กระดาษปาปิรุส กระดาษแผ่นแรกของโลก (Papyrus)

โดย เกสรา ทำเนาว์

เมื่อกล่าวถึงการเขียนสิ่งที่เราจะนึกถึงเป็นอันดับแรกคือปากกา แต่หากในมือมีเพียงแค่ปากกาก็คงจะเขียนไม่ได้เลยถ้าขาดสิ่งๆ หนึ่งที่เรียกว่า “กระดาษ” ซึ่งในยุคแรกๆ โดยเฉพาะในยุคของชาวอียิปต์โบราณและชาวจีนโบราณได้มีการผลิตกระดาษขึ้นเพื่อใช้ในการจดบันทึกเท่านั้น จากนั้นก็มีพัฒนาการเรื่อยมา ปัจจุบันกระดาษได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย เช่น ทำเป็นกระดาษชำระ กระดาษห่อของขวัญ เป็นต้น แต่เคยสงสัยกันไหมว่ากระดาษที่เราใช้กันอยู่มีต้นกำเนิดมาจากที่ใด ผลิตอย่างไร กว่าจะมาเป็นกระดาษให้เราใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้

ในอารยธรรมอียิปต์มีการพัฒนาระบบตัวเขียนขึ้นซึ่ง ได้แก่ อักษรภาพจารึกในแผ่นศิลาหรือ ฝาผนังหินขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า อักษรไฮโรกลิฟิก (Hieroglyphic)  และต่อมาได้พัฒนาตัวเขียนเพื่อให้เขียน ได้รวดเร็วขึ้นแต่ยังคงเป็นอักษรภาพอยู่  ที่เรียกว่า อักษรเฮียราติก (Hieratic) ซึ่งอักษรเฮียราติกนี้เองได้มีการเขียนลงกระดาษปาปิรุส (papyrus) ซึ่งทำจากต้นปาปิรุสที่มีขึ้นทั่วไปในแม่น้ำไนล์  ส่วนวัสดุที่ใช้เขียนจะใช้ปล้องหญ้ามาตัดเป็นปากกาจิ้มหมึกเขียนลงบนกระดาษ ชาวอียิปต์โบราณใช้กระดาษปาปิรุสเพื่อบันทึกข้อความสรรเสริญเทพเจ้า บทสวด คำสาบาน ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ จากนั้นนำไปบรรจุไว้ในพีระมิดของอียิปต์ และนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ตั้งแต่ต้นราชวงศ์ของอียิปต์เป็นต้นมาได้มีการใช้กระดาษปาปิรุสกันแล้ว


ที่มา : http://2.bp.blogspot.com/

กระดาษปาปิรุสจึงนับว่าเป็นกระดาษชนิดแรกของโลกที่ทำจากลำต้นกก ซึ่งก็คือต้นปาปิรุส เป็นกกชนิดหนึ่ง มีสีเขียว ลำต้นสูงประมาณ 15ฟุต (4.5เมตร) เป็นรูปสามเหลี่ยม ใบแหลม ออกดอกที่ปลายยอด และกลุ่มดอกมีความยาวประมาณ 10-20 นิ้ว (25-50 เซนติเมตร) ข้อดีของกระดาษปาปิรุส คือ มีความยืดหยุ่นและคงต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศของอียิปต์

ในเมืองอียิปต์โบราณ จะมีบึงขนาดใหญ่อยู่ด้านข้างของแม่น้ำไนล์ ซึ่งมีต้นปาปิรุสขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก โดยชาวอียิปต์จะเข้าไปตัดแล้วมัดเป็นฟ่อนๆ จากนั้นพวกเขาจะทำการลอกเปลือกของต้นปาปิรุสออก และฝานออกเป็นชิ้นบางๆ ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร (16 นิ้ว) และนำไปวางไว้ ส่วนชั้นที่ 2 จะวางไว้ทางด้านบนมุมขวา เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำเนื้อของต้นปาปิรุสที่ถูกฝานไปแช่ในน้ำและกดอยู่ภายใต้หินหนักเป็นเวลา 21 วัน จนกว่าเนื้อของต้นปาปิรุสนั้นจะมีความนุ่ม



เมื่อได้เนื้อของต้นปาปิรุสนุ่มตามที่พวกเค้าต้องการแล้ว พวกเค้าจะนำมาวางเรียงกันในตะแกรงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยจะวางเนื้อของต้นปาปิรุสนี้ด้วยกันสองชั้นในทิศทางสลับกัน คือชั้นแรกวางในแนวตั้ง และชั้นที่สองวางในแนวนอน ซึ่งน้ำหล่อเลี้ยงที่อยู่ในพืชจะทำหน้าที่เสมือนกาวช่วยยึดติดเนื้อของต้นปาปิรุสที่ถูกฝานทั้งสองชั้นเข้าด้วยกัน ในขณะที่เนื้อของต้นปาปิรุสทั้งสองชั้นยังชื้นพวกเขาจะใช้ค้อนไม้มาทุบเนื้อของต้นปาปิรุสที่ถูกวางเป็นชั้นๆ ให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งก็จะได้กระดาษปาปิรุสออกมาเป็นแผ่น



เมื่อกระดาษที่ได้แห้งสนิทแล้ว จะถูกนำมาขัดด้วยวัตถุที่มีลักษณะกลมเช่น หิน เปลือกหอย หรือไม้เนื้อแข็งที่มีลักษณะกลมเป็นต้น กระดาษปาปิรุสที่ผ่านการขัดแล้วจะมีผิวเรียบน่าเขียนมากขึ้น และเนื่องจากกระดาษปาปิรุสในยุคก่อนมีราคาที่แพงมาก ชาวอียิปต์จึงนำกระดาษที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่โดยนำกระดาษที่ถูกเขียนแล้วนำมาล้างคราบหมึกให้สะอาด

นอกจากนี้ต้นปาปิรุสยังถูกนำมาใช้เป็นวัสดุโครงสร้างของสิ่งของต่างๆ เช่น นำมาเป็นเชื้อเพลิง สร้างบ้าน ทำเชือก ทำรองเท้าชนิดสาน สานเป็นตะกร้า เป็นต้น ซึ่งงานศิลปหัตถกรรมที่ทำจากต้นปาปิรุสเหล่านี้องค์ฟาโรห์ทรงแต่งตั้งให้เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การควบคุม การดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ ทำใหญ่โตเป็นลักษณะอุตสาหกรรม ชาวบ้านจึงเรียกว่า ปะ - ปี๋ - ร่า ( Pa - Pe - Raa) หมายถึง กิจการที่เป็นขององค์ฟาโรห์ แต่ชาวกรีกโบราณออกเสียงเพี้ยนเป็นปาปิรัส จึงแผลงมาเป็นที่มาของคำว่า "เปเปอร์ ( Paper)" ในภาษาอังกฤษซึ่งก็คือกระดาษในปัจจุบันนั่นเอง

ปาปิรุสจึงนับเป็นไม้ชนิดแรกๆ ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านของการบันทึก และเป็นกระดาษชนิดแรกของโลกที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมอียิปต์โบราณได้อย่างลึกซึ้ง


อ้างอิง

Papyrus.  Wikipedia. Retrieved 13 Sep 2014.  from: https://en.wikipedia.org/wiki/Papyrus.

กระดาษแผ่นแรกของโลก. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 27 กันยายน 2557, จาก : https://docs.google.com/

การทำกระดาษปาปิรุสจากต้นกกโดยชาวอียิปต์ยุคโบราณ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.thaigoodview.com/node/153727. (วันที่ค้นข้อมูล : 30 กันยายน 2557).

แมวเหมียว. ไปอียิปต์…กระดาษปาปิรุส. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=43397. (วันที่ค้นข้อมูล : 28 กันยายน 2557).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น