คัมภีร์มรณะ (Book of the Death) เป็นความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณที่เชื่อกันว่าเป็นใบเบิกทางที่จะนำดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่ดินแดนอันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า “รา” เป็นการสอนวิธีการเอาตัวรอดหรือเอาชนะอันตรายที่จะต้องเผชิญในชีวิตหลังความตายให้กับวิญญาณทั้งหลาย รวมทั้งจะปกป้องและช่วยเหลือผู้ตายในปรโลกอีกด้วย
ที่มา : https://qph.fs.quoracdn.net/
ซึ่งแต่เดิมคัมภีร์มรณะมีชื่อเรียกเป็นภาษาเฮียโรกลิฟฟิกว่า The Cahptors of Coming-Forth-By-Day และในปี ค.ศ. 1842 Thomas G. Allen ผู้แปลภาษาอียิปต์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ได้ให้ความหมายของคัมภีร์มรณะว่า เป็นความปรารถนาที่จะเดินทางไปยังยมโลก (เอกชัย จันทรา, 2554 : 135)
คัมภีร์มรณะเกิดจากแนวความคิดที่ปรากฏอยู่ในภาพเขียนและจารึกบนหลุมฝังศพในพีระมิดในยุคอาณาจักรเก่า ซึ่งพีระมิดเท็กซ์หรือข้อความที่จารึกลงบนฝาผนังห้องเก็บพระศพภายในพีระมิดก็จะใช้สำหรับผู้ตายที่เป็นองค์ฟาโรห์ พระราชินี พระสนม ตลอดจนเชื้อพระวงศ์ ส่วนคอฟฟินเท็กซ์ จะใช้เก็บศพของบุคคลธรรมดาสามัญ แต่ต่อมาในระยะหลัง ๆ ขนาดของโลงศพเริ่มเล็กลงเรื่อย ๆ จนมาถึงสมัยราชอาณาจักรใหม่ก็มักจะทำโลงศพให้มีขนาดพอดีกับร่างของมัมมี่ ส่งผลให้ไม่มีพื้นที่ที่จะจารึกข้อความอันยาวเหยียดทั้งหมดลงไปได้ดังเช่นในสมัยก่อน ๆ จึงทำให้มีการประดิษฐ์คัมภีร์มรณะขึ้นมาใช้และทำให้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา (วีณา รุธิรพงศ์, 2544 : 101)
ภายในคัมภีร์มรณะประกอบไปด้วยคาถาอาคม เวทมนตร์ บทสวด และพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ถูกเขียนขึ้นโดยพระหรือนักบวช จารึกลงในกระดาษปาปิรัส ถูกบันทึกด้วยตัวอักษรสีดำและใช้ตัวอักษรสีแดงสำหรับบันทึกหัวข้อหรือคำสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งมีการวาดรูปภาพประกอบไว้อีกด้วย คัมภีร์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยนำพาผู้ตายให้เดินทางไปยังดินแดนแห่งโลกหลังความตายได้อย่างปลอดภัย เป็นบทสวดที่ป้องกันมิให้วิญญาณของผู้ตายเสื่อมสลาย เพื่อเป็นการปลดปล่อยดวงวิญญาณที่ถูกคุมขังไว้ในยมโลก บรรยายถึงบรรยากาศของการตัดสินชะตากรรมของดวงวิญญาณต่อหน้าเทพโอซิริสในยมโลก รวมทั้งวิธีปฏิบัติตนและคำกล่าวที่วิญญาณควรกล่าวขณะอยู่ต่อหน้าเทพโอซิริส โดยจะแบ่งเป็นบท ๆ ซึ่งในแต่ละบทก็จะมีตัวเลขกำกับไว้
ภายหลังคัมภีร์มรณะกลายมาเป็นอุตสาหกรรม เป็นการผลิตเพื่อขาย เพราะ ชาวอียิปต์เชื่อว่า เวทมนตร์เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและขาดไม่ได้ เนื่องด้วยเทพเจ้าโอซิริสให้ความสำคัญกับการตัดสินชีวิตหลังความตายเป็นอย่างมาก ทำให้ปริมาณความต้องการเป็นเจ้าของคัมภีร์มรณะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ สินค้าที่ผลิตขึ้นมาก็จะมีคุณภาพและราคาที่แตกต่างกันไป คัมภีร์ที่มีราคาสูงอาจมีความยาวกว่าเก้าสิบฟุต มีภาพประกอบสีสันสวยงาม มีบทสวด คาถาอาคมต่าง ๆ กว่าหนึ่งร้อยบท แต่ถ้าหากเป็นราคาที่ถูกลงมาก็จะมีข้อความคาถาสั้นลงหรือไม่มีภาพประกอบ เป็นต้น
ตำแหน่งการวางของคัมภีร์มรณะ จะวางไว้ระหว่างขาของมัมมี่หรืออาจวางไว้บนฐานของหุ่นผู้ตาย ซึ่งอาจจะเป็นรูปแกะสลักหรือรูปปั้นที่ฝังอยู่ในสุสาน ซึ่งการสร้างหุ่นไว้ในสุสานมีสาเหตุมาจากความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณที่ว่า วีณา รุธิรพงศ์ (2544) หลังจากที่วิญญาณหลุดออกจากร่างแล้ว จะมี “บา” (Ba) มาเยี่ยมเยียนภายในสุสาน ซึ่งสามารถพบรูปบาตามภาพวาดบนฝาผนัง “บา” จะมาในรูปแบบของนกที่มีหัวของผู้ตายบินว่อนไปมาตามผนัง รอมาสมทบกับดวงวิญญาณเพื่อรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
นอกจากนี้ยังมี “กา” (Ka) ที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน กาจะต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างของศพ จึงทำให้คนนิยมทำมัมมี่และหุ่นไว้ในสุสาน และจะพบคัมภีร์มรณะวางไว้ที่ฐานของหุ่นผู้ตาย นอกจากนี้ยังกลัวว่าหากมัมมี่ถูกทำลายไป “กา” อาจจะจำร่างของตนเองไม่ได้ จึงใช้หุ่นเป็นที่สิงสถิตแทน เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าผิดร่างนั่นเอง รวมทั้งเป็นการรักษาร่างของศพเอาไว้จนกว่าจะได้รวมกับวิญญาณในวันที่ดวงวิญญาณเดินทางกลับจากยมโลก เพื่อรอคอยการฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่งในโลกมนุษย์อีกด้วย
ชาวอียิปต์โบราณเชื่อกันว่า หลังจากที่ตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะมีเทพอานูบิสมารับดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่ยมโลก โดยจะพานั่งเรือของเทพแห่งดวงดวงอาทิตย์หรือเทพเจ้ารา (Ra) ไปยังมหาวิหารพิพากษาเทพโอซิริส หลังจากนั้นวิญญาณของผู้ตายก็ต้องเข้าไปยังห้องพิพากษาของวิญญาณ ในห้องนี้จะมีเครื่องชั่งใหญ่แบบใช้จานสองใบตั้งอยู่ โดยจะมีเทพฮอรัส (ร่างเป็นมนุษย์ หัวเป็นหยี่ยว) และเทพอานูบิส (ร่างเป็นมนุษย์ หัวเป็นสุนัข) ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลเครื่องชั่งเอง ซึ่งเครื่องชั่งนี้จะเป็นเครื่องตรวจวัดความดีความชั่วของวิญญาณที่เคยกระทำมาเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังมี เทพธอท (God Thoth) เป็นผู้จดบันทึก มีมะอาท (Maat) คอยตรวจสอบความยุติธรรมอยู่ใกล้ ๆ มีเทพโอซิริส เป็นประธาน มีเทพเจ้าอีก 42 องค์รายล้อมอยู่
การพิสูจน์ความดีความชั่วของวิญญาณนั้นสามารถทำได้ โดยการควักหัวใจของผู้ตายออกมาแล้วนำมาวางบนข้างหนึ่งของตราชั่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นขนนกของเทพีมะอาท (Maat) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม เอกชัย จันทรา (2554) หลังจากนั้นผู้ตายจะต้องประกาศความดีที่ตนเคยทำมา รวมทั้งประกาศว่าตนไม่เคยกระทำความผิด 42 ประการ เช่น ไม่เคยชักชวนให้ผู้อื่นเสียคน ไม่เคยใส่ร้ายป้ายสีใคร ไม่เคยกล่าวคำเท็จ ไม่เคยเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งผู้ตายจะต้องกล่าวสิ่งเหล่านี้ต่อหน้าเทพเจ้าโอซิริส
หากสิ่งที่ผู้ตายพูดเป็นความจริง ขนนกของเทพีมะอาทจะหนักกว่าหัวใจของผู้ตาย นั่นหมายถึง การที่ผู้ตายผ่านบททดสอบแล้วและจะได้เข้าไปอยู่ดินแดนของเทพเจ้ารา เป็นดินแดนแห่งแสงสว่าง ความอุดมสมบูรณ์ และงดงามชั่วนิจนิรันดร์
แต่ถ้าหากสิ่งที่ผู้ตายกล่าวออกมานั้นเป็นเท็จ หัวใจก็จะหนักกว่าขนนก นั่นหมายถึงว่า วิญญาณไม่ผ่านการทดสอบ และยังหมายความว่าผู้ตายจะตกไปอยู่ในดินแดนแห่งความอดอยาก ยากไร้ และหิวโหย จะไม่ได้รับแสงสว่างจากเทพเจ้าราอีกเลย ซึ่งหลังจากนั้นก็ต้องเป็นหน้าที่ของเหล่าเทพทั้ง 42 องค์ ทำการซักถามผู้ตาย วีณา รุธิรพงศ์ (2544) กล่าวว่า ในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ ในคัมภีร์มรณะมีบทบาทแนะนำ คือ ต้องปฏิเสธอย่างเดียว พยายามปากแข็ง เพื่อทำให้ตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าเทพเจ้าจะเชื่อ
หลังจากนั้นผู้ตายต้องบอกชื่อลับและประวัติของเทพเจ้าทั้ง 42 องค์ ให้ถูกต้อง ซึ่งในคัมภีร์มรณะเขียนไว้ชัดเจน เพราะเชื่อว่า การที่สามารถล่วงรู้ในสิ่งเหล่านี้ได้ย่อมยืนยันว่ารู้จริง หลังจากผ่านการทดสอบนี้ไปแล้ว เทพฮอรัสก็จะนำผู้ตายไปอยู่ต่อหน้าเทพเจ้าโอซิริส ซึ่งถือเป็นผู้ตัดสินชะตาชีวิตของผู้ตายว่าจะต้องไปอยู่ ณ ที่แห่งใดแต่ก็ต้องถามวิญญาณก่อนว่าอยากจะเกิดเป็นมนุษย์อยู่อีกหรือไม่ หากไม่ต้องการเป็นมนุษย์อีกก็จะให้ไปอยู่ในทุ่งเอลิเซียน ซึ่งในคัมภีร์มรณะกล่าวว่าจะได้พบกับความสุขสบายตลอดไป แต่ถ้าหากยังเป็นมนุษย์ต่อไป เทพโอซิริสก็จะปลดปล่อยดวงวิญญาณจากยมโลกกลับมายังโลกมนุษย์แล้วเจ้าไปอาศัยในร่างเดิมและสามารถฟื้นคืนชีพได้อีกครั้งหนึ่ง
การได้ไปเกิดยังดินแดนของเทพเจ้าราหรือการได้ไปเกิดบนสวรรค์ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณ ถือว่าเป็นความเชื่อหรือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคมในสมัยนั้น ให้ยึดมั่นในการทำความดีและละเว้นจากความชั่วทั้ง 42 ประการ เพื่อจุดมุ่งหมายหลัก คือเพื่อการดำรงอยู่ในโลกหลังความตาย ซึ่งคัมภีร์มรณะก็อาจจะเป็นเพียงหนทางหนึ่งที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากความเชื่อความศรัทธาของคนในสังคมอียิปต์เท่านั้น และสิ่งที่เชื่อกันว่า การซื้อคัมภีร์มรณะถือว่าเป็นการซื้อใบเบิกทางให้ตนได้เข้าไปสู่อาณาจักรของเทพเจ้ารา แม้ว่าจะเคยทำผิดมาหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไม่ฝักใฝ่ในการทำความดีและนำไปสู่การเสื่อมของศาสนาและหลักศีลธรรมของอียิปต์โบราณนั่นเอง
อ้างอิง
Joshua J. Mark.(2559). Egyptian Book of the Dead. ค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561, จาก: https://www.ancient.eu/Egyptian_Book_of_the_Dead/
พรชัย สังเวียนวงศ์. (2555).คัมภีร์มรณะ ใบเบิกทางสู่สรวงสวรรค์ ของชาวอียิปต์โบราณ.ค้นเมื่อ 28กันยายน 2561, จาก: https://board.postjung.com/646850.html
วีณา รุธิรพงศ์. (2544). อียิปต์ดินแดนแห่งฟาโรห์ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : อทิตตา พริ้นติ้ง.
ศักดิ์ บวร. (2548). ตำนานความมหัศจรรย์ของอียิปต์ (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี : โอเอ็นจีการพิมพ์.
เอกชัย จันทรา. (2554). ฟาโรห์ มัมมี่ พีระมิด เปิดโลกไอยคุปต์มหาอาณาจักรพิศวงเหนือลุ่มน้ำไนล์ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : ยิปซีกรุ๊ป จำกัด.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น