ดวงตา เป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการรับรู้ของมนุษย์ การได้ใช้ดวงตามองสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เป็นการใช้ประสาทสัมผัสอย่างหนึ่ง และเป็นความสุขที่ได้มองเห็นรูปร่าง สีสัน และความสวยงาม นอกจากนี้ มนุษย์ยังใช้ดวงตาในการเปิดโลก ทั้งโลกภายนอกและโลกแห่งการอ่าน หรือการหาความรู้จากหนังสือด้วย แต่สิ่งสวยงามเหล่านี้กลับเป็นเพียงแค่ความงามในความมืดในโลกของคนตาบอด แต่เขาผู้นี้ “หลุยส์ เบรลล์” คือผู้ให้แสงสว่างในความมืดมิดแก่ผู้พิการทางการมองเห็น
หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille)
หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1809 ณ หมู่บ้านกูแวร ประเทศฝรั่งเศส บิดาของหลุยส์ เป็นช่างทำอานม้า หลุยส์ชอบเข้าไปดูในเวลาที่พ่อทำงาน และมักจะซักถามและหยิบจับอุปกรณ์ขึ้นมาเล่นตามประสาของเด็ก และพ่อก็คอยเตือนและห้ามหลุยส์เล่นอุปกรณ์เหล่านี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะของมีคม ในวันหนึ่งหลุยส์ได้ลองเล่นดอกสว่านของพ่อ
แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อดอกสว่านหักทิ่มดวงตาข้างซ้ายของหลุยส์ แม้จะได้รับการรักษาแต่อาการของหลุยส์ก็ไม่ดีขึ้น หลังจากนั้นไม่นานดวงตาข้างขวาของหลุยส์เกิดอการติดเชื้อ ทำให้โลกของหลุยส์มืดสนิท และกลายเป็นเด็กชายตาบอดด้วยวัยเพียง 4 ขวบ หลุยส์เสียใจมากที่เขาไม่สามารถมองเห็นได้อย่างเมื่อก่อน และเขาไม่ต้องการที่จะมีชีวิตที่ลำบาก เนื่องจากในสมัยนั้น คนตาบอดเป็นผู้ที่น่ารังเกียจของผู้คนในสังคม มีชีวิตเร่ร่อน และไม่ได้รับการเหลียวแลจากใคร แต่หลุยส์โชคดีที่ยังมีครอบครัวที่อบอุ่นและพร้อมช่วยเหลือเขาเสมอ ทุกคนพยายามช่วยให้หลุยส์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ ช่วยเหลือตัวเอง ช่วยงานในบ้านบางอย่างได้ และหลุยส์ก็พยายามที่จะเรียนรู้และอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้เช่นกัน
เมื่ออายุได้ 10 ปี หลุยส์ได้เข้าเรียนในสถาบันเพื่อเยาวชนตาบอดแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่กรุงปารีส โดยเข้าเรียนตามคำแนะนำของบาทหลวงชาก ปาลลุย ผู้ที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในหมู่บ้าน เขาได้ถ่ายทอดวิชาความรู้หลายๆด้านให้กับหลุยส์ และหวังให้หลุยส์ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เมื่อได้เข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ หลุยส์ต้องปรับตัวในหลายเรื่อง แต่หลุยส์ก็มีเพื่อนที่คอยแนะนำและสอนการใช้ชีวิตในโรงเรียน
ในสมัยอดีต คนตาบอดจะอ่านหนังสือจากการใช้นิ้วสัมผัสตัวอักษรนูน แต่ตัวอักษรนูนนี้กลับอ่านยากไปสำหรับคนตาบอด กว่าจะสัมผัสตัวอักษรแต่ละตัวได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ใช้เวลานานกว่าจะอ่านหนังสือหนึ่งเล่มจบ และหนังสือในห้องสมุดของคนตาบอดก็มีเพียง 14 เล่มเท่านั้น หลุยส์จึงพยายามหาวิธีที่จะอ่านหนังสือได้ง่ายและเร็วขึ้น
ในปี ค.ศ. 1821 ร้อยเอกชาร์ล บาร์บีเย นายทหารแห่งกองทัพฝรั่งเศส ผู้คิดค้นอักษรไนต์ไรติงที่ใช้ทางการทหาร โดยมีวิธีเจาะรูบนกระดาษตั้งเป็น 2 แถว แถวละ 6 จุด รวมเป็น 12 จุด นายทหารผู้นี้ได้เข้ามาสอนในโรงเรียนคนตาบอด เมื่อหลุยส์ได้เรียนและลองใช้อักษรนี้ พบว่ายากต่อการเข้าใจและใช้ได้แค่ในประโยคสั้นๆ และไม่สามารถเขียนเป็นประโยคยาวๆได้ หลุยส์จึงเริ่มศึกษาและคิดหาวิธีใหม่ที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจและง่ายต่อการการประดิษฐ์อักษรเพื่อใช้ทำหนังสือ
หลุยส์ใช้ความพยายามอย่างมากในการคิดหาวิธีประดิษฐ์ตัวอักษรที่คนตาบอดสามาถรถเข้าใจง่ายกว่านี้ แม้ว่าเขาจะถูกบั่นทอนกำลังใจและเหลือความหวังอยู่เพียงน้อยนิด แต่เขาลองผิดลองถูกอยู่นานและก็ยังพยายามต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1824 หลุยส์คิดค้นอักษรจุดที่ใช้แทนตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 26 ตัว ด้วยจุดเพียง 6 จุดได้สำเร็จด้วยวัยเพียง 15 ปี และในภายหลังได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อักษรเบรลล์ (Braille)”
ตัวอย่างอักษรเบรลล์ คำว่า Premier
ที่มา: https://th.wikipedia.org/
หลุยส์ในวัย 30 ปียังคงพยายามสอนอักษรเบรลล์ให้กับนักเรียนและพยายามทำให้ผู้คนยอมรับอักษรเบรลให้ได้ แต่ในระหว่างนั้น สุขภาพของหลุยส์กำลังย่ำแย่ลงด้วยวัณโรคปอด จึงทำให้เขาต้องกลับไปพักฟื้นที่บ้านเกิด
ในปี ค.ศ. 1844 วันแห่งความสำเร็จก็มาถึง เมื่อหลุยส์ได้เปิดตัวอักษเบรลล์ในพิธีเปิดสถาบันเพื่อเยาวชนตาบอดแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ หลุยส์ปลื้มปิติกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ทุกคนได้รู้จักตัวอักษรเบรลล์ อักษรเบรลล์เป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคม เขาได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก นับว่าความตั้งใจและความพยายามของเขาที่อยากให้คนตาบอดได้อ่านหนังสือออก ได้เปิดโลกที่มืดมิดให้กลับมาสว่างอีกครั้งประสบความสำเร็จแล้ว
แม้หลุยส์จะทำให้คนตาบอดได้มีอักษรไว้ใช้และทำให้ผู้คนรู้จักกับอักษรเบรลล์ แต่ในบั้นปลายชีวิตของหลุยส์นั้น กลับไม่ได้สวยงาม หลุยส์ยังคงทำหนังสือ ทำงานอย่างหนักและต่อสู้กับความลำบากมาโดยตลอด จึงทำให้สุขภาพของเขาย่ำแย่และมีอาการทรุดลงอย่างต่อเนื่อง โรคร้ายได้กล่ำกลายชีวิตของเขา จนมาถึงวันสุดท้ายของชีวิต ในวันที่ 6 มกราคม ปี ค.ศ. 1852 หลุยส์สิ้นลมหายใจอย่างสงบด้วยวัยเพียง 43 ปีจากอาการป่วยโรควัณโรคปอด การเสียชีวิตของหลุยส์เป็นเรื่องที่น่าเศร้า มีเพียงญาติและเพื่อนสนิทไม่กี่คนที่ไปเคารพหลุมศพ หรือแม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังไม่มีการตีพิมพ์เรื่องการเสียชีวิตของหลุยส์
หลังจาก 100 ปีผ่านไป ในปี ค.ศ. 1952 มีหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับหลุยส์ และอักษร เบรลล์ของเขาก็กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจและเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก
ศพของหลุยส์ที่ฝังอยู่ในบ้านเกิด ถูกย้ายไปยังสุสานแห่งชาติปองเตอง สุสานสำหรับบุคคลสำคัญเท่านั้นที่จะได้รับการฝังศพ ณ ที่แห่งนี้ และในพีธีเคลื่อนย้ายศพในครั้งนั้น ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้เข้าร่วมขบวน พร้อมกับคนตาบอดมากมายที่มาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
จากเรื่องราวชีวิตของหลุยส์ เบรลล์ ทำให้เห็นว่า เขาเป็นบุคคลที่มีความหวังในชีวิตเสมอ แม้จะเป็นความหวังอันริบหรี่ แต่เขาไม่เคยหมดหวัง เขามีความตั้งใจและมีความพยายามอย่างมากในการที่จะทำให้คนตาบอดได้มีตัวอักษรอ่านและเขียน เขาเข้าใจความรู้สึกที่โลกมืดสนิทไม่มีแม้แต่แสงสว่างนี้ดี หากได้อ่านออกเขียนได้ย่อมทำให้ชีวิตพบกับโลกที่สว่างและกว้างใหญ่ อีกสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้หลยุส์ประสบความสำเร็จนั้น มาจากกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง และอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนของเขานั่นก็คือ คำพูดบั่นทอนจิตใจ แม้จะทำให้หลุยส์เสียใจและแทบหมดสิ้นหวัง แต่คำพูดเหล่านั้นกลับเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาประดิษฐ์อักษรเบรลล์จนประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่า ทุกความพยายามในทุกการกระทำมีความหมายเสมอ และผู้ชายตาบอดคนนี้ก็ได้กลายเป็นที่จดจำของคนตาบอดและผู้คนทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง
วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์. (2560). “หลุยส์ เบรลล์” เปลวไฟ…ในโลกมืด. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561, จาก : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/54731.html
สารคดีสุดยอด ผู้คิดค้นอักษรเบรลล์ Louis Braille หลุยส์ เบรลล์ [Video file]. สืบค้นเมื่วันที่ 27 กันยายน 2561, จาก : https://www.youtube.com/watch?reload=9&v=XfPDII0kSjA
Kang Minhee. (2555). Who? หลุยส์ เบรล (สุรางคนา เก่งสาริกิจ). กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น