หากพูดถึงอียิปต์ สิ่งที่หลายๆ คนนึกถึงคงเป็นทะเลทราย สฟริงซ์ พีระมิด และฟาโรห์ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการสร้างวัฒนธรรมร่วมกันของคนที่อาศัยในดินแดนอียิปต์โบราณ ผู้ปกครองอียิปต์หรือฟาโรห์นั้นเปรียบเสมือนเทพเจ้าที่ชาวอียิปต์ต้องให้ความเคารพสูงสุด ซึ่งฟาโรห์องค์แรกของอาณาจักรอียิปต์โบราณ คือ ฟาโรห์เนเมอร์ (Namer)
ฟาโรห์เนเมอร์นี้คือกษัตริย์ผู้ครองดินแดนอียิปต์บน เพราะในสมัยก่อนอียิปต์โบราณได้แบ่งแยกออกเป็นสองส่วน คือ อียิปต์บนและอียิปต์ล่าง ทั้งสองดินแดนต่างมีฟาโรห์ปกครองอยู่แล้ว แต่ในสมัยของพระราชาแมงป่อง (Scorpion King) ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ปกครองมาก่อนฟาโรห์เนเมอร์ในดินแดนอียิปต์บนได้มีความปรารถนาจะรวมอียิปต์เข้าด้วยกัน
แต่น่าเสียดายที่พระองค์สิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน ทำให้ฟาโรห์องค์ต่อมา ซึ่งก็คือฟาโรห์เนเมอร์ ได้สานต่อความประสงค์ โดยในสมัยของพระองค์ได้มีการยกทัพไปยังอียิปต์ล่าง เป็นผลทำให้อาณาจักรอียิปต์ที่เคยแยกเป็นดินแดนบนและล่างรวมป็นหนึ่งเดียวกัน ฟาโรห์เนเมอร์จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รวบรวมอียิปต์เข้าด้วยกันและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอียิปต์ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองเมมฟิส
แต่บางแหล่งข้อมูลกลับกล่าวว่า การรวมอียิปต์เกิดขึ้นในสมัยฟาโรห์เมเนส โดยมีการสถาปนาพระองค์เป็นฟาโรห์องค์แรกของอียิปต์ ซึ่งฟาโรห์เมเนสนี้เป็นผู้ที่ครองราชย์ต่อจากฟาโรห์เนเมอร์ และบางแหล่งก็เห็นว่าฟาโรห์เนเมอร์และฟาโรห์เมเนสคือองค์เดียวกัน เพราะฟาโรห์มีพระนามถึงห้าพระนาม เมเนสจึงอาจเป็นอีกนามหนึ่งของฟาโรห์เนเมอร์
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของฟาโรห์เนเมอร์ที่นำไปสู่การสร้างจักรวรรดิที่เข้มแข็งอย่างการรวมอียิปต์ให้เป็นปึกแผ่นนี้ เป็นสิ่งที่ควรแก่การยกย่องและกล่าวถึง แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมาหลายพันปี ประกอบกับสมัยโบราณวิทยาการบางอย่างยังไม่ก้าวหน้า ทำให้ประวัติของฟาโรห์เนเมอร์ค่อนข้างคลุมเครือ บ้างก็ว่าพระองค์เป็นนักรบในสมัยพระราชาแมงป่อง บ้างก็ว่าทรงเป็นพระอนุชา พระโอรส หรืออาจเป็นพระชามาดา (ลูกเขย) จากการอภิเษกกับเจ้าหญิงนีทโฮเตปของดินแดนอียิปต์บน เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดถึงฐานันดรของพระองค์ก่อนการขึ้นครองราชย์ จึงรู้เพียงว่าพระองค์เป็นปฐมราชวงศ์ของอียิปต์จากการรวมอียิปต์ทั้งสองฟากฝั่งเข้าด้วยกัน
การรวมอียิปต์ในครั้งนั้นมีหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของฟาโรห์เนเมอร์คือ แผ่นหินของพระเจ้าเนเมอร์ (The Palette of Narmer) ซึ่งเป็นแผ่นหินที่มีความสูงถึง 25 นิ้ว ในแผ่นหินนั้นสลักภาพนูนต่ำ โดยด้านหนึ่งแสดงภาพพระเจ้านาเมอร์สวมมงกุฎฟาโรห์ของอียิปต์บนหรือมงกุฎขาว (white crown) กำลังลงอาญาศัตรู ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของแผ่นหินสลักเป็น 3 แถว มีรูปฟาโรห์สวมมงกุฎของอียิปต์ล่างหรือมงกุฎแดง (red crown) และแถวต่อมาเป็นภาพสัตว์ประหลาดคอยาวสองตัวเอาคอเกี่ยวกัน นั่นอาจหมายถึงการรวมอียิปต์เข้าด้วยกัน และรูปวัวที่แถวล่างอาจเป็นการเปรียบว่าฟาโรห์เนเมอร์มีพละกำลังเช่นวัว แผ่นหินนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการรวมดินแดนอียิปต์เข้าด้วยกันของฟาโรห์เนเมอร์ นอกจากจะเห็นการรวมอียิปต์แล้วยังแสดงให้เห็นว่าผู้รวมอียิปต์ คือ ฟาโรห์เนเมอร์ เพราะในแผ่นหินมีการสลักชื่อเนเมอร์ไว้ทั้งสองด้าน
การรวมอาณาจักรในสมัยฟาโรห์เนเมอร์ทำให้จักรวรรดิอียิปต์มีความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรมากขึ้น แม้ในปัจจุบันอียิปต์จะไม่ได้เป็นศูนย์กลางความยิ่งใหญ่เช่นสมัยก่อน แต่ร่องรอยของอารยธรรมนั้นก็ยังคงมีมนต์ขลังให้คนในยุคปัจจุบันให้ความสนใจเรื่องราวในอดีต และเศษซากแห่งอารยธรรมนั้นก็ได้กลายเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้ดินแดนไอยคุปต์ให้น่าค้นหาในตัวของมันเอง
อ้างอิง
Narmer Palette จานสีของนาร์เมอร์และวัตถุประสงค์การใช้งาน
ประวัติศาสตร์อียิปต์. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2558, จาก : http://www.2by4travel.com/home/Data-travel/egypt/prawatisastr-xiyipt
ฟาโรห์นาเมอร์. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2558, จาก : http://zensuz.exteen.com/20090617/entry
อียิปต์โบราณ1. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2558, จาก : http://writer.dek-d.com/queenmeritaten/story/viewlongc.php?id=587422&chapter=2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น