The Black Dahlia คดีฆาตกรรมโหดที่ยังเป็นปริศนา

โดย ชฎาพร มะลิซ้อน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ดิฉันได้ไปดูหนังเรื่อง Spider Man: Far From Home โดยในหนังมีฉากที่ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ พ่อหนุ่มสไปเดอร์แมนของเรานั้นไปซื้อสร้อยดอกรักเร่สีดำเพื่อจะเอาไปให้สาวที่เขาชอบ โดยมีคำพูดนึงในหนังที่กล่าวว่า “Black Dahlia คือการฆาตกรรม” เนื่องจากสาวที่พ่อหนุ่มสไปเดอร์แมนชอบนั้นชอบเรื่องราวของการฆาตกรรมมาก ทำให้ดิฉันสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวของคดีฆาตกรรม The Black Dahlia ที่แม้จะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังถูกกล่าวถึงมาจนถึงปัจจุบัน

The Black Dahlia นั้นถือเป็นคดีฆาตกรรมในสหรัฐอเมริกา ปี 1947 ที่โหดเหี้ยม และโด่งดังมาก แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ชื่อจริงของหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อในคดีฆาตกรรมอันโหดเหี้ยมนี้ หญิงสาวที่ได้รับฉายาว่า “Black Dahlia”


ที่มา: https://www.google.com/

Black Dahlia หรือแม่สาวดอกรักเร่สีดำนี้มีชื่อว่า Elizabeth Short เกิดวันที่  29  พฤศจิกายน 1924 ที่เมือง Hyde Park รัฐ Massachusetts U.S.A. พ่อชื่อ Cleo Short และแม่ชื่อ Phoebe Short เธอเป็นลูกสาวคนที่ 3 จากลูกสาวทั้งหมด 5 คน เมื่อเธอเกิดได้ไม่นานก็ได้ย้ายไปอยู่ Medford ตอนนั้นฐานะทางบ้านของเธอถือว่าดีมาก เนื่องจากพ่อของเธอเปิดบริษัทออกแบบ และผลิตสนามมินิกอล์ฟ จนกระทั่งในปี 1929 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจวอลล์สตรีท ทำให้บริษัทพ่อของเธอเจอสภาวะขาดทุนอย่างรุนแรง และล้มละลาย พ่อของเธอคิดจะเอาตัวรอดคนเดียวในวิกฤตนี้ จึงจัดฉากฆ่าตัวตายโดยการขับรถไปจอดทิ้งไว้ที่สะพานและหายตัวไป ทำให้แม่ของเธอและตำรวจเชื่อว่า พ่อของเธอกระโดดสะพานและจมหายตายไปในน้ำแล้ว ซึ่งในขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 5 ปีเท่านั้น แม่ของเธอจึงต้องออกไปทำงานพาร์ททามเพื่อหาเงิน อีกทั้งยังรับเงินสวัสดิการจากรัฐเพื่อดูแลลูกๆ ทั้งหมด

12 ปีหลังจากพ่อของ Elizabeth ตายไป จู่ๆวันนึงแม่ของเธอก็ได้รับจดหมายจากพ่อของเธอที่ทุกคนเชื่อว่าตายแล้ว ในจดหมายล้วนมีแต่ความรู้สึกผิด และคำขอโทษ อีกทั้งพ่อของเธอยังขอกลับมาอยู่ด้วย แต่แม่ของเธอโกรธมากจึงปฏิเสธการกลับมาของพ่อ ถึงแม้แม่ของเธอจะโกรธพ่อมากเพียงใด แต่ Elizabeth กลับมองเห็นช่องทางที่จะได้ทำตามความฝันของตัวเธอเอง นั่นคือการเป็นดารา เพราะเนื่องจากเธอมีหน้าตาที่สวย และเมื่อตอนที่เธอยังเด็ก การดูหนังในโรงหนังนั้นถือเป็นความสุขที่สุดของเธอ เธอจึงแอบติดต่อพ่ออย่างลับๆ เพื่อความฝันของตน จนกระทั่งในปี 1943 เธอได้ย้ายไปอยู่กับพ่อที่ Vallejo รัฐ California ซึ่งตอนนั้นเธอมีอายุ 19 ปี แต่หลังจากที่เธอย้ายมาอยู่กับพ่อเพียงไม่กี่เดือน เธอก็โดนพ่อไล่ออกจากบ้าน เพราะเธอมีนิสัยขี้เกียจ เอาแต่นอนทั้งวัน ตื่นมากลางดึกก็แต่งตัวออกไปเที่ยว กินเหล้าสังสรรค์ และควงผู้ชายไม่ซ้ำหน้า ไม่เคยช่วยพ่อดูแลทำความสะอาดบ้าน

หลังจากที่ Elizabeth ย้ายออกจากบ้านพ่อ เธอไปอาศัยอยู่กับเพื่อนของเธอที่ Santa Barbara และในวันที่ 23 กันยายน 1943 เธอถูกจับในข้อหาดื่มสุราทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เธอจึงต้องมารายงานตัว และคุมประพฤติ หลังจากนั้นตำรวจได้พาเธอกลับไปส่งที่บ้านแม่ของเธอที่ Massachusetts แต่ความฝันนั้นหากยังไม่สามารเอื้อมถึงได้ ใครล่ะจะยอมปล่อยไป ความอยากเป็นดาราของเธอนั้นจึงยังอยู่ หลังจากกลับไปอยู่กับแม่ได้ไม่นาน เธอก็ย้ายกลับมาอยู่ที่ California เพื่อสานฝันของตน และคราวนี้เธอไปได้ถึง Hollywood ที่นั่นเองที่เธอได้ตกหลุมรักกับทหารอากาศนายหนึ่งคือ ร้อยโท Joseph Gordon Fickling ทั้งสองวางแผนที่จะแต่งงานกัน แต่แผนนี้ก็ต้องพังลงเพราะ Joseph นั้นถูกเรียกตัวไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2

ในช่วงหลังจากนั้น Elizabeth ได้รับงานถ่ายแบบ และงานแสดงเล็กๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอดังขึ้นมาเลยสักนิด เธอเริ่มเบื่อหน่ายกับชีวิต จึงย้ายไปอยู่กับญาติที่ Miami และที่นั่นเธอได้พบรักกับนักบินอีกคนนึงคือ พลตรี Matthew Michael Gordon เขาได้ให้สัญญากับเธอว่าหลังจากที่เขากลับมาจากสงครามที่อินเดีย เขาจะมาแต่งงานกับเธอ แต่โชคร้ายที่เครื่องบินของเขาตกทำให้เขาเสียชีวิต Elizabeth เสียใจมากจนกลายเป็นคนเก็บตัวไปช่วงนึง เมื่อเวลาผ่านไปสักพักเธอเริ่มทำใจได้ เธอจึงกลับไปติดต่อหา ร้อยโท Joseph แฟนเก่าของเธอ และเธอก็ตกหลุมรักเขาอีกครั้ง เธอจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ Long Beach กับเขา แต่ในท้ายที่สุดความรักของทั้งสองก็ไปกันไม่รอด ทั้งสองจึงตัดสินใจแยกทางกัน

เดือนตุลาคม 1946 Elizabethได้ย้ายไปอยู่บ้านของ Mark Hansen ซึ่งเป็นเจ้าของไนท์คลับแห่งหนึ่ง Mark นั้นถือเป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งเขาชอบเธอมาก และพยายามหว่านล้อมให้เธอมาทำงานกับเขา หรือร่วมหลับนอนกับเขา แต่เธอปฏิเสธ หลังจากที่เธออยู่นั่นได้แค่เดือนกว่าๆ ก็ถูกไล่ออกมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน หลังจากโดนไล่ออกมาเธอจึงต้องไปอาศัยอยู่ที่ห้องเช่าราคาถูก แต่เธอก็อาศัยอยู่ที่นั่นไม่นานมากนัก ในวันที่ 8 ธันวาคมปีเดียวกัน เธอนั่งรถบัสย้ายจาก LA ไปที่ San Diego หลังจากย้ายมาที่นี่ไม่นานเธอก็ได้เพื่อนใหม่คือ Dorothy French เขาจึงชวนเธอไปอยู่ด้วยกันที่บ้านกับครอบครัวของเขา Elizabeth อยู่ที่นั่นอย่างสบาย และยังทำนิสัยเดิมๆ ที่เคยทำคือ ไม่ช่วยงานบ้านอะไรเลย ตกดึกมาก็ควงผู้ชายออกไปสังสรรค์ จนครอบครัว French ทนไม่ไหว ในช่วงต้นเดือนมกราคมครอบครัว French  จึงขอให้เธอย้ายออก

ในเช้าวันที่ 8 มกราคม 1947 Elizabeth ย้ายออกจากบ้านของครอบครัว French โดยมีผู้ชายคนหนึ่งมารับเธอ ชายคนนั้นคือ Robert Manly เขารู้จักกับ Elizabeth จากการไปสังสรรค์ปาร์ตี้ เธอได้ขอให้เขาไปส่งเธอที่ Hollywood และในคืนนั้นทั้งสองจึงเปิดโรงแรมนอนด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกันแต่อย่างใด รุ่งเช้าของวันที่ 9 มกราคม เธอบอกให้โรเบิร์ตไปส่งเธอที่โรงแรม Biltmore เพราะเธอจะไปพบพี่สาวของเธอ แล้วจึงเดินทางกลับบ้านที่ Massachusetts Robert จึงไปส่งเธอที่นั่นในช่วงบ่าย และเห็นเธอกำลังโทรหาใครสักคนเพื่อติดต่อหาที่พักใน Hollywood แต่เนื่องจากเขารีบไปทำธุระที่อื่นต่อจึงไม่ได้อยู่รอพบพี่สาวของเธอด้วย และหลังจากวันนั้น Elizabeth ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย


ภาพในที่เกิดเหตุ
ที่มา: https://www.google.com/

เช้าวันที่ 15 มกราคม 1947 มีคนแจ้งว่าพบร่างไร้ลมหายใจของหญิงสาวคนนึงที่บริเวณ Leimert Park LA เมื่อตำรวจมายังที่เกิดเหตุ และตรวจสอบพบว่าร่างนั้นอยู่ในลักษณะนอนหงาย แขนทั้งสองข้างยกขึ้นเหนือศีรษะ ร่างถูกหั่นออกเป็นสองท่อนอย่างประณีต เนื่องจากไม่มีการแตกหักของกระดูก และรอยหั่นที่เนี้ยบมาก ร่างที่ถูกหั่นเป็นสองท่อนนั้นวางห่างกันประมาณ 1 ฟุต บนใบหน้ามีแผลที่เกิดจากรอยกรีดจากมุมปากทั้งสองข้าง ลากขึ้นไปสู่ใบหู ยาวประมาณ 3 นิ้ว และที่ศีรษะยังมีรอยฟกช้ำจากการถูกของแข็งทุบอย่างแรง ที่คอมีรอยเชือกรัด และยังมีรอยกรีดในบริเวณต่างๆตามร่างกาย เช่น ข้อมือ ข้อเท้า รวมไปถึงรอยกรีดที่เป็นแผลฉกรรจ์ที่ลากยาวตั้งแต่ใต้สะดือไปจนถึงบริเวณหัวหน่าว และหัวนมด้านขวายังถูกมีดกรีดออกไป นอกจากนี้ฆาตกรยังได้กรีดเอาผิวหนังบริเวณต้นขาด้านซ้ายที่มีรอยสัก และโกนเอาขนในที่ลับยัดใส่ในช่องคลอด และที่น่าตกใจที่สุดคือร่างนี้ถูกถ่ายเลือดออกจนหมดตัว และถูกชำระล้างทำความสะอาดมาอย่างดีแล้ว หลังจากนั้นได้มีการยืนยันแล้วว่าร่างที่เป็นเหยื่อในการฆาตกรรมอันโหดเหี้ยมนี้คือ Elizabeth Short นั่นเอง ซึ่งตอนที่เธอเสียชีวิตเธอมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น

คดีฆาตกรรมนี้โด่งดังไปทั่วภายในชั่วข้ามคืน สื่อต่างๆให้ความสนใจในคดีนี้เป็นอย่างมาก และที่คดีนี้ได้รับฉายาว่า The Black Dahlia เนื่องจากเพื่อนของเธอตั้งให้เพราะเธอเป็นคนผิวขาว มีผมสีดำ แล้วก็แต่งชุดสีดำ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีหนังเรื่อง Blue Dahlia ออกมา เพื่อนของเธอจึงตั้งฉายาล้อเลียนหนังเรื่องนั้นให้เธอ และหลังจากที่คดีนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก ก็มีผู้คนมากมายมาสารภาพว่าตัวเขานี่แหละที่เป็นฆาตกรที่ฆ่า Elizabeth แต่ก็ได้รับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ทุกคน

มาจนถึงวันนี้ ก็เป็นเวลากว่า 72 ปีแล้วที่คดีฆาตกรรมอันโหดร้ายนี้ยังไม่สามารถหาตัวฆาตกรได้ และยังคงทำให้ผู้ที่ได้มาอ่านเรื่องราวของคดี The Black Dahlia ยังคงเกิดคำถามในใจว่าใครกันแน่ที่เป็นฆาตกรที่ฆ่าเธออย่างโหดเหี้ยม อีกทั้งคดีนี้ยังเป็นตอนจบที่น่าเศร้าของผู้หญิงคนนึง ที่มีความฝันอยากเป็นดารา แต่ช่วงที่เธอมีชีวิตอยู่นั้นเธอกลับไม่มีชื่อเสียงเลย แต่เมื่อเธอตายชื่อเสียงของเธอกลับโด่งดังไปทั่ว เพื่อนๆ คิดไหมคะ ว่าหาก Elizabeth ยังมีชีวิตอยู่และได้มีเวลาทำตามความฝันของตัวเองต่อ ทุกวันนี้เธออาจจะเป็นดาราชื่อดังที่เราทุกคนรู้จักก็ได้ สุดท้ายนี้ก่อนที่เราจะจากลากันดิฉันอยากให้เพื่อนๆ ไม่ลืมชื่อของ Black Dahlia หรือแม่สาวดอกรักเร่สีดำ ว่าชื่อที่แท้จริงของเธอนั้นคือ “Elizabeth Short”


อ้างอิง 

James Bartlett. (2017). The Black Dahlia: Los Angeles' most famous unsolved murder. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน  พ.ศ.2562, จาก: https://www.bbc.com/news/world-us-canada-38513320

Morgan Korzik. (2016). The Black Dahlia: The 1947 Murder of Elizabeth Short. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2562, จาก: http://blackdahlia.web.unc.edu/the-life-of-elizabeth-short/

The Common Thread. (2018). BLACK DAHLIA แบล็ค ดาห์เลีย ปริศนาศพสยองข้างทาง WHAT HAPPENED EP. 06 | The Common Thread. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2562, จาก: https://www.youtube.com/watch?v=WSLu-TEbHjg

นครินทร์ จันทร์ศร และพีท ศรีทนนท์. คดีฆาตกรรมดอกรักเร่สีดำ : Black Dahlia. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2562, จาก: https://sites.google.com/site/specialresponsibility/khdi-khatkrrm-dxkrak-re-si-da-the-black-dahlia

พี่ซูม. (2560). ปริศนาคดีหลอนข้ามทศวรรษที่กลายเป็นหนังสือขายดี ใครฆ่า 'Black Dahlia'. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2562, จาก: https://www.dek-d.com/writer/46601/


อ่านเพิ่มเติม »

กฎหมายสิบสองโต๊ะ (Law of The twelve Table) กฎหมายแห่งโรม

โดย บัญชาฤทธิ์ พลพันธ์

“ที่ใดมีสังคม ที่นั่นย่อมมีกฎหมาย” (Ubi societas , ibi jus)  

สุภาษิตละตินข้างต้นแสดงนัยยะที่ว่ากฎหมายถูกสร้างขึ้น เมื่อมนุษย์ได้มีการรวมตัวกันและมีการปฏิสัมพันธ์กันเป็นสังคม กฎหมายจึงเป็นเสมือนหลักเกณฑ์กำหนดความประพฤติของคนในสังคมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย กฎหมายที่ใช้อยู่ในแต่ละสังคมก็ย่อมแตกต่างกันออกไป โดยในอดีตกฎหมายถูกกำหนดผ่านจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอันถือเป็นบรรทัดฐานทางสังคม แต่เมื่อสังคมมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น ถึงขั้นที่สามารถประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้ได้ จึงมีการนำเอาจารีตประเพณีนั้นมาบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรดังเช่น กฎหมายสิบสองโต๊ะของชาวโรมัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมกฎหมายขึ้น และเป็นการยอมรับว่ากฎหมายควรเป็นสิ่งที่เปิดเผยให้คนทั่วไปได้รู้ได้เห็นและศึกษาหาเหตุผลได้

มูลเหตุของการเกิดขึ้นของกฎหมายสิบสองโต๊ะนั้น เนื่องจากชาวโรมันแบ่งชนชั้นเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ พวกแพทริเชียน (Patricians) ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง ชนชั้นสูงหรือคนมั่งมี เป็นผู้มีที่ดินมาก และพวกเพลเบียน (Plebeians) เป็นชนชั้นที่ถูกปกครอง ราษฎรสามัญที่ยากจน และมักจะตกเป็นทาส (Slave) ของพวกแพทริเชียนโดยหนี้สิน พวกเพลเบียนมีจำนวนมากกว่าพวกแพทริเชียน แต่ไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ ในการปกครองเพราะอำนาจส่วนใหญ่ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงศาสนาล้วนอยู่ในมือของพวกแพทริเชียน ประกอบกับกฎหมายของกรุงโรมไม่ได้มีบัญญัติไว้แน่นอน พวกแพทริเชียนจึงเปลี่ยนแปลงและตัดสินคดีความตามความพึงพอใจและเป็นประโยชน์กับฝ่ายตนโดยอ้างจารีตประเพณี ซึ่งไม่ได้ป็นลายลักษณ์อักษร สร้างความไม่พอใจให้พวกเพลเพียนที่ถูกกดขี่ข่มเหง จึงเกิดการเรียกร้องกับทางการโรมันให้มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนชาวโรมันทุกคน


ภาพชนชั้นในสังคมของชาวโรมัน
ที่มาภาพ: https://i.pinimg.com/

ทางการโรมันจึงได้มีการคัดเลือกคณะกรรมการจำนวน 10 คน เรียกว่า เดเซมวีร์ (Decemvirs) ซึ่งประกอบด้วยพวกแพทริเชียนเป็นส่วนใหญ่เป็นผู้จัดทำกฎหมายขึ้น กฎหมายนี้เป็นการรวบรวมเอาจารีตประเพณีที่ใช้เป็นกฎหมายอยู่ในขณะนั้นมาบันทึกเป็นลายลักษณ์ โดยจารึกลงบนแผ่นทองแดง (โต๊ะบรอนซ์) จำนวน 10 โต๊ะ ในปี 451 ก่อนคริสต์ศักราช และได้รับการรับรองโดยสภา Senate และ Carnitia Centuriata ในระยะต่อมาในปี 450 ก่อนคริสต์ศักราชได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอีกคณะหนึ่ง จำนวน 3 คน ซึ่งเลือกจากพวกเพลเบียนให้ทำหน้าที่จัดทำกฎหมายเพิ่มเติมอีก 2 โต๊ะ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 โต๊ะ แล้วนำไปตั้งประกาศไว้ในที่ฟอรัม (Forum) หรือที่สาธารณะใจกลางเมืองให้ชาวโรมันได้ทราบทั่วกัน และรู้จักกันอย่างแพร่หลายในนามของ “กฎหมายสิบสองโต๊ะ”

สำหรับบทบัญญัติของกฎหมายสิบสองโต๊ะนั้น ซึ่งได้มาจากฉบับที่คัดลอกเพื่อการศึกษาเป็นส่วนตัวและจากเอกสารอื่น ๆ ทำให้ทราบว่าประกอบด้วย

          โต๊ะที่ 1, 2 และ 3 เกี่ยวกับวิธีการพิจารณาความแพ่งและการบังคับคดี
            โต๊ะที่ 4                  เกี่ยวกับอำนาจบิดาในฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัว
            โต๊ะที่ 5, 6 และ 7     เกี่ยวกับการสืบมรดกและทรัพย์สิน
            โต๊ะที่ 8              เกี่ยวกับการละเมิด หรือกฎหมายอาญา
            โต๊ะที่ 9              เกี่ยวกับกฎหมายมหาชน
            โต๊ะที่ 10              เกี่ยวกับกฎหมายศักดิ์สิทธิ์
            โต๊ะที่ 11 ,12      เป็นกฎหมายเพิ่มเติม ซึ่งรวมทั้งกฎหมายห้ามมิให้มีการสมรสระหว่าง
                                                    พวกชนชั้นสูง (Patrician) กับพวกสามัญชน (Plebeians)


ภาพชาวโรมันศึกษากฎหมายสิบสองโต๊ะ
ที่มาภาพ: http://skyridgeairlines.weebly.com/

เป็นที่น่าเสียดายว่ากฎหมายสิบสองโต๊ะถูกทำลายในปี 390 ก่อนคริสต์ศักราช เนื่องจากโรมถูกพวกโกล(Goul) รุกราน และถูกเผา ทำให้กฎหมายสิบสองโต๊ะถูกทำลายไปด้วย และไม่เป็นที่เชื่อได้อย่างแน่นอนว่ากฎหมายสิบสองโต๊ะที่ศึกษาอยู่ในภายหลังจะถูกต้องตามต้นฉบับจริงหรือไม่ แต่การจัดทำกฎหมายสิบสองโต๊ะขึ้นมานั้นได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการช่วยให้พวกแพทริเชียนและเพลเบียน มีความความสามัคคีกัน ทำให้ชาวโรมันรู้กฎหมายเท่าเทียมกัน แก้ไขกฎหมายบางส่วนที่ไม่ยุติธรรมแก่สามัญชน อีกทั้งลดการตึงเครียดในการต่อสู้ทางการเมืองและสังคม แม้ประมวลกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ใช่เรื่องวิชาการที่จะนำมาสร้างระบบกฎหมายที่ดีได้ แต่ก็เป็นผลงานทางด้านกฎหมายที่ทำให้กฎหมายได้เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ กฎหมายสิบสองโต๊ะยังถือเป็นต้นแบบของกฎหมายที่ถูกพัฒนามาเป็นประมวลกฎหมายของโรม นั่นก็คือ ประมวลกฎหมายจัสติเนียน ที่มีเนื้อหาสาระละเอียดและมีระบบระเบียบ เป็นประโยชน์ในการศึกษาและเป็นแม่บทของประมวลกฎหมายของโลกในเวลาต่อมา

การที่บุคคลจะอยู่ร่วมกันในสังคมจึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักกฎหมายเพื่อปฏิบัติตนตามกฎหมาย หรือไม่ละเมิด ไม่ฝ่าฝืนตามที่กฎหมายนั้นบัญญัติไว้ ซึ่งถือเป็นเป้าประสงค์สำคัญแห่งการเกิดขึ้นของกฎหมาย เพื่อที่จะทำให้คนในสังคมนั้น ๆ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

อ้างอิง

ชาญชัย แสวงศักดิ์ และวรรณชัย บุญบำรุง. (2543). สาระน่ารู้เกี่ยวกับการจัดทำประมวลกฎหมายของต่าง
ประเทศและของไทย. กรุงเทพฯ:นิติธรรม.

ทศพร มูลรัตน์. (2559). ระบบกฎหมายของโลก. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2562, จาก
https://www.baanjomyut.com/library/global_community/05_2_2.html

ลูกศร. (2554). การศึกษากฎหมาย. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2562, จาก http://smartlaw-pp.blogspot.com/

สุเมธ จานประดับและคณะ. (2550). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และระบบกฎหมายหลัก. กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อ่านเพิ่มเติม »

ทอมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก

โดย ปริญญา วานิช

หลายคนคงเคยได้ยินคำคมที่ถูกพูดถึงกันมากจากการสร้างแรงบันดาลใจที่ว่า “genius is one percent inspiration and ninety-nine percent perspiration” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยอย่างไพเราะคือ “อัจฉริยะเกิดจากแรงบันดาลใจเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และอีก 99 เปอร์เซ็นต์คือความอุตสาหะ” วาทะดังกล่าว  Thomas Alva Edison หรือ โทมัส อัลวา เอดิสัน ยอดนักประดิษฐ์ผู้เป็นต้นแบบที่สร้างสรรค์งานประดิษฐ์ต่างๆ

ผลงานหลายชิ้นของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนเชื่อว่า ความอุตสาหะ พากเพียร จะทำให้เกิดความเป็นอัจฉริยะขึ้นได้ในตัวเอง เฉกเช่นกับ โทมัส อัลวา เอดิสัน ที่ทำงานอย่างหนักด้วยความอุตสาหะ พากเพียร จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถหลากหลายหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งก็ว่าได้ อีกทั้งยังเป็นนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ประดิษฐ์อุปกรณ์สำคัญๆมากมาย จนได้รับฉายาว่า “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” (The Wizard of Menlo Park ) เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มนำหลักการของ การผลิตจำนวนมาก และกระบวนการประดิษฐ์ มาประยุกต์รวมกันได้อย่างลงตัว


ที่มา :  https://www.compgamer.com/

โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1847 ณ เมืองมิลาน (Milan) รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เป็นลูกคนที่ 7 และคนสุดท้าย ของนายแซมมวล เอดิสัน (Samuel “The Iron Shovel” Edison, Jr.) และนางแนนซี แมทธิวส์ เอลเลียต (Nancy Matthews Elliott) ขณะที่เขาเกิด บิดาของเขามีอายุ 43 ปี และมารดาของเขามีอายุ 37 ปี ในช่วงวัยเด็ก ทุกคนมักเรียกเอดิสันว่า “อัล” วัยเด็กของอัลเขาเป็นคนที่สนใจในเรื่องรอบตัวไม่ใช่แต่ตำราคร่ำครึเพียงเท่านั้น และมีนิสัยที่ชอบถามคนอื่นๆเมื่อเกิดความสงสัย เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องต่างๆอย่างถ่องแท้ และนอกจากนี้เขายังชอบทดลองทำอะไรใหม่ๆด้วยตัวเอง จนบางครั้งก็นำความเดือดร้อนมาให้แก่เขาเองและคนรอบข้างอยู่เสมอๆ เช่น เมื่อเขาทดลองเกี่ยวกับไฟด้วยตนเองก็ทำให้เกิดเพลิงไหม้ในที่สุด แต่ยังโชคดีที่ชาวบ้านสามารถดับเพลิงไว้ได้ทัน

เอดิสันมีนิสัยรักการอ่านหลงใหลในหนังสือที่มีภาพเนื้อหาและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เขาสนใจและทดลองตามหนังสือที่ได้อ่าน บิดามารดาของเขาจึงสร้างห้องใต้ดินเพื่อให้เขาได้ทดลองต่างๆตามหนังสือ และเขาก็ได้ทำการทดลองมากมายในห้องใต้ดินนั้น  เมื่อเอดิสันอายุได้เพียง 12 ขวบ ใน ค.ศ. 1859 เอดิสันตัดสินใจออกหางานทำเพื่อหารายได้พิเศษโดยการขายลูกอมและหนังสือพิมพ์บนรถไฟ ต่อมา ค.ศ. 1860 เอดิสันประสบอุบัติเหตุซึ่งส่งผลให้การได้ยินของเขาเสื่อมลง เขาจึงมีปัญหาด้านการได้ยิน ทำให้หูชั้นในของเขาติดเชื้อและมีลักษณะเกือบจะเป็นหูหนวก ต่อมาในขณะที่ได้ทำการทดลองในรถไฟก็เกิดเพลิงไหม้ขึ้นเขาจึงถูกไล่ออกและถูกทำร้ายร่างกายก็ยิ่งส่งผลต่อการได้ยินของเขาไปอีก

ค.ศ. 1863 เอดิสันเข้าเป็นพนักงานส่งโทรเลข และในปีเดียวนั้น เขาเปลี่ยนบริษัททำงานถึง 4 ครั้ง ตามสถานที่ต่าง ๆ ในอเมริกาและแคนาดา ค.ศ. 1864 เขาประดิษฐ์เครื่องบันทึกการนับคะแนน และยื่นขอจดสิทธิบัตร แต่เครื่องนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้งานแต่อย่างใด ในปี ค.ศ. 1869 เขาเดินทางไปยังนิวยอร์ก และเปิดบริษัทวิศวกรไฟฟ้าขึ้น บริษัทนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ต่อมาไม่นานใน ค.ศ. 1871 เขาสร้างอาคารซึ่งเปิดเป็นโรงงานและศูนย์วิจัย และได้พบรักและแต่งงานกับ แมรี สติลเวลล์ (Mary Stilwell) ผู้มีอายุน้อยกว่าเอดิสันถึง 8 ปี และในปีนั้น แนนซีผู้เป็นมารดาของเอดิสัน ก็เสียชีวิตลงในวัย 61 ปี

ค.ศ. 1876 เขาสร้างอาคารโรงงานและศูนย์วิจัยใหม่ที่เมนโลพาร์ก (Menlo Park) รัฐนิวเจอร์ซีย์ และเริ่มลงมือประดิษฐ์โทรศัพท์ ในปี ค.ศ. 1877 เอดิสันประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงขึ้น และเป็นที่มาของฉายา “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” ที่เขาสามารถประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ


เอดิสันใน ค.ศ. 1877
ที่มา : https://upload.wikimedia.org/w

ต่อมาในปี ค.ศ. 1878 เอดิสันเริ่มศึกษาค้นคว้าคิดที่จะทำหลอดไฟ เพราะไฟส่องสว่างในสมัยนั้นสามารถก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย เขาจึงมีความคิดที่ประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมา

ค.ศ. 1879 เขาประดิษฐ์หลอดไฟไส้คาร์บอนสำเร็จ และเริ่มออกแบบสวิตช์เปิด-ปิดหลอดไฟให้ติดตั้งในบ้านเรือนได้ง่าย นับเป็นจุดเริ่มต้นของหลอดไฟบนโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่
ค.ศ. 1880 เขาเปลี่ยนไส้หลอดไฟจากคาร์บอนเป็นไม้ไผ่ญี่ปุ่น เพราะหลอดคาร์บอน ส่องสว่างได้นาน 40 ชั่วโมง แต่หลอดไม้ไผ่ญี่ปุ่น ส่องสว่างได้นานถึง 900 ชั่วโมง
ค.ศ. 1882 เขาสร้างโรงจ่ายกระแสไฟฟ้าขึ้นที่นิวยอร์ก และเริ่มประกาศเทคโนโลยีหลอดไฟให้เป็นที่รู้จัก
ค.ศ. 1883 เขาประดิษฐ์หลอดไฟรุ่นใหม่ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไปได้ ทำให้หลอดไฟแพร่กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ของโลกเร็วขึ้น
ค.ศ. 1884 แมรี ภรรยาของเขาเสียชีวิตลงด้วยโรคไทฟอยด์ในวัยเพียง 29 ปีเท่านั้น
ค.ศ. 1886 เอดิสันจึงแต่งงานใหม่กับมินา มิลเลอร์ (Mina Miller) ผู้มีอายุน้อยกว่าเอดิสันถึง 19 ปี
ค.ศ. 1891 เขาประดิษฐ์เครื่องถ่ายภาพตัดต่อสำเร็จ บันทึกภาพเคลื่อนไหว ซึ่งนำไปสู่การสร้างภาพยนตร์ ในปี ค.ศ. 1893 ที่สร้างโรงถ่ายภาพยนตร์แห่งแรกของโลกได้
ในปี ค.ศ. 1896 บิดาของเอดิสันเสียชีวิตลงในวัย 92 ปี และในปีนั้น เอดิสันรู้จักกับ เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนสนิทกัน
ค.ศ. 1898 เขาเริ่มประดิษฐ์แบตเตอรี่ และประดิษฐ์สำเร็จใน ค.ศ. 1909 ใช้เวลานานถึง 11 ปี
ค.ศ. 1912 เกิดการใช้เครื่องถ่ายภาพตัดต่อและเครื่องบันทึกเสียงพร้อมกัน ทำให้เกิดเป็น ภาพยนตร์ที่มีทั้งภาพและเสียงในยุคสมัยนั้น

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1931 ทอมัส อัลวา เอดิสัน ยอดนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันแห่งศตวรรษที่ 19 ก็ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคเบาหวานและไตวาย ถือเป็นการจบชีวิตของผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า และเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์กว่า 1,000 รายการ นอกจากนั้นนักประดิษฐ์ผู้นี้ยังได้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ ชื่อ Edison Trust ต่อมานิตยสารไลฟ์ (Life) ได้ยกย่องให้นักประดิษฐ์ผู้มีนามว่า ทอมัส อัลวา เอดิสัน เป็น “หนึ่งใน 100 คนที่สำคัญที่สุดในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา” ถือเป็นนักอัจฉริยะทางความคิดที่เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกเลยก็ว่าได้

ตลอดระยะเวลากว่า 84 ปีที่เอดิสันมีชีวิตอยู่บนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แม้ชีวิตจะประสบกับปัญหาต่างๆ มากมายมาโดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่เอดิสันไม่เคยละทิ้งคือความพยายามความมุ่งมั่นและอุตสาหะ กระทำในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบและมองว่าเป็นสิ่งที่ดี นั่นคือ การค้นคว้าและทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อคิดค้นพัฒนาสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งช่วงหนึ่งของชีวิตที่ต้องขึ้นไปขายของเพื่อยังชีพหรือกระทั่งการทดลองทางเคมีหลายอย่างที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ หรือการถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกิดขึ้นจากความล้มเหลวทั้งสิ้น เอดิสันเกิดความล้มเหลวในการทดลองค้นคว้าสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆมานับครั้งไม่ถ้วน ขณะที่คนอื่นมองว่าการที่ได้ทดลองมาเกือบพันครั้งแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ และยิ่งทำให้ชีวิตล้มเหลว แต่เอดิสันกลับมองว่า “เขาได้เรียนรู้มากกว่าใครคนอื่น”  ความล้มเหลวของชีวิตของนักประดิษฐ์ผู้นี้ถือเป็นบทเรียนที่สามารถสร้างราคาให้แก่ใครหลายคนได้ หรืออาจสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของมนุษย์ไม่มากก็น้อย สมควรอย่างยิ่งที่จะยกฉายา ให้กับ Thomas Alva Edison หรือ โทมัส อัลวา เอดิสัน สุดยอดนักประดิษฐ์ผู้สร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์ว่าเป็น “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” อย่างที่สุด


อ้างอิง

คัสซินส์ มาร์กาเร็ต. (2511). โธมัส อัลวา เอดิสัน. พระนคร: ก้าวหน้า.

แพลตต์ ริชาร์ด. (2549). สิ่งประดิษฐ์ของโลก. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(2562).ทอมัส เอดิสัน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 กุมพาพันธ์ 2561, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/ทอมัส_เอดิสัน

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข. (2553). 20 ยอดนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพล (5). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 กุมพาพันธ์ 2561, จาก: http://www0.tint.or.th/nkc/nkc53/content/nstkc53-022.html

อ่านเพิ่มเติม »

ฟอนต์ (font) กราฟฟิกที่มองผ่านตัวอักษร

โดย จิราพร สาระนันท์

เมื่อฟอนต์กลายมาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้กับงานออกแบบในปัจจุบัน การสร้างงานใดๆ เริ่มตั้งแต่เอกสารทั่วไป รายงานราชการ รูปเล่มหนังสือ การ์ด โลโก้ โปสเตอร์ ป้ายโฆษณาอื่นๆ ฟอนต์จะถูกนำมาสื่อสารตามจุดประสงค์ของงานเพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์งานนั้นจริงๆ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ฟอนต์ เป็นสิ่งที่จะทำให้ตัวหนังสือต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมาดูมีคุณค่า มีความสวยงาม มีความเหมาะสมในตัวเอง และ “ฟอนต์” นี่เองที่เป็นตัวตัดสินแรกๆ ว่าจะทำให้คนดูรู้สึกอยากอ่านหรือไม่อยากอ่านงานของเรา

นอกจากการออกแบบสร้างสรรค์รูปภาพที่สวยงาม องค์ประกอบสี เนื้อหาการบรรยายที่น่าสนใจ ชวนดึงดูดให้ติดตาม สิ่งหนึ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามในงานออกแบบผลงานหรือผลิตภัณฑ์เลยคือเรื่องของการใช้ “ฟอนต์ (font)” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “รูปแบบตัวอักษร” ซึ่งในหลายครั้งที่งานออกแบบก็มาพลาดเพราะสิ่งนี้ การออกแบบที่ดีจึงจะต้องรู้จักเลือกฟอนต์ที่เหมาะสมต่องาน ซึ่งจะสามารถสร้างความแตกต่าง ความสวยงาม และทำให้งานดูดีมีมูลค่าได้อย่างเห็นได้ชัด เพื่อที่จะให้ผู้อ่านรู้สึกถึงอารมณ์ของงานที่เราสื่อสารออกไป
                     

ที่มา : https://www.siamzone.com/

ฟอนต์ (Font)  เป็นรูปแบบตัวอักษรมีอยู่มากมายในวินโดวส์ การเลือกใช้งานฟอนต์นั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละงาน ฟอนต์ทุกๆ แบบมีชื่อประจำทั้งฟอนต์สากล หรือฟอนต์อื่นๆ ที่อาจรู้จักในวงจำกัดเพราะอาจถูกออกแบบไว้ใช้สำหรับภาษาที่ใช้ในแต่ละประเทศ

ในขณะเดียวกันอาจกล่าวได้ว่า ฟอนต์ก็คือภาษาภาพที่วิวัฒนาการจากลายมือของมนุษย์ เป็นรูปแบบตัวอักษรที่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับงานตามยุคสมัย

การส่ง “สาร” ให้ถึงผู้อ่านคือหน้าที่ของ “ฟอนต์” หากเลือกฟอนต์ได้ถูกต้องเข้ากับงานจะทำให้ผู้อ่านเดาได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ทั้งนี้ฟอนต์เป็นสิ่งสร้างภาพจำในใจผู้อ่าน เป็นอักษรสร้างอารมณ์ เพิ่มความน่าสนใจให้งานออกแบบดูโดดเด่น ซึ่งในการปรับแต่งนั้นคงไม่ใช่แค่การทำให้ตัวอักษรดูใหญ่ หนา เด่น ชัดอ่านง่ายเพียงเท่านั้น แต่การออกแบบควรจะสามารถทำด้วยวิธีการที่หลากหลายแล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ เช่น การใช้รูปทรงต่างๆ การจัดวาง หรือการเลือกใช้สีและลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์มาประกอบด้วย ดังนั้นการเลือกรูปแบบตัวอักษร การประยุกต์ใช้ การใส่ลูกเล่นต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างมาก


ที่มา : https://www.siamzone.com/

นอกจากการเลือกฟอนต์ใดๆ มาใช้งานแล้ว การวางตำแหน่งตัวอักษรให้เหมาะสมกับพื้นที่ว่างและองค์ประกอบต่างๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญกับการออกแบบตัวงาน หากเป็นงานประเภทที่มีตัวหนังสือเยอะ เนื้อหาอ่านยาก ยิ่งต้องระวังการเว้นวรรคหรือช่องไฟระหว่างตัวอักษร ควรเลือกฟอนต์ที่ชวนอ่าน อ่านง่าย สบายตา  ถ้าตัวเล็กเกินไปหรือเบียดเกินไป อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอึดอัดเหมือนถูกขังอยู่ในที่แคบๆ และชวนปวดศีรษะ หากต้องการเน้นข้อความให้เกิดจุดเด่นก็ควรทำเพียงชุดเดียว จึงจะทำให้ไม่สับสน


ที่มา : https://www.katemoross.com/

ปัจจุบันมีเว็บไซต์หลายเว็บที่ให้บริการดาวน์โหลดฟอนต์ฟรี อย่างเช่น ฟอนต์.คอม เป็นเว็บไซต์สำหรับผู้สนใจในการออกแบบ ใช้งานฟอนต์ และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการออกแบบอื่นๆ อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดฟอนต์ไปใช้งานได้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่ต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตที่มีการระบุข้อตกลงพิเศษเฉพาะฟอนต์ และอีกหนึ่งแอปพลิเคชันอย่าง Microsoft Font Maker แอปสร้างฟอนต์ด้วยลายมือของเราเองบน Windows 10 เพียงแค่เราเขียนตัวอักษรให้ตรงกับช่องตัวอักษรที่กำหนดแล้วแอปจะสร้างฟอนต์ให้เราใช้งานเป็นอันเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามสามารถสร้างได้แค่ฟอนต์ภาษาอังกฤษเท่านั้น ยังไม่รองรับการสร้างฟอนต์ภาษาไทย

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับตัวอักษรกันขนาดนั้นด้วย? ก็เพราะตัวอักษรทุกตัวสามารถดึงดูดสายตาของกลุ่มเป้าหมายได้ดี และเพื่อให้เกิดการจดจำได้ง่ายเราจึงควรเลือกใช้หรือออกแบบมาพร้อมกับ Story ที่บอกเล่าเรื่องราวและบุคลิก หรือที่มาที่ไปของตัวอักษรนั้นๆ เพื่อความสวยงามในการนำเสนองาน


อ้างอิง  

ตุลย์ เล็กอุทัย. (2556). อักษรอารมณ์. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.posttoday.com/life/life/253993https://www.posttoday.com/life/life/253993

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล. (2561). ไม่มีวันไหนที่เราไม่เห็นตัวอักษร. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://thematter.co/pulse/cadson-demak-bits/61525

เบญสิร์ยา ปานปุญญเดช. (2555). รูปแบบของตัวอักษร. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.km-web.rmutt.ac.th/?p=315#

ปิยะนุช พร้อมประพันธ์. (2560). Typography แค่ตัวอักษรต้องสอนกันด้วยหรอ?. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://medium.com/@agencylikeme/

ฟอนต์.คอม. ฟอนต์เติมวิญญาณใส่งานอักษร. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก  https://www.f0nt.com.
The paperless. (2560).

“ฟอนต์” นั้นสำคัญไฉน กับ 5 เหตุผลที่เราต้องใส่ใจ “ฟอนต์”. ค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.thepaperless.co/

อ่านเพิ่มเติม »

พระแม่กาลี เทวีผู้ทรงมหิทธา

โดย โชคชัย คำจันทา

หนึ่งในเทวีผู้ทรงมหิทธาในศาสนาฮินดู นั่นคือ “พระแม่กาลี” หรือ “กาลิกา” ซึ่งใครหลายคนคงทราบกันดีว่าพระแม่กาลีนั้นเป็นอวตารปางหนึ่งของพระอุมาเทวี ซึ่งทรงมีอำนาจอิทธิฤทธิ์ในการปราบปรามสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มีเทวานุภาพอันแรงกล้าสามารถสร้างความวิบัติแก่เหล่าอสูรอย่างรุนแรง นอกจากนี้พระแม่กาลียังมีรูปกายที่แฝงเร้นไว้ซึ่งความน่ากลัว หากผู้บูชาพระแม่กาลีอย่างถูกต้องและเคร่งครัดพระแม่ก็จะประทานความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ และอำนาจเหนือผู้อื่น



ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระศรีมหาอุมาเทวีเทพสตรีแห่งสวรรค์ ชายาของพระศิวะ มีความประสงค์ที่จะออกปราบอสูรร้าย ซึ่งพระองค์ได้ขอพรต่อพระศิวะผู้เป็นเจ้าเพื่อให้ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ แล้วจึงเสด็จออกบำเพ็ญตบะทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ให้มีฤทธิ์อำนาจปราบศัตรูร้ายได้ทั้งปวง ซึ่งได้ทำพิธีในเขตอุทยานป่าหิมพานต์ โดยพระศรีมหาอุมาเทวีได้ทรงมอบหมายให้องค์ขันทกุมาร ซึ่งเป็นโอรสของพระศิวะและพระแม่อุมาเทวีรับหน้าที่ดูแลไม่ให้ใครย่างกรายเข้าไปในพิธีโดยเด็ดขาด

เมื่อเวลาผ่านไปพระศิวะจึงได้เสด็จเข้าไปในอุทยานเพื่อให้รู้แน่ว่าเกิดเหตุอันใดขึ้น พระองค์ก็ได้พบกับพระขันทกุมารจึงสอบถามและขอเข้าพบพระอุมาเทวี พระขันทกุมารจึงไม่สามารถให้พระศิวะเข้าพบพระแม่อุมาเทวีได้ด้วยทรงรับสั่งไม่ให้ใครย่างกรายเข้ามาขณะทำพิธี เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้นและเกิดการปะทะกำลังกันระหว่างพระขันทกุมารกับพระศิวะ เหตุการณ์ผ่านไปไม่นานนักพระแม่อุมาเทวีบำเพ็ญตบะเสร็จจึงได้เสด็จออกมา แต่สิ่งที่ปรากฏกลายเป็นรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นพระแม่กาลี!! โดยองค์พระขันทกุมารเมื่อเห็นพระแม่กาลีก็ทรงทราบได้ว่านี่คือพระมารดาของตน

พระแม่อุมาได้ฟังคำจากพระขันทกุมารว่าพระศิวะไม่มีความเกรงใจและจะผ่านเข้าไปในพิธีให้ได้ พระแม่กาลีจึงเกิดความโมโห ตาถลนออกนอกเบ้า หน้าตาดุดัน แลบลิ้นยาวน่าเกลียดน่ากลัว ทำปากแบะกว้างเห็นเขี้ยวโง้ว มีเลือดไหลจากมุมปากและตามมือและลำตัว ส่งกลิ่นคาวคลุ้งไปทั่ว ทรงตรงเข้าหาพระศิวะทันทีด้วยความโมโห เมื่อพระศิวะเห็นถึงกับตกใจรีบหลบหนีไปทันที พระแม่กาลีก็ทรงไล่ตามจนพระศิวะพ้นจากเขตอุทยานไป จากนั้นพระนางจึงย้อนกลับไปหาพระขันทกุมารด้วยเห็นถึงความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่ยอมผิดคำสัตย์ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้ ถึงแม้ว่าพระศิวะจะเป็นพระบิดาของตนก็ตาม เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่พอพระทัยแก่พระแม่กาลีเป็นอย่างมาก



จากนั้นพระแม่กาลีจึงรีบเสด็จออกจากอุทยานโดยทันทีเพื่อตามล่าสังหารอสูรทารุณ ซึ่งไม่นานพระองค์ก็ได้เผชิญหน้ากับอสูรทารุณ และเกิดการต่อสู้กันด้วยเวลาที่ยาวนาน เหตุนี้ทำให้พระแม่กาลีทรงใช้ดาบฟันคออสูรขาด เลือดของอสูรก็หยดลงพื้น อสูรจำนวนมากจึงผุดขึ้นมาจากหยดเลือดเหล่านั้น อสูรที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ตามหยดเลือดของอสูรทารุณ พระแม่กาลีเห็นดังนั้นจึงคิดว่าคงไม่มีวันฆ่าอสูรตนนี้ให้ตายได้เป็นแน่ พระองค์จึงคิดกลอุบายเพื่อจะเอาชัยชนะในครั้งนี้ให้ได้ โดยการตัดหัวของอสูรพร้อมทั้งดูดกินเลือดอสูรก่อนที่เลือดจะตกลงพื้น เมื่อกินจนหมดสิ้นแล้วรูปกายของพระแม่กาลีจึงอ้วนใหญ่ขึ้น และในมือนั้นถือหัวของอสูรที่ตัดร้อยเป็นพวงไว้ อสูรทารุณจึงสิ้นฤทธิ์ลง

หลังจากชนะอสูรพระนางทรงดีพระทัยจึงกระโดดโลดเต้นเพื่อฉลองชัยชนะ แต่ด้วยตบะอันแรงกล้าทำให้เกิดความเดือดร้อน ต่อโลกธาตุทั้งปวงเมื่อพระนางกระทืบพระบาท พระศิวะจะเข้าห้ามปรามก็เกรงความดุร้ายของพระนาง จึงใช้อุบายทรงทอดพระกายลงบนพื้นที่พระนางจะกระทืบพระบาท เมื่อพระกาลีเห็นพระศิวะที่พื้น ด้วยปางหนึ่งที่เป็นพระปารวตี ซึ่งรักและภักดีในพระศิวะยิ่งก็ทรงชะงักและหยุดการกระทำนั้น เหล่าเทวดาทั้งหลายทั้งมวลจึงยกย่องพระศิวะและพระแม่กาลี พากันศรัทธาในพระองค์ยิ่งขึ้นจากการปราบอสูรร้ายและการแก้ไขเหตุการณ์ในครั้งนี้


เทวรูปพระแม่กาลีศิลปะบาหลี
ที่มา : https://th.wikipedia.org/

ตามความเชื่อว่าพระแม่กาลีนั้นทรงมีความลึกลับที่สุดในบรรดาเทพเทวาทั้งปวง พระนางทรงมีความดุดัน เกรี้ยวกราด รูปลักษณ์และอุปนิสัยล้วนเต็มไปด้วยความน่ากลัว แต่กระนั้นพระนางก็จะทำลายเฉพาะอสูร ปีศาจ และมนุษย์ที่กระทำการชั่วร้ายเท่านั้น เพราะพระแม่กาลีก็คือเทพที่ปกป้องคุ้มครองผู้กระทำความดีเช่นเดียวกันกับเทพทุกพระองค์ ฉะนั้นแม้ผู้ที่บูชาพระแม่อย่างเคร่งครัด แต่เป็นคนที่ไม่ดีมีความคิดที่ชั่วร้าย พระแม่ท่านก็จะทำลายบุคคลผู้นั้นเสียเช่นกัน



ตามตำราอินเดียโบราณที่เมืองกัลกัตตากล่าวไว้ว่าการบูชาพระแม่กาลี ผู้บูชามักจะสังเวยพระแม่ด้วยเลือดแพะ น้ำสีแดง เพราะน้ำสีแดงถือเป็นสิ่งสำคัญมากเนื่องจากสีแดงคือ สีแห่งพลัง ที่มีการเคลื่อนไหว เป็นสีแห่งการกำเนิดและความเร่าร้อนตลอดจนเปรียบได้ดั่งโลหิตของอสูรร้าย นอกจากนี้ยังมีการถวายขนมสีแดง อาหารคาว (เป็นเทพองค์เดียวของฮินดูที่ถวายเนื้อสัตว์อาหารคาวได้) เนื้อสัตว์จะต้องปรุงสุกหรือกึ่งสุกกึ่งดิบแล้วนำมาถวายได้ แต่ห้ามถวายเนื้อวัวเนื้อควาย ควรใช้เนื้อไก่หรือเนื้อเป็ด ถ้าถวายอาหารคาวก็ควรมีเหล้าถวายด้วย แต่ถ้าถวายเพียงขนมก็ไม่จำเป็นต้องมีเหล้า

ผู้บูชาที่เคร่งครัดจำต้องสวดบูชาสรรเสริญพระแม่กาลีด้วยมนต์ที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอที่ว่า
"โอม ศรี มหากาลิกาไย นะมะห์
โอม เจมาตากาลี
โอม สตี เยมา ตา กาลี
โอม ศรี มหากาลี มาตา นมัช"
นอกจากนี้จำต้องทำสมาธิทุกวันเพื่อประกอบ "ปราณยาม" หรือการทำสมาธิด้วยการหายใจเข้า-ออกโดยลากให้ยาวสุดเป็นระยะเวลาเท่าๆ กัน อย่างสม่ำเสมอทุกวัน และควรถือศีลอดบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อถวายแด่พระองค์



พระแม่กาลียังคงได้รับความนิยมและเคารพนับถือมากในปัจจุบันดังจะเห็นได้จากการนำเสนอผ่านสื่อซีรีส์เรื่อง พระมหากาลี เทพีพิทักษ์โลก โดยมีการดัดแปลงโครงเรื่องหรือตำนานเพียงบางส่วนแต่ก็ยังคงเหลือเค้าโครงเดิมของตำนานเป็นส่วนมาก ไม่เพียงแต่เค้าโครงเรื่องเท่านั้นแต่รูปลักษณ์ของพระแม่กาลียังผิดแผกแปลกไปจากเดิมตามยุคสมัย เพื่อง่ายต่อการนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อและผู้ที่รับชมสื่อจะสามารถเข้าถึงสารได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะผู้นำเสนอต้องการที่จะกล่าวถึงบทบาทสำคัญของพระแม่กาลี อีกทั้งยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้คนหันกลับมาเคารพและศรัทธาพระแม่กาลีเป็นจำนวนมากดั่งเช่นในอดีต

ถึงแม้ว่าความเชื่อและศรัทธาในพระแม่กาลี มิได้มากล้นเหมือนดังในอดีต หากแต่ยังคงไว้ซึ่งตำนานที่มีมาอย่างยาวนาน และประวัติศาสตร์ที่ยังถูกเล่าขานสืบต่อกันมาผ่านสื่อซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่อยากจะสื่อเรื่องราวให้ทุกผู้ทุกคนได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของพระองค์ ทั้งนี้รูปแบบการนับถือในปัจจุบันก็อาจจะแตกต่างกันออกไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป


อ้างอิง

สยามคเณศ.(ม.ป.ป.) พระแม่กาลี เทวีผู้ทรงมหิทธา. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
https://siamganesh.com/kali.html?

วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี.(ม.ป.ป.) กาลี. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5

sanook. (2556).พระแม่กาลี. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
https://guru.sanook.com/2702/

popcornfor2.(2561) [ภ.อินเดีย] มหากาลี เทวีพิทักษ์โลก. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
http://www.popcornfor2.com/cafe/view-7820

อ่านเพิ่มเติม »

การสิ้นสุดราชวงศ์กาเปเตียง

โดย ตรีนภา  วิชัยโย

Capetian Armorial
ประเทศฝรั่งเศสถูกจัดให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งด้านการคมนาคม การขนส่ง เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ อีกทั้งปัจจัยทางด้านสถาปัตยกรรม แฟชั่น และมนต์เสน่ห์ของชาวฝรั่งเศส ทำให้ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกเลยทีเดียว อีกทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยในอดีต ประเทศฝรั่งเศสปกครองโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะราชวงศ์กาเปเตียง ที่มีความสำคัญทั้งในด้านการปกครองประเทศ ด้านศาสนา ด้านสังคมเศรษฐกิจ และถือเป็นราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดราชวงศ์หนึ่งอีกด้วย

ราชวงศ์กาเปเตียง คือราชวงศ์ที่ปกครองฝรั่งเศสในสมัยกลาง มีพระเจ้าอูก กาแป (Hugh Capet) แห่งฝรั่งเศสเป็นต้นราชวงศ์ ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ ค.ศ. 987 แต่ราชวงศ์นี้ได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1328 เนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าชาร์ลที่ 4 ที่ทรงไร้ทายาทสืบทอดราชวงศ์
                                                           

พระเจ้าอูก กาแป 


พระเจ้าชาร์ลที่ 4
ที่มา : https://www.geni.com/

บรรพบุรุษของราชวงศ์กาเปเตียง คือ ตระกูลโรแบร์เตียง (Robertian) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเคานต์แห่งปารีสในอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก หรือประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ 10 ตระกูลโรแบร์เตียงอภิเษกกับราชวงศ์กาโรแล็งเฌียง ราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตกขณะนั้น ทำให้ตระกูลโรแบร์เตียงบางคนได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วย แต่ใน ค.ศ. 987 ราชวงศ์กาโรแล็งเฌียงสิ้นสุดลงในอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก และอูก กาแป กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่สืบเชื้อสายจากตระกูลโรแบร์เตียงจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์กาเปเตียง 

อูกเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่มาจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 987 โดยกลุ่มบุคคลสำคัญชาวแฟรงก์ อาดัลเบอโรสามารถโน้มน้าวเหล่าบุคคลสำคัญได้ว่าราชบัลลังก์ควรได้มาจากการเลือกตั้งมากกว่าการสืบทอดทางสายเลือด และชาร์ลส์แห่งโลร์แรน ผู้ท้าชิงชาวกาโรแล็งเฌียงที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวไม่เหมาะที่จะปกครอง อูกจึงได้รับการสวมมงกุฎในวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 987

คำว่า “กาเปเตียง” มาจากพระนามของพระเจ้าอูก กาแป ทั้งที่ “กาแป” มิได้เป็นนามสกุล แต่เป็นฉายานาม แต่กษัตริย์ฝรั่งเศสก็ทรงใช้ “กาแป” เป็นพระนามของพระราชสกุล เช่นเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสทรงถูกประหารด้วยเครื่องประหารกิโยติน ใน ค.ศ. 1793 การปกครองปฏิวัติในสมัยนั้นบันทึกในมรณบัตรว่า “หลุยส์ กาแป”

รัชสมัยของอูกมีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ ชาร์ลส์แห่งโลร์แรนพยายามแสดงสิทธิ์ของตนเพื่อแย้งอูกที่ 1 (เคานต์แห่งบลัวส์) และฟุลค์ แนร์รา (เคานต์แห่งอองฌู) แต่อูกกลับสนับสนุนพวกเขา และในปี ค.ศ. 993 อูกได้รับความช่วยเหลือจากอาร์ชบิชอปในแผนการขัดขวางการส่งตัวอูกกับพระโอรส โรแบรต์ ไปให้ออตโตที่ 3 ทำให้การส่งตัวไม่ประสบผลสำเร็จ แต่การที่ไม่มีใครถูกลงโทษจากเหตุการณ์นี้ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของราชวงศ์ใหม่กาเปเตียง อูกยังสามารถรักษาบัลลังก์ไว้ได้ อาจเพราะศัตรูที่ร่วมมือกันต่อต้านพระองค์นั้นไร้ซึ่งความสามารถที่จะแย่งชิงบัลลังก์

ต่อไปจะขอยกตัวอย่างพระราชกรณียกิจที่สำคัญของกษัตริย์บางพระองค์แห่งราชวงศ์กาเปเตียงเพื่อให้
ผู้อ่านได้ทราบถึงความสำคัญของราชวงศ์กาเปเตียงค่ะ


ที่มา : https://th.wikipedia.org/

พระเจ้าฟิลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1094 พระองค์ทรงถูกตัดขาดจากศาสนา (excommunicate)  โดยอูกแห่งดี (Hugh of Die) อาร์ชบิชอปแห่งลียงเป็นครั้งแรก และหลังจากไม่มีข่าวหรือการเคลื่อนไหวอะไรอยู่เป็นเวลานาน สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ก็ทรงประกาศคว่ำบาตรเป็นครั้งที่สองในสภาสังคายนาแห่งแคลร์มง (Council of Clermont) และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสดครั้งที่ 1


ที่มา : https://th.wikipedia.org/

พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส 

พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์กาเปเซียงองค์แรกที่ทรงมีบทบาทในการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกผู้มีความแข็งแกร่งตั้งแต่การแยกจักรวรรดิการอแล็งเฌียง อธิการซูว์เฌแห่งมหาวิหารแซ็ง-เดอนีกล่าวถึงพระองค์ว่าเป็นผู้ที่มีพระอุปนิสัยหนักแน่นที่ไม่เหมือนบรรพบุรุษของพระองค์ก่อนหน้านั้น
                                                   

ที่มา : https://th.wikipedia.org/

พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส 

พระองค์ทรงมีการศึกษาสูงและมีความศรัทธาทางศาสนาอย่างมุ่งมั่นเหมาะสมในหน้าที่ทางศาสนามากกว่าการปกครองบ้านเมือง เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ที่มหาวิหารแซงต์เดนีส์และทรงสร้างความสัมพันธ์กับแอ็บบ็อทซูแฌร์ผู้มีบทบาทสำคัญในต้นรัชสมัยของพระองค์

รัชสมัยของพระองค์เป็นรัชสมัยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างอำนาจของขุนนางจากตระกูลต่าง ๆ โดยเฉพาะตระกูลอองชู (อองเฌแว็ง) ที่เป็นช่วงของการเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรฝรั่งเศสและราชอาณาจักรอังกฤษ และการเข้าร่วมในสงครามครูเสดครั้งที่ 2
                                                                     

ที่มา : https://th.wikipedia.org/

พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส 

พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสพระองค์เดียวที่ทรงได้รับการประกาศเป็นนักบุญ ในปี ค.ศ. 1297 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาบอนิเฟซที่ 8 ซึ่งทำให้มีสถานที่ต่าง ๆ ที่ตั้งชื่อตามพระองค์อยู่มากมาย
                                                                     

ที่มา : https://th.wikipedia.org/

พระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส

ความขัดแย้งทางทหารที่รู้จักกันดีที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 คือสงครามกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ ในช่วงเดียวกันนี้พระองค์ยังได้เข้าเป็นพันธมิตรกับราชอาณาจักรสกอตแลนด์ ซึ่งเริ่มในรัชสมัยของจอห์น บัลลิออลเพื่อต่อต้านแผนการรุกรานฝรั่งเศสของพระเจ้ากรุงอังกฤษ

ปัจจุบันเชื้อสายราชวงศ์กาเปเตียงที่ยังมีพระชนม์ชีพและถือพระราชสมบัติอยู่ คือ พระเจ้าเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปนและแกรนด์ดุ๊กเฮนรี่แห่งลักเซมเบิร์ก แต่เป็นเชื้อสายราชวงศ์กาเปเตียงผ่านทางราชวงศ์บูร์บง ซึ่งเป็นราชวงศ์ย่อยของราชวงศ์กาเปเตียง พร้อม ๆ กับราชวงศ์ฮับส์บูร์กซึ่งเป็นหนึ่งในสองราชวงศ์ที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรป ปกครองยุโรปนานเกือบห้าศตวรรษ

หากมองย้อนกลับไปแล้ว ราชวงศ์กาเปเตียงมีความสำคัญต่อยุโรปเป็นอย่างมาก ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการปกครอง ด้านสังคม ด้านศาสนา ทำให้ฝรั่งเศสสมัยนั้นพัฒนาจนสามารถทัดเทียมกับประเทศที่ปกครองโดยราชวงศ์ที่มีความยิ่งใหญ่กว่าประเทศของตนได้ หากแต่ราชวงศ์ต้องสิ้นสุดลงเพราะพระเจ้าชาร์ลที่ 4 ทรงไร้ทายาทสืบทอดราชวงศ์ แต่ปัจจุบันราชวงศ์กาเปเตียงที่ยังมีพระชนม์ชีพและถือพระราชสมบัติอยู่ คือ กษัตริย์แห่งสเปนและแกรนด์ดุ๊กแห่งลักเซมเบิร์กผ่านทางราชวงศ์บูร์บง ซึ่งเป็นสาขาย่อยของราชวงศ์กาเปเตียงนั่นเอง


อ้างอิง  

pi-nu (นามปากกา). สงครามร้อยปี(Hundred Years’War)..ว่าด้วยเรื่องดินแดน. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561, จาก : https://pi-nu.blogspot.com/2012/10/hundred-yearswar.html

Unknow. Capetian dynasty. Retrieved 25 September 2018, from :  https://en.wikipedia.org/wiki/Capetian_dynasty#Current_Capetian_rulers

New World Encyclopedia. Hugh Capet. Retrieved 26 September 2018, from : http://www.newworldencyclopedia.org/entry/Hugh_Capet

บริษัท เลทส์ ซี ฮอลิเดย์. ข้อมูลทั่วไปฝรั่งเศส. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561, จาก :
https://www.letsseeholiday.net/


อ่านเพิ่มเติม »

โรมุลุส เอากุสตุลุส (Romulus Augustulus) จักรพรรดิโรมันองค์สุดท้าย และเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน

โดย ธนัญญา ตันชวลิต

ประวัติของจักรพรรดิโรมุลุส เอากุสตุลุส แม้จะไม่ปรากฏรายละเอียดมากนัก หากแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้นเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ซึ่งถูกนำเสนอผ่านประวัติของพระองค์และสามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายใน และการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง โดยถึงแม้ว่าโรมุลุส เอากุสตุลุสจะดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิในช่วงเวลานั้น หากแต่อำนาจทางการปกครองกลับขึ้นอยู่กับบิดาของพระองค์แทบทั้งสิ้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกนั้นจึงมิใช่จากพระองค์เอง หากแต่เป็นบุคคลที่อยู่รายล้อมพระองค์ ความสำคัญในรัชสมัยของพระองค์จึงมิใช่พระราชกรณียกิจของจักรพรรดิ หากแต่เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสิ้นสุดของจักวรรดิโรมันตะวันตกซึ่งเคยรุ่งโรจน์และมีอำนาจเหนืออาณาจักรอื่นทั้งปวง

โรมุลุส เอากุสตุลุส (Romulus Augustulus) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอากุสตุลุส พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์สุดท้าย ชื่อเดิมคือ ฟลาวิอุส โรมูลุส ประสูติราวช่วง ค.ศ.​461 ส่วนการสวรรคตไม่อาจทราบหลักฐานที่แน่ชัด ซึ่งจากการคาดการณ์น่าจะเป็นช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์ขณะที่ยังเป็นวัยรุ่น ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ.​475 ถึงวันที่ 4 กันยายน ค.ศ.​476 ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ถูกถอดออกจากราชบัลลังก์หลังจากครองราชย์ได้เพียง 10 เดือนเศษๆ เท่านั้น นักวิชาการจึงถือว่าการสิ้นสุดรัชกาลของพระองค์เป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันตะวันตก และเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยกลางในยุโรปตะวันตก


โรมุลุส เอากุสตุส หรือ เอากุสตุลุส จักรพรรดิโรมันพระองค์สุดท้าย

บิดาของพระองค์คือ ฟลาวิอุส โอเรสเตส ทหารและนักการเมืองโรมันเชื้อสายเยอรมัน ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ช่วยของอัตติลา จักรพรรดิชาวฮันผู้ครองจักรวรรดิฮัน (Attila the Hun) และบางครั้งก็ถูกส่งไปเยือนกรุงคอนสแตนติโนเปิลโดยการทูต หลังจากที่อัตติลาเสียชีวิต โอเรสเตสได้เข้าร่วมรับใช้จักรวรรดิตะวันตก โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารจากจักรพรรดิจูเลียส เนโพส จึงทำให้มีอำนาจในการควบคุมกองทัพเมื่อราว ค.ศ.474

ส่วนมารดาของพระองค์เป็นลูกสาวของเคานท์ โรมุลุส ผู้ปกครองเมืองพาสซัว ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแคว้นบาวาเรียในประเทศเยอรมนีปัจจุบัน ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเอากุสตุลุสมีพี่น้องหรือแต่งงานกับใคร แต่เนื่องด้วยพระองค์เป็นบุตรของชนชั้นสูงที่ถือว่ามีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลในช่วงสมัยนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าพระองค์คงได้รับการศึกษาอย่างดีเช่นเดียวกับเด็กชายจากครอบครัวผู้ดีมีสกุลอื่นๆ

ตำแหน่งนายทหารที่ได้รับทำให้โอเรสเตสได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังมากกว่าจักรพรรดิของพวกเขาเอง ในช่วงเวลาขณะนั้นกองทหารรักษาการณ์ของอิตาลีเกือบทั้งหมดประกอบไปด้วยทหารรับจ้างชาวเยอรมัน ความรู้สึกจงรักภักดีต่อจักรวรรดิจึงน้อยลงมาก ซึ่งถ้าพวกเขาจะเกิดความจงรักภักดีมันก็จะเกิดจากเพื่อนร่วมชาติที่มีเชื้อสายเดียวกัน ซึ่งนั่นก็อาจหมายถึง โอเรสเตส นายทหารลูกครึ่งโรมัน-เยอรมัน

เหตุการณ์ก่อนการขึ้นครองราชย์ของโรมุลุส เอากุสตุลุส เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ.474 ซึ่งอยู่ในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิจูเลียส เนโพส ได้มีการแต่งตั้งให้โอเรสเตส บิดาของโรมุลุสขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารที่มีอำนาจสูงสุดในกองทัพโรมัน เมื่อเห็นโอกาสโอเรสเตสจึงได้ทำการก่อรัฐประหาร และประสบความสำเร็จเมื่อโอเรสเตสสามารถควบคุมรัฐบาลที่เมืองราเวนนา (เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันตก) ไว้ได้ และทำการยึดอำนาจจากจักรพรรดิองค์ก่อนหน้า คือ จักรพรรดิจูเลียส เนโพส ทำให้จักรพรรดิจูเลียสต้องหลบหนีไปยังแคว้นดัลเมเชียและปกครองอยู่ที่นั่นจนกระทั่งสวรรคต หลังจากนั้นโอเรสเตสจึงใช้อำนาจที่มีปูทางขึ้นสู่อำนาจให้แก่ลูกชาย

โอเรสเตสได้กลายเป็นผู้ปกครองโรมันตะวันตกไปโดยปริยาย ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีสิทธิชอบธรรมในการสถาปนาตนเองขึ้นสู่ราชบัลลังก์ก็ตาม แต่กระนั้นโอเรสเตสก็ได้แต่งตั้งลูกชายของตนที่เกิดจากภรรยาชาวโรมันให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน เพราะเขาคิดว่าชาวโรมันจะเต็มใจยอมรับลูกชายของเขาผู้ซึ่งมีสายเลือดโรมันในตัวเป็นจักรพรรดิมากกว่าตนเอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามโอเรสเตสก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะแต่งตั้งลูกชายของตนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตก หากแต่การแต่งตั้งดังกล่าวไม่ได้รับการเห็นชอบหรือยอมรับจากจักรพรรดิในจักรวรรดิไบเซนไทน์ (โรมันตะวันออก) คือ เซโนและบาซิลิคุส

หลังจากได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตก พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาพระนามว่า โรมุลุส เอากุสตุส ซึ่งประกอบด้วยคำว่า โรมุลุส เป็นชื่อของบุคคลในตำนานการก่อตั้งกรุงโรม กับ เอากุสตุส (ออกัสตัส ทายาทของจูเลียส ซีซาร์ และเป็นผู้สถาปนาจักรวรรดิโรมัน) ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความบังเอิญที่จักรพรรดิโรมันองค์สุดท้ายจะทรงได้รับพระนามมาจากจักรพรรดิพระองค์แรก อีกทั้งบางคนยังได้ตั้งชื่อเล่นให้พระองค์ใหม่ว่า โมมีลลุส ที่แปลว่า เด็กหน้าไม่อาย และ โรมุลุส เอากุสตุลุส ที่แปลว่า เอากุสตุสน้อย คำกล่าวล้อเลียนนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้คนที่ยอมรับโรมุลุสในฐานะจักรพรรดิในช่วงเวลานั้นมีไม่มากนัก อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้ให้ความเคารพจักรพรรดิเช่นเขา

ตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีก่อนที่จักรพรรดิโรมุลุสขึ้นครองราชย์ จักรวรรดิโรมันตะวันตกมีความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก อำนาจทางการเมืองและดินแดนก็หดหายไปเรื่อย ๆ ขณะที่จักรวรรดิฝั่งตะวันออกที่ต่อมาเรียกว่า จักรวรรดิไบเซนไทน์ กลับยิ่งร่ำรวยและมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องด้วยจักรพรรดิโรมุลุส ทรงมีพระชนมายุแค่ 14 ชันษา พระองค์จึงมิได้ปกครองด้วยตนเอง เพราะอำนาจการบริหารตกไปอยู่กับบิดาของพระองค์ทั้งหมด หรือเรียกอีกอย่างว่า สำเร็จราชการแทน ถึงแม้ว่าจะมีพระนามของพระองค์ปรากฏอยู่บนเหรียญกษาปณ์ของบางเมือง เช่น โรมัน ราเวนนา และมิลาน แต่กลับไม่พบอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติพระองค์เลย เนื่องจากพระองค์เพิ่งขึ้นครองราชย์ ขณะเดียวกันอำนาจที่แท้จริงก็ไปตกอยู่กับบิดา นอกจากนี้ยังคงเป็นเพราะเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและการเมืองด้วย

ภายในเวลาเพียงแค่สิบเดือนหลังจากที่จักรพรรดิโรมุลุสขึ้นครองราชย์ กบฏทางการทหารที่รุนแรงก็เกิดขึ้น เหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งนี้ คือ บริเวณส่วนอื่น ๆ ของจักรวรรดิโรมันตะวันตก เจ้าของที่ดินถูกบังคับให้ส่งมอบสมบัติถึงสองในสามของทรัพย์สินที่พวกเขามีให้แก่ชาวเยอรมัน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธมิตรกับชาวเยอรมันภายในจักรวรรดิ อย่างไรก็ตามนโยบายนี้ไม่เคยถูกนำมาใช้กับอิตาลี โอเรสเตสได้ทำสัญญาขึ้นโดยตกลงจะมอบที่ดินให้แก่ทหารชาวเยอรมันหากพวกเขาช่วยขับไล่จักรพรรดิจูเลียส เนโพส เมื่อสามารถขับไล่ได้สำเร็จโอเรสเตสกลับเลือกที่จะลืมข้อตกลงดังกล่าว แต่กองกำลังเยอรมันไม่เต็มใจที่จะปล่อยให้ปัญหาถูกลืม และเรียกร้องต่อผลประโยชน์ที่พวกเขาควรจะได้รับ

ชนเผ่าเยอรมัน 3 เผ่า คือเผ่าเฮรูลี เผ่าตูรซีลิงกิ และเผ่าสกีเรียน รวมตัวกันต่อต้านอำนาจทางการปกครองของจักรพรรดิโรมุลุสและบิดา จนกระทั่งในที่สุดเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.​476 กองทัพชนเผ่าเยอรมันภายใต้การนำของโอโดเซอร์ ก็นำกำลังกองทัพเข้าตีฝ่าแนวชายแดนเข้ามาในคาบสมุทรอิตาลี


จักรพรรดิโรมุลุสทรงยอมอ่อนน้อมต่อโอโดเซอร์

ในวันที่ 23 สิงหาคม โอโดเซอร์ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์แรกของอิตาลี และในอีก 5 วันต่อมา โอเรสเตส บิดาของจักรพรรดิโรมุลุส ก็ได้ถูกทหารของโอโดเซอร์เข้าจับกุมและสังหารที่เมืองปิอาเซนซา ทางตอนเหนือของอิตาลี ส่วนจักรพรรดิโรมุลุสหลบหนีไปจากสนามรบ กล่าวกันว่าพระองค์ทรงหลบไปอยู่ที่เมืองราเวนนา

เดือนต่อมา โอโดเซอร์ได้ทำการปลดจักรพรรดิโรมุลุสออกจากตำแหน่ง จึงอาจกล่าวได้ว่าจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่ยืนยาวมาเกือบ 500 ปีก็ถึงกาลสิ้นสุดลง

แทนที่โรมุลุสจะถูกประหารเช่นเดียวกับบิดาของเขา แต่โอโดเซอร์เห็นว่าพระองค์ยังเด็กเกินไปที่จะตาย จึงไว้ชีวิตแล้วให้ไปอยู่ที่ปราสาทลูคูลลูสในเมืองกัมพาเนีย ทางตอนใต้ของอิตาลี พร้อมทั้งให้เงินเป็นค่าใช้จ่ายปีละ 6000 เหรียญทองตลอดไป

หลังการประหารโอเรสเตสบิดา ของจักรพรรดิโรมุลุสและปลดเอากุสตุสซึ่งก็คือจักรพรรดิองค์สุดท้ายออกจากตำแหน่ง บรรดาพระราชลัญจกร และราชภัณฑ์ต่าง ๆ ในราชสำนักก็ได้ถูกส่งไปให้จักรพรรดิเซโนแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออก

ในขณะเดียวกันนั้นจักรวรรดิโรมันตะวันออกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 474 ซึ่งถูกปกครองโดยจักรพรรดิเซโน (Flavius Zeno) ได้รับความเดือดร้อนเมื่อทราบว่าโอโดเซอร์จากเผ่าเยอรมันโจมตีกรุงโรม และปลดจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งฝั่งตะวันตก คือ จักรพรรดิโรมุลุส ออกุสตุส ออกจากบัลลังก์ ทำให้จักรพรรดิฝั่งตะวันออกต้องส่งพระเจ้าธีโอโดริค แห่งชาวออสโตรกอท (Ostrogoths) มายึดกรุงโรมคืน ต่อมาสี่ปีภายหลังแห่งสมรภูมิรบ ผู้นำทั้งสอง คือ โอโดเซอร์และพระเจ้าธีโอดอริคจึงได้มีการตกลงที่จะพักรบชั่วคราวและทำข้อตกลงในการแบ่งเขตการปกครองอิตาลี แต่การแบ่งเขตอำนาจนั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อพระเจ้าธีโอดอริคได้สังหารโอโดเซอร์ และกองกำลังของพระเจ้าธีโอดอริคยังสังหารวงศาคณาญาติของโอโดเซอร์ทั้งหมด เนื่องจากต้องการตัดทอนกองกำลังของโอโดเซอร์ ต่อมาแม้ว่าจักรพรรดิโรมันตะวันออกต้องการส่งพระเจ้าธีโอดอริคไปต่อสู้เพื่อยึดกรุงโรมคืนจากโอโดเซอร์ หากแต่พระเจ้าธีโอดอริคกลับตั้งอาณาจักรในอิตาลีเสียเอง

พระเจ้าธีโอดอริคสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระราชาของอิตาลี ไม่ใช่จักรพรรดิของจักรวรรดิโรม ตระกูลของจักรพรรดิทางฝั่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกจึงถือว่าสิ้นสุดลง และตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวเยอรมัน จึงถือได้ว่าเหตุการณ์นี้เป็นการสิ้นสุดการปกครองของจักรพรรดิในจักรวรรดิโรมันตะวันตกหรือเป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันตะวันตกโดยสมบูรณ์ ส่วนจักรวรรดิโรมันตะวันออกยังคงปกครองกรีซ เอเชียไมเนอร์ ซีเรีย ปาเลสไตน์ และอียิปต์ เป็นที่รู้จักกันในนามของจักรวรรดิไบเซนไทน์ จึงถือว่าอาณาจักรโรมันที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 500 ปี ถึงคราวสิ้นสุด

จากการศึกษาประวัติของจักรพรรดิโรมุลุส เอากุสตุลุส แสดงให้เห็นว่าบุตรจะดีหรือเลวนั้นขึ้นอยู่กับการขัดเกลาทางสังคมจากสถาบันครอบครอบเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของอำนาจ ที่เมื่อผู้ใดครอบครองก็มักจะเกิดความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ และกระหายที่จะมีอย่างไม่สิ้นสุด เป็นสิ่งอันตรายที่มักจะนำภัยมาสู่ตนเอง เช่นเดียวกับจุดจบที่โอเรสเตสต้องพบเจอ
         

อ้างอิง  

ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. 2558. Life of the Week: Romulus Augustus, สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน ปี 2561, จาก : https://www.historyextra.com/period/roman/life-of-the-week-romulus-augustus/

ชัยจักร ทวยุทธานนท์. 2017. โรมุลุส เอากุสตุลุส : จักรพรรดิโรมันองค์สุดท้าย. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน ปี 2561, จาก :  http://www.gypzyworld.com/article/view/447

ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. 2551. ประวัติศาสตร์ยุโรปเพิ่มเติม (โรมุลุส), สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน ปี 2561, จาก : https://writer.dek-d.com/12455/story/viewlongc.php?id=399957&chapter=41

 ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. 2559. Romulus Augustus – The Last Emperor of Rome, สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม ปี 2561, จาก : http://www.italiantribune.com/romulus-augustus-the-last-emperor-of-rome/
     
อ่านเพิ่มเติม »

ดวงตาแห่งโฮรุส (The Eyes of Horus) : สัญลักษณ์แห่งมหาเทพ ‘โฮรุส’

โดย ศิรินภา เฉื่อยไธสง

ไอคุปต์ ดินแดนอียิปต์โบราณที่ซึ่งมีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีตำนานและเรื่องเล่ามากมายได้ถูกบันทึกและเล่าขานสืบต่อมา ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น ชาวไอคุปต์นับถือเทพเจ้าหลายองค์ และหนึ่งในสามเทพที่ได้รับการนับถือมากที่สุดในอียิปต์โบราณ ผู้ซึ่งนำความสันติยาวนานมาสู่ดินแดนอียิปต์  “เทพโฮรุส” ผู้มีดวงตาที่รู้แจ้ง ผู้ทิ้งไว้ซึ่งสัญลักษณ์อันได้รับการนับถือประหนึ่งเป็นตัวแทนพระองค์ พบมากในศิลปะโบราณและยังคงได้รับการเคารพในปัจจุบัน นั่นคือ “ดวงตาแห่งโฮรุส  (The Eyes of Horus)”
           
เทพโฮรุส (Horus) ทรงเป็นโอรสของเทพโอซีริส (Osiris) เทพแห่งชีวิตหลังความตาย ผู้ซึ่งปกครองยมโลกอันเป็นดินแดนแห่งวิญญาณ เทพโอซีริสทรงเปี่ยมด้วยเมตตาและต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ อีกทั้งเป็นผู้นำพาดินแดนอียิปต์โบราณหลุดพ้นจากความป่าเถื่อนสู่ดินแดนแห่งอารยธรรม  และ เทพีไอซิส (Isis) เทพีแห่งความรัก  ความอุดมสมบูรณ์และการรักษา นอกจากนี้ชาวอียิปต์ยังมีความเชื่อว่าพระนางเป็นผู้สอนชาวอียิปต์ให้รู้จักการปั่นด้ายและทอผ้า ทำแป้งสาลี รวมถึงการกสิกรรมต่างๆ เทพและเทพีทั้งสองได้รับการนับถืออย่างมาก ไม่ต่างจากโฮรุสบุตรของพระองค์ ด้วยเชื่อว่าดินแดนไอคุปต์รุ่งเรือง และมากด้วยสันติสุขนับคณาในช่วงเวลานั้น


ที่มา: https://writer.dek-d.com/

เทพโฮรุส (Horus) เป็นหนึ่งในเทพที่ได้รับการนับถือสูงสุดในอียิปต์ มีเทพีฮาธอร์ (Hathor) เทพีแห่งความรัก ความสุข การแต่งงาน การเต้นรำ และความงดงาม เป็นพระชายา รูปลักษณ์เทพโฮรุสอันเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปคือชายหนุ่มที่มีพระเศียรเป็นเหยี่ยว มีพระเนตรทั้งสองเป็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์  ชาวไอยคุปต์ต่างสรรเสริญพระองค์ในฐานะเทพผู้กล้า ราชันย์แห่งชัยชนะและการแก้แค้น เทพแห่งแสงสว่างและเทพแห่งความหวัง พระองค์ทรงพิชิตเทพเสต (Seth) เทพแห่งความมืดและการทำลายล้าง ซึ่งเป็นพระปิตุลาของพระองค์เอง และได้ทวงคืนราชบรรลังก์อันเป็นของพระองค์โดยชอบธรรมกลับคืน ซึ่งนั่นเป็นการทำให้ความมืดดำหายไปจากโลก โฮรุสจึงถือเป็นผู้นำความสงบและสันติกลับคืนสู่ดินแดนอียิปต์โบราณ  พระองค์คือฟาโรห์ผู้ปกครองไอคุปต์ให้สงบสุขเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี นอกจากนี้ชาวอียิปต์โบราณต่างเชื่อว่าฟาโรห์องค์สุดท้ายคือเทพโฮรุสที่ในภาคมนุษย์ที่สถิตลงมาเพื่อปกครองแผ่นดิน โดยมีคำเรียกแทนฟาโรห์ว่า ‘Living Horus’
   
บทสรรเสริญเทพโฮรุส
“...ขอให้เทพเจ้าโฮรุสผู้กล้าหาญ โอรสแห่งเทพเจ้าโอซิริสทรงพระเจริญ...
...ขอความรุ่งเรืองจงบังเกิดแด่ เทพโฮรุส ผู้แข็งแกร่ง ครองฉมวกเป็นอาวุธ ผู้กล้าผู้พิชิตเสต
ราชบุตรองค์เดียวในโอซิริส เทพโฮรุสแห่งเอดฟู เทพแห่งการล้างแค้น!...” (ชลิตดา. ตำนานอียิปต์โบราณ (ฉบับสมบูรณ์).  กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ. 2548. หน้า 95)


ที่มา: https://io9.gizmodo.com/
           
ดวงตาแห่งโฮรุส สัญลักษณ์จากอียิปต์โบราณ เป็นพระนามของเทพโฮรุส หนึ่งในเทพผู้มีอำนาจมากที่สุดและโดดเด่นที่สุดแห่งไอคุปต์ เดิมชาวอียิปต์เรียกสัญลักษณ์นี้ว่า ‘Wedjat’ หรือ ‘Udjat’ ตามพระนามของเทพธิดาวัดเจต (Wadjet) เทพีผู้ปกครองอียิปต์ล่าง แต่โดยมากเรื่องราวของสัญลักษณ์นี้มักถูกโยงเข้ากับเทพโฮรุสเสียมากกว่า ดวงตาแห่งโฮรุส มีลักษณะคล้ายดวงตามนุษย์แต่มีหางตาอย่างเหยี่ยว ตามลักษณะพระเศียรของเทพโฮรุส บ้างก็ปรากฏหยดน้ำตาบริเวณด้านล่างของดวงตาด้วย

สัญลักษณ์นี้คาดว่าเป็นดวงตาข้างซ้ายของเทพโฮรุส โดยอ้างจากตำนานหนึ่ง อันเป็นเรื่องราวการแย่งชิงราชบัลลังก์ภายหลังเทพโอซีริส (Osiris) สิ้นพระชนม์ เทพเสต (Seth) และเทพโฮรุส (Horus) ได้ต่อสู้กันทั้งทางการศึกและการใช้เล่ห์อุบาย  และระหว่างการต่อสู้ เทพเสต ได้ควักลูกตาซ้ายของโฮรุสออก แต่ภายหลังดวงตานั้นก็ถูกฟื้นฟูจนเกือบสมบูรณ์ โดยมีเทพีฮาธอร์ (Hathor) ผู้เป็นชายาช่วยรักษา และเมื่อดวงตาของตนหายดีแล้ว โฮรุสก็นำดวงตามอบให้แด่โอซิริสผู้เป็นพระบิดา เพื่อให้ดวงตานั้นฟื้นฟูพลังชีวิตของบิดาตน ด้วยตำนานดังกล่าวดวงตาของโฮรุสจึงมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการเสียสละ การฟื้นฟู และการปกป้อง

ชาวอียิปต์โบราณเชื่อถือว่า ดวงตาแห่งโฮรุส เป็นสัญลักษณ์แห่งการปกป้องคุ้มครอง โดยมีเรื่องเล่าถึงความเชื่อนี้ว่า ลูกเรือชาวอียิปต์คนหนึ่งได้วาดสัญลักษณ์ดวงตาแห่งเทพโฮรัสไว้บนคันธนูของตน ก่อนแล่นเรือไปบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตราย เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งที่ชายหนุ่มคนนั้นสามารถเดินทางผ่านน่านน้ำที่ไม่คุ้นเคยได้อย่างปลอดภัย ต่างเชื่อกันว่า ดวงตาแห่งโฮรุส ที่เขาวาดไว้บนบนคันธนู ได้ช่วยนำทางเรือและคุ้มครองเขาให้ปลอดภัย เสมือนมีเทพโฮรุสผู้ฉลาดหลักแหลม และมีดวงตาที่มองทะลุได้อย่างรู้แจ้งเห็นจริงคอยช่วยเหลือนั่นเอง ทั้งนี้ ดวงตาแห่งโฮรุส ยังได้รับการเปรียบว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรอบรู้ สุขภาพดี และความมั่งคั่ง มีพลังอำนาจที่ส่งผลต่อการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับโลกที่ไม่มีความมั่นคง และแก้ไขสิ่งที่ไม่เที่ยงธรรมอีกด้วย

ดวงตาแห่งโฮรุส ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่กลับมาอีกครั้ง อาจเชื่อมโยงไปถึงเทพโฮรัสผู้ซึ่งไม่มีวันตาย แม้จะถูกลอบปลงพระชนม์หรือสิ้นชีพไปกี่ครั้งคราพระองค์ก็ยังคงคืนชีพกลับมาเสมอ สัญลักษณ์นี้จึงถูกพบว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกจารึกลงบนหีบศพ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันสุขภาพของผู้วายชนม์ และเพื่อให้ร่างฟื้นคืนขึ้นมาได้ เมื่อ ‘คา’ กลับมา และสัญลักษณ์นี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นทางให้แก่ฟาโรห์ในยามที่เดินทางจากดินแดนแห่งชีวิตไปสู่ดินแดนแห่งความตาย คนโบราณจึงเคารพดวงตาของฮอรัสเป็นดังตัวแทนของอาณาจักรใหม่อันเป็นนิรันดร์จากฟาโรห์องค์หนึ่งไปสู่ฟาโรห์อีกองค์หนึ่ง


ที่มา: https://www.imdb.com/

สัญลักษณ์ ดวงตาแห่งโฮรุส นี้ ยังคงได้รับความนิยมและนับถืออย่างมากในปัจจุบันดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์ เทพนิยาย รวมไปถึงวงการต่างๆที่ได้นำไปเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกถึงความเชื่อนี้ ปัจจุบันผู้คนนิยมนำดวงตาแห่งโฮรุสไปดัดแปลงเป็นเครื่องรางและเครื่องประดับต่างๆ เพื่อง่ายต่อการพกพา แต่ยังคงยึดถือตามความหมายเดิมของอียิปต์โบราณ คือเป็นเครื่องหมายแห่งการปกป้องคุ้มครอง ความอุดมสมบูรณ์ ความรู้ พลังอำนาจ และสุขภาพที่ดี

ถึงแม้ว่าความเชื่อและศรัทธาใน ดวงตาแห่งโฮรุส จะมิได้มากล้นเหลือดังในอดีต หากแต่ยังคงไว้ซึ่งความขลังดังตำนานที่มีมาอย่างยาวนาน และประวัติศาสตร์แห่งทวยเทพที่ยังคงถูกเล่าขานสืบต่อมาผ่านสัญลักษณ์นี้ เพียงแต่รูปแบบการเคารพอาจแตกต่างออกไป หรือคงเหลือศรัทธาอยู่ในชนเฉพาะกลุ่มมิสิ่งเคารพของคนส่วนใหญ่เช่นในอดีต แต่ถึงอย่างไรความเชื่อในสัญลักษณ์แห่งมหาเทพนี้ ก็ยังคงสืบต่อมาจวบจนปัจจุบันมิได้สูญหายไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด


อ้างอิง

etatae333.  (2557).    เทพฮอรัส (Horus) โอรสแห่งโอซิริส. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2561, จาก: http://www.cmxseed.com/cmxseedforumn/index.php?topic=96175.0

Eye of Horus.  [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2561, จาก :  https://en.wikipedia.org/wiki/Eye_of_Horus

Mythologian NET.  (ม.ป.ป.) The Eye of Horus (The Egyptian Eye) and Its Meaning. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2561, จาก : http://mythologian.net/eye-horus-egyptian-eye-meaning/

ชลิตดา. ตำนานอียิปต์โบราณ (ฉบับสมบูรณ์). (2548).  กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ.

สมฤทธี บัวระมวล, บก.เรียบเรียง.  ตำนานอียิปต์โบราณ ยุครุ่งอรุณแห่งอารยธรรมโลก.  (2542).  กรุงเทพฯ : คุ้มคำ.
         

อ่านเพิ่มเติม »

โกโก้ : ประวัติศาสตร์ที่อัดแน่นอยู่เต็มฝัก!

โดย พิมชนก บุญแจ้ง

จากฝักสู่แก้วโปรด

เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มแก้วโปรด โกโก้ร้อน โกโก้เย็น หรือโกโก้ปั่น ก็เป็นหนึ่งในคำตอบในดวงใจของใครหลายๆ คน ด้วยกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์กับรสชาติเข้มข้นติดปลายลิ้น ถ้าได้ดื่มโกโก้ร้อนในช่วงหน้าหนาวก็จะทำให้ร่างกายอบอุ่น หรือจะเป็นโกโก้เย็น โกโก้ปั่นในหน้าร้อน ก็ทำให้สดชื่นในครั้งแรกที่ยกดื่ม และเมื่อถามถึงขนมที่ทุกคนโปรดปราน ช็อกแลต ก็เป็นที่หนึ่งในดวงใจของใครหลายๆ คนเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโกโก้หรือช็อกโกแลต ทั้งสองอย่างนี้ก็ล้วนทำมาจากเมล็ดของต้นคาเคา (Cacao) หรือต้นโกโก้นั่นเอง


เมล็ดโกโก้

ที่มาของแก้วโปรด

แต่หากพูดถึงต้นกำเนิดของโกโก้ ต้องย้อนไปถึงสมัยอเมริกาโบราณ ในพื้นที่ เมโสอเมริกา หรือ อเมริกากลาง นั้นมีอารยธรรมสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 อารยธรรม ได้แก่ โอลเม็ก (Olmec) มายา (Maya) และแอซเท็ก (Aztec) โดยชนเผ่ามายานั้นเป็นชนกลุ่มแรกที่สร้างเครื่องดื่มรสเข้มข้นจากเมล็ดโกโก้ ซึ่งความน่าสนใจนั้นอยู่ที่พวกเขามีความเชื่อว่า

"โกโก้นั้นคือของขวัญจากพระเจ้า"

โกโก้เป็นพืชสกุล Theobroma มีถิ่นกำเนิดบริเวณ Upper Amazon Basin จากประเทศเม็กซิโก ถึงประเทศเปรูในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบริเวณป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rainforest) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Theobroma cacao L. (สัณห์ ละอองศรี, ออนไลน์) ซึ่ง Theobroma เป็นภาษากรีก หมายถึง Food of the Gods หรือ อาหารของพระเจ้านั่นเอง!

โกโก้เป็นพืชพื้นเมืองในเขตร้อนของทวีปอเมริกา ทุกวันนี้เรายังไม่รู้ว่าใครคือผู้เริ่มต้นปลูกโกโก้เป็นคนแรก แต่เท่าที่ทราบ คำว่าโกโก้เองมีรากศัพท์มาจากคำว่า กากาว ในภาษามายา และพอถึง 1100 ปีก่อนคริสตศักราช ชาวมายายุคแรกๆ ก็รู้จักนำโกโก้มาทำเป็นเครื่องดื่มกันแล้ว สูตรการปรุงช็อกโกแลตของชาวมายาเริ่มจากการตาก คั่ว และบดเมล็ดโกโก้ที่ผ่านการหมักมาแล้ว จากนั้นจึงนำผงที่ได้ไปผสมน้ำ ปรุงแต่งรสชาติด้วยอบเชย พริก และวนิลลา ก่อนจะรินใส่หม้ออีกใบสลับกันไปมาจนเกิดฟองขึ้นด้านบน ซึ่งถือเป็นส่วนที่เลิศรสที่สุด (เอ. อาร์. วิลเลียมส์, น. 114)

ต่อมาประมาณ ค.ศ. 1500 กองทัพสเปนได้ยกทัพมาบุกอเมริกากลางและเม็กซิโก และได้รู้จักประโยชน์ของโกโก้ พร้อมนำกลับไปยังสเปน และค้นพบว่าเมล็ดมีรสเลิศ และอร่อยกว่าเมล็ดพืชอื่น ซึ่งในช่วงแรกมีการใช้ผงเมล็ดมาชงน้ำ และดื่มแบบเย็น ๆ ซึ่งมีรสขม เป็นฟอง จึงยังไม่นิยมมากนัก ต่อมาปรับเปลี่ยนวิธีชงเป็นแบบร้อน ทำให้มีรสหวาน และมีกลิ่นหอมมากขึ้น หลังจากนั้น สเปนจึงเริ่มเพาะปลูกโกโก้จำนวนมากเป็นชาติแรกในยุโรป เพื่อแปรรูปเป็นเครื่องดื่มโกโก้ และวิวัฒนาการแปรรูปมาเป็นช็อกโกแลตที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน (puechkaset, ออนไลน์)


อักษรภาพภาษามายาเขียนว่าคาเคา แปลว่า โกโก้

ภาชนะสำหรับบรรจุและเสิร์ฟช็อกโกแลตของชาวมายาประดับลวดลายเป็นภาพกษัตริย์ ชนชั้นสูง รวมถึงเทพเจ้าขณะทรงดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ ส่วนสามัญชนอาจมีโอกาสได้ดื่มช็อกโกแลตในงานเลี้ยงฉลอง (เอ. อาร์. วิลเลียมส์, น. 114)


ศิลปะของชนเผ่ามายาแสดงภาพของกษัตริย์กับถ้วยโกโก้

นอกจากที่เมล็ดโกโก้จะถูกนำมาผลิตเป็นเครื่องดื่มของพระเจ้าแล้ว มันยังถูกใช้ประหนึ่ง “เงินตรา” เพื่อใช้เป็นหน่วยกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เช่น อาหาร หรือเครื่องแต่งกายในวัฒนธรรมของชาวมายาและชาวแอซเท็กด้วยเช่นกัน (ณัฐพล เดชขจร, ออนไลน์)

ในช่วงที่ชาวสเปนบุกเข้ามาในอาณาจักรของชาวมายาโบราณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้น พวกเขาก็ได้ลิ้มรสเครื่องดื่มโกโก้ด้วย แต่แน่นอนว่าชาวสเปนไม่ชอบเครื่องดื่มรสขมเฝื่อนที่ปรุงรสและกลิ่นด้วยวัตถุดิบแสนประหลาดเหล่านี้เลย พวกเขาจึงได้ลองนำน้ำตาลอ้อยผสมลงไป พอรสชาติของโกโก้หวานขึ้น มันก็อร่อยขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้นแล้วชาวสเปนยังดื่มโกโก้แบบร้อนๆ ไม่เหมือนกับโกโก้ต้นฉบับของชาวมายาโบราณที่ดื่มกันแบบเย็นชืด นั่นจึงทำให้เครื่องดื่มโกโก้เริ่มมีรสชาติใกล้เคียงกับที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนับตั้งแต่นั้นมา (ณัฐพล เดชขจร, ออนไลน์)

ลิ้มรสแก้วโปรด

ปัจจุบันเมล็ดโกโก้ได้ถูกแปรรูปให้กลายเป็นทั้งโกโก้และช็อกโกแลต ซึ่งต่างกันที่กรรมวิธีในการผลิต โดยช็อกโกแลตนั้นทำมาจากเมล็ดโกโก้ที่ไม่ผ่านการแยกไขมันโกโก้ออกมา ทำให้มีปริมาณไขมันอยู่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโกโก้นั้นทำมาจากเมล็ดโกโก้ที่ผ่านการรีดไขมันออกจนหมด ทำให้มีปริมาณไขมันอยู่ 0 – 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการบำรุงสมอง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และช่วยลดอาการเครียดหรือเศร้าซึมได้ดี

ไม่น่าเชื่อว่าเครื่องดื่มและขนมในดวงใจของใครหลายๆ คนนั้นมีต้นกำเนิดมานานนับพันปี และยังเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของชนเผ่ามายา เป็นเครื่องดื่มสำหรับกษัตริย์ ชนชั้นสูง และเทพเจ้า นอกจากนี้ยังมีค่ามากจนสามารถแลกกับสิ่งของต่างๆ ได้อีกด้วย แต่กว่าจะมาเป็นเครื่องดื่มรสขมติดปลายลิ้นจนถึงทุกวันนี้ ยุคแรกเริ่มของการดื่มโกโก้นั้นก็ได้มีการปรุงแต่งโดยการเพิ่มเครื่องเทศเข้าไปมากมาย และเพื่อที่จะได้เข้าถึงต้นตำรับแท้ๆ ลองเพิ่มอบเชย พริก และวนิลลา ลงในโกโก้แก้วโปรดของคุณเพื่อลิ้มรสชาติหรูเลิศที่เป็นต้นตำรับจากชาวมายา


อ้างอิง

ณัฐพล เดชขจร. (2560). ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ “ช็อกโกแลต”, ค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561, จาก: http://www.gypzyworld.com/article/view/428

สัณห์ ละอองศรี. (2558). Botanical characteristic of Cocoa ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของโกโก้, ค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561, จาก: https://www.cocoathailandcenter.com/15514952/botanical-characteristic-of-cocoa

เอ. อาร์. วิลเลียมส์. 2552. ปริศนาเร้นลับของอารยธรรมมายา. แปลจาก Mysteries of maya. แปลโดย คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์. กรุงเทพฯ: เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

Puechkaset. โกโก้ สรรพคุณ และการปลูกโกโก้, ค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561, จาก: https://puechkaset.com/โกโก้/
     

อ่านเพิ่มเติม »

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า (Zapatista)

โดย กฤษณะ ทรัพย์แสนพูน

ซาปาติสต้า (Zapatista) หรือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า เป็นกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธอันมีฐานที่มั่นอยู่ในรัฐเชียปัส ซึ่งเป็นรัฐที่จนที่สุดในประเทศเม็กซิโก ซึ่งตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ขบวนการนี้ได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลเม็กซิโก โดยที่ฐานสังคมของกองทัพส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองแต่มีผู้สนับสนุนอื่นอยู่บ้างในเขตเมืองและจากนานาชาติโดยผ่านเว็บ

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า เป็นการก่อการขึ้นของภาคประชาสังคมที่ปฏิเสธต่อระบบหลักของเม็กซิโกและระบบทุนนิยมในหลายนัยยะด้วยกัน ขบวนการซาปาติสตาเป็นการก่อการของคนอินเดียนที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐทั้งในระบบการเมืองและระบบยุติธรรม เป็นการก่อการขึ้นในภาคชนบทและหัวเมืองในรัฐเชียร์ปัส ซึ่งเป็นที่ที่อยู่อาศัยของตน

ผู้นำขบวนการนี้คือรองผู้บัญชาการมาร์โกส (Marcos) ซึ่งรู้จักกันในอีกชื่อว่า (Delegate Zero) และเขาแตกต่างจากผู้บัญชาการซาปาติสตาคนอื่น ๆ ตรงที่รองผู้บัญชาการมาร์โกสไม่ใช่ชาวมายาพื้นเมือง กองทัพซาปาติสตานี้ได้ชื่อมาจากนายเอมีเลียโน ซาปาตา (Emiliano Zapata) นักปฏิรูปเกษตรกรรมและผู้บัญชาการของกองทัพปลดปล่อยชาวใต้แห่งชาติ (Liberation Army of the South) ในสมัยการปฏิวัติเม็กซิโก สมาชิกซาปาติสตามองว่าพวกตนเป็นทายาททางความคิดของซาปาตา และในหมู่บ้านซาปาติสตาจะมีภาพฝาผนังเป็นรูปของบุคคลสำคัญที่เป็นผู้จุดประกายอุดมการณ์ของกองทัพ เช่น ซาปาตา เช เกวารา และรองผู้บัญชาการมาร์โกส (Subcomandante Marcos)

กองทัพซาปาติสต้าได้หลุดออกจากระบบโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงทั้งการเมืองของรัฐบาลประเทศเม็กซิโกอย่างสิ้นเชิง อันเป็นการปกครองตนเองของชาวพื้นเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการไม่สามารถที่จะไปด้วยกันได้ของกระบวนการโลกทุนนิยมที่ในระดับรัฐ-ชาติ กำลังเร่งรัดต่อการสถาปนาข้อตกลงทางการค้าเสรีที่จะมีต่อกัน แต่ส่วนที่เป็นภายในของเม็กซิโกกลับถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังจากรัฐและระบบที่ตนเองดำรงอยู่ และกำลังจะถูกทิ้งขว้างจากกติกาใหม่ระหว่างรัฐที่กำลังจะสถาปนาขึ้นระหว่างกันของระบบโลกอีก

จุดยืนของกลุ่มซาปาติสตาคือการต่อต้านโลกาภิวัตน์หรือปฏิโลกาภิวัตน์ (anti-globalization) และการต่อต้านทุนนิยมหรือเสรีนิยมใหม่ (anti-neoliberalism) ระบบเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมโดยประธานาธิบดีเม็กซิกันหลายต่อหลายคนนับ จาก ค.ศ.1982 เป็นต้นมา ในขณะที่สำหรับการเมืองภายในกลุ่มชนพื้นเมืองของพวกเขา จุดยืนของซาปาติสตาคือการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในที่ดินที่พวกเขาอาศัยอยู่


แผนที่แสดงรัฐเชียปัส ฐานที่มั่นของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา

ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ The North American Free Trade Agreement (NAFTA) นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของนโยบายเสรีนิยมใหม่ การปฏิวัติซาปาติสตาเริ่มต้นขึ้นในปี 1994 พร้อม ๆ กันกับการผ่านข้อตกลงดังกล่าวเพราะกองกำลังซาปาติสตาเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะมาทำลายสิทธิของชุมชนพื้นเมืองต่างๆ ในเม็กซิโกให้ยากจนลง อุดมการณ์ของกลุ่มซาปาติสตาเป็นส่วนผสมของสังคมนิยมเสรี (libertarian socialism) การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเสรี (libertarian municipalism) มาร์กซิสต์เสรี (liberatian Marxism) และแนวคิดทางการเมืองแบบชนพื้นเมืองเผ่ามายา ซึ่งแท้จริงแล้วอุดมการณ์เหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับอุดมการณ์การต่อสู้ดั้งเดิมของเอมีเลียโน ซาปาตา ในด้านการปฏิรูปสังคมเกษตรแต่อย่างใด

กองกำลังซาปาติสตาเพื่อการปลดปล่อยประชาชาติประกาศที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของชนพื้นเมืองในฐานะที่เป็นหนทางของการแก้ปัญหาอันหนึ่งยิ่งไปกว่านั้น รองผู้บัญชาการมากอสเชื่อว่าการต่อสู้นั้นเป็นไปเพื่อสิทธิและความเป็นอิสระต่าง ๆ ของผู้คนชาวมายันเช่นเดียวกับความโปร่งใสของรัฐบาลโดยทั่วๆ ไป ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการถกเถียงกันถึงเรื่องการอพยพที่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา โดยการกระตุ้นและสนับสนุนพลเมืองเม็กซิกันให้หางานต่างๆ ทำได้ในประเทศของตนมากกว่าที่จะส่งออกแรงงานอันเนื่องมาจากการคอรัปชั่นของรัฐบาลและการรังควาญ

เหตุการณ์ที่สำคัญมากสุดบางอย่างในประวัติศาสตร์ของขบวนการซาปาติสตา เป็นวันที่ข้อตกลงนาฟตา (NAFTA) มีผลบังคับใช้เป้าหมายของกองทัพซาปาติสตาเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติไม่จำเป็นต้องเอาชนะรัฐบาลเม็กซิกัน แต่เพื่อเรียกร้องความสนใจจากโลกให้หันมามองเรื่องของการกระจายความมั่งคั่ง อันลักลั่นส่วนใหญ่ของเชียปา และเพื่อประท้วงการเซ็นสัญญาข้อตกลงนาฟตา ซึ่งกองกำลังซาปาติสตารู้สึกว่าได้ไปช่วยทำให้ช่องว่างระหว่างความรวยความจนถ่างกว้างมากยิ่งขึ้นในเชียปาส ขบวนการซาปาติสตาไม่ได้เรียกร้องความเป็นอิสระจากเม็กซิโก แต่ค่อนข้างต้องการที่จะปกครองตนเองมากกว่า โดยการเรียกร้องว่าทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกดึงเอาไปจากเชียปาส ต้องเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้คนของเชียปาส ยกตัวอย่างเช่น กว่า 90 เปอร์เซนต์ของน้ำที่เหมาะสำหรับดื่มกินมาจากเชียปาส กระนั้นก็ตามชุมชนจำนวนมากในเชียปาสกลับต้องทนทุกข์ เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ด้วยความอยุติธรรมเหล่านี้คือสิ่งที่กองกำลังซาปาติสตาต้องการที่จะกล่าวถึง

การปะทะกันด้วยอาวุธชั่วระยะเวลาสั้นๆ ในเชียปาส สิ้นสุดลงในวันที่ 12 มกราคม 1994 ด้วยการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวโดยกองกำลังซาปาติสตา และก็ไม่เคยมีการเผชิญหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบอีกเลยนับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลเม็กซิกันได้ดำเนินนโยบายสงครามแบบไม่รุนแรงแทนด้วยการใช้กองกำลังพลเรือน (para-military) เป็นกลุ่มๆ ในความพยายามที่จะควบคุมการกบฎ ขณะที่ซาปาติสตาได้พัฒนาการเคลื่อนไหวของตนและการรณรงค์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ Comunicados อยู่ตลอด เกี่ยวกับคำประกาศฉบับที่หกจากป่าลาคานดอน (Six Declarations of the Lacandon Jungle) ว่าจะไม่มีปฏิบัติการทางทหารอีกต่อไปในฝ่ายของพวกเขา การปรากฏขึ้นมาของอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ได้กระตุ้นการเป็นภาคีกับขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายซ้ายระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก



การพบปะกัน ระหว่างทวีปเพื่อมนุษยชาติและต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือที่เรียกว่า The Intercontinental Encounters for Humanity and against Neoliberalism ถือเป็นการประชุมนานาชาติในเชียปาสซึ่งเป็นเจ้าภาพโดยขบวนการซาปาติสตาในปี 1994 ซึ่งยังผลให้เกิดขบวนการกลุ่มซาปาติสตาอื่น ๆ ขึ้นมานอกเม็กซิโก รวมไปถึงซาปาติสตาเอสเส็กส์ตะวันตกในลอนดอนตะวันออกด้วย (the West Essex Zapatista in East London) รัฐบาลได้มีการเจรจากับกองทัพซาปาติสตา และได้บรรลุข้อตกลงในบันทึกซาน แอนเดรส (1996) โดยยินยอมให้มีการปกครองตนเองและสิทธิพิเศษแก่ประชากรพื้นเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี Zedillo และพรรคปฏิวัติ (the Institutional Revolutionary Party) (PRI), กลับเพิกเฉยต่อข้อตกลงดังกล่าว และยังได้เพิ่มกองกำลังทหารเข้าไปในท้องที่ด้วย รัฐบาลใหม่โดยการนำของประธานาธิบดี Fox ในปี 2001 กองกำลังซาปาติสตาได้เดินแถวเข้าไปยังเมือง Mexico City เพื่อเสนอเรื่องราวกรณีของพวกเขาต่อรัฐสภาเม็กซิกัน ข้อตกลง Watered-down agreements ได้ถูกปฏิเสธโดยฝ่ายกบฏต่าง ๆ ซึ่งได้มีการสร้างเขตปกครองอิสระขึ้นมา 32 แห่งในเชียปาส, ด้วยเหตุดังนั้นบางส่วนของข้อตกลงจึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ก็ได้ทุนมาสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ

ในเดือนกรกฎาคม ขบวนการซาปาติสตาได้นำเสนอประกาศฉบับที่หกของป่าลงคานดอน ในประกาศฉบับใหม่นี้ ซาปาติสตาเรียกร้องการรณรงค์ทางเลือกแห่งชาติ (หรือที่เรียกว่า "การรณรงค์บนเส้นทางอื่น" - the Other Campaign) ซึ่งตรงกันข้ามกันกับการรณรงค์ของประธานาธิบดีที่แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับทั่วไป บรรดาซาปาติสตาทั้งหลายได้เชื้อเชิญองค์กรฝ่ายซ้ายแห่งชาติต่าง ๆ จำนวน 600 องค์กรมายังพื้นที่อันเป็นเขตแดนของพวกเขา ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนพื้นเมืองและองค์กรเอกชนนอกภาครัฐต่าง ๆ (NGOs) เพื่อที่จะมาฟังแถลงการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งการประชุมได้สิ้นสุดลงในวันที่ 16 กันยายน อันเป็นวันที่เม็กซิโกมีการเฉลิมฉลองความเป็นอิสระจากสเปน ในการพบปะกันนี้ รองผู้บัญชาการมากอส เรียกร้ององค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมกันเป็นภาคีอย่างเป็นทางการต่อประกาศฉบับที่หก (the Six Declaration), และรายละเอียดของการเดินทางเป็นเวลา 6 เดือนของซาปาติสตาไปยัง 31 รัฐของเม็กซิกัน ซึ่งได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับการรณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม 2006



กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าไม่มีทางเอาชนะรัฐบาลเม็กซิกันในการสู้รบ แต่ในแง่ของ "สงครามถ้อยคำ" หรือ "สงครามความคิด" แล้ว ซาปาติสต้าได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นอาจเป็นเพราะพวกเขายึดหลักคำสอนของดอน อันโตเนียว หมอผีชาวเผ่ามายา ผู้เปรียบเสมือนพ่อบุญธรรมและอาจารย์ของรองผู้บัญชาการมาร์กอส ดอน อันโตเนียวฝากถ้อยคำไว้กับมาร์กอสว่า  "หากเจ้าไม่สามารถเลือกเหตุผลและกำลังได้พร้อมกันสองอย่าง จงเลือกเหตุผลก่อนเสมอ แล้วปล่อยให้ศัตรูเลือกกำลังไป ในบางสนามรบ พละกำลังเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ชัยชนะก็จริง แต่เหตุผลต่างหากที่จะทำให้เราได้ชัยชนะในการต่อสู้โดยรวม คนที่มีพละกำลังไม่มีทางค้นหาเหตุผลจากความแข็งแกร่งของตนเอง ในขณะที่เราสามารถค้นพบความแข็งแกร่งจากเหตุผลได้เสมอ"

กลุ่มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ต่อรองกับสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์แต่ละคนควรจะได้รับสิทธิในถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการเตรียมการขั้นพื้นฐานนี้ ไม่มีที่ดิน ไม่มีงาน ไม่มีหมอ ไม่มีอาหาร ไม่มีการศึกษา ไม่มีสิทธิที่จะเลือกตั้งผู้บริหารบ้านเมืองอย่างเสรีและตามหลักประชาธิปไตย ไร้อิสระเสรีจากการครอบงำของต่างชาติต้องอยู่อย่างปราศจากสันติภาพและความเป็นธรรม ทั้งแก่ตัวเราเองและลูกหลาน อธิปไตยของชาตินั้นโดยเนื้อหาและโดยดั้งเดิมแล้วอยู่กับประชาชน อำนาจทางการเมืองทั้งหลายเกิดขึ้นจากประชาชนและมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกโอกาส ประชาชนมีสิทธิอันไม่อาจเพิกถอนได้ในการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะของรัฐบาลของตนได้โดยต้องต่อสู้กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้นรวมทั้งวาทกรรมที่รัฐได้สร้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนสิทธิที่พวกเขาจะได้รับให้เกิดประโยชน์แก่รัฐศูนย์กลาง

เนื่องจากซาปาติสตากลายเป็นสัญลักษณ์ระดับโลกของการต่อต้านขัดขืนรูปแบบใหม่ เราจึงมักลืมไปว่า สงครามในเชียปัสไม่เคยยุติลงจริงๆ มาร์กอสนั้น แม้จะปิดบังตัวตนที่แท้จริงแต่เขาก็แสดงบทบาทท้าทายอย่างเปิดเผยในการเมืองของเม็กซิโก โดยเฉพาะในช่วงการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างดุเดือดเมื่อ ค.ศ.2006 แทนที่จะสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสายซ้ายกลาง อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ เขากลับนำขบวน "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" คู่ขนานกับการเลือกตั้งแทน โดยเรียกร้องให้หันมาสนใจประเด็นปัญหาที่ผู้สมัครทั้งหลายละเลยนับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา เกิดความรุนแรงขยายวงกว้างอย่างเห็นได้ชัดมีทั้งการข่มขู่โดยยิงปืนขึ้นฟ้า รุมทำร้ายทุบตีอย่างป่าเถื่อน และมีรายงานว่าครอบครัวชาวซาปาติสตาจำนวนมากถูกขู่ฆ่า ข่มขืนและหั่นเป็นชิ้นๆ อีกไม่นาน กองทหารในค่ายก็จะมีข้ออ้างให้เข้าไปฟื้นฟู "สันติภาพ"ระหว่างกลุ่มชาวพื้นเมืองที่ทะเลาะวิวาทกันเอง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ซาปาติสตาพยายามสงบนิ่งต่อความรุนแรงและเปิดโปงการยั่วยุต่าง ๆ นานา แต่เพราะการเลือกไม่ยอมหนุนหลังโลเปซ โอบราดอร์ในการเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 2006 ทำให้ขบวนการสร้างศัตรูที่ทรงอำนาจขึ้นมา

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1997 ครบรอบ 10 ปีพอดี ปฏิบัติการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านซาปาติสตา กองกำลังกึ่งทหารกลุ่มหนึ่งเปิดฉากยิงใส่โบสถ์เล็กๆ ในหมู่บ้านอัคเตอัล สังหารชาวพื้นเมืองไปถึง 45 คน ในจำนวนนี้มีเด็กและวัยรุ่นเสียชีวิต 16 คน บางศพถูกสับด้วยมีดมาเชตี ตำรวจของมลรัฐได้ยินเสียงปืน แต่ไม่ทำอะไรเลย ในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ หนังสือพิมพ์ในเม็กซิโกตีพิมพ์บทความจำนวนมากรำลึกถึงวาระครบรอบสิบปีของการสังหารหมู่ แต่ในรัฐเชียปัส ประชาชนจำนวนมากบอกว่า สถานการณ์ในวันนี้ให้ความรู้สึกคุ้นเคยอย่างน่าขนลุก ทั้งกองกำลังกึ่งทหาร ความตึงเครียดที่ทวีขึ้น ความเคลื่อนไหวลับๆ ล่อๆ ของกองทัพ การถูกโดดเดี่ยวอีกครั้งจากส่วนอื่น ๆ ของประเทศ พวกเขาส่งความวิงวอนขอร้องมาสู่ผู้คนที่เคยสนับสนุนพวกเขาในอดีต โปรดอย่ามองแต่อดีต โปรดมองไปข้างหน้าและช่วยป้องกันการสังหารหมู่อัคเตอัลครั้งใหม่ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น

เหตุการณ์และกระบวนการของกลุ่มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงขบวนการเคลื่อนไหวซาปาติสตานี้ว่าเป็น การปฏิวัติครั้งแรกในแบบโพสต์โมเดิร์น เนื่องจากซาปาติสตาเป็นกลุ่มปฏิวัติที่หลีกเลี่ยงการติดอาวุธมาตั้งแต่กองทัพรัฐบาลเม็กซิโกได้ปราบปรามการลุกฮือของพวกเขาด้วยกำลังในปี พ.ศ. 2537 กลุ่มซาปาติสตาหันมาใช้ยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบใหม่อย่างทันควันโดยดึงดูดการสนับสนุนจากชาวเม็กซิโกและกลุ่มสังคมนิยม-อนาธิปไตย (socialist-anarchist) จากนานาชาติ โดยที่พวกเขาใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และการระดมแรงสนับสนุนจากกลุ่มเอ็นจีโอ (NGOs) และกลุ่มนักต่อสู้เพื่อสังคมต่างๆ การเคลื่อนไหวของกลุ่มซาปาติสตานี้ยังได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์จากวงดนตรีเช่น Rage Against the Machine และ Leftöver Crack ผ่านเพลงของพวกเขา เช่น เพลง People of the Sun และยังหันมาใช้ความคิดที่เป็นภูมิปัญญาแทนการใช้กำลังเหมือนกองทัพอื่น ๆ เนื่องจากมีผู้นำอย่างมาร์กอส นักปฏิวัติผู้เชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชนที่คิดเองได้ทำเองเป็น ผู้แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีนั้นก่อรูปมาจากการปฏิบัติ สู้เพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรม และประชาธิปไตย


อ้างอิง

ภัควดี วีระภาสพงษ์. (2550).  ซาปาติสต้า:การปฏิวัติของวันพรุ่งนี้. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561, จาก:  http://oknation.nationtv.tv/blog/YPD/2007/05/08/entry-1

ภัควดี วีระภาสพงษ์. (2551). "ซาปาติสตา" บนเส้นด้าย : นาโอมี ไคลน์ รายงานจากซานคริสโตบัล สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2561, จาก:  https://prachatai.com/journal/2008/01/15461

อภิวัฒน์ วิลาวดีไกร. (2547). ซาปาติสต้า กองทัพปลดปล่อยแห่งเม็กซิโก. กลุ่มเพื่อนประชาชน.
(2551). ขบวนการซาปาติสตากับการก่อการขึ้นของอำนาจประชาชน. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561, จาก: http://oknation.nationtv.tv/blog/soontorn/2008/11/20/entry-1


อ่านเพิ่มเติม »