Hangul) ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในปี พ.ศ. 1986 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยมหาจักรพรรดิเซจง กษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์โชซอน ในการประกาศใช้อักษรเกาหลีเป็นครั้งแรกนั้น ที่มีชื่อว่า “ฮุนมินจองอึม” หรือ “ฮันมิงจองกึม” มีความหมายว่า “เสียงที่ถูกต้องเพื่อการศึกษาสำหรับประชาชน” ได้ถูกตีพิมพ์ในเอกสารเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 1989 มีทั้งหมด 28 ตัวอักษร ซึ่งมีเพียง 24 ตัวที่ใช้กันในทุกวันนี้ ซึ่งในวันที่ 9 ตุลาคมของทุกปี ทางการเกาหลีใต้ได้ประกาศให้เป็น “วันฮันกึล” ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ส่วนในเกาหลีเหนือเป็นวันที่ 15 มกราคม


ภาพส่วนหนึ่งของเอกสาร “ฮูมิน จองอึม”
ที่มา : https://th.wikipedia.org/

เหตุที่พระเจ้าเซจงทรงคิดประดิษฐ์ฮันกึลขึ้นมานั้นก็เพราะว่า อักษรจีนมีความซับซ้อน ยากต่อการเขียนและการจดจำ อีกทั้งอักษรจีนยังใช้แทนเสียงในภาษาเกาหลีได้ไม่ลื่นนัก ดังนั้นชาวบ้านและสามัญชนทั่วไปจึงอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ พระเจ้าเซจงทรงมีความวิตกเป็นอย่างมากที่ประชาชนทั่วไปของพระองค์ไม่ได้รับการศึกษาหรือความเข้าใจในอักษรจีน นอกเหนือจากภาษาพูดที่มีเป็นของตัวเอง ทำให้ในสมัยโชซอนผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในอักษรจีนก็มีแค่นักปราชญ์ที่ทำงานในราชสำนัก เศรษฐีหรือไม่ก็ชนชั้นขุนนางเท่านั้นที่มีสิทธิ์เรียนและเขียนตัวอักษรฮันจา


ภาพอนุสาวรีย์พระเจ้าเซจงมหาราช
ที่มา : https://th.wikipedia.org/

ในการประกาศใช้เป็นครั้งแรก พระเจ้าเซจงได้ทรงตรัสไว้ว่า “อันเนื่องมาจากอักษรจีน เป็นอักษรที่ไม่สามารถใช้แทนคำบางคำของเกาหลีได้อย่างถูกต้องเท่าใดนัก ด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจประชาชนในการใช้อักษรจีนที่ค่อนข้างยาก ข้าพเจ้าได้ประดิษฐ์อักษรของชาวเกาหลีขึ้นมาใช้ ซึ่งมีทั้งหมด 28 ตัวอักษร เป็นตัวอักษรที่ใช้ได้ง่าย และด้วยความหวังอย่างแรงกล้าของข้าพเจ้าว่า อักษรเหล่านี้จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกท่านให้ดีขึ้น” ใจความของข้อความข้างต้นนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพระองค์และความรักที่มีต่อประชาชนชาวเกาหลี

ตัวอักษรฮันกึลจึงเป็นอักษรที่ประสมพยัญชนะและสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้ชัดว่าเพียงนำตัวอักษรเกาหลี(ที่ใช้ในปัจจุบัน) ประกอบด้วยพยัญชนะ 14 ตัว สระ 10 ตัว มาประสมกัน ทำให้สามารถสร้างคำและเสียงต่าง ๆ ได้มากกว่า 12,768 แบบ คนธรรมดา ๆ ก็สามารถเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว จนชาวเกาหลียกย่องให้การประดิษฐ์อักษรฮันกึลเป็นนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของชาวเกาหลี และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม “ฮันมิงจองกึม” จึงถูกคิดประดิษฐ์ขึ้น

แต่มีนักวิชาการบางคนได้ตั้งข้อสังเกตว่าการประดิษฐ์อักษรเป็นงานที่ซับซ้อน อาจเป็นฝีมือของบัณฑิตในสมัยนั้น แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แสดงว่าบัณฑิตสมัยนั้นต่างคัดค้านและต่อต้านการใช้ตัวอักษรใหม่แทนตัวอักษรฮันจา ดังนั้นจึงได้มีการบันทึกว่าอักษรฮันกึลเป็นผลงานของพระเจ้าเซจงแต่เพียงพระองค์เดียว และยังมีหลักฐานอีกว่าพระญาติของพระเจ้าเซจองได้มีส่วนร่วมในการประดิษฐ์อักษร

ในปีพ.ศ. 2540 “ฮันมิงจองกึม” ได้ถูกจดทะเบียนโดยยูเนสโกเป็นมรดกโลก และยังมีรางวัลชื่อว่า “รางวัลทรงรู้หนังสือของพระเจ้าเซจง” ซึ่งทุกปีจะแจกให้ชาวชนบทหรือองค์กรที่เพียรพยายามจนประสบความสำเร็จ สมควรได้รับการยกย่องในการพากเพียรเพื่อการรู้หนังสือ

ดังนั้น การมีอักษรหรือภาษาเป็นของตนเอง ทำให้ชนชาตินั้น ๆ มีความเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น ทำให้คนในชาติรู้สึกมีความภาคภูมิใจและเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ยิ่งการรู้หนังสือของคนในชาตินั้น ๆ จะช่วยให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาและสร้างรากฐานของประเทศให้มั่นคงต่อ ๆ ไป


อ้างอิง

ประวัติอักษรเกาหลี. (2551, 9 มิถุนายน). สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2559, จาก http://hassalhome.blogspot.com/2008/06/blog-post.html

ต้นกำเนิดของฮันกึล. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2559, จาก http://www.prkorea.com/thailand/thai_guide3.htm

อักษรฮันจา - วิกิพีเดีย. (2558, 12 กรกฎาคม). สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2559, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/อักษรฮันจา

อักษรฮันกึล - วิกิพีเดีย. (2559, 24 กรกฎาคม). สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2559, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/อักษรฮันกึล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น