ความงามบนความหลากหลายของ “วีนัส”

โดย จักรกฤษ์ วนาใส

คำว่า “วีนัส” นามทั่วไปซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นเทพีแห่งความงามและความรักโดยที่เทพีวีนัสหรืออะโฟรไดท์เป็นเทพปกรณัมกรีกและโรมันตามความเชื่อทางเทววิทยา แต่ในทางศิลปะวิทยาวีนัสมีความหมายและมุมมองแตกต่างออกไป กล่าวคือ “วีนัส” ในศิลปะยุคต้น ๆ เป็นได้ทั้งชื่องานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ความงาม ความสมบูรณ์ (เพศสรีระ) ของผู้หญิงในมิติที่ศิลปะถ่ายทอดออกมา รวมถึงการสะท้อนภาพความงามของศิลปะกับสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ในยุคต่าง ๆ ด้วย

“วีนัส” แน่นอนที่สุดต้องเป็นรูปผู้หญิง ซึ่งในงานศิลปะที่มีชื่อเกี่ยวกับวีนัสมีหลายชนิดและหลายความเชื่อแตกต่างไปตามสถานที่ รสนิยม และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมของการกำเนิดงานศิลปะในแต่ละสมัย อาทิ ประติมากรรมเกี่ยวกับวีนัส จิตรกรรมเกี่ยวกับวีนัส เป็นต้น

ศิลปะที่เกี่ยวกับวีนัสกับความเกี่ยวข้องในดินแดนอุษาคเนย์นั้น เป็นเรื่องที่สามารถวิเคราะห์ได้หลายรูปแบบ เนื่องจาก ศิลปะของวีนัสมีหลายรูปแบบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้แต่ละรูปแบบก็ยังมีชื่อที่หลากหลายตามแต่ละชิ้นงานอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนต้องการศึกษาวิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของวีนัสกับความคิดความเชื่อในดินแดนอุษาคเนย์ โดยเชื่อมโยงมิติต่าง ๆ ของศิลปะกับแนวคิดสังคมวิทยามานุษยวิทยาเข้าด้วยกัน

แนวคิดแรกจากศิลปะวีนัสที่ผู้เขียนวิเคราะห์คือ ศิลปะเพื่อความอุดมสมบูรณ์ โดยประติมากรรมศิลปะที่เป็นตัวอย่างได้ดีที่สุดคือ วีนัส แห่งวิลเลนดรอฟ (Venus of Willendorf) เป็นประติมากรรมในยุคหินเก่าตอนปลาย (24,000BC - 22,000BC) แกะสลักด้วยหินขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นรูปแกะสลักหินซึ่งนักโบราณคดีสมัยปัจจุบันเรียกชื่อรูปเหล่านี้ว่า “วีนัส” เนื่องจากเป็นประติมากรรมที่แสดงเพศหญิงอย่างชัดเจน และสรีระที่สมบูรณ์มาก


Venus of Willendorf

จากงานศิลปะแสดงให้เห็นถึงรสนิยมแนวความคิดของศิลปินได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน คือ ศรีษะไม่แสดงรายละเอียดของหู ตา จมูก แต่ทำเป็นเป็นปุ่มเล็ก ๆ แขนและขาลีบไม่ปรากฏเท้าและนิ้วเท้า เต้านมใหญ่ ท้องยื่นคล้ายกำลังตั้งครรภ์ แสดงอวัยวะเพศชัดเจน ซึ่งเชื่อว่ารูปเหล่านี้สร้างขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ (Fertility Rites) หรือ เพื่อขอบุตร (Fecundity) พบในออสเตรีย ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

จะเห็นได้ว่าช่วงสมัยของการประดิษฐ์งานนี้ขึ้นมา เป็นช่วงยุคหินในโซนยุโรป ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ดังนั้นความอบอุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต ฉะนั้นงานศิลปะที่ทำแบบภาพเสมือนจึงออกมาในรูปแบบที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต เป็นไปได้ว่าผู้หญิงสมัยยุคหินจะต้องมีน้ำหนักมากมีรูปร่างใหญ่ เพราะไขมันในร่างกายจะได้ให้ความอบอุ่นได้

นอกจากนี้ความอ้วนยังแฝงนัยของความอุดมสมบูรณ์ของเพศหญิงที่พร้อมในการมีบุตร แต่อย่างไรก็ตาม วีนัส แห่งวิลเลนดรอฟ น่าจะถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นรูปเคารพบูชาให้ดินแดนนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และ/หรือเพื่อการขอบุตร โดยใช้ “แม่” เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อความหมายก็เป็นได้ ซึ่งงานความเชื่อจากงานศิลปะนี้สามารถเทียบได้กับประติมากรรมรูปเทพีของชาวฮินดู (Goddess) สมัยอารยธรรมฮารัปปา (Harappan Civilization) ที่มีลักษณะเป็นหญิงอวบอ้วนเกี่ยวเนื่องกับลัทธิความอุดมสมบูรณ์ (Fertility cult) แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ในการสักการะบูชาในด้านความเชื่อของวีนัสที่ปรากฎบนงานศิลปะทั้งยุโรปและอินเดีย ทำให้ดินแดนในแถบอุษาคเนย์ที่รับเอาวัฒนธรรมส่วนใหญ่มาจากอินเดีย มีการมองความงามของศิลปะที่แสดงออกในด้านความอุดมสมบูรณ์ผ่านสรีระของเพศหญิงจึงปรากฎในดินแดนแถบนี้ด้วย

จะว่าไปแล้วไม่ว่าศิลปะต่าง ๆ จะถูกรังสรรค์ขึ้นจากส่วนใดของโลก ไม่ว่าชาติพันธุ์ใด ภาษาใด แต่ปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์มีเหมือนกัน อาทิเช่น เพศ ความสมบูรณ์ของทรัพยากรในการเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอด ย่อมมีเช่นเดียวกันทำให้ดินแดนในอุษาคเนย์มีความเชื่อต่อรสนิยมของวีนัส แห่งวิลเลนดรอฟของยุโรปผ่านอิทธิพลของอินเดียในรูปแบบของความงามกับความสมบูรณ์ได้ใกล้เคียงกัน
ประติมากรรมอีกหนึ่งชิ้นที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส คือ วีนัส เดอมิโล (Venus de Milo) เป็นประติมากรรมในยุคกรีกก่อนคริสตกาล (130BC – 100BC) สร้างขึ้นจากหินอ่อนมีขนาดสูง 6 ฟุต 10 นิ้ว มาเพื่อแทนความงามของเทพวีนัสและบ่งบอกถึงรสนิยมของผู้หญิงในอุดมคติของคนในยุคสมัยนั้น


Venus de Milo
ที่มา: https://medium.com/

เนื่องจากศิลปะชิ้นนี้อยู่ในสมัยเฮเลนิสติกของกรีก งานศิลปะแสดงออกถึงความเป็นมนุษยนิยมสูง และต้องการความเสมือนจริง งานปั้นและงานวาดเกี่ยวกับภาพเปลือยจะมีการศึกษาด้านกายวิภาคที่สมจริง ซึ่งถือว่านี่เป็นศิลปะเพื่อความงามตามความเป็นจริง แต่ในสังคมอุษาคเนย์นี้ความเชื่อหรือการแสดงออกของงานศิลปะในรูปเปลือยและกายวิภาคยังไม่เป็นที่นิยม ซึ่งทั้งดินแดนที่เป็นแม่แบบวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้อย่างอินเดียและจีนก็ยังไม่นิยมที่จะมีการผลิตงานศิลปะแบบภาพเปลือยที่มีความสมจริง เพราะเรื่องเพศในสังคมเอเชียเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่จึงไม่นิยมผลิตงานศิลปะที่แฝงรสนิยมเรื่องเพศมากนัก หากจะมีก็เพียงแต่เครื่องเพศซึ่งถือเป็นสิ่งเคารพ เช่น ศิวลึงค์หรือโยนีพระแม่อุมา แต่สองสิ่งที่กล่าวมาก็ถูกสร้างเพื่อเคารพไม่ใช่เพื่อความงามแบบวีนัส

รูปปั้นวีนัส เดอมิโลที่แขนหักนั้น มีความเชื่อหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งคือ เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่สวยมากจึงถูกแย่งชิงร่างจนทำให้แขนหัก แต่ประเด็นในด้านสังคมวิทยาผู้เขียนกลับมองว่าเป็นการกดทับในเรื่องเพศของสังคมตะวันตกที่ฝ่ายชายเป็นใหญ่สามารถนำผู้หญิงมาปรนเปรอความต้องการได้ หากแต่ในสังคมอุษาคเนย์ก่อนการเข้ามาของแนวคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่ (ปิตาธิปไตย Patriarchy) เพศหญิงกลับมีสถานะที่สูงกว่า

ดังนั้นในประเด็นข้างต้นจะเห็นได้ว่า วีนัสที่เป็นศิลปะในสมัยกรีก สื่อความหมายที่ผู้หญิงถูกมองได้ว่าความงามที่เสมือนจริงตามหลักกายวิภาคแต่แฝงด้วยนัยที่ถูกกดทับในเรื่องเพศ ซึ่งดินแดนในอุษาคเนย์ยังไม่มีงานศิลปะที่แฝงนัยที่กดทับเรื่องเพศหากแต่มองว่าเพศหญิงในอุษาคเนย์ก่อนการรับแนวคิดปิตาธิปไตยมีสถานะที่สูงกว่าผู้ชาย

จิตรกรรมรูปวีนัสต่อมาจะกล่าวโดยรวม คือ ภาพกำเนิดวีนัส (The Birth of Venus, 1482-1486) โดย Sandro Botticelli ชาวอิตาลี ปัจจุบันอยู่ที่ประเทศอิตาลี และ วีนัสบนกระจก (Venus at a Mirror, 1615) โดย Peter Paul Rubens ปัจจุบันอยู่ที่สาธารณรัฐลิกเตนสไตน์ ผู้เขียนมีความเห็นว่าจิตรกรรมทั้งสองนี้ มีความคล้ายและแตกต่างกันในหลายประเด็น โดยในประเด็นที่คล้ายกันจากศิลปะทั้งสองภาพ เกิดในช่วงสมัยเรอเนสซองซ์และหลังเรอเนสซองซ์ ทำให้ภาพที่ออกมามีการแสดงออกทางความคิดและอารมณ์ของจิตรกรได้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่ถูกกดทับจากศาสนจักร


The Birth of Venus, 1482-1486

นอกจากนี้สิ่งที่แสดงออกมาจากรูปกำเนิดวีนัสนั้นก็ยังแสดงถึงเรื่องเพศ กามรมณ์ของผู้หญิงที่แฝงด้วยตัณหาราคะ ที่แม้จะเป็นถึงเทพีแห่งความงามแต่ก็ใช้ความงามเป็นเครื่องแสดงความเร่าร้อนในเรื่องเพศต่อหมู่เทพของกรีกตามเทพปกรณัมของยุโรป ถือได้ว่าเป็นความงามกับกามรมณ์ ซึ่งใกล้เคียงกับแนวคิดความเชื่อเรื่องผู้หญิงกับความงามของคนในอุษาคเนย์ที่ได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากอินเดียที่ว่า ผู้หญิงมักหมกมุ่นแต่เรื่องโลกีย์และเป็นตัวขัดขวางให้ผู้ชายบรรลุนิพพาน

ส่วนภาพวีนัสบนกระจกนั้นมีความแตกต่างไปจากภาพแรก คือเป็นผู้หญิงที่มีหน้าตางดงามแต่สรีระอวบอ้วนซึ่งตรงกับรสนิยมความงามในการมองผู้หญิงของจีนสมัยราชวงศ์ถัง ที่มองว่าผู้หญิงรูปร่างอวบท้วม ใบหน้ากลมอวบอิ่ม อกใหญ่นั้นถือว่างดงาม จะเห็นได้ว่า ศิลปะเกี่ยวกับวีนัสนั้นได้แสดงออกมาถึงความเชื่อ แนวคิด รสนิยมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิง ความงาม ความสมบูรณ์ เป็นต้น ซึ่งความคิดความเชื่อนี้หลายประเด็นมีความใกล้เคียงกับแนวคิดของดินแดนแถบอุษาคเนย์ทั้งที่รับมาจากอินเดียและจีนก็ดี หรือแนวคิดดั้งเดิมของคนแถบนี้ก็ดี นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายแนวความคิดที่แตกต่างไปจากความคิดความเชื่อที่ได้มาจากวีนัสของทั้งสองดินแดน

อย่างไรก็ดีผู้เขียนได้วิเคราะห์สรุปแนวคิดต่าง ๆ ที่ได้จากศิลปะวีนัสซึ่งอาจจะมีประเด็นบางประเด็นที่ผู้เขียนยังไม่ได้มองถึงหรือมองไม่ถึงก็ตาม แต่สิ่งที่ได้จากวีนัสที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คงจะไม่พ้นคำว่า ความงามของศิลปะซึ่งในดินแดนทั้งสองส่วนที่มีความห่างในแง่พื้นที่ ชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นวิวัฒนาการของศิลปะในแต่ละช่วงสมัยที่ให้อารมณ์ความรู้สึกที่ ต่าง ๆ กัน แต่ความงามในตัววีนัสซึ่งแสดงถึงผู้หญิงที่มักมาพร้อมกับความสมบูรณ์ซึ่งแสดงออกมาจากเพศสรีระในงานศิลปะนั้น มีความคล้ายคลึงกันพอที่จะสามารถนำมาเปรียบเทียบในเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้

อ้างอิง

ปราณี วงษ์เทศ, เพศสถาวะในสุวรรณภูมิ (อุษาคเนย์) (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549), หน้า 5.

ธิบดี บัวคำศรี, เอกสารอัดสำเนา วิชา 01452112 อารยธรรมตะวันออก อารยธรรมอินเดีย (ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) หน้า 16.

กำจร สุนพงษ์ศรี, ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก 1 : ประวัติศาสตร์ศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะยุคโบราณ ศิลปะอียิปต์ ศิลปะเมโสโปเตเมีย ศิลปะกรีก ศิลปะโรมัน และศิลปะไบแซนทีน (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552)

Dr. Know, เรียบเรียง. สัตว์ประหลาดในเทพนิยายกรีก-โรมัน (กรุงเทพฯ: ยิปซีกรุ๊ฟ, 2551), หน้า 54-55.

H. Van Gulik, A Preliminary Survey of Chinese Sex and Society (Leiden, Netherlands, 1961) อ้างใน www.manager.co.th, 17 กันยายน 2561.

กิตติพงศ์ คำสัตย์.ศิลปะปฏิบัติ. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2561, จาก: http://portal.edu.chula.ac.th/cobee/blog/view.php?Bid=1245644252180283&msite=cobee 

ผู้หญิงความงาม. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2561, จาก: http://www.annefriday.com/index.php/openhouse/comments/annefriday_standard_the_taste/

Harappa Civilization. สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2561, จาก: http://www.indiaandindians.com/india_history/harappan_civilization.php

Selected Works. สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2561, จาก: http://www.louvre.fr/llv/activite/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น