ประวัติศาสตร์ของจีนในยุคสมัยที่เกิดความแบ่งแยก บ้านเมืองต่างพากันแบ่งออกเป็นก๊กเป็นฝ่าย ที่เรียกว่า ยุคสามก๊ก ประกอบด้วย วุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก ระหว่างนี้เกิดการแย่งชิงอำนาจเพื่อความเป็นใหญ่ในดินแดนจีน เกิดความอิจฉาริษยา ความอาฆาต และสงครามขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งนี้ก๊กไหนที่มีกำลังพลที่เข้มแข็ง มีกำลังรบที่ยอดเยี่ยมก็จะเอาชนะก๊กอื่นๆ ได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจ๊กก๊กของพระเจ้าเล่าปี่ก็เป็นหนึ่งในก๊กที่มีทหารเก่งกาจมากมาย หนึ่งในนั้นที่เรารู้จักกันดีก็คือ จูล่ง
ที่มา : https://www.samkok911.com/
เตียวหยุน หรือที่รู้จักกันในนาม จูล่ง เกิดในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 2 ประมาณปี ค.ศ. 161 ที่อำเภอเจินติ้ง เมืองเสียงสาน หรือมณฑลเหอเป่ย ในปัจจุบัน มีแซ่เตียว (จ้าว) ชื่อ หยุน (แปลว่าเมฆ) ชื่อรอง จูล่ง หรือ จื่อหลง (แปลว่าบุตรมังกร) มีรูปร่างลักษณะสูงประมาณ 8 เซียะ (1.89 เมตร) ใบหน้าขาวโพลน หน้าผากกว้างดั่งเสือ ตาโต คิ้วดก กรามใหญ่กว้างบ่งบอกถึงนิสัยซื่อสัตย์ สุภาพเรียบร้อย น้ำใจกล้าหาญ สวมเกราะเงินสีขาว ใช้ทวนยาวเป็นอาวุธ ใช้ม้าสีขาว เป็นพาหนะคู่ใจ
จูล่งเดิมเป็นชาวเมืองเสียงสาน ต่อมาได้มาเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว แต่อ้วนเสี้ยวเป็นคนหยาบช้า ไร้น้ำใจ จูล่งจึงหนีไปอยู่กับกองซุนจ้านเจ้าเมืองปักเป๋ง โดยที่ขณะนั้นกองซุนจ้านได้ทำศึกกับอ้วนเสี้ยว จูล่งยังได้ช่วยชีวิตกองซุนจ้านไว้ แล้วสู้กับบุนทิวถึง 60 เพลง จนบุนทิวหนีไป ต่อมาจูล่งได้มีโอกาสรู้จักกับเล่าปี่ ทั้งสองต่างเลื่อมใสซึ่งกันและกัน
เมื่อกองซุนจ้านฆ่าตัวตายเพราะแพ้อ้วนเสี้ยว จูล่งจึงได้ร่อนเร่พเนจรจนมาถึงเขาโงจิวสัน ซึ่งมีโจรป่ากลุ่มหนึ่งมีหุยง่วนเสียวเป็นหัวหน้า หุยง่วนเสียวคิดชิงม้าจากจูล่ง จูล่งจึงฆ่าหุยง่วนเสียวตายแล้วได้เป็นหัวหน้าโจรป่าแทน ต่อมากวนอูได้ใช้ให้จิวฉองมาตามหุยง่วนเสียวและโจรป่าไปช่วยรบ จิวฉองเมื่อเห็นจูล่งคุมโจรป่าจึงคิดว่าจูล่งคิดร้ายฆ่าหุยง่วนเสียว จิวฉองจึงตะบันม้าเข้ารบกับจูล่ง ปรากฏว่าจิวฉองต้องกลับไปหากวนอูในสภาพเลือดโทรมกาย ถูกแทงถึง 3 แผล (สำนวนสามก๊กฉบับวณิพกของ ยาขอบ)
จิวฉองเล่าว่าคนผู้นี้มีฝีมือระดับลิโป้ ดังนั้นกวนอูกับเล่าปี่จึงต้องรุดไปดูด้วยตนเอง แต่เมื่อได้พบกันจูล่งก็เล่าความจริงทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมาจูล่งก็ได้เป็นทหารเอกคนสนิทของเล่าปี่ เคยรบชนะม้าเฉียวในการประลองยุทธตัวต่อตัว และยังเคยทะเลาะกับเตียวหุยตอนอยู่กับกองซุนจ้านจนเกือบสังหารเตียวหุยแต่กวนอูมาขวางไว้ และถึงแม้ว่านายอย่างเล่าปี่จะตายจากไปจูล่งก็ยังคงอาสารบให้แก่ขงเบ้งเพื่อทำประโยชน์ให้กับทายาทเล่าปี่สืบไป
ที่มา : https://www.samkok911.com/
1. สมรภูมิที่เป็นเกียรติยศสูงสุดของจูล่งคือเนินเตียงปัน ในศึกครั้งนี้จูล่งแสดงความแกล้วกล้าปรีชาชาญของตนออกมาเต็มเปี่ยม เนื่องจากถูกโจโฉตามโจมตีตลอดคืน เล่าปี่จึงแตกพ่ายยับที่เนินเตียงปัน ทิ้งลูกเมียหนีไปกับลูกน้องไม่กี่คน จูล่งช่วยภรรยาทั้งสองของเล่าปี่ออกมาแล้วฝ่าวงล้อมข้าศึกกลับเข้าไปช่วยอาเต๊าซึ่งยังเป็นทารกใส่อกเสื้อเกราะรบฝ่าออกมาได้โดยสวัสดิภาพ เป็นความดีความชอบยิ่งใหญ่ จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “หยาเหมินเจียงจวิน-ขุนพลประจำทำเนียบ” แต่ก็เป็นตำแหน่งไม่สูงนัก
2. เตียวหอมเจ้าเมืองฮุยเอี๋ยงจะยกนางฮวนซี พี่สะใภ้ของตน(เตียวหอม)ให้เป็นภรรยาจูล่ง จูล่งเมื่อแรกเห็นหญิงงามก็สนใจ แต่เมื่อทราบว่าเป็นพี่สะใภ้ก็โกรธเตียวหอม เพราะเป็นการผิดธรรมเนียม และให้เหตุผลในภายหลังว่า “เล่าปี่นายของข้าพเจ้าคิดอ่านทำการทั้งปวงหวังจะทำนุบำรุงแผ่นดินก็ยังไม่สำเร็จก่อน เล่าปี่นั้นก็ยังนอนตาไม่หลับลงเป็นปรกติ ซึ่งข้าพเจ้าจะมามีภรรยานั้นไม่ควร เหมือนหนึ่งชิงสุกก่อนห่าม คนทั้งปวงจะครหานินทาได้”
3. ก่อนพระเจ้าเล่าปี่จะสิ้นใจได้ฝากจูล่งให้ช่วยทำนุบำรุงเล่าเสี้ยน จูล่งร้องให้แล้วกราบทูลว่า “พระองค์อย่าได้ปรารมภ์เลย ถ้ามีการสงครามข้าพเจ้าจะขอตายก่อนพระราชบุตร” แต่ในสามก๊กภาษาอังกฤษกล่าวเพิ่มเติมไว้กินใจกว่าว่า “The fidelity of the dog and horse is mine to give and shall be theirs.” แปลว่า “ความจงรักภักดีของข้าพเจ้าจักเป็นดั่งเช่นสุนัขและอาชา ที่มีต่อนายของมัน”
4. ในตอนขงเบ้งถอยทัพที่เกเต๋ง จูล่งเป็นเป็นคนคุมทัพหลังและนำทหารกลับมาได้อย่างปลอดภัยไม่เสียกำลังพลแม้แต่นายเดียว ขงเบ้งจึงยกย่องและนำรางวัลมามอบให้ แต่จูล่งไม่รับ แล้วกล่าวว่า “ตัวข้าพเจ้าเป็นทัพแตกเสียการมา ก็หาความชอบสิ่งใดมิได้ ซึ่งข้าพเจ้าจะรับเอาสิ่งของทั้งนี้มิบังควร ขอมหาอุปราชให้เอาคืนเข้าไว้ในท้องพระคลังเถิด ถ้าถึงกำหนดเบี้ยหวัดแล้วจงเอาแจกทหารทั้งปวง” ความในตอนนี้ยาขอบเขียนยกย่องจูล่งไว้อย่างไพเราะว่า “คนยาก แต่มิใช่เห็นเงินตาลุก ชาวเสียงสานต้องการดื่มเกียรติ”
อ้างอิง
ทำไมเล่าปี่ไม่ใช้จูล่งทำงานใหญ่. (2560). สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2561,จาก: https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_7265
จูล่ง. (2560). สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2561,จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/จูล่ง
Hall of Fame จูล่งแห่งเสียงสาน. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2561, จาก: https://www.samkok911.com/2013/01/Zhao-Yun-Hall-of-Fame.html
ยาขอบ. (2553). สามก๊กฉบับวณิพก. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น