ตำนานสงครามเทพเจ้าอิยิปต์

โดย ยศธร  เค้าหงษ์

ถ้าพูดถึงเรื่องของเทพเจ้าของอียิปต์นั้น ตำนานของเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ ล้วนมีความน่าสนใจทั้งสิ้น แต่ตำนานที่หลายคนอาจจะรู้จักและค่ายหนังในต่างประเทศมักจะหยิบยกขึ้นมาทำเป็นภาพยนตร์คงจะไม่พ้นตำนานการต่อสู้ล้างแค้นในสงครามศึกสายเลือดระหว่างเซ็ธและฮอรัสนั่นเอง


ที่มา: http://ancientegyptmag.com/

ในสมัยโบราณตามความเชื่อของชาวอียิปต์ เทพรา (RA) หรือสุริยเทพนั้นคือเทพเจ้าองค์สูงสุด ได้มีการสร้างโลกและมนุษย์ขึ้น พระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นองค์ฟาโรห์องค์แรกของดินแดนประเทศอียิปต์ โดยเทพรานั้นทรงมีโอรสและธิดารวมทั้งสิ้นห้าพระองค์ ดังนี้

1. โอซิริส (Osiris) เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่แห่งยมโลก ฟาโรห์ที่สวรรคตจะทรงไปรวมกับโอซิริสในดินแดนหลังความตาย ซึ่งในที่ฝังพระศพจะมีภาพโอซิริสเสมอ โอซิริสจะอยู่ในรูปบุรุษทรงเครื่องและมงกุฎของฟาโรห์ แต่มีผิวกายสีดำและถูกพันผ้าไว้แบบมัมมี่ โอซิริสคือศูนย์กลางความเชื่อเรื่องการกลับฟื้นคืนชีพ ตามตำนานโอซิริสถูกฆ่าโดยเทพเซธ และถูกสับเป็นชิ้น ๆ แต่ด้วยความรักของมเหสีเทพีไอซิส ผู้ตามเก็บรวบรวมพระศพมาต่อใหม่ ทำให้โอซิริสกลับฟื้นคืนมาได้อีก                                                                                                                                                       
2. ฮามาคิส (Harmakhis) เป็นเทพแห่งรุ่งอรุณ มีรูปร่างเป็นสิงโตและศีรษะเป็นมนุษย์ หรือที่เราเรียกว่า สฟิงซ์ เป็นกำลังพลสำคัญที่ช่วยหลานชายตัวเอง คือเทพฮอรัสทำสงครามกับ เทพเซธ จนประสบความสำเร็จ                                                                                                                                                         
3. เซ็ธ (Seth) เทพแห่งพายุและความรุนแรง มีรูปเป็นหน้าสัตว์ที่น่าเกลียด เช่นหมู หรือลา ตามตำนานว่าเป็นอนุชาของโอซิริส ผู้เกลียดชังพี่ของตนเอง และเป็นผู้สังหารโอซิริสด้วย                                                                                               

4. ไอซิส (Isis) อัครเทวีที่คนอียิปต์ให้ความนับถือมากที่สุด เป็นเทวีแห่งความรัก และการอุทิศตนเพื่อสามีและบุตร และยังมีมนต์คาถา มีชื่อเสียงทางด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย ไอซิสมีพระรูปเป็นหญิงงาม ทรงเครื่องอย่างมเหสีแห่งฟาโรห์                                                                                                                                                                                         
5. เนพทิส (Nephtys) ชายาของเทพเซธ เทวีแห่งความลึกลับและเทพีบ้านเรือน นางช่วยเหลือเทพีไอซิสในการรักษาวิญาณของเทพโอซิริส จึงถูกยกย่องว่าเป็นชายาอีกคนหนึ่งของโอซิริส ซึ่งบางตำรากล่าวว่าหลงรักโอซิริสอยู่แล้ว จึงออกอุบายเข้าหามหาเทพจนมีลูกชายชื่อ เทพอนูบิส ที่เกิดจากสัมพันธ์ลับ …หรือบ้างว่าเป็นลูกชายของเทพเซธนั่นแหละ รูปพระลักษณ์ทรงศิราภรณ์รูปไฮโรกราฟฟิค (ทรงบ้านและตะกร้า)



เมื่อเติบโตขึ้น โอรสและธิดาของพระองค์ได้อภิเษกกันเองตามประเพณีของไอยคุปต์ กล่าวคือ เทพโอซิริส อภิเษกกับ เทพีไอซิส  ส่วน เทพเซ็ธอภิเษกกับเทพีเนพทิส มีเพียงเทพฮามาคิส เท่านั้นที่มิได้อภิเษกกับผู้ใด กาลเวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งเมื่อเทพรา สละราชสมบัติ พระองค์จึงแต่งตั้งให้เทพโอซิริสในฐานะโอรสองค์โตขึ้นครองราชย์เป็นองค์ฟาโรห์แห่งอียิปต์ต่อไป แต่เทพเซ็ธเป็นพระอนุชา มีความปรารถนาในการขึ้นครองราชย์แทนโอซิริส เซ็ธจึงวางแผนปลงพระชนม์พระเชษฐา โดยวิธีการสร้างหีบใบหนึ่งขึ้นมาซึ่งมีความงดงาม วิจิตรเป็นอย่างมากและถวายแด่โอซิริส แต่มีข้อแม้ว่าโอซิริสต้องเข้าไปนอนในหีบนี้ได้พอดี ความงามของหีบใบนั้นดึงดูด และสะกดใจองค์ฟาโรห์เป็นอย่างมากจนพระองค์รีบเสด็จก้าวเข้าไปโดยมิทันสงสัยในความผิดปกติ และทันทีที่โอซิริสก้าวเข้าไป เทพเซ็ทก็ปิดหีบและมัดอย่างแน่นหนาจากนั้นจึงนำหีบทิ้งลงแม่น้ำไนล์

หีบดังกล่าวลอยไปติดกับต้นทามาริสต์ (ทามาริสก์ใช้เป็นพุ่มไม้ประดับ เป็นสิ่งป้องกันลมและใช้เป็นร่มเงาบังแดด ในประเทศจีนมีโครงการปลูกทามาริสก์เพื่อทำให้พื้นที่เขตทะเลทรายเขียวชอุ่ม,ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก) และถูกกิ่งก้านของต้นไม้ห่อหุ้มจนมิดชิด ในเวลาต่อมา กษัตริย์แห่งนครไบบลอสได้นำต้นไม้ดังกล่าวไปทำเสาประดับในโถงพระโรง โดยมิทรงทราบว่ามีหีบศพอยู่ข้างใน

ฝ่ายไอซิสรับทราบการสวรรคตของสวามี ด้วยความรันทดและเสียพระทัยเป็นอย่างมาก นางจึงออกจากอียิปต์เพื่อค้นหาร่างของสวามี ระหว่างนั้นนางได้กำเนิดโอรสนามว่า ฮอรัส  เมื่อทราบว่าหีบศพอยู่ที่ไบบลอสนางได้ฝากโอรสไว้ที่เกาะแซมมิสและจำแลงร่างเป็นหญิงชราเข้าไปในวังของกษัตริย์ไบบลอสเพื่อถวายการดูแลโอรสของพระองค์ที่ทรงประชวรจนหายเป็นปกติ คืนวันหนึ่ง  ไอซิสได้ลอบเข้าไปในท้องพระโรงและร้องไห้กับเสาที่หีบศพอยู่ข้างใน ราชินีแห่งไบบลอสมาพบเข้าและรับทราบเรื่องราวทั้งหมด ด้วยความสงสารกษัตริย์และราชินีแห่งไบบลอส จึงมอบเสาต้นนั้นและหีบศพให้เทพีไอซิส พระนางนำหีบนั้นกลับอียิปต์และไปไว้ที่เกาะแซมมิส

“ข้าจะไม่ให้มันได้ตายอย่างสงบ” เทพเซ็ธ ประกาศเมื่อทราบเรื่อง จากนั้นพระองค์ได้เสด็จมายังแซมมิสและสับร่างไอซิริส ออกเป็น 14 ชิ้นทิ้งลงแม่น้ำไนล์  เทพีไอซิสและอนูบิสผู้เป็นหลานชายได้ช่วยกันเก็บร่างของโอซิริสขึ้นมาและทำเป็นมัมมี่เพื่อรอวันคืนชีพ เทพเซ็ธหลังจากจัดการกับร่างของโอซิริสแล้วก็ได้จำแลงกายเป็นแมงป่องลอบเข้าไปต่อยฮอรัสในที่บรรทมจนสิ้นพระชนม์

“โอ  ข้าแต่สุริยเทพ สวามีของข้าได้สิ้นไปแล้ว ไยต้อง พรากชีวิตโอรสของข้าด้วย” ไอซิสคร่ำครวญเมื่อทราบเรื่อง แต่ด้วยบุญญาธิการของฮอรัส จึงทำให้พระองค์คืนชีพอีกครั้งและยังความเคียดแค้นแก่เทพเซ็ทมาก “จงระวังไว้ให้ดีเมื่อใดที่มันเติบใหญ่ขึ้น  ข้าจะเอาชีวิตมัน” เซ็ธประกาศก้อง เมื่อฮอรัสเติบโตขึ้นด้วยการเลี้ยงดูของพระมารดาที่แซมมิส และได้รับการฝึกฝนการต่อสู้ การใช้อาวุธและเวทมนต์จากไอซิสและเทพฮามาคิสต์ผู้เป็นลุง เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ฮอรัสและฮามาคิสต์พร้อมเหล่านายทัพได้ยกไพร่พลมาชิงบัลลังก์คืนและล้างแค้นให้โอซิริส กองทัพของเซ็ธปะทะกับกองทัพของฮอรัสที่เอ็ดฟูริมแม่น้ำไนล์ และสงครามศึกสายเลือดก็เริ่มขึ้น

หลังจากต่อสู้ได้ไม่นานทหารของเซ็ธ ก็เริ่มล่าถอย ฮามาคิสต์ได้กลายร่างเป็นสฟิงซ์ยักษ์และตะปบเหล่าทหารศัตรูที่กำลังแตกพ่ายเอาไว้ได้ “วันเวลาของท่านกำลังจะจบลงแล้วเซ็ธ ” ฮอรัสประกาศก้องกลางสมรภูมิ แต่เซ็ธยังไม่ยอมแพ้ พระองค์กระโจนลงแม่น้ำไนล์และได้แปลงร่างเป็นฮิปโปโปเตมัสยักษ์เข้าเล่นงานฮอรัส เจ้าชายหนุ่มกระโดดขึ้นหลังของมัน และเสกฉมวกเหล็กยาวสามสิบฟุตแทงลงไปยังศรีษะฮิปโปทะลุผ่านสมองทำให้เทพเซ็ธสิ้นพระชนม์ทันทิ หลังจากนั้น ฮอรัสก็ขึ้นเป็นฟาโรห์ปกครองอียิปต์ พระนามของพระองค์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ของฟาโรห์ทุกพระองค์นับแต่นั้นมา

จากบทความจะเห็นได้ว่าชาวอียิปต์มีการนับถือบูชาเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheism) โดยเชื่อว่าธรรมชาติซึ่งบันดาลความสงบสุข ความดีงามหรือความหายนะให้แก่มนุษย์นั้น เกิดจากการกระทำของเทพเจ้าทั้งสิ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนบทความเองมองว่า เรื่องราวตำนานของเทพเจ้าอียิปต์นั้น สะท้อนเรื่องของการใช้ชีวิตของคนในสังคมยุคนั้นด้วยที่มีการอุทิศทั้งชีวิตแด่เทพเจ้าและไม่ใช่แค่มนุษย์ที่มีความขัดแย้งกัน แม้แต่เทพเจ้ายังมีความอิจฉาริษยากัน หรือนั่นแสดงให้เห็นว่าจิตใจของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลกมีอคติ 4 คือ รัก โลภ โกรธ หลงภายในจิตใจ อยู่ที่ใครจะสามารถจัดการกับสิ่งนั้นได้ อนึ่ง ตำนานสงครามเทพเจ้าอียิปต์นั้นยังสะท้อนให้เห็นจุดจบของคนที่ประพฤติปฏิบัติตนที่ไม่ดีอย่างชัดเจน หรือสุภาษิตที่ว่าไว้ว่า “ปลูกพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น” หรือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” อาจมีมานานนับพันปีก็เป็นได้


อ้างอิง

เซต (เทพ). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561, จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/

ตำนานศึกเทพเจ้าแห่งไอยคุปต์. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561, จาก : http://www.komkid.com/

แอดอาคาอินุ. (2558).  Gods of Egypt สงครามเทวดา [เรื่องย่อ/ตัวอย่างหนัง/ตัวละคร/โปสเตอร์/รีวิว]. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561, จาก : https://www.metalbridges.com/movie-gods-of-egypt/

ฮอรัส. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561, จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/

Varin the tale. (2559). ย้อนเวลาสู่ยุคเทพเจ้ารุ่งเรือง… สมัยอียิปต์โบราณ. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561, จาก :  http://pantae.com/content/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น