มิกคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์สหภาพโซเวียต

โดย ฑิตยา ไชยศรีหา

หนึ่งในผู้นำที่โดดเด่นและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในรอบหกสิบปีที่ผ่านมา และเป็นผู้ที่ทำการปฏิรูปสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต หลังจากที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงมาก่อน บุคคลนั้นจะเป็นใครไม่ได้เลยนอกจาก “มิกคาอิล เชอร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ



มิกคาอิล เชอร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeevich Gorbachev) เกิดที่เมืองรีวอลโนเย ประเทศรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1931 อยู่ในครอบครัวของชาวยูเครน โดยในช่วงชีวิตวัยเด็กของเขาต้องเผชิญกับสงครามต่างๆ มากมาย ทำให้เขามีความเป็นอยู่ที่ลำบาก ไม่มีแม้แต่รองเท้าใส่ไปเรียน และครอบครัวเขาเองก็มีอาชีพเป็นเพียงชาวนาเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามครอบครัวของเขาก็พยายามให้เขาได้มีโอกาสเรียนหนังสือเช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ มิกคาอิล กอร์บาชอฟ จึงเป็นคนที่ขยัน อดทนและกตัญญู มีใจที่ตระหนักถึงความรักที่ครอบครัวมีให้ ถือเป็นเด็กที่ฉลาดอีกคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันจะเติบโตอย่างสวยงามเช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ แต่เขาก็มีนิสัยเจ้าคิดเจ้าแค้นฝังใจเกลียดสงครามที่ทำให้เขาและครอบครัวต้องมีชีวิตที่ยากลำบากและไม่อยากให้สงครามเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังสงครามในช่วงนั้นสิ้นสุดลง เขาก็ทำงานเป็นพนักงานประกอบรถแทรคเตอร์และควบคุมเครื่องจักรกล เขามีความมุ่งมานะ ขยัน และอดทน จนสามารถส่งตัวเองเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัย โดยเขาจบปริญญาทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโก ในปี ค.ศ. 1955  และในช่วงอายุเพียง 21 ปีขณะที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย เขาก็ได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก มีความก้าวหน้าทางด้านการงานอย่างรวดเร็วได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการกลางพรรค ให้เป็นเลขาธิการพรรคแรกของภูมิภาคสะตาฟโรโปล (Stavropol)

ต่อมาในปี ค.ศ. 1970 กอร์บาชอฟได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยผู้บริหารสูงสุดของ "สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต" และในปีต่อมาได้เป็นสมาชิกกรรมการกลางของพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรระหว่างปี ค.ศ.1980-1985 จนเมื่อ คอนสแตนติน เชอร์เนนโก้ (Konstantin Chernenko) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ได้เสียชีวิตลง เขาก็ได้ดำรงตำแหน่งแทน ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1985 - 1991 จนกระทั่งได้เป็น " ประธานคณะผู้บริหารสูงสุดแห่งสภาโซเวียต " (President of the Presidium of the Supreme Soviet) ในปี ค.ศ.1990 ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายของระบอบใหม่ ก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต



ในช่วงสมัยที่กอร์บาชอฟขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ถือเป็นการพลิกโฉมประวัติศาสตร์ของสหภาพโซเวียต และประเทศในแถบตะวันตกเลยก็ว่าได้ เพราะเขาได้ผลักดันนโยบายที่เป็นปัจจัยที่สำคัญในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปสังคม ซึ่งนโยบายนั้นได้แก่

1. นโยบายกลาสนอสต์ (Glasnost)  เป็นการให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น ยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ เพิ่มสิทธิเสรีภาพแก่สื่อและสิ่งพิมพ์ ยอมให้มีเสรีภาพทางวัฒนธรรม

2. นโยบายเปเรสทรอยกา (Perestroika) มีเป้าหมายหลักคือ การปฏิรูปและปรับปรุงโครงสร้างแบบเก่าให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์กับโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

จากนโยบายนี้เองทำให้เกิดผลกระทบตามมา ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องอิสรภาพจากการปกครองจากมอสโก โดยเฉพาะในสาธารณรัฐแถบทะเลบอลติก คือ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ที่ได้รวมกับสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี ค.ศ.1940 โดยโจเซฟ สตาลิน ทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมขึ้นและได้แพร่ขยายไปในสาธารณรัฐอื่นๆด้วย เช่น ยูเครน จอร์เจีย และอาเซอร์ไบจาน

อีกทั้งยังทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนและกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ต่อการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของกอร์บาชอฟนั้นลดน้อยถอยลง ประชาชนประชาชนไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูป จึงทำให้เกิดความไม่พอใจ และส่งผลให้เกิดการประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดปัญหา ขบวนการชาตินิยมเหล่านี้จึงเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลสหภาพโซเวียตจึงรีบยับยั้งความเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถต้านทานความเป็นชาตินิยมนี้ได้ ทำให้ต่อมาประเทศสาธารณรัฐริมฝั่งทะเลบอลติกสามารถประกาศเอกราชได้สำเร็จ


ภาพการก่อรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.1991
ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/

และสุดท้ายการล่มสลายของสหภาพโซเวียตก็มาถึง เมื่อกอร์บาชอฟมีนโยบายการต่างประเทศและกลาโหม เขาได้ทำการลดงบประมาณด้านการทหาร นำนโยบาย "การผ่อนความตึงเครียด" กลับมาใช้ใหม่ ลดอาวุธนิวเคลียร์กับฝ่ายตะวันตก พร้อมทั้งถอนทหารออกจากประเทศอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.1989 จนในที่สุดฝ่ายอนุรักษ์นิยมในกองทัพไม่เห็นด้วยจึงเกิดการรัฐประหารในเดือนสิงหาคม ในปี ค.ศ.1991 จากการประท้วงของประชาชนนำโดย "บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)" ซึ่งเขาก็รอดมาได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ในที่สุดเขาก็ถูกบังคับให้ลาออก หลังจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ก็ถูกยุบและสหภาพโซเวียตก็ล่มสลายอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน และนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 เป็นต้นมา เขาก็ได้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธินานาชาติเพื่อการศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ชื่อว่า "มูลนิธิกอร์บาชอฟ"


Gorbachev received Nobel Peace Prize
ที่มา : https://www.sbs.com.au/

ถึงอย่างไรก็ตาม จากการที่เขาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและ ปฏิรูปการเมืองให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้นในครั้งนั้น แม้จะส่งผลกระทบต่อสหภาพโซเวียตก่อให้เกิดวิกฤตขึ้นอย่างมาก แต่ก็ยังทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพใน ค.ศ.1990 ด้วยเช่นกัน

จากการผลักดันโยบายกลาสนอสต์และเปเรสทรอยกาที่เป็นปัจจัยที่สำคัญในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสังคมของผู้นำโซเวียตคนสุดท้ายอย่าง มิกคาอิล เชอร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ ถึงแม้จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดความรู้สึกชาตินิยมขึ้น จนทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายไปในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ และการเป็นผู้นำที่ดีของมิกคาอิล กอร์บาชอฟ ที่อยากให้ประชาชนทุกคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของตน ได้มีสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆมากขึ้น แม้จะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ซึ่งเขาเองก็เสียใจจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในครั้งนั้นเช่นกัน


อ้างอิง

ประทุมพร วัชรเสถียร. (2532). กลาสนอสท์ - เปเรสตรอยกา : กอร์บาชอฟปฏิรูป. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไพฑูรย์ วงศ์วานิช. (2528). มิคาอิล เชอร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.

สุชานัน สิทธิวรยศ. (2549). บาบาทของนโยบายกลานอสต์และเปเรสทรอยกาของนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ ที่มีผลต่อพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต. กรุงเทพฯ: รัสเซียศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สตีเฟน ออฟตินอสกี้. (2533). มิคาอิล เชอร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ ผู้เปลี่ยนแปลงโลก. (อุดมพงษ์ แปลและเรียบเรียง). กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แม่น้ำ.

The molussrcccp. (2555). 5 ยุคกอร์บาชอฟและการล่มสลาย. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2561. จาก: https://sites.google.com/site/themolussrcccp/home/5-yukh-kxr-ba-chxf-laea-kar-lm-slay

Tiew russia. (2554). รัสเซียหลายพันชุมนุมประท้วง. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2561. จาก: http://www.tiewrussia.com/thnews/index.php?name=news&file=readnews&id=896/

Wikipedia. (2561). มิคาอิล กอร์บาชอฟ. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2561. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/มีฮาอิล_กอร์บาชอฟ#รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น