กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า (Zapatista)

โดย กฤษณะ ทรัพย์แสนพูน

ซาปาติสต้า (Zapatista) หรือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า เป็นกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธอันมีฐานที่มั่นอยู่ในรัฐเชียปัส ซึ่งเป็นรัฐที่จนที่สุดในประเทศเม็กซิโก ซึ่งตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ขบวนการนี้ได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลเม็กซิโก โดยที่ฐานสังคมของกองทัพส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองแต่มีผู้สนับสนุนอื่นอยู่บ้างในเขตเมืองและจากนานาชาติโดยผ่านเว็บ

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า เป็นการก่อการขึ้นของภาคประชาสังคมที่ปฏิเสธต่อระบบหลักของเม็กซิโกและระบบทุนนิยมในหลายนัยยะด้วยกัน ขบวนการซาปาติสตาเป็นการก่อการของคนอินเดียนที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐทั้งในระบบการเมืองและระบบยุติธรรม เป็นการก่อการขึ้นในภาคชนบทและหัวเมืองในรัฐเชียร์ปัส ซึ่งเป็นที่ที่อยู่อาศัยของตน

ผู้นำขบวนการนี้คือรองผู้บัญชาการมาร์โกส (Marcos) ซึ่งรู้จักกันในอีกชื่อว่า (Delegate Zero) และเขาแตกต่างจากผู้บัญชาการซาปาติสตาคนอื่น ๆ ตรงที่รองผู้บัญชาการมาร์โกสไม่ใช่ชาวมายาพื้นเมือง กองทัพซาปาติสตานี้ได้ชื่อมาจากนายเอมีเลียโน ซาปาตา (Emiliano Zapata) นักปฏิรูปเกษตรกรรมและผู้บัญชาการของกองทัพปลดปล่อยชาวใต้แห่งชาติ (Liberation Army of the South) ในสมัยการปฏิวัติเม็กซิโก สมาชิกซาปาติสตามองว่าพวกตนเป็นทายาททางความคิดของซาปาตา และในหมู่บ้านซาปาติสตาจะมีภาพฝาผนังเป็นรูปของบุคคลสำคัญที่เป็นผู้จุดประกายอุดมการณ์ของกองทัพ เช่น ซาปาตา เช เกวารา และรองผู้บัญชาการมาร์โกส (Subcomandante Marcos)

กองทัพซาปาติสต้าได้หลุดออกจากระบบโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงทั้งการเมืองของรัฐบาลประเทศเม็กซิโกอย่างสิ้นเชิง อันเป็นการปกครองตนเองของชาวพื้นเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการไม่สามารถที่จะไปด้วยกันได้ของกระบวนการโลกทุนนิยมที่ในระดับรัฐ-ชาติ กำลังเร่งรัดต่อการสถาปนาข้อตกลงทางการค้าเสรีที่จะมีต่อกัน แต่ส่วนที่เป็นภายในของเม็กซิโกกลับถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังจากรัฐและระบบที่ตนเองดำรงอยู่ และกำลังจะถูกทิ้งขว้างจากกติกาใหม่ระหว่างรัฐที่กำลังจะสถาปนาขึ้นระหว่างกันของระบบโลกอีก

จุดยืนของกลุ่มซาปาติสตาคือการต่อต้านโลกาภิวัตน์หรือปฏิโลกาภิวัตน์ (anti-globalization) และการต่อต้านทุนนิยมหรือเสรีนิยมใหม่ (anti-neoliberalism) ระบบเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมโดยประธานาธิบดีเม็กซิกันหลายต่อหลายคนนับ จาก ค.ศ.1982 เป็นต้นมา ในขณะที่สำหรับการเมืองภายในกลุ่มชนพื้นเมืองของพวกเขา จุดยืนของซาปาติสตาคือการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในที่ดินที่พวกเขาอาศัยอยู่


แผนที่แสดงรัฐเชียปัส ฐานที่มั่นของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา

ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ The North American Free Trade Agreement (NAFTA) นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของนโยบายเสรีนิยมใหม่ การปฏิวัติซาปาติสตาเริ่มต้นขึ้นในปี 1994 พร้อม ๆ กันกับการผ่านข้อตกลงดังกล่าวเพราะกองกำลังซาปาติสตาเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะมาทำลายสิทธิของชุมชนพื้นเมืองต่างๆ ในเม็กซิโกให้ยากจนลง อุดมการณ์ของกลุ่มซาปาติสตาเป็นส่วนผสมของสังคมนิยมเสรี (libertarian socialism) การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเสรี (libertarian municipalism) มาร์กซิสต์เสรี (liberatian Marxism) และแนวคิดทางการเมืองแบบชนพื้นเมืองเผ่ามายา ซึ่งแท้จริงแล้วอุดมการณ์เหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับอุดมการณ์การต่อสู้ดั้งเดิมของเอมีเลียโน ซาปาตา ในด้านการปฏิรูปสังคมเกษตรแต่อย่างใด

กองกำลังซาปาติสตาเพื่อการปลดปล่อยประชาชาติประกาศที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของชนพื้นเมืองในฐานะที่เป็นหนทางของการแก้ปัญหาอันหนึ่งยิ่งไปกว่านั้น รองผู้บัญชาการมากอสเชื่อว่าการต่อสู้นั้นเป็นไปเพื่อสิทธิและความเป็นอิสระต่าง ๆ ของผู้คนชาวมายันเช่นเดียวกับความโปร่งใสของรัฐบาลโดยทั่วๆ ไป ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการถกเถียงกันถึงเรื่องการอพยพที่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา โดยการกระตุ้นและสนับสนุนพลเมืองเม็กซิกันให้หางานต่างๆ ทำได้ในประเทศของตนมากกว่าที่จะส่งออกแรงงานอันเนื่องมาจากการคอรัปชั่นของรัฐบาลและการรังควาญ

เหตุการณ์ที่สำคัญมากสุดบางอย่างในประวัติศาสตร์ของขบวนการซาปาติสตา เป็นวันที่ข้อตกลงนาฟตา (NAFTA) มีผลบังคับใช้เป้าหมายของกองทัพซาปาติสตาเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติไม่จำเป็นต้องเอาชนะรัฐบาลเม็กซิกัน แต่เพื่อเรียกร้องความสนใจจากโลกให้หันมามองเรื่องของการกระจายความมั่งคั่ง อันลักลั่นส่วนใหญ่ของเชียปา และเพื่อประท้วงการเซ็นสัญญาข้อตกลงนาฟตา ซึ่งกองกำลังซาปาติสตารู้สึกว่าได้ไปช่วยทำให้ช่องว่างระหว่างความรวยความจนถ่างกว้างมากยิ่งขึ้นในเชียปาส ขบวนการซาปาติสตาไม่ได้เรียกร้องความเป็นอิสระจากเม็กซิโก แต่ค่อนข้างต้องการที่จะปกครองตนเองมากกว่า โดยการเรียกร้องว่าทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกดึงเอาไปจากเชียปาส ต้องเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้คนของเชียปาส ยกตัวอย่างเช่น กว่า 90 เปอร์เซนต์ของน้ำที่เหมาะสำหรับดื่มกินมาจากเชียปาส กระนั้นก็ตามชุมชนจำนวนมากในเชียปาสกลับต้องทนทุกข์ เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ด้วยความอยุติธรรมเหล่านี้คือสิ่งที่กองกำลังซาปาติสตาต้องการที่จะกล่าวถึง

การปะทะกันด้วยอาวุธชั่วระยะเวลาสั้นๆ ในเชียปาส สิ้นสุดลงในวันที่ 12 มกราคม 1994 ด้วยการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวโดยกองกำลังซาปาติสตา และก็ไม่เคยมีการเผชิญหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบอีกเลยนับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลเม็กซิกันได้ดำเนินนโยบายสงครามแบบไม่รุนแรงแทนด้วยการใช้กองกำลังพลเรือน (para-military) เป็นกลุ่มๆ ในความพยายามที่จะควบคุมการกบฎ ขณะที่ซาปาติสตาได้พัฒนาการเคลื่อนไหวของตนและการรณรงค์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ Comunicados อยู่ตลอด เกี่ยวกับคำประกาศฉบับที่หกจากป่าลาคานดอน (Six Declarations of the Lacandon Jungle) ว่าจะไม่มีปฏิบัติการทางทหารอีกต่อไปในฝ่ายของพวกเขา การปรากฏขึ้นมาของอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ได้กระตุ้นการเป็นภาคีกับขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายซ้ายระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก



การพบปะกัน ระหว่างทวีปเพื่อมนุษยชาติและต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือที่เรียกว่า The Intercontinental Encounters for Humanity and against Neoliberalism ถือเป็นการประชุมนานาชาติในเชียปาสซึ่งเป็นเจ้าภาพโดยขบวนการซาปาติสตาในปี 1994 ซึ่งยังผลให้เกิดขบวนการกลุ่มซาปาติสตาอื่น ๆ ขึ้นมานอกเม็กซิโก รวมไปถึงซาปาติสตาเอสเส็กส์ตะวันตกในลอนดอนตะวันออกด้วย (the West Essex Zapatista in East London) รัฐบาลได้มีการเจรจากับกองทัพซาปาติสตา และได้บรรลุข้อตกลงในบันทึกซาน แอนเดรส (1996) โดยยินยอมให้มีการปกครองตนเองและสิทธิพิเศษแก่ประชากรพื้นเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี Zedillo และพรรคปฏิวัติ (the Institutional Revolutionary Party) (PRI), กลับเพิกเฉยต่อข้อตกลงดังกล่าว และยังได้เพิ่มกองกำลังทหารเข้าไปในท้องที่ด้วย รัฐบาลใหม่โดยการนำของประธานาธิบดี Fox ในปี 2001 กองกำลังซาปาติสตาได้เดินแถวเข้าไปยังเมือง Mexico City เพื่อเสนอเรื่องราวกรณีของพวกเขาต่อรัฐสภาเม็กซิกัน ข้อตกลง Watered-down agreements ได้ถูกปฏิเสธโดยฝ่ายกบฏต่าง ๆ ซึ่งได้มีการสร้างเขตปกครองอิสระขึ้นมา 32 แห่งในเชียปาส, ด้วยเหตุดังนั้นบางส่วนของข้อตกลงจึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ก็ได้ทุนมาสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ

ในเดือนกรกฎาคม ขบวนการซาปาติสตาได้นำเสนอประกาศฉบับที่หกของป่าลงคานดอน ในประกาศฉบับใหม่นี้ ซาปาติสตาเรียกร้องการรณรงค์ทางเลือกแห่งชาติ (หรือที่เรียกว่า "การรณรงค์บนเส้นทางอื่น" - the Other Campaign) ซึ่งตรงกันข้ามกันกับการรณรงค์ของประธานาธิบดีที่แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับทั่วไป บรรดาซาปาติสตาทั้งหลายได้เชื้อเชิญองค์กรฝ่ายซ้ายแห่งชาติต่าง ๆ จำนวน 600 องค์กรมายังพื้นที่อันเป็นเขตแดนของพวกเขา ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนพื้นเมืองและองค์กรเอกชนนอกภาครัฐต่าง ๆ (NGOs) เพื่อที่จะมาฟังแถลงการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งการประชุมได้สิ้นสุดลงในวันที่ 16 กันยายน อันเป็นวันที่เม็กซิโกมีการเฉลิมฉลองความเป็นอิสระจากสเปน ในการพบปะกันนี้ รองผู้บัญชาการมากอส เรียกร้ององค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมกันเป็นภาคีอย่างเป็นทางการต่อประกาศฉบับที่หก (the Six Declaration), และรายละเอียดของการเดินทางเป็นเวลา 6 เดือนของซาปาติสตาไปยัง 31 รัฐของเม็กซิกัน ซึ่งได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับการรณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม 2006



กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าไม่มีทางเอาชนะรัฐบาลเม็กซิกันในการสู้รบ แต่ในแง่ของ "สงครามถ้อยคำ" หรือ "สงครามความคิด" แล้ว ซาปาติสต้าได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นอาจเป็นเพราะพวกเขายึดหลักคำสอนของดอน อันโตเนียว หมอผีชาวเผ่ามายา ผู้เปรียบเสมือนพ่อบุญธรรมและอาจารย์ของรองผู้บัญชาการมาร์กอส ดอน อันโตเนียวฝากถ้อยคำไว้กับมาร์กอสว่า  "หากเจ้าไม่สามารถเลือกเหตุผลและกำลังได้พร้อมกันสองอย่าง จงเลือกเหตุผลก่อนเสมอ แล้วปล่อยให้ศัตรูเลือกกำลังไป ในบางสนามรบ พละกำลังเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ชัยชนะก็จริง แต่เหตุผลต่างหากที่จะทำให้เราได้ชัยชนะในการต่อสู้โดยรวม คนที่มีพละกำลังไม่มีทางค้นหาเหตุผลจากความแข็งแกร่งของตนเอง ในขณะที่เราสามารถค้นพบความแข็งแกร่งจากเหตุผลได้เสมอ"

กลุ่มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ต่อรองกับสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์แต่ละคนควรจะได้รับสิทธิในถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการเตรียมการขั้นพื้นฐานนี้ ไม่มีที่ดิน ไม่มีงาน ไม่มีหมอ ไม่มีอาหาร ไม่มีการศึกษา ไม่มีสิทธิที่จะเลือกตั้งผู้บริหารบ้านเมืองอย่างเสรีและตามหลักประชาธิปไตย ไร้อิสระเสรีจากการครอบงำของต่างชาติต้องอยู่อย่างปราศจากสันติภาพและความเป็นธรรม ทั้งแก่ตัวเราเองและลูกหลาน อธิปไตยของชาตินั้นโดยเนื้อหาและโดยดั้งเดิมแล้วอยู่กับประชาชน อำนาจทางการเมืองทั้งหลายเกิดขึ้นจากประชาชนและมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกโอกาส ประชาชนมีสิทธิอันไม่อาจเพิกถอนได้ในการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะของรัฐบาลของตนได้โดยต้องต่อสู้กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้นรวมทั้งวาทกรรมที่รัฐได้สร้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนสิทธิที่พวกเขาจะได้รับให้เกิดประโยชน์แก่รัฐศูนย์กลาง

เนื่องจากซาปาติสตากลายเป็นสัญลักษณ์ระดับโลกของการต่อต้านขัดขืนรูปแบบใหม่ เราจึงมักลืมไปว่า สงครามในเชียปัสไม่เคยยุติลงจริงๆ มาร์กอสนั้น แม้จะปิดบังตัวตนที่แท้จริงแต่เขาก็แสดงบทบาทท้าทายอย่างเปิดเผยในการเมืองของเม็กซิโก โดยเฉพาะในช่วงการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างดุเดือดเมื่อ ค.ศ.2006 แทนที่จะสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสายซ้ายกลาง อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ เขากลับนำขบวน "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" คู่ขนานกับการเลือกตั้งแทน โดยเรียกร้องให้หันมาสนใจประเด็นปัญหาที่ผู้สมัครทั้งหลายละเลยนับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา เกิดความรุนแรงขยายวงกว้างอย่างเห็นได้ชัดมีทั้งการข่มขู่โดยยิงปืนขึ้นฟ้า รุมทำร้ายทุบตีอย่างป่าเถื่อน และมีรายงานว่าครอบครัวชาวซาปาติสตาจำนวนมากถูกขู่ฆ่า ข่มขืนและหั่นเป็นชิ้นๆ อีกไม่นาน กองทหารในค่ายก็จะมีข้ออ้างให้เข้าไปฟื้นฟู "สันติภาพ"ระหว่างกลุ่มชาวพื้นเมืองที่ทะเลาะวิวาทกันเอง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ซาปาติสตาพยายามสงบนิ่งต่อความรุนแรงและเปิดโปงการยั่วยุต่าง ๆ นานา แต่เพราะการเลือกไม่ยอมหนุนหลังโลเปซ โอบราดอร์ในการเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 2006 ทำให้ขบวนการสร้างศัตรูที่ทรงอำนาจขึ้นมา

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1997 ครบรอบ 10 ปีพอดี ปฏิบัติการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านซาปาติสตา กองกำลังกึ่งทหารกลุ่มหนึ่งเปิดฉากยิงใส่โบสถ์เล็กๆ ในหมู่บ้านอัคเตอัล สังหารชาวพื้นเมืองไปถึง 45 คน ในจำนวนนี้มีเด็กและวัยรุ่นเสียชีวิต 16 คน บางศพถูกสับด้วยมีดมาเชตี ตำรวจของมลรัฐได้ยินเสียงปืน แต่ไม่ทำอะไรเลย ในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ หนังสือพิมพ์ในเม็กซิโกตีพิมพ์บทความจำนวนมากรำลึกถึงวาระครบรอบสิบปีของการสังหารหมู่ แต่ในรัฐเชียปัส ประชาชนจำนวนมากบอกว่า สถานการณ์ในวันนี้ให้ความรู้สึกคุ้นเคยอย่างน่าขนลุก ทั้งกองกำลังกึ่งทหาร ความตึงเครียดที่ทวีขึ้น ความเคลื่อนไหวลับๆ ล่อๆ ของกองทัพ การถูกโดดเดี่ยวอีกครั้งจากส่วนอื่น ๆ ของประเทศ พวกเขาส่งความวิงวอนขอร้องมาสู่ผู้คนที่เคยสนับสนุนพวกเขาในอดีต โปรดอย่ามองแต่อดีต โปรดมองไปข้างหน้าและช่วยป้องกันการสังหารหมู่อัคเตอัลครั้งใหม่ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น

เหตุการณ์และกระบวนการของกลุ่มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงขบวนการเคลื่อนไหวซาปาติสตานี้ว่าเป็น การปฏิวัติครั้งแรกในแบบโพสต์โมเดิร์น เนื่องจากซาปาติสตาเป็นกลุ่มปฏิวัติที่หลีกเลี่ยงการติดอาวุธมาตั้งแต่กองทัพรัฐบาลเม็กซิโกได้ปราบปรามการลุกฮือของพวกเขาด้วยกำลังในปี พ.ศ. 2537 กลุ่มซาปาติสตาหันมาใช้ยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบใหม่อย่างทันควันโดยดึงดูดการสนับสนุนจากชาวเม็กซิโกและกลุ่มสังคมนิยม-อนาธิปไตย (socialist-anarchist) จากนานาชาติ โดยที่พวกเขาใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และการระดมแรงสนับสนุนจากกลุ่มเอ็นจีโอ (NGOs) และกลุ่มนักต่อสู้เพื่อสังคมต่างๆ การเคลื่อนไหวของกลุ่มซาปาติสตานี้ยังได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์จากวงดนตรีเช่น Rage Against the Machine และ Leftöver Crack ผ่านเพลงของพวกเขา เช่น เพลง People of the Sun และยังหันมาใช้ความคิดที่เป็นภูมิปัญญาแทนการใช้กำลังเหมือนกองทัพอื่น ๆ เนื่องจากมีผู้นำอย่างมาร์กอส นักปฏิวัติผู้เชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชนที่คิดเองได้ทำเองเป็น ผู้แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีนั้นก่อรูปมาจากการปฏิบัติ สู้เพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรม และประชาธิปไตย


อ้างอิง

ภัควดี วีระภาสพงษ์. (2550).  ซาปาติสต้า:การปฏิวัติของวันพรุ่งนี้. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561, จาก:  http://oknation.nationtv.tv/blog/YPD/2007/05/08/entry-1

ภัควดี วีระภาสพงษ์. (2551). "ซาปาติสตา" บนเส้นด้าย : นาโอมี ไคลน์ รายงานจากซานคริสโตบัล สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2561, จาก:  https://prachatai.com/journal/2008/01/15461

อภิวัฒน์ วิลาวดีไกร. (2547). ซาปาติสต้า กองทัพปลดปล่อยแห่งเม็กซิโก. กลุ่มเพื่อนประชาชน.
(2551). ขบวนการซาปาติสตากับการก่อการขึ้นของอำนาจประชาชน. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561, จาก: http://oknation.nationtv.tv/blog/soontorn/2008/11/20/entry-1


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น