กิโมโน (Kimono) ชุดประจำชาติญี่ปุ่น

โดย  ฉัตราภรณ์  รูปขันธ์

เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของประเทศญี่ปุ่น หลายคนต้องนึกถึงชุดกิโมโน  ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติญี่ปุ่น  ที่แสดงถึงความเป็นญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี  ที่มีทั้งความงาม  และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างช้านาน แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักกิโมโนโดยเนื้อแท้  ที่ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอก  เพราะเครื่องแต่งกายประจำชาติที่มีมาตั้งแต่โบราณย่อมซ่อนความหมายและความสวยงามไว้


ภาพชุดกิโมโน  

กิโมโน หรือชุดแต่งกายของชาวอาทิตย์อุทัย  มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ สมัยเฮอัน หรือตรงกับ ค.ศ.794-1192 หรือ พ.ศ.1337-1735 ก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็น สมัยนารา (ค.ศ.710-794)  ชาวญี่ปุ่นนิยมแต่งชุดท่อนบนกับท่อนล่างเหมือนกันหรือไม่ก็เป็นผ้าชิ้นเดียวกันไปเลย

ต่อมาใน สมัยเฮอัน  (ค.ศ. 794 - 1192)  ซึ่งถือเป็นช่วงเริ่มต้นการใส่กิโมโน  ชาวญี่ปุ่นพัฒนาเทคนิคการตัดชุดเสื้อผ้าด้วยการตัดผ้าเป็นเส้นตรง  เพื่อให้ง่ายต่อการสวมใส่  หยิบมาคลุมตัวได้ทันที  ทั้งยังเป็นชุดที่เหมาะกับทุกสภาพอากาศ  สามารถเปลี่ยนเนื้อผ้าที่ตัดเย็บให้เหมาะกับฤดูกาล  ความสะดวกสบายนี้ทำให้ชุดกิโมโนแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว  โดยวงการแฟชั่นสมัยนั้น  ผู้ตัดเย็บก็จะคิดหาวิธีที่ทำให้ชุดกิโมโนมีสีสัน ผสมผสานกันด้วยสีต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและชนชั้นทางสังคมถือว่าเป็นช่วงที่ชุดพัฒนาในเรื่องสีมากที่สุด

ใน ยุคคามาคุระ (ค.ศ. 1338 - 1573) ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะนิยมใส่ชุดกิโมโนที่สีสันแสบทรวง ยิ่งเป็นนักรบจะต้องยิ่งใส่ชุดที่สีฉูดฉาดมากๆเพื่อแสดงถึงความเป็นผู้นำ

ต่อมาใน ยุคเอโดะ ( ค.ศ. 1600-1868 )  ช่วงที่โชกุนโตกูกาวาปกครองญี่ปุ่น โดยให้ขุนนางไปปกครองตามแคว้นต่างๆ นั้น ในช่วงนี้นักรบซามูไรแต่ละสำนักจะแต่งตัวแบ่งแยกตามกลุ่มของตนเอง เรียกว่าเป็น "ชุดเครื่องแบบ" โดยชุดที่ใส่นี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ชุดกิโมโน ชุดคามิชิโม ตัดเย็บด้วยผ้าลินินใส่คลุมชุดกิโมโนเพื่อให้ไหล่ดูตั้ง  และกางเกงขายาวที่ดูเหมือนกระโปรงแยกชิ้น ชุดกิโมโนของซามูไรจำเป็นต้องเนี้ยบมาก  ดังนั้น  จึงเป็นช่วงที่พัฒนากิโมโนไปอีกขั้น จนเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง

สมัยต่อมาใน ยุคเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912) ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากต่างชาติมากขึ้น ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนมาใส่ชุดสากลในชีวิตประจำวัน และจะใส่ชุดกิโมโนเมื่อถึงงานที่เป็นพิธีการเท่านั้น

กิโมโน (kimono)  ถ้าแปลตามตัวแล้ว  หมายถึง  เสื้อผ้า  ถือได้ว่าเป็นชุดประจำชาติของญี่ปุ่น สามารถสวมใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง  มีลักษณะพิเศษตรงที่ชายเสื้อจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  และมีผ้าแพรพันสะเอว (obi)  ต่างกับชุดที่เป็นเสื้อผ้าของตะวันตก (yofuku)  อย่างชัดเจน


ภาพชุดกิโมโน

กิโมโนประกอบด้วยเสื้อนางางิ  ซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อคลุมขนาดยาวที่มีแขนเสื้อที่มีความกว้างมาก  และมีสายโอบิ  ซึ่งใช้รัดเสื้อคลุมนี้ให้อยู่คงที่  ชุดกิโมโนทั้งของหญิงและชายเมื่อใส่แล้วจะพรางรูปร่างของผู้สวมใส่ไม่ให้เห็นสัดส่วนที่แท้จริง  ชุดกิโมโนของผู้หญิงโสดเป็นกิโมโนแขนยาว  ลวดลายที่นิยมคือลายดอกซากุระ กิโมโนของผู้หญิงแต่งงานแล้วจะเป็นกิโมโนแขนสั้นสีไม่ฉูดฉาดมาก


ภาพส่วนประกอบของชุดกิโมโน

นอกจากความงามที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว  ชุดกิโมโนยังมีความหมายและสัญลักษณ์ในตัวของมันอีกด้วย ทั้งสไตล์ สี และวัสดุที่ใช้ เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของผู้สวมใส่

สไตล์  ชุดกิโมโนแบบดั้งเดิมมีหลากหลายรูปแบบ  ซึ่งแต่ละแบบนั้นจะถูกกำหนดให้สวมใส่ตามสถานภาพและช่วงเวลา  เช่น ผู้หญิงที่ยังไม่ได้สมรสก็จะสวมกิโมโนแบบ Furisode  ซึ่งมีลักษณะแขนเสื้อยาว เป็นสีสัน และลวดลายที่ฉูดฉาด ในขณะที่เจ้าของร้านค้าผู้ชายจะสวมชุดที่มีเสื้อ Happi ทับ ซื่งมีลักษณะเป็นเสื้อคลุมตัวใหญ่สีครามหรือสีกรมท่า ความยาวของแขนเสื้อจะอยู่ที่ประมาณข้อศอกและด้านหลังจะสกรีนเป็นตราสัญลักษณ์หรือตัวอักษรใหญ่ๆ นิยมสวมใส่ในงานเทศกาลต่างๆ เหมือนกับเป็นเสื้อประจำกลุ่มเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คนได้สังเกตเห็นได้ง่าย

ลวดลาย  รูปแบบ  สัญลักษณ์  และการออกแบบ  ล้วนแต่เป็นการบอกถึงสถานะของผู้สวมใส่  ซึ่งสามารถบอกได้ถึงบุคลิกภาพ  รสนิยม  และความมีคุณธรรมได้  เช่น การทำลวดลายบนผืนผ้ากิโมโน  ก็มักจะได้แรงบันดาลมาจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้  ดอกไม้  และนก  เป็นต้น

สี  สีของชุดกิโมโนนั้นก็ถือว่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ Victoria & Albert ได้อธิบายว่า “สีที่ใช้ในการย้อมย่อมสะท้อนให้เห็นถึงวิญญาณของพืช ที่ถูกสกัด”

“คุณสมบัติของพืชแต่ละชนิด ก็จะช่วยรักษาอาการต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น สีครามที่ได้จากต้นฮ่อม ที่คนโบราณใช้รักษาแผลกัดต่อย ก็เชื่อว่าการสวมผ้าสีน้ำเงินนั้น สามารถเป็นยาขับไล่งูและแมลงได้”

วัสดุที่ใช้ทำกิโมโนทำจากผ้าเย็บและตกแต่งด้วยมือหลากหลายชนิด  ซึ่งในอดีตนั้นมักใช้ผ้าลินิน  ผ้าไหม และกัญชงเสียเป็นส่วนใหญ่ (กัญชง เป็นไม้ล้มลุกมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกัญชา จึงจัดอยู่ในพืชซึ่งให้ประโยชน์หลักทางด้านสิ่งทอเป็นสำคัญ) โดยในปัจจุบันวัสดุที่ใช้ทำกิโมโนจะเปลี่ยนมาเป็นการใช้ใยสังเคราะห์จากฝ้ายและโพลีเอสเตอร์แทน

แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจไม่น้อยที่ผ้าแบบโบราณกลับได้รับความนิยมมากกว่า  อาจเป็นเพราะความคลาสสิกและเนื้อผ้าที่นุ่มละมุนแบบดั้งเดิมนั่นเอง

จะเห็นว่า  นอกจากความงามที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ชุดกิโมโนยังมีความหมายและสัญลักษณ์ในตัวของมันอีกด้วย ยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้น  และแสดงถึงอัตลักษณ์ของผู้สวมใส่ด้วย  และในปัจจุบันก็ยังมีผู้ที่สนใจชุดกิโมโนอยู่จำนวนไม่น้อย  และผู้คนที่มาเยือนญี่ปุ่นต้องไม่พลาดที่จะสวมใส่ชุดกิโมโนสักครั้งหนึ่งในชีวิต  ชุดกิโมโนจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทั้งในเชิงศิลปะและวัฒนธรรมการแต่งกายที่ควรอนุรักษ์ไว้ต่อไป


อ้างอิง

การแต่งกายประเทศญี่ปุ่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ  21 กันยายน  2561, จาก : https://sites.google.com/site/pattarasuda236100/kar-ete-ngkay-prathes-yipun?tmpl=%2Fsystem%2Fapp%2Ftemplates%2Fprint%2F&showPrintDialog=1

กิโมโนชุดประจำชาติญี่ปุ่น.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ  21 กันยายน  2561, จาก: http://www.majortraveller.com/index.php?lite=article&qid=42184189

กิโมโนชุดประจำชาติญี่ปุ่นที่สง่างาม.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ  21 กันยายน  2561, จาก: https://www.gotoknow.org/posts/469978

ประวัติศาสตร์ชุด ‘กิโมโน’ อันเป็นเอกลักษณ์ และการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาสมัยนิยม.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อ  21 กันยายน  2561, จาก: https://www.catdumb.com/kimono-241/

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.กิโมโน.(ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ  21 กันยายน  2561, จาก  https://th.wikipedia.org/wiki/กิโมโน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น