ย้อนยุคชุดฮันบก

โดย พรรษชล มณีทับ

“ฮันบก (한복)” ซึ่งหากแยกคำ “ฮัน” จะหมายถึง ชาวฮั่นหรือชาวเกาหลี และ “บก” หมายถึง ชุด ความหมายรวมจึงเป็น “ชุดของชาวเกาหลี”นั่นเอง ความงามและความอ่อนช้อยของวัฒนธรรมเกาหลี มักถูกถ่ายทอดออกมาผ่านทางภาพถ่ายของสุภาพสตรีในเครื่องแต่งกายฮันบกนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ชุด ฮันบกจะเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของประเทศเกาหลี

เครื่องแต่งกายทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย จะมีลักษณะหลวมเพื่อความสะดวกสบาย ในการเคลื่อนไหว และเสื้อผ้าจะใช้ผ้าผูกแทนกระดุมหรือตะขอ ในการผลิตชุดฮันบก มีประเภทเนื้อผ้าที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับโอกาสและวัยของ ผู้สวมใส่ โดยเด็กผู้หญิงหรือหญิงสาว (ที่ยังไม่แต่งงาน) จะสวมเสื้อสีเหลือง กระโปรงสีแดง และจะเปลี่ยนเป็นเสื้อสีเขียว กระโปรงสีแดงเมื่อแต่งงานแล้ว

นอกจากนี้ ชาวเกาหลียังคำนึงถึงความเหมาะสมของเนื้อผ้ากับสภาพ อากาศประเทศของตนอีกด้วย โดยในฤดูหนาวจะใช้ผ้าฝ้าย และสวมกางเกงขายาวที่มีสายรัดข้อเท้า ช่วยในการเก็บความร้อนของร่างกาย ส่วนในฤดูร้อนจะใช้ผ้าป่านลงแป้งแข็ง ซึ่งช่วยในการดูดซับและแผ่ระบายความร้อนในร่างกายได้ดี

ในปัจจุบันการสวมชุดประจำชาติฮันบก จะใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษต่างๆ เท่านั้น เช่น งานมงคลสมรส ซอลนัล (วันขึ้นปีใหม่ของเกาหลี) หรือวันชูซก (วันขอบคุณพระเจ้า) แต่อย่างไรก็ตามผู้คนบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้สูงอายุก็ยังคงสวมใส่ชุดฮันบกกันอยู่


การแต่งกายชุดฮันบกของผู้หญิงและผู้ชาย

จากเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ “ชุดฮันบก” เริ่มจาก "องค์หญิงโนกุก" (ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็น "สมเด็จพระราชินีโนกุกแทจาง") เป็นองค์หญิงจากมองโกลที่ถูกกำหนดให้อภิเษกกับองค์ชายวังคีแห่งโครยอ ภายใต้สนธิสัญญาสันติภาพของมองโกลราชวงศ์หยวน แม้ในตอนแรกทั้งสองจะอาศัยอยู่ที่ปักกิ่ง แต่ต่อมาองค์ชายวังคีก็ได้กลับมาขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าคงมินแห่งโครยอ และนี่..ทำให้อาณาจักรโครยอหรือเกาหลีในสมัยนั้นได้รับเอาเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวมองโกลเข้ามา เป็นบ่อเกิดที่สำคัญของรูปแบบชุดฮันบกในสมัยโชซอนต่อมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าองค์หญิงโนกุกจะเป็นองค์หญิงมองโกลแต่พระนางก็สนับสนุนโครยอและสามีของพระนางเสมอมา และหลังจากอภิเษกมา 15 ปี พระนางก็ได้ทรงพระครรภ์ แต่จากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการคลอดบุตรทำให้พระนางเสียชีวิตลงในปี 1365  อาณาจักรโชซอน (ค.ศ.1392-1910) ในช่วงนี้เป็นจุดหักเหที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงฮันบก แม้จะค่อยๆ มีการเปลี่ยนไปอย่างทีละเล็กละน้อยก็ตาม อย่างเสื้อชอกอรีของสตรีมีการทำให้สั้นลงและให้กระชับกับผู้สวมใส่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

เครื่องแต่งกายในสมัยโชซอนนอกเหนือจากที่มีการแบ่งรูปแบบของเครื่องแต่งกายตามวรรณะ ตามฐานะทางสังคม หรืออาชีพแล้ว ยังมีชุดที่เป็นเครื่องแบบที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่างๆในความเชื่อของลัทธิขงจื้ออีกด้วย เช่น ชุดในพิธีแต่งงาน ชุดสำหรับไว้ทุกข์ให้กับผู้ตาย และชุดในพิธีต่างๆ ของราชสำนัก


ที่มา: http://asiancastle.net/?p=63

ช่วงยุคปลายของอาณาจักรโชซอน เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น ผู้คนเริ่มมีการศึกษาเล่าเรียน มีความรู้ มีสติปัญญามากกว่าเมื่อก่อน ทำให้เริ่มไม่พอใจกับระบบขุนนางและเริ่มมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น ทำให้เริงโรมที่เป็นสถานที่ให้ความบันเทิงได้รับความนิยมมากของพวกขุนนาง และชายหนุ่มที่มีฐานะเข้าสังสรรค์ดื่มกินและสนทนาทางการเมืองกัน ในช่วงนี้เองสตรีในเริงโรม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “기생- (กีแซง)” มีการแข่งขันกันสูงเพื่อให้ตนมีชื่อเสียง และได้รับเลือกให้ปรนนิบัติขุนนางชั้นสูง ส่งผลให้ชุดฮันบกเริ่มมีการปักลวดลายให้สวยงามมากขึ้น

ประกอบกับเริ่มมีการเดินทางติดต่อค้าขาย และไปศึกษาหาความรู้ในต่างประเทศ รวมไปถึงการเข้ามาของพวกมิชชันนารี และทางการทูตกับเปอร์เซีย จีนและญี่ปุ่น ทำให้มีผ้าชนิดต่างๆ ที่มีลวดลายและสีสันสวยงามมาใช้ในการตัดเย็บชุดฮันบกมากขึ้น รวมถึงเครื่องประดับต่างๆที่เข้ามาจากต่างประเทศ ต่อมาเริ่มมีการใช้ผ้าสี และการปักลวดลายลงบนตัวชิ้นผ้า การแต่งกายเช่นนี้ได้เผยเห็นขนาดของหน้าอก และรูปร่างของสตรีมากขึ้น

แม้ในตอนแรกจะการปรับเปลี่ยนกันเฉพาะในกลุ่มของกีแซงก็ตาม แต่เมื่อสตรีอื่นได้พบเห็นเข้าบ่อยๆ ก็ได้ซึมซับเอาไปปฏิบัติ และด้วยอิทธิพลของงานศิลปะของต่างชาติที่เข้ามาก็ทำให้ชาวเมือง หรือช่างฝีมือชาวโชซอนได้รู้จักและเรียนรู้เพื่อทำและผลิตขึ้นใช้เองหรือขายเองในราคาที่ถูกกว่า ทำให้ผู้ที่ไม่ได้มีฐานะมากนัก ก็สามารถที่มีฮันบกและเครื่องประดับที่สวยงามมาสวมใส่ได้ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ได้นำเอาการปักลวดลายลงบนตัวผ้า และสีของผ้ามาใช้เพื่อบ่งบอกชนชั้นและตำแหน่งในแต่ละอาชีพ แต่ละแผนกงานในราชสำนักอีกด้วย

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา สตรีชนชั้นล่างหยุดการสวมใส่ “ฮอรีตี” ปิดบังหน้าอก แน่นอนว่าได้มีคำถามต่อๆกันมา ว่า “ทำไมสตรีกลุ่มนี้ถึงไม่ปิดบังหน้าอก?” ฮันฮีซุค ผู้ที่เขียนหนังสือ “Women’s Life during the Chosŏn Dynasty-ชีวิตของสตรีในช่วงราชวงศ์โชซอน" ได้กล่าวถึงสาเหตุไว้ว่า “ อีกหนึ่งที่เป็นหน้าที่ที่สำคัญของสตรีสามัญธรรมดาหรือสตรีที่เกิดในตระกูลชั้นล่าง ก็คือ การให้กำเนิดและเลี้ยงดูแลบุตรชาย นั่นเอง

โดยในสมัยนั้นถ้าสตรีผู้ใดให้กำเนิดบุตรชายถือเป็นเรื่องน่ายกย่องสรรเสริญมาก ซึ่งสตรีที่อยู่ในชนชั้นดังกล่าวนี้จึงพยายามสวมใส่รูปแบบการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่า ได้ให้กำเนิดบุตรชายหรือมีบุตรชายแล้ว เพราะสตรีในชนชั้นล่างที่ไม่มีความรู้หรืออาชีพฐานะทางสังคมใดๆ เลย มีเพียงการให้กำเนิดทายาทชายให้กับสามีเท่านั้น ที่ทำให้พวกเธอมีเกียรติ อันน่าภาคภูมิใจ และได้รับการยอมรับจากครอบครัวของสามีได้ ซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะ เผยให้เห็นหน้าอกของพวกเธอ การปฏิบัติดังกล่าวดูเหมือนจะจำกัดแค่เพียงเฉพาะสตรีชนชั้นธรรมดาสามัญหรือสตรีที่เกิดในตระกูลชั้นต่ำเท่านั้น ซึ่งมีการถือปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงในช่วงปลายปี 1950 ยุคล่าอาณานิคมของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1910–1945) และ สงครามเกาหลี (1950 -1953)

ต่อมาในช่วงยุคล่าอาณานิคมของญี่ปุ่น ผู้ที่มีฐานะ และอยู่ในชนชั้นสูงเริ่มมีความต้องการที่จะสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทันสมัยมากขึ้น จึงมีการออกแบบปรับสไตล์ของฮันบกใหม่มาใช้ โดยมีการจับคู่กระโปรงชีมาที่สั้นกว่าเมื่อก่อนสวมกับเสื้อชอกอรีสีขาว ในเวลาเดียวกันนั้นเองวัฒนธรรมของชาวตะวันตกได้เข้ามา บวกกับการติดต่อซื้อขายสินค้า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอื่นๆของชาวตะวันตกในเกาหลีสมัยนั้น ทำให้เกิดค่านิยมการแต่งกายแบบชาวตะวันตก ส่งผลให้การสวมใส่ฮันบกจากเดิมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงตามกระแสแฟชั่น และหันไปสวมใส่เครื่องแต่งกายแบบชาวตะวันตกกันมากขึ้น และการสวมใส่ฮันบกในชีวิตประจำวันก็ได้เริ่มเลือนหายไปในปี 1960 จะสวมใส่กันก็ต่อเมื่อเป็นวันเทศกาลหรือในโอกาสพิเศษ เช่น วันปีใหม่ งานแต่งงาน เป็นต้น

สำหรับผ้าที่นำมาใช้ตัดชุดฮันบกมีอยู่มากมายหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ผ้าป่าน ผ้าฝ้ายมัส ลิน ผ้าไหม ผ้าแพร โดยผู้สวมใส่จะเลือกใส่ชุดที่ตัดจากผ้าชนิดใดขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ฮันบกที่ใช้สำหรับแต่งกายในฤดูหนาวมักใช้ผ้าที่ทอจากฝ้าย และกางเกงขายาวมีสายรัดที่ข้อเท้าซึ่งช่วยในการเก็บความร้อนของร่างกาย ในขณะที่ช่วงฤดูร้อนจะใช้ผ้าป่านลงแป้งแข็งหรือผ้ารามีซึ่งช่วยในการซึมซับ และการแผ่กระจายของความร้อนในร่างกาย สีผ้าที่ถูกเลือกมาใช้ตัดชุดฮันบกส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว ซึ่งสื่อถึงความสะอาด ความบริสุทธิ์ แต่หากต้องการได้ชุดที่ดูหรูขึ้นมาอีกนิดสำหรับสวมใส่ไปงานสำคัญ ๆ ก็จะใช้ผ้าสีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีดำมาประกอบ

การแต่งกายด้วยชุดฮันบกไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องเป็นสีใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้สวมใส่เป็นหลัก หญิงสาวเกาหลีตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่จะมีชุดฮันบกเป็นของตนเองสำหรับใช้ใส่ในวันสำคัญต่าง ๆ โดยจะสังเกตได้ว่า ชุดฮันบกของหญิงสาวจะถูกออกแบบมาให้เป็นกระโปรงพองยาว และเสื้อตัวสั้น ทั้งนี้ก็เพื่อพรางรูปร่าง และปกปิดส่วนเว้าส่วนโค้งของผู้สวมใส่ไม่ให้เป็นที่ดึงดูดสายตาของเพศตรงข้าม


สตรีเกาหลีในเมืองปูซานในชุดฮันบก

ชุดฮันบกลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากมองโกล ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชุดฮันบก มีการรับเอาศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงรูปแบบของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อย่างเสื้อชอกอรีของสตรีที่มีการออกแบบให้มีสัดส่วนที่ต่างไปจากเดิม จุดสำคัญก็คือการปรับตัวเสื้อให้มีความยาวที่สั้นลง และแขนเสื้อที่ปรับให้แคบและเพิ่มให้มีความโค้งเล็กน้อย และที่สำคัญคือมี “옷고름 –โอซโกรึม” เพิ่มเข้ามาเพื่อใช้ผูกเสื้อให้ติดกันเป็นโบว์บริเวณเอว แทนการใช้แถบชิ้นผ้าหรือเส้นไหมที่คาดทับเสื้อชอกอรีที่เอวเหมือนเมื่อก่อน ฮันบกเคยถูกนำมาใช้เป็นชุดแต่งกายประจำวัน โดยผู้ชายสมัยก่อนจะสวมใส่ “ชอกอรี” (เสื้อนอกแบบเกาหลี) และ “พาจิ” (กางเกงขายาว) ขณะที่ผู้หญิงจะสวมใส่ “ชอกอรี” กับ “ชีมา” (กระโปรง) แต่ปัจจุบันนี้ชาวเกาหลีมักจะใส่ “ฮันบก” เฉพาะโอกาสที่มีการเฉลิมฉลองหรือวันสำคัญๆ เช่น วันแต่งงาน วันซอล ลัล(วันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ) หรือวันชูซก(วันขอบคุณพระเจ้า         


อ้างอิง

การแต่งกายชุดฮันบกของผู้หญิงและผู้ชาย. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2561. จาก: https://www.konest.com

ชุดฮันบก. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2561. จาก : https://www.wonderfulpackage.com/article

ชุดฮันบกกับการแต่งกายประจำชาติเกาหลี. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2561. จาก: http://group.wunjun.com

ชุดฮันบกสมัยเก่าของเกาหลี. สืบค้นเมื่อ22กันยายน2561.จาก: http://blog.naver.com/yoursun99/100087309170

สตรีเกาหลีในเมืองปูซานในชุดฮันบก. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561.  จาก : https://th.m.wikipedia.org/ฮันบก

ฮันบก. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561. จาก : https://th.m.wikipedia.org/wiki/ฮันบก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น