ปัจจุบันโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะด้านการดำรงชีวิตของผู้คนที่มีเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ประชากรบนโลกมีความสะดวกสบายและทันสมัยมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าสงสัยและน่าสนใจก็คือ ปัจจุบันยังคงมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ใครหลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อมาก่อน ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่กับธรรมชาติโดยที่ไม่ได้สนใจต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเหนือในกลุ่มคนเหล่านั้นก็คือ ชนเผ่าฮิมบา (Himba)
ฮิมบา เป็นชนเผ่าเล็กๆในทวีปแอฟริกา อาศัยอยู่ในดินแดนแห้งแล้งทางตอนเหนือของประเทศนามิเบีย หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐนามิเบีย (Republic of Namibia) เป็นประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้ มีชนเผ่าฮิมบาอาศัยอยู่ตามแนวแม่น้ำคูเนเน (Kunene) ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายยาวไม่กี่แห่งในภูมิภาคนี้และเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างทางเหนือของประเทศนามิเบียและแองโกลา ชนเผ่าฮิมบามีประชากรประมาณ 30,000-50,000 คน จากประชากรทั้งหมด 2.6 ล้านคนในประเทศนามิเบียและมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ทำให้พวกเขาได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่ากึ่งเร่ร่อน อพยพตามฤดูกาลและตามแหล่งน้ำเป็นหลัก พวกเขามีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่กับธรรมชาติ ไม่มีไฟฟ้าและเทคโนโลยีใดๆใช้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะดูแตกต่างจากโลกปัจจุบันแต่พวกเขาค่อนข้างเป็นมิตรกับทุกคน เนื่องมาจากพื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัยนั้นได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกแห่งในนามิเบีย ทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจในวิถีชีวิตของพวกเขาและอยากรู้จักชนเผ่ากลุ่มนี้มากขึ้น
ลักษณะของชนเผ่าฮิมบา มีรูปร่างผอม บาง และสูง มีเนื้อตัวสีแดง มีการแต่งกายแบบ Topless หรือเปลือยกายส่วนบน ซึ่งส่วนล่างจะใช้หนังสัตว์ที่ขัดฟอกด้วยตนเองทำเป็นเสื้อผ้าสำหรับนุ่งห่มและมีทรงผมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆในทวีปแอฟริกา โดยมีการใช้วัสดุท้องถิ่นในการตกแต่งทรงผมที่เรียกว่า เอเรมเบ้ (การแต่งทรงผม) ซึ่งจะใช้ดินโคลนสีแดง เนยและขนแพะสำหรับถักผมเปียและทำทรงเดรดล็อก โดยแต่ละคนมีทรงผมที่แตกต่างกันตามเพศและช่วงอายุที่สามารถบ่งบอกสถานะทางสังคม คือ
เด็กเล็กๆ ชาวฮิมบาจะโกนศีรษะ แต่เมื่อโตขึ้น ผมจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย โดยเด็กผู้ชายจะมี 1 เปีย ปัดไปด้านหลัง แต่จะไม่ไว้เป็นทรงหางม้า ส่วนเด็กผู้หญิงจะมีถึง 1 -2 เปียด้านหน้า หรือบางทีอาจมีมากถึง 4 เปีย แต่หากเป็นเด็กหญิงฝาแฝดก็จะมีเพียงแค่คนละเปีย
เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่วัยสาว เปียผมจะเปลี่ยนไปเป็นทรงที่คล้ายกับทรงเดรดล็อก (Dread Lock) โดยนิยมนำผมมาปกปิดใบหน้าเพื่อซ่อนความเป็นสาวแรกแย้ม แต่หากเติบโตขึ้นจนถึงวัยที่สามารถออกเรือนหรือมีครอบครัวได้ ก็จะปัดเสยผมไปด้านหลังเพื่อเผยใบหน้าให้หนุ่มเผ่าเดียวกันได้เห็นอย่างชัดเจน หากเป็นหญิงที่แต่งงานไปแล้วมากกว่า 1 ปี หรือเป็นหญิงที่มีบุตรแล้ว จะสวมเครื่องประดับที่ทำจากหนังสัตว์ไว้บนศีรษะ ส่วนผู้ชายหากเป็นหนุ่มโสดจะมัดผมเปียชี้ไปทางด้านหลัง ประดับตกแต่งด้วยเส้นใยปาล์มย้อมสีหรือเศษผ้าสวยงามเท่าที่จะหาได้ และจะเปลี่ยนเป็นการโพกศีรษะด้วยผ้าคลุมผมเอาไว้ทั้งหมดก็ต่อเมื่อแต่งงานแล้ว และจะไม่ถอดผ้านั้นออกอีกต่อไป
ส่วนการดำรงชีวิตของชาวฮิมบานั้นยังคงใช้ชีวิตโดยอาศัยธรรมชาติเป็นหลักใช้ชีวิตที่สงบ เรียบง่าย นิยมเลี้ยงวัวและแพะ โดยมีแพะเป็นสัตว์เลี้ยงประจำเผ่า ส่วนด้านการเกษตรไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำสามารถปลูกพืชได้บางชนิดเท่านั้น เช่น ต้นข้าวโพด เป็นต้น และในสังคมของชาวฮิมบานั้นเพศหญิงต้องทำงานหนักมากกว่าเพศชาย โดยงานส่วนใหญ่ที่เป็นหน้าที่หลักของเพศหญิง คือ การไปตักน้ำเพื่อนำมาใช้สอยในหมู่บ้าน หาเก็บฟืน ทำอาหาร เลี้ยงลูก รวมถึงงานหัตถกรรม เช่น การทักทอเสื้อผ้า และเครื่องประดับ นอกจากนี้การรีดนมวัวและนมแพะก็ยังเป็นหน้าที่ของผู้หญิงอีกด้วย ส่วนเพศชายนั้นมีหน้าที่หลัก คือ เป็นหัวหน้าเผ่า ดูแลสัตว์และออกล่าสัตว์ที่มักจะต้องห่างไกลจากบ้านเป็นเวลานาน รวมถึงงานก่อสร้างที่เพศชายจะต้องเข้าเมืองเพื่อไปทำงานรับจ้าง
ที่มา : http://www.govivigo.com/reviews/
ที่อยู่อาศัยของคนที่นี้ทำมาจากดินโคลนแดง มีหลังคามุงที่ทำมาจากต้นจาก (พืชจำพวกปาล์ม) โดยบ้านแต่ละหลังสร้างเป็นกระท่อมขนาดเล็กเรียงกันในรูปครึ่งวงกลม มีบ้านหัวหน้าครอบครัวกับภรรยาคนแรกอยู่ตรงกลาง พื้นบ้านปูด้วยหนังวัวและใช้หมอนไม้สำหรับรองศีรษะตอนนอน ส่วนอาหารที่ชาวฮิมบารับประทานเป็นประจำ คือ โจ๊ก ซึ่งทำมาจากแป้ง โดยการต้มน้ำให้เดือดและใส่แป้งลงไป อาจเพิ่มน้ำมันและอาหารที่เสิร์ฟ เป็นอาหารที่ไม่มีรสชาติ เพราะชาวฮิมบาไม่รู้จักการใช้เกลือหรือน้ำตาล
ที่มา : http://wowjung.com/
จารีตและประเพณีที่สำคัญของชาวฮิมบา คือ การแต่งงานที่ยังคงเป็นแบบคลุมถุงชนและผู้ชายสามารถมีภรรยาได้มากกว่า 1 คน ในพิธีกรรมเจ้าสาวจะต้องกินเนื้อสัตว์ของฝ่ายชาย ซึ่งนั้นจะแปลว่าเขามีเลือดเนื้อของญาติฝ่ายชายอยู่ในตัวแล้ว หลังจากนั้นเจ้าสาวจะต้องย้ายไปอยู่บ้านของฝ่ายชาย และหลังจากการแต่งงานการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเป็นเรื่องจำเป็น ภรรยามีหน้าที่ทาบทามผู้หญิงอื่นที่สามีตนเองต้องการมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้หญิงคนนั้นจะต้องได้รับการยอมรับจากภรรยาด้วย
นอกจากนี้ชาวฮิมบายังมีความเชื่อเกี่ยวกับภูติผี ซึ่งพวกเขาเรียกว่า Mukuru พวกเขาสามารถสื่อสารกับภูติผีเหล่านั้นโดยผ่านไฟศักดิ์สิทธิ์ โดยบริเวณหน้าบ้านของแต่ละคนนั้นจะมีกองไฟกองเล็กๆ มีควันลอยออกมาเล็กน้อยเพื่อให้รู้ว่านี้คือกองไฟ ชนเผ่า Himba เชื่อว่าห้ามให้ไฟดับเด็ดขาด เพราะไฟนี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของครอบครัว บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัวห้ามเดินผ่านระหว่างกองไฟกับหน้ากระท่อมให้เดินอ้อมหลังกระท่อม
สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่าชนเผ่าฮิมบาเป็นชนเผ่าที่ยังคงดำรงชีวิตในแบบดั้งเดิมของตน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเหมือนในยุคปัจจุบัน พวกเขามีความผูกพันและมีวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งก็ทำให้พวกเขามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นของตนเองอย่างชัดเจน กลายเป็นชนเผ่าที่หาดูได้ยากในยุคศตวรรษที่ 21 แต่เนื่องจากโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาหลายๆด้านอย่างรวดเร็ว ทำให้พวกเขาต้องรู้จักปรับตัวและหาวิธีที่จะอยู่รอดในโลกปัจจุบัน โดยมีการอพยพเข้ามาในตัวเมืองเพื่อหารายได้มากขึ้น จนทำให้ชนเผ่ามีจำนวนประชากรลดลงและอาจจะหายสาปสูญไปในที่สุด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากว่าพวกเขาจะยังคงอยู่รอดในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร
อ้างอิง
wichada. (2559). รีวิว นามิเบีย(แอฟริกา)สัมผัสชีวิตชนเผ่าฮิมบา. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก :
http://www.govivigo.com/reviews/
จันทร์เคี้ยว. (2561). ฮิมบา บนสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก :
https://waymagazine.org/allway_himba/
ว้าวจัง. (2560). 5 ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเผ่า Himba ที่แอฟริกา. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก : http://wowjung.com/837/interesting-facts-about-the-himba/
ZoneGus LifeOnTheWorld. (2018,September 2018). 10 ชนพื้นเมืองที่หาดูได้ยากและกำลังจะหายสาปสูญไป. video posted to https://www.youtube.com/watch?v=tiiV_zr60Zc
admin. (2561). ประวัติ ชนเผ่า Himba ทางตอนเหนือของนามิเบีย. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2561, จาก :
http://www.histoire-afrique.org/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น