จุดจบอันน่าสลดของ จูเลียส ซีซาร์

โดย วิยะดา ชัชวาลย์

จูเลียส  ซีซาร์ เกิดวันที่ 13 กรกฎาคม 102 ปีก่อนคริสตศักราช  เป็นมนุษย์คนแรกที่เกิดโดยการผ่าตัดจากหน้าท้อง จูเลียส ซีซาร์ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยคำชักชวนของ ไกอัส มาริอัส ผู้เป็นเขยของตระกูลซีซาร์ มีศักดิ์เป็นลุงของเขา ซีซาร์ไต่เต้าขึ้นมาตามหน้าที่บทบาททางการเมืองเป็นระดับด้วยความสามารถของตนเอง มิใช่การอาศัยใบบุญของลุงขึ้นมาเป็นใหญ่ เพราะเหตุนี้ทำให้เขาเกิดความอดทนและมีความมุ่งมานะเป็นอย่างมาก และเป็นที่มาสำหรับความสำเร็จทัังหมดในชีวิตของเขา

จูเลียส  ซีซาร์ มักจะขันอาสาออกสนามรบได้รับชัยชนะกลับมาอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ซีซาร์มีทั้งอำนาจและฐานะที่ร่ำรวยยิ่งขึ้น ประชาชนก็ชื่นชอบและเริ่มศรัทธาในตัวเขา อำนาจของเขาก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว พร้อมทั้งศัตรูก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

ครั้งหนึ่ง ซีซาร์ได้ติดตามไปสังหารปอมเปย์ มิตรที่กลายเป็นศัตรูของเขา แต่ก็พบว่าปอมเปย์ได้ถูกสังหารไปก่อนแล้วที่อียิปต์ เมื่อไปถึงและพักอยู่ในอียิปต์ขณะนั้น ซีซาร์ ก็ได้พบกับพระนางคลีโอพัตรา เขาหลงในพระสิริโฉมอันงดงามของพระนาง ทั้งสองได้สานสัมพันธ์รักด้วยกันนานพอจนทำให้เกิดทายาทมีนามว่าซีซาเรียน



ทางด้านสถานการณ์ฝั่งโรมันเริ่มมีความตึงเครียด สภาเริ่มเอือมระอากับพฤติกรรมของซีซาร์ โดยให้เหตุผลว่า เขาใช้เงินสิ้นเปลืองจับจ่ายใช้สอยอย่างมือเติบในด้านการสงคราม และเขาก็ถูกโจมตีว่าพาคนไปตายจำนวนมากในสนามรบ และที่สำคัญคือเขามัวแต่หลงใหลกับเสน่ห์ของพระนางคลีโอพัตรา พยายามทำตัวเหนือจารีตดั้งเดิมของชาวโรมัน ที่รับสตรีชาวต่างชาติมาเทิดทูน เป็นการเหยียบหัวชาวโรมัน การกระทำของเขาเช่นนี้ ทำให้สมาชิกสภาได้โอกาสที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของเขาได้อย่างง่ายดาย สภาเริ่มปรึกษากันว่า ซีซาร์คงกำลังวางแผนที่จะสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ โดยนำเอาทั้งคลีโอพัตรากับซีซาเรียนกลับมา เตรียมประกาศเป็นราชวงศ์ใหม่ของตน การกระทำนี้จะทำให้รัฐสภาไร้ความหมายอีกต่อไป

เรื่องราวได้เกิดขึ้นเมื่อบรรดาสมาชิกสภาซีเนทที่หวั่นเกรงว่าจะถูกซีซาร์ลิดรอนสิทธิและอำนาจนั้น ได้รวบรวมเป็นคณะขึ้นมา มีแกนนำสำคัญคือ ลองจินัส  เทรโบนิอัส  อัลบินัสและบรูตุส บุคคลภายหลังก็คือ ลูกเลี้ยงนอกสมรสระหว่างนางซีพิโอนิสกับจูเลียส ซีซาร์นั่นเอง โดยมีสมาชิกสภาซีเนทเข้าร่วมกับแผนการสังหารปลิดชีพซีซาร์ถึง60 คนด้วยกัน  การประชุมถูกจัดขึ้นที่โรงมหรสพ ปอมเปย์  ซีซาร์ได้เดินทางมาประชุมในตอนเช้าเพียงลำพัง โดยไม่รู้ตัวว่าวาระสุดท้ายแห่งชีวิตกำลังเดินทางมาถึง

แผนกำหนดการไว้ว่า  การสังหารจะเกิดขึ้นทันทีที่ซีซาร์มาถึงสภาซีเนท หลังจากที่ซีซาร์เข้ามาในสถานประชุม ทัลลิอุส ซิมเบอร์ เดินมาหาซีซาร์ทำทีมาคุยกับซีซาร์เรื่องขอให้อภัยโทษน้องชายเขาที่ถูกเนรเทศไปชายแดน  และระหว่างที่ซีซาร์กำลังสนทนากับทัลลิอุส ซิมเบอร์นั้นเอง  วินาทีสังหารก็เริ่มขึ้น คัสกาได้เดินอ้อมมาข้างหลังซีซาร์และกระชากเสื้อคลุมของซีซาร์ออกและเอามีดจ้วงแทงเข้าไปที่หลังเป็นคนแรก เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นสังหาร หลังจากนั้นทุกคนก็เข้ามารุมแทงชายผู้ยิ่งใหญ่แต่ไร้ซึ่งอาวุธป้องกันตัวได้อย่างอำมหิต  ซีซาร์อุตส่าห์พาร่างที่อาบไปด้วยเลือดของเขาไปอยู่ต่อหน้าบรูตุส ยังคงหวังว่าบรูตุสจะจงรักภักดีต่อเขา แต่ก็สิ้นหวัง ก่อนที่ซีซาร์จะล้มลง เขารู้สึกผิดหวังอย่างมาก ไม่เชื่อว่าลูกเลี้ยงของตนจะทรยศผู้เป็นพ่อได้ เขาได้เปล่งวาจาออกมาว่า“แกด้วยหรือ บูรตุส” บรูตุสได้เงื้อมมีดดาบเข้าจ้วงแทงมือที่ซีซาร์ยกขึ้นรับแต่ก็ไม่สำเร็จ มีดได้เสียบทะลุผ่านลำคอ แล้วร่างของ จูเลียส ซีซาร์ ก็ร่วงลงซบที่ฐานรูปปั้นของปอมเปย์นั้นเอง  ซีซาร์ผู้ยิ่งใหญ่ก็สิ้นใจตายโดยมีบาดแผลถูกแทงกว่า 23 แผล



หลังการตายอย่างน่าสลดของจูเลียส ซีซาร์  ได้มีการมอบหมายให้ ปิโซ อดีตพ่อตาของซีซาร์เป็นพยานอาวุโสในการเปิดพินัยกรรม ซึ่งในพินัยกรรมได้ระบุไว้ว่า ซีซาร์ได้มอบบ้านและสวนของเขาทั้งหมดให้เป็นสมบัติแก่ประชาชนชาวโรม นำไปใช้เป็นประโยชน์สาธารณะ ทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้แจกจ่ายแก่ประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก อีกส่วนได้มอบให้แก่ทายาทชาวโรมันคนเดียวของเขาคือ ออคตาเวียน ซีซาร์

พิธีปลงศพของจูเลียส ซีซาร์ ถูกจัดขึ้นที่หน้าโรงมหรสพปอมเปย์ สถานที่ซีซาร์ถูกสังหารโหดนั้นเอง ข่าวการเสียชีวิตของจูเลียส ซีซาร์ แพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนมากมายที่รักใคร่ในซีซาร์ ต่างแห่แหนออกมาร่วมในพิธีด้วยอย่างคับคั่งเป็นหมื่นเป็นแสนคน ต่างก็ร่ำไห้ให้กับการจากไปของจูเลียส ซีซาร์ และยังมีประชาชนอีกไม่น้อยออกมาแสดงความไม่พอใจและต้องการนำตัวฆาตกรมาลงโทษ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีศพ มาร์คัส อันโตนิอัส ทหารคู่ใจของซีซาร์ ก็ได้จัดส่งพระนางคลีโอพัตราและซีซาเรียนเดินทางกลับสู่อียิปต์ จากนั้นอันโตนิอัส เลปิตัสขุนพลผู้ที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับซีซาร์ และออคตาเวียน บุตรบุญธรรมของซีซาร์ ได้ร่วมมือกันควานหาตัวกลุ่มสังหารทั้งหมด 60คน และช่วยกันกวาดล้างไปได้ทั้งหมด เมื่อสงครามจัดการกบฏจบลง อำนาจก็ตกอยู่ในการควบคุมของ อันโตนิอัส เลปิตัสและออคตาเวียนอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ต่อมาก็เกิดการแก่งแย่งอำนาจกันเองขึ้น โดยผู้ที่ได้รับชัยชนะอย่างถาวรก็คือออคโตเวียนและได้ ขึ้นครองราชย์ในนาม พระจักรพรรดิ ออกุสตุส ซีซาร์ สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์แรก เมื่ออายุ 36 ปี

ผู้ยิ่งใหญ่ทุกคนย่อมมีศัตรู ในโลกนี้มีคนอีกหลายคนที่ทนเห็นความสำเร็จของผู้อื่นไม่ได้  ทว่าศึกเหนือเสือใต้ที่ว่าร้ายแล้ว ก็คงไม่น่ากลัวกว่าศัตรูที่มาในรูปแบบ “มิตร” จูเลียส ซีซาร์ ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ถูกอิจฉาริษยา เขาเองก็รู้ตัวดี แต่ต้องทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็นเสียบ้าง และความเมตตาที่มีให้ต่อศัตรูนั้นได้กลับกลายมาเป็นอาวุธที่ทำร้ายตนเองในที่สุด

                                 
อ้างอิง

คอสมอส. บันทึกโลกฉบับรวมเล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งที่4. กรุงเทพฯ:ไทยควอลิตี้บุ๊คส์(2006),2556.

มิสแซฟไฟร์. จุดจบรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ “จูเลียส ซีซาร์”. 19 สิงหาคม,2558, จาก ไทยรัฐออนไลน์: http://www.thairath.co.th/content/417260

เอกนารี พรปรีดา. 5 วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้รวมชาติรวมแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ:มายิกสำนักพิมพ์.

Cammy. 2550. เบื้องหลังการรุมสังหาร จูเลียส ซีซาร์. 20 สิงหาคม,2558, จากDek-D.COM-เด็กดีดอทคอม:    http://writer.dek-d.com/cammy/story/viewlongc.php?id=219485&chapter=137

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น