ซินเจียง-อุยกูร์ จีนที่ไม่ใช่จีน

โดย กฤษดา โศกดุล
                   
ดินแดนในโลกนี้ถ้ามองถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ประเพณีและวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นต้องมีประเทศจีนซึ่งถือเป็นประเทศขนาดใหญ่หลากหลายผู้คนอีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีอารยธรรมที่เก่าแก่ ทำให้แผ่นดินจีนตกเป็นจุดหมายปลายทางของนักสำรวจนักเดินทางรวมถึงนักผจญภัยหลายท่าน ที่จะต้องไปศึกษาในมิติต่างๆในดินแดนมังกรแห่งนี้ซักครั้งหนึ่ง วันนี้ผมจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับดินแดนแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองตนเองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีนมีประชากรทั้งชาวพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ร่วมกันราว 19 ล้านคน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทและทุรกันดารของจีน แต่ทำไมพื้นที่แห่งนี้ถึงมีความเป็นจีนแบบชาวจีนฮั่นซึ่งถือว่าเป็นประชากรหลักของจีนน้อยมากๆ วันนี้ผมจะพามาไขข้อสงสัยกัน ว่าดินแดนแห่งนี้ถึงไม่มีเอกลักษณ์แนวทางประเพณีและวัฒนธรรมเป็นจีนดั่งที่คนส่วนใหญ่ประจักษ์



ประวัติศาสตร์

“ซินเจียง” เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตใหญ่ที่สุดในเขตการปกครองของจีน ดินแดนแห่งนี้มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยเส้นทางสายไหมยังรุ่งโรจน์ ซินเจียงมีเมืองท่าหรือเมืองเอกที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยังเป็นอาณาจักรนั่นคือเมืองคัชการ์ ถือว่าเป็นจุดที่เชื่อมอารยธรรมตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน ทำให้เราเห็นความแตกต่างในหลายสิ่ง ที่ดินแดนแห่งนี้ดูต่างไปมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆของจีน ซินเจียงตั้งแต่ยุคแรกๆถือว่าเป็นเมืองที่มีอาณาจักรโบราณมาตั้งแต่ 2,000ปีก่อน โดยมีชาวอุยกูร์เป็นชาวพื้นเมือง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับชาวเตอร์ก (Turkic peoples) เหมือนกับประชากรส่วนใหญ่ในตุรกีอีกทั้งยังมีภาษาที่คล้ายคลึงกัน ถ้าอ้างตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วถือว่าชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนแห่งนี้ก่อนชาวฮั่นอีกด้วย และชาวอุยกูร์ยังได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะที่ตั้งอยู่ติดกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแทบทั้งสิ้น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหน้าต่างที่เปิดรับศาสนาอิสลามเข้ามารวมถึงอารยธรรมบางส่วนของกรีก-โรมันเข้ามาอีกด้วย ทำให้สภาพบ้านเรือน สังคม การแต่งกาย วิถีชีวิตและการกินออกไปทางตะวันออกกลางและยุโรปมากกว่า



การเข้ามาของรัฐบาลจีน

ดินของชาวอุยกูร์ซึ่งถือว่าเป็นประชากรหลักในเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์ที่ได้มีอารยธรรมมานาน ก่อนที่ดินแดนแถบนี้จะถูกขีดเส้นแบ่งเขตในยุครัฐชาติสมัยใหม่ไม่นานมานี้ทำให้วัฒนธรรมของดินแดนแห่งนี้ถูกตัดขาดออกจากวัฒนธรรมตะวันออกกลางอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลของอำนาจความมั่นคงของแต่ละประเทศที่ต้องการมีอิทธิพล เพื่อให้ชาติของตนมีพลังอำนาจจึงทำให้ดินแดนของชาวอุยกูร์ซึ่งเชื่อว่าเป็นดินแดนของบรรพบุรุษหรือ”สาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก” ถูกผนวกเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่โดยปริยาย

ดินแดนแถบนี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และรวมอำนาจไว้ที่กรุงปักกิ่งแต่ยังมีการปกครองแบบผ่อนปรน ซึ่งให้ชาวอุยกูร์ปกครองกันเองในระยะแรก พอถึงช่วงสมัยที่รัสเซียแข่งกับจีนเพื่อขยายอิทธิพลในตะวันออกกลางรวมถึงอังกฤษเริ่มแพร่ขยายอาณานิคมมาทางอินเดียยิ่งทำให้จีนแสดงแสงยานุภาพทางทหารถึงความเป็นเจ้าของซินเจียงมากขึ้น และรัฐบาลจีนก็ได้สร้างเมืองหลวงใหม่ให้เป็นเมืองเอกนั่นคือ “นครอุรมชี” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของซินเจียง ทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตในหลายด้านของชาวอุยกูร์ ตั้งแต่สมัยที่เหมาเจ๋อตุงเป็นประธานาธิบดีสมัยคอมมิวนิสต์และมีนโยบายปฎิวัติวัฒนธรรมซึ่งอุดมการณ์นี้มีผลกระทบต่ออความเชื่อทางด้านศาสนาสั่งให้มีการทำลายมัสยิดทำลายคัมภีร์ รวมถึงกลุ่มผู้นำที่รัฐบาลจีนส่งมาปกครองยังมีการปกครองแบบกดขี่ประชาชนและละเมิดสิทธิ์หลายด้าน เช่น สั่งให้ชาวอุยกูร์ทำแท้งเพื่อควบคุมประชากร ออกกฎหมายห้ามแต่งกายปกปิดหน้าตาจึงสร้างความไม่พอใจแก่ชาวอูยกูร์เป็นอย่างมาก



จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวอูยกูร์กับทางการจีนอยู่เป็นประจำ จนขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้รัฐบาลจีนมีการปราปรามอย่างหนักหน่วงแต่ผลก็ไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ จนกระทั่งปี 1933 ชาวอูยกูร์และชนกลุ่มน้อยก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อที่จะแยกตัวเป็นเอกราช ยิ่งทำให้รัฐบาลจีนเร่งเคลื่อนกองทัพเข้าควบคลุมซินเจียงมากขึ้น

ในปี 1983 รัฐบาลเริ่มเปลี่ยนแนวคิดใหม่โดยการยกเลิกกฏข้อห้ามที่เคยบัญญัติไว้เพื่อผ่อนปรนและให้เสรีภาพแก่ชาวอูยกูร์มากขึ้น มีการซ่อมบำรุงมัสยิดอีกครั้ง ให้เสรีทางด้านศาสนาอีกครั้งและรัฐบาลจีนยังผลักดันให้ชาวฮั่นเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจรวมถึงวัตถุประสงค์ด้านการเมืองเหมือนนโยบาย “กลืนชาติ” แต่ด้วยเหตุผลต่างๆ ก็ไม่ได้ทำให้ชาวอุยกูร์รู้สึกดีต่อรัฐบาลจีนเลยแถมยังมีการขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวจีนฮั่นกับชาวอูยกูร์ก่อเป็นสงครามกลางเมืองขึ้น
                                         
ปี ค.ศ.1949 รัฐบาลจีนได้สถาปนาซินเจียงเป็นเขตบริหารระดับมณฑลที่มีอำนาจปกครองตนเองอีกเขตหนึ่ง แต่อดีตจนถึงปัจจุบันชาวอุยกูร์ยังฝันว่าซักวันพวกเขาจะได้ปลดแอกจากจีน จึงทำให้มีกลุ่มชาวอุยกูร์พลัดถิ่นยังเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชจากจีนจนถึงปัจจุบัน และยังมีอีกกลุ่มที่ยอมพลีชีพใช้แนวทางสุดโต่งเพื่อทวงดินแดนแห่งนี้กลับสู่การปกครอง โดยอิสรภาพของพวกเขา ซึ่งคนกลุ่มนี้ถูกทางการจีนมองว่าเป็นกลุ่ม”หัวรุนแรง” เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

ทำไมจีนถึงไม่ยอมปล่อยซินเจียง

ซินเจียงคือดินแดนที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วโดยบริเวณแห่งนี้เคยเป็นเส้นทางสายไหมจากเอเชียสู่ยุโรป จึงทำให้มีความมั่งคั่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ ประกอบกับปัจจุบันพื้นที่ซินเจียงแห่งนี้ได้ซบเซาลงมากเมื่อเทียบกับอดีตจนกลายเป็นพื้นที่ยากจนของจีนเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยพื้นที่ที่ติดกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รัสเซีย และอินเดียจึงทำให้ซินเจียงยังคงสำคัญมากต่อยุทธศาสตร์จีนและความมั่นคงของชาติ อีกทั้งยังมีเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในจีนรวมถึงบริเวณแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยทะเลทรายที่แห้งแล้งมีภูเขาสูงแต่กลับเป็นแหล่งทรัพยากรหลักทั้งน้ำมันและแก๊ซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของจีนที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติเป็นอย่างมากทำให้ซินเจียงแห่งนี้ยังสำคัญกับมหาอำนาจอย่างจีนมากเลยทีเดียว


                                 
ซินเจียง-อุยกูร์ ปัจจุบัน 

ซินเจียง-อุยกูร์ในวันเวลาที่แปรเปลี่ยนไปกับหลายเหตุการณ์ทำให้ปัจจุบันในสังคมของชาวอูยกูร์มีการผสมผสานปรับเปลี่ยนไปบ้าง นับตั้งแต่นโยบายอพยบชาวฮั่นเข้าไปตั้งถิ่นฐานในซินเจียงพร้อมกับนำวัฒนธรรมและกฏเกณฑ์ต่างๆเข้าไปปรับใช้ เช่นทางการจีนบัญญัติกฎการเรียนภาษาจีนเข้าไปในหลักสูตรพื้นฐานแทนที่ภาษาอูยกูร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจที่เห็นผู้คนที่หน้าตาออกแนวตะวันออกกลางและยุโรปแต่สามารถพูดภาษาจีนกลางได้อย่างคล่องแคล่ว

ในด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่ชาวจีนฮั่นเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ในเมืองแต่ชาวอูยกูร์กลับประกอบธุรกิจเล็กและเกษตรกรรม เช่น ขายอาหาร ขายสมุนไพร เพาะปลูก ซึ่งมีฐานะค่อนข้างต่างกัน รวมถึงสิทธิ์ทางการศึกษารัฐบาลจีนจะให้สิทธิชาวฮั่นก่อนชาวอูยกูร์

ในด้านวิถีชีวิติความเป็นอยู่ โดยเราจะสามารถสังเกตได้ง่ายในตัวเมืองคือ ตึกสูง ซึ่งบ่งบอกถึงอำนาจของรัฐบาลจีนที่มีอิทธิพลเหนือชาวพื้นเมืองอย่างชัดเจนและรัฐบาลจีนยังใช้ตัวอักษรจีนเข้าไปผสมกับตัวอักษรออร์กอน ซึ่งเป็นตัวอักษรของชาวอูยกูร์ แต่สังคมชาวอูยกูร์ถือว่ายังรักษาประเพณีวัฒนธรรมไว้อย่างแนบแน่นถึงแม้รัฐบาลจีนจะพยายามทำให้กลายเป็นแบบเดียวกับชาวฮั่นก็ตาม แต่ชาวอูยกูร์ก็ยังใช้

ตัวกลางผ่านศาสนาอิสลามในการรวมกลุ่มพบปะกันทางสังคมซึ่งทำให้ประเพณีของชาวอูยกูร์ยังแข็งแกร่งดั่งเดิม ซึ่งชาวอูยกูร์ส่วนใหญ่ก็ยังจะร่วมกิจกรรมต่างๆแต่ในกลุ่มของตน อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ยังทำให้วัฒนธรรมประเพณีของบรรพบุรุษยังคงเหลือ เหมือนดั่งคุณได้ไปเยือนแล้วคุณจะไม่เชื่อว่าคุณกำลังอยู่ในแผ่นดินจีน


อ้างอิง

คม ชัด ลึก.(2560).ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์'อุยกูร์-ฮั่น'.สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2561.จาก: http://www.komchadluek.net/news/scoop/209845

ประชาไทย.(2015).ความเป็นมาของชาวอุยกูร์.สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2561.จาก: https://prachatai.com/journal/2015/07/60380

มุสลิมไทยโพสต์.(2558).ความขัดแย้งชาวอูยกูร์ในซินเจียง มีความเป็นมาเช่นไร?.สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2561.จาก: http://news.muslimthaipost.com/news/24539

วิกิพีเดีย.(มปป).เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์.สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561.จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/

BBC.(2017).จีนห้ามมุสลิมในซินเจียงไว้เครายาว-คลุมหน้า.สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2561.จาก: https://www.bbc.com/thai/international-39465278

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น