เทคนิคการก่อสร้างมหาพีระมิดแห่งอียิปต์

โดย ภนิตา คูณทวีลาภผล

พีระมิดแห่งอียิปต์หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ยากจะให้เหตุผลในการก่อสร้าง และยากที่จะอธิบายถึงวิธีการสร้างพีระมิดเหล่านี้ขึ้นมา  เนื่องด้วยในยุคสมัยนั้นๆไม่มีวิทยาการทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน  เป็นที่กังขาของคนทั่วไป ทำให้นักวิทยาศาสตร์ นักโบราณคดี นักฟิสิกส์ นักวิชาการที่สนใจเรื่องการสร้างพีระมิด ได้ทำการศึกษาและทดลองวิธีการสร้างพีระมิดอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่มีทฤษฏีหรือข้อยืนยันที่แน่นอนว่าพีระมิดสร้างเพื่ออะไร และสร้างอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม »

การทำมัมมี่ของชาวอียิปต์โบราณ

โดย ญาณิชศา   ประสพผล

ดังเช่นกับที่หลายท่านทราบอยู่ก่อนหน้านี้แล้วว่ามัมมี่นั้น เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายของชาวอียิปต์โบราณ โดยเชื่อกันว่าคนเรานั้นจะสามารถฟื้นจากความตายแล้วกลับเข้ามาที่ร่างไร้วิญญาณของตนเองได้อีกครั้ง จึงทำให้เกิดการถนอมรักษาร่างนั้นๆไว้ให้คงอยู่ในสภาพเดิมให้ได้นานที่สุด และไม่ใช่ว่าทุกคนในอียิปต์นั้นจะสามารถทำมัมมี่ได้ทุกคน เพราะวิธีการนั้นเรียกได้ว่าค่อนข้างที่จะสลับซับซ้อน โดยวิธีการทำมัมมี่มีมากถึง 13 ขั้นตอนด้วยกัน และในวันนี้เราจะเจาะลึกถึงวิธีการทำมัมมี่ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าหลายๆท่านยังไม่เคยทราบมาก่อน

อ่านเพิ่มเติม »

บูเช็คเทียน หงส์เหนือมังกร

โดย วรวุฒิ พวงในเมือง

เป็นเวลายาวนานนับหลายพันปีแล้ว ที่อารยธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำฮวงโหเจริญรุ่งเรืองกำเนิดเป็นมหาอาณาจักรแห่งโลกตะวันออกหรือก็คือ จักรวรรดิจีน  ซึ่งมีพระจักรพรรดิหรือองค์ฮ่องเต้เป็นประมุขและมีจักรพรรดินีหรือฮองเฮาเป็นแม่เมือง วัฒนธรรมจีนโบราณนั้นให้ความสำคัญกับบุรุษเพศมากกว่าสตรีเสมอซึ่งถือว่าบุรุษเป็นช้างเท้าหน้าและปกครองผู้คนในบ้านส่วนภรรยามีหน้าที่ต้องปรนนิบัติและเลี้ยงดูอบรมลูกเท่านั้นไม่มีสิทธิ์มีเสียงมากนัก แทบจะเรียกได้ว่าเป็นจารีตที่ปฏิบัติกันมาทุกบ้านตั้งแต่ในวังจนถึงประชาชนธรรมดาสามัญ


แต่ไม่ใช่สำหรับสตรีผู้นี้”บูเช็คเทียน” สตรีผู้ผันตนเองขึ้นมาเป็นจักรพรรดินีนารถ (สตรีที่มีอำนาจในการปกครองเป็นประมุขจะต้องมีคำว่านารถลงท้ายพระราชอิสริยยศ เช่น พระราชินีนารถเอลิซาเบธที่สอง หากเป็นเพียงราชินี จะมีศักดิ์เพียงภรรยาของพระราชาเท่านั้นไม่มีสิทธ์มาก้าวก่ายการปกครอง) เป็นหงส์เหนือบัลลังก์มังกร มีอำนาจเหนือบุรุษใดในแผ่นดินจีน ความเป็นมาของพระองค์เป็นอย่างไร เหตุใดพระนางจึงได้แหวกจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปีของมหาจักรวรรดิที่ขึ้นชื่อติดอันดับต้นๆ ของความเป็นอนุรักษ์นิยม เราจะมาทำความรู้จักพระนางไปพร้อมๆกันค่ะ




สมเด็จพระนางเจ้าบูเช็คเทียนมีพระนามเดิมว่า บูเม่ยเหนียง (หรือ อู่เม่ยเหนียงตามสำเนียงจีนกลาง) เสด็จพระราชสมภพที่เมืองฉางอัน รัชสมัยพระเจ้าถังไท่จง รัชการที่สองแห่งราชวงศ์ถัง(ค.ศ.626-649) นางเป็นธิดาของข้าราชการนามว่าบูซื่อย้วยและคุณนายหยางซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์เก่าของราชวงศ์สุ่ย นางหยางเป็นพระราชนัดดาห่างๆ กับพระเจ้าสุ่ยหยางตี้จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์สุ่ยก่อนผลัดแผ่นดินมาเป็นต้าถัง คุณนายหยางเป็นเพียงภรรยาลำดับสองแต่กระนั้นบิดาของบูเม่ยเหนียงก็รักและเชิดชูนางมากเนื่องจากเป็นเชื่อพระวงศ์เก่า สร้างความไม่พอใจแก่ภรรยาลำดับหนึ่งเป็นอย่างมากนางจึงคอยหาเรื่องเหยียดหยามเมื่อพบหน้าคุณนายหยางและบุตรีทุกครั้งไป ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างแผลใจและฝังอุปนิสัยทะเยอทะยานเพื่อที่จะอยู่เหนือผู้อื่นของบูเม่ยเหนียงตั้งแต่ครานั้นก็เป็นได้

ครั้นนางอายุได้สิบสี่ปี อูเม่ยเหนียงเติบโตขึ้นเป็นหญิงงามที่ร่ำลือกล่าวขานในนครฉางอัน หนทางก้าวเข้าสู่อำนาจก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อนางได้มีโอกาสถวายตัวเป็นถึงพระสนมในพระเจ้าถังไท่จง แม้นางจะเป็นพระสนมของถังไท่จงแต่นางก็แอบมีใจให้กับหลี่จื้อ (ภายหลังคือพระเจ้าถังเกาจง) องค์ชายสามในจักรพรรดินีฉางซุน แต่พระนางก็หาได้ผิดจารีตไม่ ทรงรอคอยอย่างเงียบๆ ในครานั้นโอรสองค์โตของพระเจ้าถังไท่จง พระนามว่า หลี่เฉิงเฉียน และโอรสองค์รอง หลี่ไท่ ได้แก่งแย่งชิงดีในตำแหน่งรัชทายาทมาตลอด สุดท้ายพระเจ้าถังไท่จงกลับเลือกหลี่จื้อเป็นองค์รัชทายาทแทน เนื่องจากองค์โตนั้นวางแผนกบฏเพื่อจะกำจัดหลี่ไท่จึงทรงเนรเทศไป ส่วนหลี่ไท่นั้นพระเจ้าถังไท่จงพิจารณาว่ามีจิตใจโหดเหี้ยมอำมหิตเกินไป พระองค์จึงได้เลือกหลี่จื้อที่หัวอ่อนแต่มีจิตใจดีงามแทน หลังสิ้นสุดรัชสมัยถังไท่จง หลี่จื้อก็ขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าถังเกาจง(ครองราชย์ ค.ศ.649-683)


พระเจ้าถังเกาจง

ถังเกาจงนั้นมีจักรพรรดินีคู่บัลลังก์ที่พระราชมารดาเลือกไว้อยู่แล้วพระนามว่า จักรพรรดินีหวางอย่างไรก็ตามพระเจ้าถังเกาจงนั้นก็เป็นดังฮ่องเต้จีนพระองค์อื่น ทรงมีมเหสีและพระสนมหลายองค์ หนึ่งในนั้นที่พระองค์ทรงโปรดปรานคือ พระวรราชชายาเซียว มเหสีลำดับสามซึ่งภายหลังได้มีประสูติการพระโอรสนามว่า เจ้าฟ้าชายหลี่ซู่ ยิ่งทำให้ถังเกาจงโปรดปรานนางมากขึ้นอีกถึงขั้นดำริจะให้พระโอรสนางขึ้นเป็นรัชทายาทสร้างความไม่พอใจแก่จักรพรรดินีหวางเป็นอย่างมาก นางจึงได้ใช้เล่ห์เหลี่ยม  จนถังเกาจงแต่งตั้งโอรสของสนมหลิว หลี่จง (ภายหลังถูกปลดเมื่อจักรพรรดินีหวางสิ้นอำนาจ)  เป็นรัชทายาทได้สำเร็จ สร้างความบาดหมางระหว่างพระนางและวรราชชายาเซียว ต่อมา พระเจ้าถังเกาจง ทรงมีดำริถึงบูเม่ยเหนียงผู้ที่ทรงเคยมีจิตปฏิพัทธิ์แต่เดิม ด้วยต้องการจะนำนางกลับมาเป็นข้าบาทบริจาริกาอีกครั้ง ในเวลานั้นจากความที่ต้องการกำจัดพระวรราชชายาเซียวของจักพรรดินีหวางนางจึงไม่ขัดขวางเมื่อถังเกาจงรับนางกลับมา (ตามธรรมเนียมมเหสีและสนมในรัชการก่อนต้องออกผนวชเมื่อสิ้นรัชการจะเว้นแต่พระราชมารดาขององค์จักรพรรดิเท่านั้นที่ยังสามารถอยู่ในวังต่อได้) ด้วยหวังให้นางกำจัดพระนางเซียวแล้วพระ

นางจึงจะกำจัดบูเช็คเทียนในโอกาสต่อไป ทว่าเมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปดังคาด พระนางบูเช็คเทียนกลับมาครานี้ ด้วยตำแหน่งที่ขึ้นเป็นถึงพระสนมเอกลำดับที่หนึ่งจะเป็นรองก็เพียงแต่จักรพรรดินีและพระวรราชชายา จากนั้นพระนางบูเช็คเทียนมีประสูติกาลพระราชธิดาเป็นพระองค์แรก(นางเคยมีประสูติการพระโอรสสองพระองค์ แต่นอกเศวตฉัตรเนื่องจากไปคลอดที่สำนักชี) แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม เมื่อพระจักรพรรดินีหวางเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรองค์หญิงน้อยตามธรรมเนียม องค์หญิงน้อยได้สิ้นพระชนม์ลง  จึงเป็นเหตุให้พระนางและพระวรราชชายาเซียว (พบภายหลังว่ามีส่วนรู้เห็น) ถูกปลดลงเป็นสามัญชน (เนื่องจากพบว่าพระนางอยู่กับพระธิดาเป็นคนสุดท้าย)  ถึงขั้นถูกเรียกว่านางไพร่หวางหลังจากนั้นพระสนมบูเช็คเทียนก็ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินีสมใจ และนางหวางกับนางเซียวก็ถูกสังหารอย่างเงียบๆ ในพระตำหนักที่นางทั้งสองถูกคุมขังนั่นเอง

เบื้องหลังความสำเร็จของมหาอาณาจักรย่อมต้องมีกลิ่นคาวเลือดเสมอ กว่าพระนางจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งอย่างมั่นคงได้นั้น พระนางได้ขจัดเหล่าขุนนางที่คัดค้านการที่นางออกมายืนบริหารราชการแผ่นดินเบื้องหน้า หรือแม้กระทั่งโอรสของพระนางเองที่องค์หนึ่ง องค์ชายหลี่หงได้ถูกทิวงคตด้วยยาพิษอย่างเป็นปริศนา ก่อนหน้านั้นองค์ชายพระองค์นี้ได้คิดวางแผนดึงแม่ตัวเองลงจากอำนาจและคิดจะคืนตำแหน่งให้แก่อดีตจักรพรรดินีหวางผู้ล่วงลับตั้งแต่คราวถูกใส่ร้ายว่าสังหารพระราชธิดา (ถึงผู้เขียนไม่บอกผู้อ่านก็คงจะเดาได้ถึงสาเหตุการวางยาพิษองค์ชายหลี่หง) ส่วนองค์ชายรอง คือ องค์ชาย หลี่เสียน (ภายหลังทรงครองราชย์เป็นถังจงจง ครองราชย์ได้เพียงหนึ่งปีก็ขัดแย้งกับพระมารดา) พระนางสั่งเนรเทศ (หลังจากครองราชย์ได้หนึ่งปี)ไปอยู่ที่เฉิงตูและกดดันจนถึงขั้นต้องอัตวินิบากกรรม (ฆ่าตัวตาย) ด้วยตนเองในภายหลัง เนื่องจากหลี่เสียนนั้นเองก็มีแนวความคิดที่คล้ายกับพระเชษฐา เรื่องราวด้านมืดของพระนางนั้น "หลินยู่ถัง" (Lin Yutang : พ.ศ.2438-2519) นักประพันธ์ชื่อดังของจีน ได้กล่าวไว้ในหนังสือ”ประวัติบูเช็คเทียน”ว่าพระนางได้สังหารคนถึง 109 คน

พระนางนั้นทรงพระปรีชาสามารถอย่างมาก ด้วยบุคลิกที่เด็ดขาด พระนางจึงมีอำนาจเหนือสามีด้วยความที่พระเจ้าถังเกาจงนั้นหัวอ่อนเป็นทุนเดิม งานบริหารราชการแผ่นดินจึงตกไปอยู่ในมือพระนางแทบทั้งสิ้นโดยนางบริหารราชการอยู่หลังม่านเบื้องหลังถังเกาจง หากแต่ก็ไม่มีผู้ใดกล้าโต้แย้งหรือท้วงติง พระเจ้าถังเกาจงได้ทรงสั่งให้ทุกคนเรียกพระนางว่าจักรพรรดินีแห่งสวรรค์เทียบขั้นกับพระองค์แลให้ใช้คำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์ด้วย

ในปีค.ศ.683 พระเจ้าถังเกาจงก็สวรรคตลงด้วยพระชนม์มายุ 55 พรรษา ส่งผลให้อำนาจการปกครองตกอยู่ในมือจักรพรรดินีบูโดยสิ้นเชิงพระนางทรงขยับฐานะจากฮองเฮาเป็นไทเฮา (พระราชชนนี) หลังจากนั้นแม้จะแต่งตั้ง หลี่เสียน ขึ้นเป็นพระเจ้าถังจงจงแต่พระนางก็ไม่พอพระทัยจนสั่งเนรเทศดังกล่าวไปแล้วเบื้องต้น หลังจากนั้นได้สถาปนาองค์ชายสี่ หลี่ตั้น เป็นพระเจ้า ถังรุ่ยจง แต่ก็สั่งปลดในระยะเวลาไม่ถึงปีแล้วจึงสถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้หญิงหรือจักรพรรดินีนารถในที่สุด ในปีที่พระนางมีพระชนมายุ 64 ปี ได้ตั้งราชวงศ์โจวขึ้นมา ทรงเป็นฮ่องเต้พระองค์แรกและองค์สุดท้ายในราชวงศ์นี้ (ภายหลังได้ฟื้นฟูราชวงศ์ถังกลับมาก่อนสละบัลลังก์)

หากแต่ไม่ว่าจะทรงเป็นเช่นไรก็ไม่มีผู้ใดสามารถปฏิเสธได้ว่าพระนางทรงพระปรีชา ในรัชสมัยของพระนางและถังเกาจงนั้น พระนางสามารถนำพาต้าถังมีชัยเหนืออาณาจักรโกกุเรียวเหนือคาบสมุทรเกาหลีได้สำเร็จ ซึ่งเป็นศึกติดพันมายาวนานตั้งแต่สมัยถังไท่จง ด้วยพระราชอำนาจและความฉลาดเฉลียวของพระนาง พระนางได้สร้างระบบสอบเข้ารับราชการขึ้นซึ่งเป็นผลให้ระบบราชการของต้าถังมีผู้มีความสามารถเข้ามาทำงานมากขึ้นนอกเหนือจากระบบส่งต่อให้ลูกท่านหลานเธอที่มีมาแต่เดิม ทำให้นครฉางอันแห่งราชวงศ์ถังมีความเจริญมั่งคั่งเป็นมหานครที่รุ่งเรืองและมีประชาชนอาศัยอยู่มากเป็นอันดับต้นๆของยุคนั้นถือเป็นยุคทองของแผ่นดินเลยทีเดียว

พระนางนั้นกุมพระราชอำนาจจนถึงพระชนม์มายุ 80พรรษาและได้สละราชบัลลังก์แก่โอรสของพระนาง คือพระเจ้าถังรุ่ยจง (พระโอรสองค์ที่สี่) จากนั้นพระนางได้ฟื้นฟูราชวงศ์กลับเป็นราชวงศ์ถัง และได้ขอให้ลบนามพระนางจากรายชื่อฮ่องเต้เหลือไว้แต่รายชื่อในจักรพรรดินีของพระเจ้าถังเกาจงเท่านั้น  ทรงสวรรคตด้วยโรคชราสิริรวมพระชนม์มายุได้ 81 พรรษา พระศพของพระนางถูกนำไปฝังไกล้กับหลุมศพของพระเจ้าถังเกาจง

แม้จะเป็นเพียงอิสสตรีแต่พระนางก็แสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวและห้าวหาญ ทรงพระปรีชาสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างดีเยี่ยมไม่แพ้มหาราชฮ่องเต้พระองค์อื่นๆเลยแม้แต่น้อย ถึงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าพระนางนั้นโหดเหี้ยม แต่ด้วยความโหดเหี้ยมเด็ดขาดนั้นพระนางจึงสามารถนำพาแผ่นดินจีนในสมัยต้าถังของพระนางขึ้นเป็นมหาอำนาจในตะวันออกมีความเป็นปึกแผ่นเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองสงบสุข ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ อยู่ดีกินดี ถือเป็นแบบอย่างนักปกครองผู้หนึ่ง และเป็นสตรีที่ควรค่าแก่การจดจำ กล่าวขานไปชั่วลูกสืบหลานถึงวีกรรมของพระนาง ชีวิตของพระนางนั้นได้ตอกย้ำให้ผู้เขียนระลึกถึงคำกล่าวที่ว่า “คุณค่าของมนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ที่ว่า เราเป็นอะไร แต่อยู่ที่ว่า เราเลือกที่จะเป็นอย่างไร” ดังเช่นที่สตรีผู้นี้ได้เลือกแล้วที่จะลิขิตชีวิตตนเอง แม้จะกำเนิดเกิดมาเป็นอิสสตรีในสังคมที่นิยมบุรุษ แม้จะเกิดมาเป็นเพียงสามัญชน แต่พระนางหาได้ยอมจำนนต่อชะตา คอยอยู่ในโอวาทสามีและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ ต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ สตรีผู้นี้ แม้ไม่ได้เป็นพระมารดาที่ทรงเมตตา แม้ไม่ได้เป็นศรีภรรยาที่ปรนนิบัติสามี แต่พระนางได้เลือกแล้ว เลือกที่จะเป็นพญาหงส์ เป็นแม่แห่งแผ่นดินที่ปกครองไพร่ฟ้าให้ร่มเย็น นับเป็นหงส์ที่คู่ควรกับบัลลังก์มังกรยิ่งนัก

อ้างอิง

JeabJeab-Mango. พฤษภาคม. 2553. “สมเด็จพระนางเจ้าบูเช็กเทียน..ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิหญิง พระองค์แรกและพระองค์เดียวของจีน” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=601668 (15 กันยายน 2557)

วีกิพีเดีย10 มิถุนายน. 2557. “บูเช็คเทียน” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 (15 กันยายน 2557)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 พฤษภาคม. 2548.“ยลโฉม“บูเช็คเทียน”ที่มรดกโลก“ถ้ำหินหลงเหมิน”” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9480000058325 (16 กันยายน 2557)

อ่านเพิ่มเติม »

เหตุการณ์สังเวยครั้งใหญ่ในอาณาจักรแอชเทค (Aztec)

โดย จิราภรณ์ พิริยะเสมวงษ์

หากจะกล่าวถึงอาณาจักรต่างๆในยุคโบราณที่อยู่ในทวีปอเมริกา ดินแดนที่กำเนิดของอารยธรรมที่เคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดแห่งหนึ่งของโลก บางท่านอาจจะพอทราบได้ว่าอาณาจักรที่โด่งดังในสมัยนั้นก็จะได้แก่  อาณาจักรมายา (Maya) อินคา (Inca) และอีกหนึ่งแห่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาในระยะเวลาต่อมา นั่นก็คือ แอชเทค (Aztec) เป็นอาณาจักรที่อยู่ในปลายยุคคลาสสิคตอนหลังและอาศัยอยู่ทางตอนกลางของแม็กซิโกในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม »

มาชูปิกชู (Machu Picchu) ดินแดนที่หายไปของชาวอินคา

โดย กชมน ศรีนรคุตร

หากจะพูดถึงทวีปอเมริกาใต้ ก็คงจะเป็น 1 ในดินแดนที่ไกลตัวคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะนอกเหนือจากระยะทางที่ห่างไกลกันสุดขอบโลกแล้ว ก็ยังเป็นดินแดนที่ค่อนข้างลึกลับ เฉกเช่นเดียวกับ มาชูปิกชู เมืองโบราณ ณ ประเทศเปรู 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดย UNESCO เมื่อปี พ.ศ. 2526 เมืองลี้ลับแห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดยังคงสภาพไว้ได้อย่างสวยงาม เราจะมาหาคำตอบกัน

อ่านเพิ่มเติม »

อักษรรูปลิ่ม (cuneiform)

โดย วิริยา มาศวรรณา

แต่ละชาติต่างก็มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และแต่ละภาษาก็ล้วนแล้วแต่มีที่มาที่หลากหลาย เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทราบว่าอักษรรุ่นแรกๆ ที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาคืออักษรอะไรและใครที่เป็นผู้คิดค้นอักขระเหล่านี้

หนึ่งในตัวอักษรแรกเริ่มของโลกก็คือ อักษรรูปลิ่ม หรือ คูนิฟอร์ม (Cuniform) เป็นระบบการเขียนที่หลากหลาย เป็นได้ทั้ง อักษรพยางค์ อักษรคำ และอักษรที่มีระบบสระ – พยัญชนะ คำว่า “cuneiform”นั้นมาจากภาษาละตินคำว่า “cuneus” ที่แปลว่า ลิ่ม ดังนั้นอักษรรูปลิ่มจึงรวมอักษรที่มีรูปร่างคล้ายลิ่มทั้งหมดไว้ด้วยกัน



อักษรลิ่ม เริ่มแรกนั้นถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยชาวสุเมอเรียน เชื่อว่าเขียนขึ้นด้วยก้านอ้อหรือไม้ที่ตัดปลายเป็นเหลี่ยม แล้วกดลงไปบนแผ่นดินเหนียวที่อ่อนตัว จากนั้นก็นำไปเผาหรือตากแดดให้แห้ง แผ่นดินเหนียวจะมีขนาดยาวประมาณ 6 นิ้ว กว้างประมาณ 3 นิ้ว หนาประมาณ 1 นิ้ว ส่วนวิธีการรักษาให้อยู่ได้นานๆ นั้น บางครั้งเมื่อเผาหรือตากแดดจนแห้งแล้วจะหุ้มด้วยดินเหนียวบางๆ อีกชั้น แล้วเขียนทับลงไปใหม่นำไปเผาซ้ำอีกครั้ง เผื่อว่าอักษรด้านนอกลบเลือนหรือกะเทาะแตก ส่วนที่อยู่ด้านก็ในยังเหลือให้เห็นสำหรับแผ่นดินเหนียวที่เป็นรูปทรง 3 มิติ มี 2 ชนิดคือ แบบแผ่นแบนและแผ่นซ้อน

แบบแผ่นแบน เป็นรูปแบบโบราณ พบตั้งแต่ 8,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ใน ตุรกี ซีเรีย อิสราเอล จอร์แดน อิหร่าน และอิรัก เป็นแบบที่แพร่หลายกว่าแบบแผ่นซ้อนคาดว่าเป็นแบบที่ใช้ในการนับทางเกษตรกรรม เช่น การนับธัญพืช

แบบแผ่นซ้อน เป็นแบบที่ตกแต่งด้วยเครื่องหมาย เริ่มพบในช่วง 4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ทางภาคใต้ของเมโสโปเตเมีย แผ่นแบบซ้อนจะใช้บันทึกเกี่ยวกับสินค้าแปรรูป พบในบริเวณที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เช่น ซูเมอร์ ตัวอย่างที่เก่าสุด พบในวิหารเทพีอินอันนา เทพีแห่งความรักและความอุดมสมบูรณ์ของชาวซูเมอร์ในเมืองอูรุก ซึ่งทางวิหาร




สำหรับการเขียนตัวอักษรลิ่ม เขียนเป็นสัญลักษณ์แบ่งเป็นกลุ่มๆ แทนความคิด คำและวัตถุ ต่อมาได้มีการปรับให้ละเอียดขึ้นโดย มีสัญลักษณ์แทนความหมายต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย แต่วิธีการเขียนไม่เอื้ออำนวยต่อการจดบันทึกหรือการเขียนที่มีขนาดยาวๆ เพราะแผ่นดินเหนียวแผ่นหนึ่งๆ เขียนข้อความได้ไม่มากนัก เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเริ่องเกี่ยวกับพระหรือนักบวช ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น คำโคลงสดุดีพระเจ้า เพลงสวด ซึ่งเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าที่ตนนับถือ และเพื่อเรียกร้องให้มนุษย์เกรงกลัวและจงรักภักดี

การที่ชาวสุเมเรียนสามารถประดิษฐ์อักษรขึ้นเป็นครั้งแรกในนั้น นับเป็นความสำเร็จทางด้านสติปัญญาของชนพื้นเมืองในเมโสโปเตเมีย จนมีผู้กล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์เริ่มที่ซูเมอร์”  เพราะยุคประวัติศาสตร์คือ ยุคที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว อักษรลิ่ม จึงถือว่าเป็นภูมิปัญญาขั้นสูงของชาวสุเมเรียน ที่ทำให้เราได้ทราบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชนชาติโบราณที่อาศัยอยู่ในดินแดนมโสโปเตเมีย กว่า 5000 ปีที่ผ่านมา

อ้างอิง

นายพิษณุ เดชใดจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี[Online] Available from : http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=454
[Accessed 10th September 2014].

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมโรงเรียนศรียานุสรณ์ ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
[Online] Available from : https://sites.google.com/site/socialsiya16/sux-nwatkrrm/sara-prawatisastr/sux-prawatisastr/fil-dawnhold-prawatisastr-m-6[Accessed 10th September 2014].

ABJMP-social[Online] Available from : http://writer.dek-d.com/abjmp-social/story/viewlongc.php?id=773121&chapter=9[Accessed 10th September 2014]

อ่านเพิ่มเติม »

ปริศนาแห่งสโตนเฮนจ์ (Stonehenge)

โดย อัครชัย พลภูงา


เมื่อกล่าวถึงหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ไม่มีใครไม่รู้จัก “สโตนเฮนจ์” ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะที่เป็นกลุ่มหินแปลกประหลาดที่ไม่มีนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีคนใดทราบวัตถุประสงค์ในการสร้างอย่างชัดเจน และยังคงเป็นหนึ่งในปริศนาอันยิ่งใหญ่ชิ้นหนี่งทางโบราณคดีของโลกที่ยังเป็นประเด็นที่สร้างความพิศวงมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม »

เครื่องเรือนสมัยกรีก (Ancient Greek furnitures)

โดย นิธิศ พัวตะนะ

กรีกเป็นอารยธรรมที่มีพัฒนาการที่น่าทึ่งในหลายๆ ด้าน รวมถึงเครื่องเรือนอันเป็นรากฐานของสิ่งที่ใช้สอยกันอยู่ในปัจจุบันนี้ แม้ไม่ได้สร้างด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเหมือนอย่างเครื่องเรือนในปัจจุบัน เครื่องเรือนในสมัยกรีกก็สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาในด้านประโยชน์ใช้สอยของผู้คนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

เครื่องเรือนสมัยกรีกทำจากไม้เป็นหลัก แต่บางส่วนก็มีหิน หินอ่อน หรือโลหะ เช่น สัมฤทธิ์ เงิน หรือแม้แต่ทองคำ ประกอบอยู่ด้วย ในปัจจุบันแทบไม่มีเครื่องเรือนที่ทำจากไม้หลงเหลืออยู่แล้ว แต่ก็ยังสามารถพบหลักฐานเกี่ยวกับชื่อหรือลักษณะของเครื่องเรือนเหล่านี้ได้ในเอกสารต่างๆ  รวมถึงภาพวาดในยุคนั้นเองก็มีเครื่องเรือนเหล่านี้ปรากฏอยู่

ไม้ที่นำมาทำเครื่องเรือนประกอบด้วยโอ๊ค เมเปิล บีช ยิว และวิลโลว์ ไม้เหล่านี้จะถูกตัดแบ่งออกเป็นชิ้นส่วนหลายชิ้น จากนั้นช่างก็จะทำการเจาะช่องในไม้ท่อนหนึ่ง และแกะเดือยบนไม้อีกท่อนหนึ่ง เพื่อให้นำมาประกอบกันได้ จากนั้นก็จะยึดให้แน่นด้วยเชือก หมุด ตะปูโลหะ และกาว การจัดรูปทรงชิ้นงานให้ได้ตามต้องการจะทำด้วยการแกะสลัก และการอบไอน้ำ วัสดุที่นิยมใช้ประดับตกแต่งเครื่องเรือนประกอบด้วยเขี้ยวสัตว์ กระดองเต่า  แก้ว ทองคำ หรือวัตถุมีค่าอื่นๆ  บางครั้งไม้ที่นำมาทำเป็นเครื่องเรือนเองก็มีราคาแพงเพื่อให้เครื่องเรือนดูมีราคามากขึ้น (Wikipedia 2014)


ที่มา: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c0/Greek_furniture_004.jpg

ลักษณะของเครื่องเรือนในสมัยกรีกมักเป็นทรงสี่เหลี่ยม เช่น เก้าอี้ ม้านั่งยาว ส่วนขาของเครื่องเรือนมีทั้งแบบตรงและโค้ง โดยมากเครื่องเรือนของกรีกเป็นแบบเรียบง่าย ดูสง่า อาจมีการแกะสลักลวดลายหรือตัวอักษรลงไปบนเนื้อไม้เป็นการตกแต่ง แต่จะไม่ทำให้มากจนเกินไป โดยภาพรวมแล้วภายในบ้านเรือนของกรีกจะมีเครื่องเรือนไม่มาก และเครื่องเรือนที่มีก็เพื่อประโยชน์ใช้สอยมากกว่าการประดับตกแต่ง

ในยุคแรกเริ่มนั้นรูปแบบเครื่องเรือนของกรีกได้รับมาจากอียิปต์โบราณในช่วงเวลาเดียวกัน ที่เห็นได้ชัดคือแนวคิดนิยมรูปเหลี่ยมมากกว่าความโค้งเว้า แต่ด้วยความที่กรีกมีทรัพยากรไม้ที่อุดมสมบูรณ์กว่า ทำให้เครื่องเรือนในกรีกมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จนมาถึงยุคคลาสสิคที่เกิดความโค้งเว้าอันเป็นเอกลักษณ์ของกรีกขึ้นมา (International Styles  2014)


ที่มา: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/23/Greek_furniture_002.jpg

เครื่องเรือนสมัยกรีกที่ใช้กันแพร่หลายมี 5 ประเภทหลัก ประกอบด้วย แท่นนั่ง ม้านั่งยาว โต๊ะเล็ก หีบ และเก้าอี้ แต่ละชิ้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (International Styles  2014, Naillon 2014, Wikipedia 2014)

แท่นนั่งแบ่งออกเป็นสามชนิด ชนิดแรกดูคล้ายโต๊ะเล็ก พื้นด้านบนเรียบตรง ขาตรงสี่ขา ไม่มีพนักพิง ชื่อเรียกในภาษากรีกคือ Bathron  ชนิดที่สองมีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก มีขาเป็นรูปทรงขาสัตว์หันเข้าด้านใน ที่ปลายขาเป็นอุ้งเท้าสิงโต ใช้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ชื่อเรียกในภาษากรีกคือ Diphros okladis  ชนิดที่สามใช้เฉพาะในหมู่คนมีฐานะ คือ Thronos หรือ Throne (บัลลังก์) ในปัจจุบัน มักใช้เป็นที่นั่งของบุคคลที่สำคัญที่สุดในสถานที่หรือพิธีการนั้น นอกจากนี้ยังมีแท่นยืนสำหรับใช้เหยียบขึ้นเครื่องเรือนชิ้นอื่น เรียกว่า Theyns

ม้านั่งยาว ในภาษากรีกคือ Kline  ใช้สำหรับนอนรับประทานอาหาร พื้นด้านบนเรียบตรง มีพนักพิงที่ปลายด้านหนึ่งตั้งขึ้นสำหรับพิงหลัง  Kline ทำจากไม้ ส่วนขามักทำจากสัมฤทธิ์ และมักยกสูงจากพื้นจนบางครั้งต้องใช้แท่นยืน(Theyns)ในการก้าวขึ้น โดยมากแล้วม้านั่งจะวางชิดผนัง มีโต๊ะเล็กสำหรับวางอาหารและเครื่องดื่มอยู่ใกล้ๆ(โต๊ะเล็กนี้มีความสูงน้อยกว่าม้านั่ง เวลาที่ไม่ใช้งานสามารถสอดเก็บใต้ม้านั่งได้) คนมีฐานะมักประดับประดาเครื่องเรือนชิ้นนี้อย่างหรูหรา คนมีเงินเท่านั้นจึงจะสามารถมีเตียงแยกไว้ที่ห้องนอนต่างหาก คนที่ไม่มีทรัพย์สินมากนักจะใช้ม้านั่งทั้งในการรับประทานอาหารและการหลับพักผ่อน

หีบในสมัยกรีกมีหลากหลายขนาดและรูปร่าง ฝาปิดมักเป็นทรงจั่วตกแต่งด้วยการใช้เงินหรือทองคำสลักเป็นลวดลายดอกไม้ ด้วยเหตุนี้หีบจึงถือเป็นเครื่องเรือนที่มีค่า และบ่อยครั้งที่หีบกลายเป็นส่วนหนึ่งของสินสอดทองหมั้นที่ชายชาวกรีกให้กับครอบครัวฝ่ายหญิงสาว สิ่งที่ชาวกรีกบรรจุข้างในหีบประกอบด้วยอัญมณี ของมีค่า ผลไม้ และเครื่องสวมใส่ บางครั้งก็ใช้เป็นโลงศพด้วย (Naillon 2014)

โต๊ะในสมัยกรีกมีขนาดเล็กและเคลื่อนย้ายได้ง่าย พื้นด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีสามขา สองขาที่ปลายข้างหนึ่งและหนึ่งขาที่ปลายอีกข้างหนึ่ง ชาวกรีกใช้โต๊ะสำหรับวางอาหารและเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว จะไม่ใช้เพื่อวางสิ่งของชิ้นอื่นๆ  วัสดุที่ใช้ทำส่วนมากเป็นไม้ แต่ก็มีบางส่วนที่ทำจากสัมฤทธิ์หรือหินอ่อน นับแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา โต๊ะชนิดนี้ก็ถูกแทนที่ด้วยโต๊ะกลม

เก้าอี้ในสมัยกรีกมีสองชนิด ชนิดแรกมีลักษณะเหมือนกับที่อียิปต์โบราณใช้ คือ แท่นด้านบน พนักพิง และที่วางแขนล้วนเรียบตรงและแข็ง ใช้ในงานพิธีการมากกว่าเพื่อความสะดวกสบาย แต่หลังจาก 500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นต้นมา กรีกได้พัฒนาเก้าอี้ของตัวเองขึ้นมา เรียกว่า Klismos ซึ่งมีรูปทรงโค้งเว้าทั้งขาสี่ข้างและพนักพิง(Stiles) ทำให้สามารถนั่งได้ในอากัปกิริยาที่เป็นธรรมชาติ และเพื่อเพิ่มความสบายให้กับผู้นั่ง ยังได้มีการใช้เบาะรองและหนังสัตว์มาปูกับเก้าอี้อีกด้วย เครื่องเรือนชิ้นนี้ส่วนใหญ่จะใช้งานโดยผู้หญิง

โดยภาพรวมแล้วเครื่องเรือนสมัยกรีกมีความคล้ายคลึงกับปัจจุบันทั้งด้านรูปร่างและการใช้สอย ทั้งนี้ก็เพราะเครื่องเรือนในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่มีรากฐานมาจากอารยธรรมโบราณ นับเป็นเรื่องน่าทึ่งที่ภูมิปัญญาเมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีก่อนยังหลงเหลือและได้รับการยอมรับในคุณค่าของมันมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

International Styles. Ancient Greek Furniture. [Online]. Available from: http://www.furniturestyles.net/ancient/greek/. [Accessed 3rd September 2014].

Naillon, Buffy. About Greek Furniture & Decorative Boxes. [Online]. Available from: http://www.ehow.com/info_7949730_greek-furniture-decorative-boxes.html/. [Accessed 4th September 2014].

Wikipedia. Ancient Furniture. [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Ancient_furniture#Greek_furniture. [Accessed 3rd September 2014].

อ่านเพิ่มเติม »