อนุสรณ์สถานแห่งชาติเขารัชมอร์ (The Mount Rushmore National Memorial)

โดย ศุภลักษณ์ ศรีเสมอ

ประเทศสหรัฐอเมริกามีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและน่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มีอยู่หนึ่งสถานที่ที่ไม่ควรพลาดหากมีโอกาสได้ไปแถบตอนกลางของสหรัฐอเมริกา สถานที่ท่องเที่ยวที่จะกล่าวนี้เป็นอนุสรณ์สถานอันเป็นความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของคนอเมริกาทั้งยังเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ปลุกจิตสำนึกความรักชาติและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวอเมริกัน นั่นก็คือ “อนุสรณ์สถานแห่งชาติเขารัชมอร์” (The Mount Rushmore National Memorial)


ที่มา : https://www.metro.us/

อนุสรณ์สถานแห่งชาติเขารัชมอร์ เป็นภูเขาหินแกรนิตที่มีประติมากรรมแกะสลักบนหน้าผาของภูเขา ตั้งอยู่ในรัฐเซาท์ดาโกต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ใกล้เมืองคีย์สโตน ได้รับสมญานามว่าเป็นอนุสรณ์สถานแห่งประชาธิปไตย (Shrine of Democracy) เนื่องจากเป็นประติมากรรมใบหน้าของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา 4 ท่าน ที่มีความสูงถึง 18 เมตร

โดนส์ โรบินสัน ( Doans Robinson ) เป็นนักประวัติศาสตร์ของรัฐเซาท์ดาโกต้า เป็นผู้ริเริ่มมีความคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์วีรบุรุษของคนอเมริกัน เพื่อดึงดูดและส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ โดยได้เชิญจอห์น กัตซัน บอร์ลัม (John Gutzon Borglum) ประติมากรคำสำคัญมาดำเนินการและควบคุมการแกะสลัก

ซึ่งกัตซัน บอร์ลัมได้เสนอว่า ประติมากรรมควรมีความสำคัญระดับชาติมากกว่าและเลือกเอาใบหน้าของ 4 อดีตประธานาธิบดีมาแกะสลักไว้บนภูเขา ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการสร้างส่วนใหญ่มาจากงบประมาณของรัฐบาลกลาง ผ่านการสนับสนุนวุฒิสมาชิกสหรัฐ และบางส่วนได้มาจากการบริจาคของประชาชน เป็นจำนวนเงิน 990,000 ดอลลาร์สหรัฐ และคนงานส่วนใหญ่เป็นคนงานเหมืองในท้องถิ่น โดยใช้เวลาแกะสลักถึง 14 ปี และต้องจ้างคนงานแกะสลักร่วม 360 คน



โดยงานแกะสลักนั้นเป็นการแกะสลักใบหน้าของประธานาธิบดี 4 ท่าน ซึ่งแต่ละคนเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ในแต่ละด้านของประเทศ ได้แก่

1) จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เป็นประธานาธิบดีคนแรก ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ.1779 เป็นตัวแทนด้านการสร้างชาติ

2) โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ดำรงตำแหน่งในปี ค.ศ. 1801 - 1809 ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีถึง 2 สมัยติดกัน เป็นตัวแทนด้านปรัชญาการเมือง

3) ธีโอดอร์ รูสเวลท์ (Theodore Roosevelt) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 26 ผู้ที่ทำให้โครงการขุดคลองปานามาสำเร็จลงได้ในปี ค.ศ.1903 เป็นตัวแทนด้านการแผ่ขยายและอนุรักษ์

4) อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) เป็นประธานาธิบดีคนที่16 ของประเทศ ดำรงตำแหน่งเมื่อ ค.ศ.1861 เป็นตัวแทนด้านการสงวนรักษา

งานแกะสลักที่เสร็จสมบูรณ์แล้วมีความเหมือนใบหน้าจริงมากและที่ดวงตาของประธานาธิบดีแต่ละท่านนั้น มีเทคนิคการแกะสลักที่ทำให้จุดที่แสงตกกระทบตัดกับเงาดำของหลุมทำให้ดวงตาเหมือนจริงราวกับมีชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากเขารัชมอร์ได้ประโยชน์จากการหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการเปิดรับแสงจากดวงอาทิตย์สูงสุด

ในส่วนของห้องลับแห่งเขารัชมอร์นั้น เกิดจากการที่ กัตซอน บอร์กลัม ต้องการที่จะสร้างจารึกขนาดใหญ่บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญของสหรัฐอเมริกาประกบคู่กับรูปแกะสลักของเขา เพื่อบอกเรื่องราวให้กับคนรุ่นหลัง แต่เนื่องจากไม่อาจสลักตัวอักษรได้ใหญ่พอที่จะสามารถอ่านเห็นได้จากระยะไกล ประกอบกับต้องกันพื้นที่ให้กับรูปสลักของ อับราฮัม ลินคอล์น จึงทำให้ต้องยกเลิกการสร้างจารึกขนาดใหญ่ จึงหันมาสร้างห้องขนาดใหญ่ด้วยการเจาะภูเขาแห่งนี้ เพื่อเป็นที่เก็บรักษาเอกสารและวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศแทน

ห้องแห่งนี้จะมีขนาดราว 24.38 เมตร คูณ 30.48 เมตร มีทางเข้าอยู่ด้านหลังรูปสลักของลินคอล์น บนประตูทางเข้าประดับด้วยรูปปั้นนกอินทรีย์สัมฤทธิ์ และเหนือนกอินทรีย์ขึ้นไปมีจารึกระบุว่าเป็น “The Hall of Records” แผนการสร้างดังกล่าวจึงมิใช่ “เรื่องลับ” และมีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการก่อสร้างเขารัชมอร์ ปี 1938 เพียงแต่ใช้ชื่อว่า “หอพิพิธภัณฑ์” (museum hall)

แต่เมื่อปี 1939 ทางรัฐบาลได้สั่งให้ยุติการก่อสร้างห้องดังกล่าว และสั่งให้มุ่งทำเพียงแต่การแกะสลักใบหน้าของประธานาธิบดีทั้ง 4 ท่านให้สำเร็จเท่านั้น ส่งผลให้หอเก็บบันทึกสำคัญดังกล่าวจึงถูกทิ้งร้างไปนานหลายสิบปี แต่ภายหลังเจตนารมณ์ของ บอร์กลัม ก็ได้รับการสานต่อ แม้จะไม่ได้เป็นไปตามแผนเดิมที่เขาวางไว้ โดยในปี 1998 เอกสารสำคัญซึ่งได้จารึกลงบนเครื่องเคลือบ 16 ชิ้นถูกบรรจุลงในกล่องไม้สัก ก่อนนำไปเก็บในตู้เซฟไทเทเนียมอีกชั้นหนึ่ง แล้วครอบทับด้วยแผ่นหินแกรนิตไว้ที่ทางเข้าของห้องที่ตั้งใจจะให้เป็นหอเก็บบันทึกสำคัญ

การก่อสร้างอนุสรณ์นั้นเริ่มต้นขึ้นในปี 1927 และใบหน้าประธานาธิบดีเสร็จสมบูรณ์ในระหว่าง 1934 - 1939 แนวคิดเดิมทีต้องการให้งานแกะสลักประธานาธิบดีแต่ละคนนั้นปรากฏเป็นรูปร่างตั้งแต่ส่วนหัวถึงเอว แต่เนื่องจากขาดเงินทุนและการก่อสร้างต้องถูกบังคับให้สิ้นสุดลงในปลายเดือนตุลาคม 1941



ปัจจุบันเขารัชมอร์ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่ได้รับความนิยมมาก มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมเกือบ 3 ล้านคนต่อปี และสถานที่แห่งนี้ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของประธานาธิบดี เป็นความภูมิใจในชาติของชาวอเมริกัน ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ชาวอเมริกันยืนหยัดและพร้อมต่อสู้ได้อีกครั้ง ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่ทรงคุณค่าทางจิตใจของชาวอเมริกัน


อ้างอิง

little. (2559). อนุสรณ์สถานแห่งชาติเขารัชมอร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561, จาก: http://www.vacationistmag.com/1988-2/

สำรวจโลก. (2561). การสร้างภูเขารัชมอร์ในช่วงปี 1935 – 1941. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561, จาก: http://www.nextsteptv.com/การสร้างภูเขารัชมอร์-ใน/

อดิเทพ พันธ์ทอง. (2560). “ห้องลับ” หลังรูปแกะสลักประธานาธิบดีสหรัฐฯบน “เมาต์รัชมอร์” มีอยู่จริงรึ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561, จาก: https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_3871

Konsuay. (2558). สถานที่สำคัญของประเทศอเมริกา. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561, จาก: https://sites.google.com/site/americaisthebesttsfpsfd/home/sthan-thi-sakhay/bthkhwammimichux

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น