ดะไซ โอซามุ (Dazai Osamu)

โดย ชลิตา โจดรัมย์

ดะไซ โอซามุ หนึ่งในนักเขียนนวนิยายชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 20  เป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวที่ร่ำรวยและมีอิทธิพล ดะไซ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ ทั้งยังมีพรสวรรค์ที่มีจินตนาการอันอุดมสมบูรณ์ ผลงานที่ได้ความนิยมมากที่สุด เช่น ชาโย (斜陽) หรือในฉบับภาษาไทยคือ อาทิตย์สิ้นแสง และ นินเก็น ชิชาคุ (人間失格) หรือในฉบับภาษาไทยคือ สูญสิ้นความเป็นคน ถือได้ว่าเป็นงานคลาสสิคในยุคปัจจุบันของญี่ปุ่น

ดะไซ โอซามุ (Dazai Osamu) เกิดวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1909 และเสียวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ.1948 เป็นนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น เป็นลูกคนที่แปดของเศรษฐี ในเมืองคานางิ จังหวัดอะโอะโมริ เขาได้ใช้ชีวิตในคฤหาสน์ทสึชิมะ ถึงแม้ว่าจะมาจากจุดเริ่มต้นที่ต่ำต้อย แต่อำนาจครอบครัว ทสึชิมา ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นที่เคารพทั่วทั้งภูมิภาค พ่อของดะไซ ทสึชิมะ เก็นเอมอน ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและ ได้รับการเสนอให้เป็นสมาชิกสภาขุนนางญี่ปุ่น  และทำให้พ่อของดะไซ ไม่ได้ใกล้ชิดกับดะไซในช่วงวัยเด็ก และแม่ของเขา ทาเนะ นั้นป่วยเรื้อรัง หลังจากให้กำเนิดเด็กถึง11คน ทสึชิมะ (ดะไซ)จึงถูกเลี้ยงโดยคนรับใช้ของครอบครัวเป็นส่วนใหญ่

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Osamu_Dazai
ในปี ค.ศ. 1923 ทสึชิมะ (ดะไซ) ได้เข้าโรงเรียน มัธยมปลาย อะโอะโมริ และเข้าเรียนแผนกวรรณคดี ของมหาวิทยาลัย ฮิโรซากิ ในปีค.ศ. 1927 เขาเริ่มมีความสนใจในวัฒนธรรมเอะโดะและเริ่มศึกษาเรื่องกิดะยู ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมรูปแบบหนึ่ง ราวๆปี ค.ศ. 1928 ทสึชิมะ(ดะไซ)ได้เรียบเรียงงานของนักศึกษาและเขียนงานของเขา เช่น อะวาเระ กะ (哀蚊) และเขายังได้ตีพิมพ์นิตยสารชื่อ ไซโบ บุนเกะอิ กับเพื่อนๆ ต่อมาได้กลายเป็นพนักงานของทีมหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย  ความสำเร็จของเขาในการเขียนได้หยุดชะงักไป เมื่อไอดอลของเขา อะคุตะกะวะ ริวโนะสุเกะ ผู้เป็นนักเขียน ได้ฆ่าตัวตายในปีค.ศ. 1927

ทสึชิมะ (ดะไซ) เริ่มละเลยการเรียนของเขาและใช้เบี้ยเลี้ยงส่วนใหญ่ไปกับกับเสื้อผ้า เครื่องดื่ม โสเภณีและขลุกอยู่กับลัทธิมาร์กซ์ซึ่งในขณะนั้นถูกระงับอย่างหนักโดยรัฐบาล บ่อยครั้งที่เขาแสดงความรู้สึกผิดในงานเขียนของเขาเกี่ยวกับการที่ได้เกิดมาในชั้นทางสังคมที่ไม่เหมาะสม ในคืนวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1929 ทสึชิมะ (ดะไซ) ได้พยายามฆ่าตัวตายครั้งแรก แต่รอดชีวิตและสามารถที่จะเรียนจบต่อในปีต่อมา

ในปี ค.ศ. 1930 ทสึชิมะ (ดะไซ)ได้เข้าศึกษาในแผนกวรรณคดีฝรั่งเศสของมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียลและได้หยุดเรียนอีกครั้ง ในเดือนตุลาคมเขาได้หนีไปกับเกอิชาที่ชื่อว่า โอยะมะ ฮัทสึโอะ (小山初代) และถูกขับไล่ออกจากครอบครัว หลังจากการโดนขับไล่ ทสึชิมะ (ดะไซ) พยายามฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดน้ำในชายหาดใน คะมะคุระ กับผู้หญิงอีกคน ซึ่งเป็นบาร์โฮสเทส ชื่อ ทะนะเบะ ชิเมะโกะ ชิเมะโกะ เสียชีวิต แต่ ทสึชิมะ (ดะไซ) ได้รับการช่วยเหลือโดยเรือประมง

เขาถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการตายของเธอ ในขณะที่เขาช็อคจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ครอบครัวของทสึชิมะ (ดะไซ) ได้เข้าแทรกแซงเพื่อหยุดการสืบสวนของตำรวจ เขาได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงคืนและเขาได้รับการปล่อยตัวจากข้อหา ในเดือนธันวาคม  ทสึชิมะ (ดะไซ) พักฟื้นตัวขึ้นที่  อิคะริกะเซกิ และแต่งงานกับ ฮัทสึโยะที่นั่น

ไม่นานหลังจากนั้น  ทสึชิมะ (ดะไซ)  ถูกจับในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น และเมื่อพี่ชายของเขารู้เรื่องนี้ ได้ตัดเบี้ยเลี้ยงของเขาอีกครั้ง  แต่ให้สัญญาว่าให้เบี้ยเลี้ยงอีกครั้งถ้าเขาสัญญาว่าจะตั้งใจเรียนจนจบการศึกษาและสาบานว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับพรรคอีก ทสึชิมะ (ดะไซ)รับเอาข้อเสนอนี้

ทสึชิมะ (ดะไซ) รักษาสัญญาของเขา เขาได้รับความช่วยเหลือจากนักเขียน มาสึจิ อิบุเสะ ผู้ซึ่งใช้คอนเน็คชั่นของตัวเองให้ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์และช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับดะไซ

เขาใช้นามปากกา ดะไซ โอซามุ เป็นครั้งแรก ในเรื่องสั้น เรื่อง เรชฉะ (列車) โดยลองเขียนรูปแบบ อัตชีวประวัติ มุมมองบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของเขา แต่ในปี ค.ศ. 1935 ก็เริ่มชัดเจนว่า ดะไซ จะไม่จบการศึกษาและไม่ได้งานของหนังสือพิมพ์โตเกียวเช่นกัน เขาจึงตั้งใจพยายามจะแขวนคอตัวเองในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1935 แต่ก็ล้มเหลวอีกครั้ง

ไม่เกินสามสัปดาห์หลังจากที่เขาพยายามฆ่าตัวตายถึงสามครั้ง ดะไซ มีอาการไส้ติ่งอักเสบฉับพลันและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในช่วงเวลานั้นเขาเริ่มติดยา ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่ใช้มอร์ฟีน หลังจากต่อสู้กับการติดยาเสพติดเป็นเวลาหนึ่งปี ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1936 เขาถูกนำตัวไปที่สถาบันจิต ถูกขังอยู่ในห้องและถูกบังคับให้เลิกยาแบบหักดิบ การรักษากินเวลานานกว่าหนึ่งเดือน ในช่วงเวลาเดียวกันที่ภรรยาของ ดะไซ ฮัทสึโยะ ก็ถูกล่วงประเวณีโดยเพื่อนสนิทของเขา เซ็นชิโร โคะดะเตะ

เมื่อดะไซรู้เรื่องนี้ขึ้น จึงพยายามฆ่าตัวตายพร้อมกับภรรยาของเขา ทั้งสองคนกินยานอนหลับ แต่ไม่มีใครตาย เขาจึงหย่ากับเธอ เขาแต่งงานใหม่กับครูโรงเรียนมัธยมต้นชื่อ อิชิฮาระ มิจิโกะ ลูกสาวคนแรกของพวกเขาคือ โซโนะโกะ เกิดเมื่อ มิถุนายน 1941

ในยุค 30 และยุค 40 ดะไซ เขียนนวนิยายและเรื่องสั้นที่อัตชีวประวัติในธรรมชาติเรื่องแรกของเขา เกียวฟุคุคิ  (魚服記)  เนื้อเรื่องเกี่ยวกับจินตนาการที่น่าสยดสยองที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย เรื่องราวอื่น ๆ ที่เขียนขึ้นในช่วงเวลานี้ ได้แก่ โดเคะ โนะ ฮะนะ (道化の花),  เกียกโค(逆行), เคียวเก็น โนะ คามิ (狂言の神)  นวนิยายรูปแบบจดหมาย เคียวโค โนะ ฮารุ (虚構の春)

ญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามในมหาสมุทรแปซิฟิกในเดือนธันวาคม แต่ ดะไซ ได้รับการยกเว้นการเป็นทหารเพราะเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค บ้านของเขาถูกเผาสองครั้งในการโจมตีทางอากาศของอเมริกา แต่ครอบครัวของ ดะไซ หลบหนีโดยไม่ได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นภรรยาก็ให้กำเนิดลูกชาย มาซากิ ในปี ค.ศ. 1944 และลูกสาวชื่อ ซาโตโกะ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนักเขียนชื่อดัง นามแฝง ทสึชิมะ ยูโกะ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1947

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดะไซประสบความสำเร็จกับนวนิยายเรื่อง ชาโยและ นินเก็น ชิชาคุ นิยายทั้งสองเล่มทำให้เขาได้รับชื่อเสียงมหาศาล  เดือนกรกฎาคมปี ค.ศ 1947 เขาได้เริ่มเขียนงานที่ดังที่สุด คือ ชาโย ที่แสดงถึงความเสื่อมโทรมของชนชั้นสูงของญี่ปุ่นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง งานเขียนนี้ใช้บันทึกประจำวันของ  โอตะ ชิซุโอะ โอตะเป็นหนึ่งในแฟนหนังสือของดะไซ และได้พบกับเขาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ 1941 เธอให้กำเนิดลูกของเขา ชื่อฮารุโกะ ในปีค.ศ 1947

ดะไซ ได้พบกับ ยะมะซะกิ โทมิเอะ ช่างเสริมสวยและแม่หม้าย หลังจากนั้น ดะไซ ละทิ้งภรรยาและลูก ๆ และย้ายไปอยู่กับโทมิเอะ  เขาเริ่มเขียนนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของเขา นินเก็น ชิชากุ ในโรงแรมที่เขาย้ายไปอยู่กับ โทมิเอะ และอยู่ที่นั่นจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม จนเขียนนิยายเสร็จ

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ 1948 เขาเขียนนวนิยายเรื่องสั้น ที่มีกำหนดจะตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อาซาฮี ชิมบุน ซึ่งมีชื่อว่า Goodbye แต่ก็เขียนไม่จบ จนเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ดะไซ และ โทมิเอะ ได้จมน้ำเสียชีวิตในคลอง ทามากาวะ ใกล้กับบ้านของเขา ร่างกายของพวกเขาถูกค้นพบในวันที่ 19 มิถุนายนซึ่งใกล้เคียงกับวันเกิดปีที่ 39 ของเขา หลุมฝังศพของเขาอยู่ที่วัด เซ็นรินจิ ในเมือง มิทากะ

หนังสือของเขานำมาซึ่งการตระหนักถึงหัวข้อที่สำคัญๆ เช่นธรรมชาติของมนุษย์ ความเจ็บป่วยทางจิต ความสัมพันธ์ทางสังคมและสงครามญี่ปุ่น  และงานส่วนมากของเขาแสดงให้เห็น จิตสำนึกของความเป็นจริงทางสังคมในช่วงเวลาที่ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ด้วยการเขียนนิยายแบบกึ่งอัตชีวประวัติของดะไซ จึงทำให้ผู้อ่านหลายๆ คนหลงใหล และยังคงได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในประเทศญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง

Keene, Donald. Modern Japanese Literature From 1868 to Present Day. New York: Grove  Press, 1994. Print.

Rimer, J. Tomas Modern Japanese Fiction and Its Traditions: An Introduction. New Jersey: Princeton University Press, 1978. Print.

Ueda, Makoto. Modern Japanese Writers and the Nature of Literature. California: Stanford University Press, 1976. Print.

Osamu Dazai. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2560, จาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Osamu_Dazai

อ่านเพิ่มเติม »

บิสมาร์ก (Bismarck) รัฐบุรุษผู้รวมชาติเยอรมัน

โดย ชานนท์ พิณพงษ์

ถ้าหากจะกล่าวถึงบิดาแห่งการรวมชาติเยอรมันจนประสบความสำเร็จแล้วก็คงเป็นใครไม่ได้นอกจาก บิสมาร์ก (Bismarck) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษผู้รวมชาติของเยอรมัน

ออตโต เอดูอาร์ด ลีโอโปล ฟอน บิสมาร์ก (Otto Eduard Leopold Von Bismarck) เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1815 ที่เมืองชอนเฮาเซน อัลมาร์ค บนฝั่งแม่น้ำเอลเบอ  ปรัสเซีย ในตระกูลขุนนางผู้ดีซึ่งมีที่ดินและร่ำรวย  เข้าศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาในกรุงเบอร์ลิน การศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนพลามัน ระดับมัธยมศึกษาที่ฟรีดริช – วิลเฮล์ม และโรงเรียนมัธยมเกราเว่น โคลสเตอร์ จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยกอตติงเงน ในสาขาวิชากฎหมาย

ในช่วงวัยเด็กบิสมาร์กเป็นนักเรียนที่ไม่ได้มีผลการเรียนดีเลิศอะไรนัก ด้วยโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลบ้านมาก เขาจึงเป็นโรคคิดถึงบ้านบ่อยๆ ในช่วงวัยรุ่นแต่เดิมเป็นคนที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเชื่อมั่นว่า สาธารณรัฐเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด ด้วยที่ได้รับการอบรมในแบบปรัสเซียที่ให้นักเรียนตระหนักถึงหน้าที่และอำนาจบังคับบัญชา ทำให้โลกทัศน์ของบิสมาร์กเปลี่ยนไปในภายหลัง เมื่อบิสมาร์กเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เขากลับกลายเป็นนักอนุรักษ์นิยมผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสุดขั้ว

ที่มา ; https://www.jiji.com/jc/v6?id=ancestor10&a=1
ในช่วงวัยหนุ่ม หลังเรียนจบออกมาแล้วบิสมาร์กเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายที่เมืองอาเค่น (Aachen) อยู่ระยะหนึ่งและเป็นทหารเกณฑ์ประจำการอยู่ที่เมืองพอทสดัม (Potsdam) จนอายุ 24 ปี จึงลาออกและกลับไปทำกิจการร่วมกับพี่ชายในที่ดินของครอบครัว ไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เที่ยวเตร่และดื่มเหล้าสนุกไปวันๆ เป็นชายหนุ่มลูกคนมีเงินแต่ไม่ชอบทำงาน 
           
ในช่วงวัยผู้ใหญ่ เมื่ออายุ 32 ปี บิสมาร์กเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเมื่อเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี ค.ศ.1847 เข้าได้เป็นสมาชิกของสภารวม (United Diet) ของพระเจ้า เฟรดเดอริค วิลเฮล์ม ที่ 4 มีผลงานโดดเด่นขึ้นมาเรื่อยๆ ประกอบกับความเฉลียวฉลาดและไหวพริบปฏิภาณการแก้สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ จึงเป็นที่ไว้ใจของกษัตริย์ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนปรัสเซียในการประชุมกับสมาพันธรัฐเยอรมันที่แฟรงค์เฟิร์สในปี ค.ศ. 1851  ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำรัสเซียในปี ค.ศ. 1857 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1859 และเดินทางไปเป็นตัวแทนเจรจาการทูตกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ในยุโรปหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งทำให้ บิสมาร์กกลายเป็นผู้ช่ำชองทางการทูต สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์และคาดการณ์ท่าทีของผู้นำชาติต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ จนได้ชื่อว่าเป็นนักการทูตที่จัดจ้านและเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว

ในปี ค.ศ. 1962 บิสมาร์ก ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครเสนาบดีของปรัสเซีย จากพระเจ้าวิลเฮล์ม ที่ 1 โดยทำงานสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง บิสมาร์กมีความเห็นสอดคล้องกับพระเจ้าวิลเฮล์ม ที่ 1 ในการปฏิรูปกองทัพและการจะขยายบทบาทและอำนาจของปรัสเซียโดยให้ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นเป็นผู้นำ บิสมาร์กพิจารณาการเมืองที่เป็นจริง (Realpolitik) ด้วยการกำหนดนโยบาย “เลือดและเหล็ก (Blood & Iron)” ซึ่งเน้นความสำคัญของการทำสงครามและการใช้กำลังทหารในการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของรัฐชาติ รวมทั้งการวางแผนที่รัดกุมเป็นขั้นตอน

ในปีค.ศ. 1863 เกิดการลุกฮือของชาวโปลในรัสเซีย บิสมาร์กจึงทำข้อตกลงกับรัสเซียด้วยการตรึงกำลังทหารตามพรมแดนปรัสเซียตะวันออกที่ติดกับรัสเซียเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวโปหลบหนีข้ามพรมแดน รัสเซียซาบซึ้งปรัสเซียที่มีส่วนช่วยเหลือทั้งไม่สนับสนุนอังกฤษ ฝรั่งเศสและออสเตรียที่ประณามรัสเซีย รัสเซียจึงสัญญาว่าในกรณีที่ปรัสเซียทำสงครามกับประเทศอื่นๆ รัสเซียจะเป็นกลาง

ที่มา: http://historysaranaru.blogspot.com/2014/09/blog-post_16.html
การรวมชาติเยอรมัน

1.สงครามกับเดนมาร์ก ค.ศ.1864 ปรัสเซียและออสเตรียร่วมกันบุกโจมตีเดนมาร์กเป็นสงครามแย่งสิทธิครอบครองชเลสวิก (Schleswig) และโฮลสไตน์ (Holstein) เดนมาร์กยอมลงนามในสนธิสัญญาแกสไตน์ (Convention of Gastein) ค.ศ.1865 ทำให้ปรัสเซียได้ดูแลชเลสวิก ให้ออสเตรียได้ดูแลโฮลสไตน์

2. สงครามออสเตรีย (สงคราม 7 สัปดาห์) ค.ศ.1866 บิสมาร์กเริ่มกล่าวหาว่าออสเตรียยุยงโฮลสไตน์ต่อต้านปรัสเซีย จึงเริ่มการเจรจากับฝรั่งเศส ให้วางตัวเป็นกลางในกรณีที่ปรัสเซียทำสงครามโดยสัญญาว่าจะยกแคว้นอัลซาส-ลอเรนท์ให้ ต่อมาก็หันมาทำสัญญากับอิตาลีในการทำสงครามกับออสเตรียโดยอิตาลีก็หวังจะได้เวเนเซีย เมื่อพร้อมแล้วจึงประกาศขับออสเตรียออกจากสมาพันธรัฐเยอรมันในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1866 ออสเตรียตอบโต้โดยชวนรัฐอื่นต่อต้านปรัสเซีย ปรัสเซียจึงถือโอกาสยกเลิกสมาพันธรัฐเยอรมันในวันที่ 14 มิถุนายน ทั้งสองฝ่ายเกิดปะทะกัน ออสเตรียปราชัยภายใน 7 สัปดาห์ ผลคือปรัสเซียได้โฮลสไตน์ และสามารถจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันตอนเหนือ (North German Conferderation) มีพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ทรงเป็นประมุขและบิสมาร์กเป็นอัครมหาเสนาบดี

3. สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (The Franco-Prussian War)  ค.ศ.1870  จากการที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ทางการทูตต่อปรัสเซียหลายครั้งและมีปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติสเปน ทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจประกาศสงครามกับปรัสเซีย ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1870-71 ปรัสเซียเป็นฝ่ายมีชัยเด็ดขาด รัฐเยอรมันทั้งหลายเริ่มมีความรู้สึกชาตินิยมร่วมกันจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมนี (German Empire) สำเร็จสมบูรณ์ในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1871 พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ทรงประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมนี ที่พระราชวังแวร์ซายส์ ของฝรั่งเศส พระองค์เองทรงเป็นพระจักรพรรดิวิลเลียมที่ 1 มีบิสมาร์กเป็นอัครมหาเสนาบดีหรือนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษ

หลังจากทำสงครามชนะฝรั่งเศสทำให้ยุโรปเปลี่ยนจาก “นายผู้หญิงจากเป็นนายผู้ชาย” ซึ่งก็คือจากฝรั่งเศสเป็นเยอรมัน นโยบายสำคัญของบิสมาร์ก คือการโดดเดี่ยวฝรั่งเศส

บิสมาร์กมีความขัดแย้งกับพวกคาทอลิก การต่อต้านสังคมนิยมและการขัดแย้งฝ่ายเสรีนิยมฝ่ายซ้าย ก็ทำให้ความไม่พอใจบิสมาร์กแผ่วงกว้างออกไปอีก ทำให้บิสมาร์กพบศัตรูหลายด้านจนต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ค.ศ.1890 เพราะมีพรรคการเมืองต่อต้านเขาถึงสามพรรค คือพรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคกลางและพรรคเสรีนิยมฝ่ายซ้าย ประจวบกับการที่พระเจ้าวิลเลียมที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.1888 ทรงมีนโยบายขัดแย้งกับบิสมาร์กตลอดมา จึงทรงบีบบิสมาร์กให้ลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1890 อีก 6 ปีต่อมาบิสมาร์กก็ถึงแก่อนิจกรรมลงด้วยวัย 83 ปี
             
บิสมาร์กถือได้ว่าเป็นยอดคนแห่งยุคเป็นนักการเมือง นักวางแผน ที่ปราดเปรื่องเปรียบเรียกได้ว่าเป็น ขงเบ้งแห่งตะวันตก มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของบิสมาร์กหลายแห่งเพื่อเชิดชูเกียรติผู้ก่อตั้งจักรวรรดิไรซ์ยุคใหม่ นักประวัติศาสตร์หลายคนเองก็ชื่นชมเขาในฐานะผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรวมเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียวและช่วยให้ยุโรปดำรงสันติภาพเอาไว้ได้ผ่านการทูตอันชาญฉลาด


อ้างอิง

mermaid. (16 กันยายน 2557). ความรู้ ประวัติศาสตร์โลก จักรวรรดิต่าง ๆ. เข้าถึงได้จาก จักรวรรดิเยอรมนี: http://historysaranaru.blogspot.com/2014/09/blog-post_16.html

นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. (2510). ประวัติศาสตร์เยอรมัน. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2558). ยุโรป ค.ศ.1815-1918. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

หลวงวิจิตรวาทการ. (2542). มหาบุรุษ. กรุงเทพฯ: บริษัทโรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด.

อนันตชัย จินดาวัฒน์. (2555). ประวัติศาสตร์ยุโรป. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป.

เอกนรี พรปรีดา. (2552). 100 คนดัง ผู้มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคใหม่ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: มายิก.

อ่านเพิ่มเติม »

ชาวฮันซา (Hunza) มนุษย์อายุยืนในปากีสถาน

โดย กมลรัตน์ ภูเขาเขียว

ในปัจจุบันยุคของโลกาภิวัตน์ โลกมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงโรคและปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าโรคได้พัฒนาตัวมันเองให้มีเชื้อที่ร้ายแรงและส่งผลเสียต่อมนุษย์มากยิ่งขึ้น และจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายเหล่านี้ อันเนื่องมาจากขาดการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพ การรับประทานอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตหรือความเป็นอยู่ต่างๆที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้เป็นโรคร้ายและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ยังมีชนเผ่าหนึ่งที่ดูเหมือนว่าโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาได้เลย ชนเผ่านี้ได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่มีอายุยืนยาวมากที่สุดในโลก ซึ่งพวกเขาคือ “ชาวฮันซา หรือ ชาวหรรษา”

ที่มา : http://freewill14.blogspot.com/
ชาวฮันซา (Hunza) เป็นชื่อเรียกของชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ตอนเหนือของประเทศปากีสถาน โดยชาวเขาที่อาศัยในบริเวณแห่งนี้ มีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 120 ปี และที่น่าทึ่งมากกว่านั้นคือ มีชาวฮันซาบางคนที่มีอายุมากถึง 130-140 ปี โดยที่เขาสามารถทำงานได้ สามารถเดินได้ปกติ สุขภาพร่างกายยังแข็งแรง และยังมีฟันเต็มปาก ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุทั่วทุกมุมโลกแล้วจะเห็นได้ว่าชนเผ่านี้น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

การมีวิถีชีวิตที่อยู่ท่ามกลางหุบเขาและธรรมชาติของชาวฮันซา ทำให้พวกเขาเหล่านี้มีชีวิตที่ยืนยาวได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายอย่าง คือ ชาวฮันซาใช้ชีวิตแบบชนบท การที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีอากาศที่บริสุทธิ์ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีหมอกควันหรือสารเคมีใดๆ การทำเกษตรกรรม การเดินขึ้นเขาลงเขา ซึ่งเป็นการใช้แรง เสมือนเป็นการออกกำลังกายไปในตัว

อีกทั้งชาวฮันซาไม่มีใครที่เป็นโรคฟันผุเลย เนื่องจากพวกเขากินแต่อาหารที่มีประโยชน์ ไม่มีขนมหรือของหวานที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาหารที่ชาวฮันซากินเป็นประจำคือพืชผักและผลไม้ เช่น ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่ว มันฝรั่ง แครอท เทอร์นิป แอปเปิ้ล เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ เมล็ดพืชต่างๆ โดยผลไม้ที่ชาวฮันซานิยมกินกันมาก ซึ่งบางคนถือว่าผลไม้ชนิดนี้เป็นเคล็ดลับของการมีอายุยืนของพวกเขาคือ เอพริคอต มีรูปร่างลักษณะคล้ายลูกพีชหรือแอปเปิ้ล ส่วนข้าวที่กินนั้นเป็นข้าวที่ไม่มีการขัดขาวคล้ายข้าวกล้อง ทำให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเต็มที่ ส่วนน้ำที่ชาวฮันซากินนั้นก็เป็นน้ำแร่บริสุทธิ์ที่มีแร่ธาตุสูง

ที่มา : http://www.bloggang.com/
ชาวฮันซายังมีความเชื่อบางอย่าง เช่น มีความเชื่อในการเคี้ยวอาหาร ซึ่งจะต้องเคี้ยวหลายๆ ครั้ง เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่ต้องกินอาหารให้อิ่มมาก ให้กินอิ่มท้องเพียงแปดสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกทั้งพวกเขายังมีการอดอาหารสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการลดน้ำหนักแต่อย่างใด แต่เชื่อว่าการอดอาหารนั้นจะทำให้ระบบภายในร่างกายสะอาดขึ้น นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต่างจากกลุ่มคนทั่วไปคือ ชาวฮันซาไม่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก จะมีการกินเนื้อแพะปีละ 1-2 ครั้ง ในวันสำคัญคือวันขึ้นปีใหม่และวันแต่งงาน

ด้านสังคมของชาวฮันซา พวกเขามีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น อยู่อาศัยกันแบบครอบครัวใหญ่ที่มีแต่ความอบอุ่น การมีน้ำใจไมตรีต่อกัน การมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พวกเขาจะรู้วิธีการสร้างความผ่อนคลายให้กับตนเอง ทุกคนต่างใช้ชีวิตแบบมีความสุข ไม่มีความเครียดใดๆ จากปัจจัยทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการมีชีวิตที่ยืนยาวของชาวฮันซา

ที่มา : https://www.keepitthai.com/node/6907
จะเห็นได้ว่าชาวฮันซาเป็นชนเผ่าที่ควรนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องการมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย การเลือกกินแต่สิ่งที่มีประโยชน์ รวมถึงการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมของชาวฮันซาอย่างสงบสุข แต่ด้วยปัจจุบันสังคมส่วนใหญ่หรือประเทศที่มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทำให้ผู้คนได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยในบางครั้งเราหลงลืมไปว่าการใช้ชีวิตที่มักง่ายเกินไปนั้น เป็นพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพของตนเองหรือคนรอบข้างได้ ซึ่งถ้าหากว่าเราหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ไม่ทำลายสุขภาพ อีกทั้งการมีความคิดที่ดีๆ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น และเมื่อเรามีสุขภาพดี มีความคิดดี จิตใจดี ก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้นานและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น


อ้างอิง

จิตอิสระ. (นามแฝง). (2558). ชนเผ่าที่มีอายุยืนมากที่สุดในโลก. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2560, จาก  http://freewill14.blogspot.com/2015/04/blog-post_12.html

วัลลภ พรเรืองวงศ์. (2548). 6 วิธีรักษาสุขภาพแบบหรรษา. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2560, จาก  https://www.gotoknow.org/posts/6615

Npantong. (นามแฝง). วิธีธรรมชาติบำบัดของชาวฮันซา เชื้อชาติที่มีอายุยืนที่สุดในโลก ๑๒๐ ปี. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2560, จาก  https://www.keepitthai.com/node/6907

อ่านเพิ่มเติม »

คาซัคสถาน (Kazakhstan) ประเทศหลังม่านเหล็ก

โดย กนกวรรณ ทองเกษม

มิคาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหภาพโซเวียตในปีค.ศ. 1985 เขาได้ประกาศนโยบายปฏิรูป “กลาสนอสต์ และเปเรสตรอยก้า” ซึ่งทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในวันที่ 26 ธันวาคมปี ค.ศ. 1991 หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลงไป มีประเทศเกิดใหม่ 15 สาธารณรัฐ และ คาซัคสถาน (Kazakhstan) เป็น 1 ใน 5 ประเทศในกลุ่ม “สถาน” ที่แยกตัวออกมา

ที่มา: http://adevarul2012.blogspot.com/
คำว่า “สถาน” ในรากศัพท์ภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน และภาษาเปอร์เชียน หมายถึง ค่าย หรือปัจจุบันก็คือ หมู่บ้านหรือประเทศ ส่วนภาษาในตระกูลสลาวิก (Slavic) คำว่า สถาน หรือ สตาน (Ctan/ CTAH) ได้ให้ความหมายอย่างเดียวกัน หมายถึง หน่วยการปกครองดินแดนของแต่ละท้องที่ในสมัยจักรวรรดิรัสเซียเรืองอำนาจ

คาซัคสถานในอดีต คือ ดินแดนที่เต็มไปด้วยชนเผ่า นอร์มาดิค ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าสเต็ปป์ (Steppe) อันกว้างใหญ่ควบคู่ไปกับการล่าสัตว์ แต่ละเผ่าจะคงความเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับเผ่าอื่นๆ โดยในช่วงประมาณศตวรรษที่ 13 ดินแดนทั้งหมดในบริเวณดังกล่าวถูกปกครองโดยเจงกีสข่าน ต่อมาเมื่อจักรวรรดิรัสเซียเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 18 และตามมาด้วยอิทธิพลของสหภาพโซเวียต คาซัคสถานจึงเปลี่ยนสถานะมาเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตคาซัคสถาน (The Kazakh Soviet Socialist Republic – Kazakh SSR) นับแต่ปี 1936 เป็นต้นมา

ทุ่งหญ้าสเตปป์ในคาซัคสถาน
ที่มา : https://th.wikipedia.org/
สภาพความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของคนท้องถิ่นได้ถูกแทนที่ด้วยการก้าวเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะที่อำนาจการปกครองของแต่ละเผ่าพันธุ์ถูกตัดทอนลงให้ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกัน อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละเผ่าจึงถูกแทนที่ด้วยอุดมคติความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ภายใต้นโยบาย Virgin Lands Campaign ของสหภาพโซเวียตที่พยายามสร้างความเป็นรัสเซียให้กับคนคาซัค

นับจากช่วงปี 1954 คาซัคสถานจึงเริ่มปะปนไปด้วยคนโซเวียตหลายชาติพันธุ์ เช่น เยอรมัน เชชเชน ตาต้าร์ คาลมิค เป็นต้น และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ถูกเนรเทศเข้ามาในค่ายกักกันแรงงานในหลายเมือง ส่วนคนรัสเซียได้กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีอิทธิพลในทุกด้านของประเทศ ปัจจุบันสาธารณรัฐคาซัคสถานมีประชากรจำนวน 17.7 ล้านคน (ข้อมูลปีค.ศ. 2015) โดยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นประชากรเชื้อสายคาซัค

ที่มา: https://sites.google.com/
ในปัจจุบันสาธารณรัฐคาซัคสถานตั้งอยู่ในเขตเอเชียกลาง ทางตอนกลางของที่ราบยูเรเซีย ระหว่างประเทศรัสเซียและอุซเบกิสถาน โดยทิศตะวันออกติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทิศตะวันตกติดทะเลสาบแคสเปียน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดสาธารณรัฐคีร์กีซ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับเติร์กเมนิสถาน เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ 2,717,300 ตารางกิโลเมตร

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1998 รัฐบาลคาซัคสถานได้ทำการย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตีไปยังกรุงอัสตานา เนื่องจากประธานาธิบดี นูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ เห็นว่าที่ตั้งของอัลมาตีอยู่ติดชายแดนทางใต้มากเกินไป และอยู่ในแนวแผ่นดินไหว ต่างกับอัสตานาที่เป็นที่ราบ สามารถขยายเมืองออกไปได้เรื่อย ๆ อีกทั้งอัลมาตีเป็นเมืองที่เกิดในยุคพระเจ้าซาร์ของรัสเซีย ยังมีกลิ่นอายความเป็นรัสเซียสูง การจะสร้างความเป็นอัตลักษณ์ของประเทศจำเป็นต้องหลุดพ้นออกจากความเป็นรัสเซียให้ได้ ส่วนคำว่า “อัสตานา” เป็นภาษาคาซัค แปลว่า “เมืองหลวง”

สาธารณรัฐคาซัคสถานมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข (Presidential Republic) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะรัฐมนตรี และหัวหน้ารัฐบาล คาซัคสถานแบ่งออกเป็น 14 จังหวัด และ 3 เทศบาลนคร โดยทุกจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

อัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน
ที่มา : http://2g.pantip.com/cafe/
คาซัคสถานมีภาษาคาซัคเป็นภาษาประจำชาติ (state language) ตามนโยบายการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐบาลนายนาซาร์บาเยฟ คือ การส่งเสริมการใช้ภาษาคาซัค ซึ่งเป็นภาษาตระกูล            เตอร์กิค (Turkic) โดยรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถานปี 1993 ระบุให้ภาษาคาซัคเป็นภาษาประจำรัฐ (State Language) ขณะที่ภาษารัสเซียยังคงเป็นภาษาทางการที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ (Inter-Ethnic Communication) ส่วนศาสนา ประชากรชาวคาซัคสถานนับถือศาสนาอิสลามมากถึง 70.2% ส่วนใหญ่นับถือนิกายสุหนี่ รองลงมานับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ 26.2% และศาสนาอื่น ๆ

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐคาซัคสถาน รายได้หลักของประเทศมาจากการส่งออกน้ำมัน อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ยูเรเนียม โครเมียม เหล็ก ทองแดง ทองคำ และเงิน มีขีดความสามารถทางการเกษตรเนื่องจากมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ที่กว้างขวาง ส่วนหน่วยเงินตราใช้เป็นเทงกี้ หรือ เต็งเง (Kazakhstan Tenge) ทั้งนี้แม้ว่าคาซัคสถานจะเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง แต่ก็ยังประสบปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ ประเทศ

คาซัคสถานเป็นประเทศเกิดใหม่ได้ไม่นานหลังจากโซเวียตล่มสลายในปีค.ศ. 1991 อดีตก่อนที่คาซัคสถานจะถูกโซเวียตเข้าปกครองมีวิถีชีวิตแบบชนเผ่าเร่ร่อนควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าสเตปป์ภายหลังเมื่อแยกตัวออกมาเป็นประเทศจึงพยายามสร้างอัตลักษณ์ความเป็นคาซัคออกมา และหนึ่งใน อัตลักษณ์ที่สำคัญ คือ ภาษาคาซัคที่รัฐบาลได้ผลักดันให้ขึ้นมาเป็นภาษาประจำชาติแทนที่ภาษารัสเซีย ส่วนโครงสร้างทางเศรษฐกิจสืบเนื่องมาจากการค้นพบทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญมากมายทำให้เศรษฐกิจของคาซัคสถานเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด รัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนในการสร้างสิ่งปลูกสร้างมากมายทั้งที่ทำการรัฐบาล กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ทำเนียบประธานาธิบดี หอประชุม โรงละคร อาคารธุรกิจพาณิชย์ และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ซึ่งถูกออกแบบโดยดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง และมีลักษณะแปลกตาจนเป็น ที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว แม้ว่าคาซัคสถานจะจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐ มีเอกราชเป็นของตนได้ไม่นาน  แต่ก็สามารถสร้างอัตลักษณ์ความเป็นคาซัคสถาน และพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก


อ้างอิง

กุลจิรา ฟองเหม. 2557. คาซัคสถาน : อัตลักษณ์และวัฒนธรรมแห่งชาติ. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1331

กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา. 2559. สาธารณรัฐคาซัคสถาน. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://www.thaiembassy.org/astana/th/thai-people

Cherokee1 (นามแฝง). 2554. คาซัคสถาน ตอนที่ 2 อัสตานา (Astana) นี่มันดาวดวงไหนกันเนี่ย. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E10138761/E10138761.html

Wikitravel. 2017. Kazakhstan. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://wikitravel.org/en/Kazakhstan

อ่านเพิ่มเติม »

การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน

โดย กิตติภณ กองพันธ์

ประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่เมื่อสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นการเปลี่ยนบทบาทสำคัญของจีนต่อโลก มีเหตุการณ์สำคัญของช่วงเปลี่ยนผ่านหลายเหตุการณ์ การปฏิวัติวัฒนธรรมถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของจีนเป็นอย่างมาก

“การปฏิวัติวัฒนธรรม” (Cultural Revolution) หรือเรียกให้เต็มว่า “การปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ของชนชั้นกรรมมาชีพ” (Great Proletarian Cultural Revolution) เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2509 – 2519 เป็นเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่อย่างมาก แม้เหตุการณ์จะผ่านมานานแต่ยังมีผลปรากฏถึงปัจจุบัน

ต้นเหตุของการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนนั้นถ้ายึดตามคำประกาศของมติพรรคคอมมิวนิสต์จีน สามารถอธิบายได้ว่าเกิดขึ้นโดย เหมา เจ๋อตุง (Mao Tse-tung) โดยเหมา เจ๋อตุงได้กล่าวไว้ว่ามีบุคคลที่เป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุน เป็นผู้ฝักใฝ่ศักดินาและเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเข้ามาปะปนอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นจำนวนมาก การปฏิวัติจีนที่มีมาก่อนหน้าไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ต้องต้องปฏิวัติวัฒนธรรมเท่านั้น โดยมีการปลุกระดมมวลชน สามารถอธิบายพอสรุปได้ดังนี้

1. เป็นการปฏิวัติด้านอุดมการณ์เพื่อทำลายข้อผูกมัดซึ่งเรียกว่า สี่เก่า ได้แก้ ประเพณีเก่า วัฒนธรรมเก่า ความคิดเก่า และนิสัยเก่า เพื่อสร้างเยาวชนใหม่ให้เป็นนักสังคมนิยม

2. เป็นการต่อสู้เพื่ออำนาจของเหมา เจ๋อตุงที่ต้องการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองคือกลุ่มของประธานาธิบดีหลิว เซ่าฉี (Lin Shaoqi) และเติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xioping) ผู้ที่เหมา เจ๋อตุง กล่าวว่าเป็นผู้นำสายทุนนิยม


จากซ้าย โจว เอิ้นไหล(นายกรัฐมนตรี) 
เฉิน ยุ่น(นักวางแผนเศรษฐกิจ) หลิว เซ่าฉี(ประธานประเทศ) 
เหมา เจ๋อตุง(ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน) 
เติ้ง เสี่ยวผิง(เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์)
ที่มา : https://68.media.tumblr.com/
ในอีกแง่หนึ่งการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน เกิดจากผลของนโยบาย“ก้าวกระโดดไปข้างหน้า”ของเหมา เจ๋อตุง ซึ่งทำให้ผู้คนอดอยากและล้มตายเป็นจำมากถึง 20-43 ล้านคน ทำให้เหมา เจ๋อตุงถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งประธานประเทศหลังจากความล้มเหลวของนโยบายนี้ เขาต้องการที่จะกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ประกอบกับความไม่พอใจในการสอนของโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยที่คนได้คะแนนดีที่สุดคือคนที่จำโดยไม่ได้ใช้ความคิด เหมา เจ๋อตุงจึงเรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ต่อจากนี้จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นมาซึ่งเป็นพวกหัวรุนแรงและใกล้ชิดกับเหมา เจ๋อตุง เขาได้เผยแพร่หนังสือพิมพ์และวิทยุที่โจมตีผู้บริหารโรงเรียนและมหาวิทยาลัยออกไปอย่างแพร่หลายเหมา เจ๋อตุงได้ใช้กลุ่มยุวชนแดงซึ่งเป็นเยาวชนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองผ่านการปลูกฝังแนวคิดสังคมนิยม กองทัพปลดปล่อยประชาชนและหนังสือแดงเล่มเล็ก เป็นเครื่องมือในการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม

ระยะเวลาในการปฏิวัติวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2509 – 2519 เป็นเวลากว่า10ปี ส่งผลให้ผู้คนราว 2 ล้านคนที่ถูกสังหาร หรือถูกบีบให้ฆ่าตัวตาย ในจำนวนนี้มีทั้งผู้นำระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครูอาจารย์ นักวิชาการ ปัญญาชน 2 ล้านคนในชนบทต้องอดอาหารเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ อีก 20 ล้านคนถูกกวาดล้างและถูกส่งไปใช้แรงงานในเขตชนบทยากจนแร้นแค้น ไม่นับรวมไปถึงการทำลายสี่เก่า เช่น เผาวัดโบราณ รูปปั้นพระพุทธรูป โบราณสถาน โบราณวัตถุ อายุนับพันๆ ปี เผาห้องสมุด เผาตำราและวรรณกรรมที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับหลักสังคมนิยม

ใบปิดประกาศโฆษณาชวนเชื่อ คำบรรยายเขียนว่า "ทำลายโลกเก่า สร้างโลกใหม่" ยุวชนแดงทุบกางเขน พระพุทธรูปและอักษรจีนเดิมด้วยค้อน
ที่มา : https://upload.wikimedia.org/
วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการปฏิวัติวัฒนธรรมคือการพยายามกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งของเหมา เจ๋อตุงและการกวาดล้างผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองคือ หลิว เซ่าฉีและเติ้ง เสี่ยวผิง
หลิว เซ่าฉีถูกถอดจากตำแหน่งและทำร้ายจนเสียชีวิต เติ้ง เสี่ยวผิงถูกถอดจากตำแหน่งและส่งไปเป็นคนงาน

ผลของการปฏิวัตินี้ มีผลต่อด้านศิลปวัฒนธรรม และการศึกษามาก พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กล่าวไว้ว่า ทำให้พรรค ประเทศชาติและประชาชน อยู่ในภาวะถอยหลัง และสูญเสียอย่างใหญ่หลวงตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนขึ้นมา ยังเรียกช่วงสิบปีที่ของการปฏิวัติวัฒนธรรมว่า “สิบปีที่สูญเสีย” (Ten Lost Years ) และเรียกเยาวชนในช่วงเวลานี้ว่า “คนรุ่นที่ถูกลืม” (Lost Generation) เพราะเต็มไปด้วยความรุนแรงและขาดการศึกษาเนื่องจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยถูกปิดเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมการปฏิวัติ พวกยุวชนแดงถูกส่งไปเรียนรู้การทำงานในชนบทจึงไม่ได้รับการศึกษา ถูกสอนให้เชื่อฟังพรรคคอมมิวนิสต์ยิ่งกว่าบิดามารดา มีการฟ้องร้องบิดามารดา มีการทำลายสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พระพุทธรูป แท่นศิลารึกถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ทำลายวรรณกรรม ประนามสิ่งต่างๆข้องกับ “สี่เก่า” เช่นประณามขงจื๊อ นักปรัชญาคนสำคัญของจีน

จะเห็นได้ว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมส่งผลตั้งแต่บุคคลระดับผู้นำประเทศไปจนถึงประชาชนทั่วไป ทั้งด้านชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน จิตใจ ความรู้สึก จนถึงในปัจจุบันนี้ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรมก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นในรูปของความทรงจำ ความรู้สึกที่ต้องเสียคนใกล้ชิดจากเหตุการณ์การปฏิวัติวัฒนธรรม หรือ เป็น“คนรุ่นที่ถูกลืม”ซึ่งก็คืออดีตยุวชนแดงที่ถูกสังคมหลงลืม และรัฐบาลจีนก็ไม่ต้องการที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์การปฏิวัติวัฒนธรรมนี้

กลุ่มยุวชนแดงกำลังทุบป้ายจารึกที่ทำด้วยหินอ่อนที่บ้านทายาทของจื๊อ
ที่มา : http://www.chinaheritagequarterly.org/
การปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ส่งผลต่อประเทศจีนอย่างมาก เป็นเหตุการณ์ที่ยากจะลืม ทั้งในเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อต้านผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง การใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง การพัฒนาประเทศที่ควรจะพัฒนาไปด้วยกันทั้งด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ก็สามารถเป็นบทเรียนให้แก่คนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงความผิดพลาดและเป็นแนวทางในการตัดสินใจสำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้


อ้างอิง

วุฒิชัย มูลศิลป์.(2541). การปฏิวัติวัฒนธรรม : ข้อพิจารณาบางประการ . วารสารประวัติศาสตร์, 2541, 97-110.

Nattachai Tantirapan. (2557). คำขอโทษใน 'การปฏิวัติวัฒนธรรม' ยังไม่พอ!. ค้นเมื่อ 16 กันยายน
2560, จาก https://shows.voicetv.co.th/world-update/97788.html

คม ชัด ลึก. (2559). 50ปีปฏิวัติวัฒนธรรมจีน:จะฝังหรือจะขุดประวัติศาสตร์อัปยศ. ค้นเมื่อ 16 กันยายน 2560, จาก http://www.komchadluek.net/news/foreign/228096

อ่านเพิ่มเติม »

มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai)

โดย วัลลภา หะริตา

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในการดำรงชีวิตของเรา ในปัจจุบันเด็กทุกคนควรที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย เว้นแต่ในบางประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มีข้อห้ามอย่างเคร่งครัดว่าผู้หญิงไม่ควรเข้ารับการศึกษาเนื่องจากขัดต่อหลักศาสนา และนั้นคือที่มาของมาลาลา ยูซาฟไซ นักต่อสู้เพื่อสิทธิของการศึกษาเพื่อสตรี ในวัยเพียง 11 ปี และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่ขวางกั้นของการเรียกร้องสิทธิในประเทศปากีสถานต่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายตาลีบัน

ที่มา: https://feminisminindia.com//
มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ 2540 ที่เมืองมินโกรา (Mingora) เขตสวัด (Swat) จังหวัดไคเบอร์ปัคตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ในประเทศปากีสถานและได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนสตรีแห่งหนึ่งโดยนายไซอุดดิน (Ziauddin) ซึ่งเป็นพ่อของมาลาลา ยูซาฟไซเป็นเจ้าของสถานศึกษาแห่งนี้

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2550 อิทธิพลของกลุ่มนักรบติดอาวุธตาลีบันได้ขยายอิทธิพลมากขึ้น มัวลานา ฟาสลูลลาห์ ใช้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเพื่อขยายอำนาจการปกครองโดยทำการเผยแพร่การสอนกฎหมายของศาสนาอิสลามและผ่านทางวิทยุกระจายเสียง FM ซึ่งเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในเวลานั้น และในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 กลุ่มตาลีบันได้เข้ามายึดครองพื้นที่เขตสวัด และได้ทำการล้มล้างสถานศึกษาสตรีของรัฐ โดยการเผาทำลายไปมากกว่าร้อยแห่ง

ในขณะเดียวกันสถานศึกษาสตรีที่มาลาลา ยูซาฟไซกำลังศึกษาในเวลานั้น ยังคงเปิดการเรียนการสอนเป็นปกติท่ามกลางการข่มขู่จากกลุ่มตาลีบันตลอด ช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 มาลาลา ยูซาฟไซอายุเพียง 11 ปีได้ปรากฏต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกเพื่อต่อต้านการโจมตีสถานศึกษาสตรี และได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อเรื่อง “ตาลีบันอาจหาญอย่างไรในการระงับสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาของฉัน” (How Dare the Taliban Take Away My Basic Right to an Education)

และต่อมาในปี พ.ศ. 2552 เธอได้เริ่มเขียนบทความในเว็บไซต์ให้แก่ BBC โดยใช้นามแฝงว่า “กุล มาไค” เล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกกลุ่มตาลีบันควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพของสตรี ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ การถูกลอบสังหารของมาลาลา ยูซาฟไซจากกลุ่มตาลีบัน

ที่มา: http://issue247.com/people/malala-yousafzai/
วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เมื่อครั้งมาลาลาอายุ 15 ปี ถูกลอบสังหารในขณะที่เธอและเพื่อนเดินทางกลับบ้านจากโรงเรียน โดยรถรับส่งนักเรียน ได้มีชายปิดบังใบหน้าซึ่งเป็นมือสังหารของกลุ่มตาลีบันขึ้นมาบนรถและเรียกชื่อ มาลาลา เพื่อนของเธอได้มองไปที่เธอและขณะนั้นเองมือปืนจึงยิงปืนเข้าที่ศีรษะด้านซ้ายทะลุด้านหลังคอ มาลาลา ยูซาฟไซได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส และถูกนำตัวส่งโรงพยายามบาลของรัฐ

และวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ผู้นำทางศาสนามากกว่า 50 คนในปากีสถานได้ออกมาแถลงการณ์ถึงการไม่เห็นด้วยกับการลอบยิงครั้งนี้ของกลุ่มตาลีบัน ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 มาลาลาได้ย้ายไปรับผ่าตัดสมองและรักษาตัว ที่สหราชอาณาจักร หลังจากเหตุการณ์ลอบสังหารครอบครัวของมาลาลา ยูซาฟไซย้ายไปอาศัยอยู่ที่ เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษและเธอเข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่นั่น

I am Malala
ที่มา: http://issue247.com/people/malala-yousafzai/
เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ไม่สามารถขัดขวางความพยามของมาลายา ยูซาฟไซในการเรียกร้องสิทธิของการศึกษาเพื่อสตรีได้ นายกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร และปัจจุบันเป็นทูตพิเศษสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษาของโลก ได้เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นและกล้าหาญขอมาลาลาได้ยกย่องเธอ ได้รณรงค์ส่งเสริมการศึกษาเพื่อเป็นเกียรติแก่เธอในหนังสือหัวข้อที่ชื่อว่า  “I am Malala: The Girl Who Stood Up for Education and Was Shot by the Taliban”ได้วางจำหน่ายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 นอกจากนั้นได้มีการส่งเสริมการศึกษาในประเทศปากีสถานด้วยกองทุนสากลและเป็นการริเริ่มโครงการภายในประเทศอีกด้วย

มาลาลา ยูซาฟไซได้จัดตั้งสถานศึกษาเพื่อเด็กหญิงผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศเลบานอนติดกับชายแดนประเทศซีเรีย (Malala Yousafzai All-Girls School) งบประมาณในการจัดตั้งสถานศึกษามาจากกองทุนมาลาลา องค์กร Vital Voices Global Partnershipซึ่งก่อตั้งโดยนาง Hilary Clinton ได้จัดตั้งกองทุนมาลาลาขึ้น ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการศึกษา

ในวันคล้ายวันเกิดอายุ 16 ปี ของมาลาลา ยูซาฟไซ ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่สหประชาชาตินอกจากนั้นองค์การสหประชาชาติและองค์กรอื่นๆ นอกจากนั้นเลขาธิการสหประชาชาติ นายบันคีมุน ได้ประกาศให้วันที่12 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันเฉลิมฉลองของมาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Day)

ที่มา: http://issue247.com/people/malala-yousafzai/
นอกจากนั้น มาลาลา ยูซาฟไซได้รับการเสนอชื่อรับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลสิทธิมนุษยชนเพื่ออิสรภาพของผู้หญิงนานาชาติ ( Simone de Beauvoir Prize, International Human Rights Prize for Women's Freedom, 2013) รางวัลเยาวชนเพื่อสันติภาพแห่งชาติ (National Youth Peace Prize,2011) ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ได้รับคัดเลือกจากนิตยาสารไทม์ว่าเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกประจำปี 2013

ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 มาลาลา ยูซาฟไซยังได้เสนอชื่อขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากสหภาพยุโรปถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดในการเข้ารับรางวัลนี้ ในเดือน เมษายน ปี พ.ศ. 2560 สหประชาชาติได้แต่งตั้งให้มาลาลา ยูซาฟไซ เป็น “ผู้ส่งสารสันติภาพ” (Messenger of Peace) ของสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น มาลาลา ยูซาฟไซในปัจจุบันอายุ 20 ปีได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด 
                          
การที่มาลาลา ยูซาฟไซ นักเรียกร้องสิทธิของการศึกษาเพื่อสตรีได้รับรางวัลมากมายเพื่อยกย่องและเป็นเกียรตินั้น หากแต่ไม่สามารถที่จะได้มาอย่างง่ายต้องต่อสู้กับอุปสรรคมากมาย หลังการลอบสังหารของกลุ่มตาลีบันในครั้งนั้นส่งผล มาลาลา ยูซาฟไซไม่สามารถเดินทางกลับเข้าสู้ประเทศปากีสถานได้อีก เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายตลีบันขู่ที่จะปลิดชีวิตของเธอตลอดเวลา มาลาลา ยูซาฟไซเริ่มเรียกร้องสิทธิให้แก่สตรีตั้งแต่อายุเพียง 11 ปี จนกระทั้งปัจจุบันอายุ 20 ปี อย่างไรก็ตามเธอยังคงให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาของสตรีต่อไป


อ้างอิง 

กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา. ๒๕๖o. มาลาลา ยูซาฟไซ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://sameaf.mfa.go.th/th/important_person/detail.php?ID=4382. วันที่ค้นข้อมูล ๒๒ กันยายน ๒๕๖o

Indy Hyena. ๒๕๖o. มาละละห์ ยูซัฟซัย อายุ 17 ปีกับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ. (ออนไนล์). แหล่งที่มา: http://issue247.com/people/malala-yousafzai/. วันที่ค้นข้อมูล ๒๒ กันยายน ๒๕๖o

Malala Yousafzai Biography.com Women's Rights Activist, Children's Activist, Activist (1997–). ๒๕๖o. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.biography.com/people/malala-yousafzai-21362253. วันที่ค้นข้อมูล ๒๒ กันยายน ๒๕๖o



อ่านเพิ่มเติม »

ปฏิบัติการอพยพที่ดันเคิร์ก (Dunkirk evacuation)

โดย สาธิตา  วงษาบุตร

“ดันเคิร์ก” เหตุการณ์จริงที่ถูกหยิบขึ้นมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านจอฟิล์ม โดยผู้กำกับฝีมือดี คริสโตเฟอร์ โนแลน  ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวมหากาพย์ของการอพยพที่โกลาหลของทหารอังกฤษและฝรั่งเศสฝ่ายสัมพันธมิตรออกจากชายหาดทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ในปี 1940 ซึ่งได้รับคำชมเป็นอย่างมากจากนักวิจารณ์และสร้างความประทับใจแก่คอภาพยนตร์ทั่วโลก แต่ความเป็นจริงน่ากลัวกว่าภาพฉายนั้นหลายเท่าทวีคูณ และยังเป็นเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลและความทรงจำที่ไม่อาจลืมได้ แก่เหล่านายทหารและผองเพื่อนผู้กล้าหลายชีวิต

เมื่อย้อนกลับไปในช่วงวันที่ 27 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 1940 เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 9 วัน ของนายทหารผู้รอดชีวิตทั้งหมด 336,228 นาย ที่ทุกวินาทีขณะอยู่บนหาดและท่าเรือดันเคิร์กนั้นคือชีวิต และต้องอพยพหนีเพื่อเอาชีวิตรอด โดยต้นตอของปฏิบัติการอพยพอันโกลาหลครั้งนี้มาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มอุบัติในพื้นที่ยุโรปโดย นาซีเยอรมัน ภายใต้การนำของ อดอร์ฟ ฮิตเลอร์ และทำการบุกยึดโปแลนด์ ต่อมาอังกฤษและฝรั่งเศส จึงประกาศสงครามกับเยอรมนี 

เพราะด้วยภายใต้สนธิสัญญาช่วยเหลือกันระหว่าง อังกฤษและฝรั่งเศสและโปแลนด์ ที่ได้ทำกันไว้ก่อนหน้า จึงเรียกว่าฝ่ายดังกล่าวว่า  "สัมพันธมิตร"  สงครามครั้งนี้กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส พยายามต้าน นาซีเยอรมัน แต่ยับยั้งไม่ได้ นาซียังคงแข็งแกร่ง ดังนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสจำเป็นต้องถอยร่นมาตั้งหลัก ณ เมืองดันเคิร์ก ประเทศฝรั่งเศส บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค จากนั้นไม่นานนาซีก็ได้บุกเข้าปิดล้อมดันเคิร์ก ซึ่งทำให้นายทหารกว่า 3 แสนกว่าชีวิตถูกขนาบล้อมไปด้วยกองทัพทหารนาซี ซึ่งการจะเอาชีวิตรอดจากนาซีได้ก็มีเพียงการหนีออกทางทะเลเท่านั้น

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.1940 นาซีก็มีสั่งทหารดำเนินการบุกโจมตีดันเคิร์กอย่างหนักทั้งทางบกและทางอากาศอย่างเต็มกำลัง ทางด้านฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเห็นว่าตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ จึงมีคำสั่งถอนทัพพร้อมอพยพทันที จากชายฝั่งดันเคิร์กข้ามช่องแคบโดเวอร์ ไปขึ้นยังเมืองชายฝั่งของประเทศอังกฤษ อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งระยะทางการอพยพก็ไม่ได้ใกล้ เพราะมีระยะทางเฉลี่ยถึง 100 กว่ากิโลเมตร แต่เมื่อชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย แน่นอนว่าถ้าไม่เดินหน้าก็คงจะต้องจบชีวิตลงบนหาดนี้ ซึ่งช่วงระหว่างการอพยพนี้  การอพยพครั้งแรกได้เริ่มขึ้น วันที่ 27 พฤษภาคม  โดยวันแรกนั้นสามารถอพยพนายทหารได้จำนวน 7,011 คน
                     
ที่มา: https://f.ptcdn.info/179/047/000/ogis3nnsluPAeK8iEzc-o.jpg
การอพยพนายทหารนั้นได้รับการช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรเอง ที่มีการรวบรวมเรือของกองทัพเรือ  ทั้งเรือโดยสารข้ามฟาก เรือหาปลา เรือยอร์ช และแม้กระทั่งเรือออกทะเลสำหรับพักผ่อน เพื่อช่วยในการอพยพทหารครั้งนี้ โดยจะเดินเรือไประดมพลกันที่เมืองเชียร์เนส แล้วทุกลำจึงจะมุ่งหน้าไปยังดันเคิร์กและล้อมชายฝั่งใกล้ๆ เพื่อขนถ่ายกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมา และนอกเหนือจากการช่วยเหลือทางน้ำแล้ว ทางอังกฤษก็ได้มีการส่งเครื่องบินเข้ามาช่วยอีกด้วย

ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม การอพยพครั้งที่สองได้เริ่มขึ้น เรือพิฆาตนับสิบลำได้ถูกเรียกระดมให้เข้ามาช่วยเหลือแต่กลับไม่ราบรื่นอย่างที่หวัง เมื่อน้ำนั้นตื้นเขินเกินไป ก็ไม่สามารถนำเรือประชิดฝั่งได้มากนัก แต่อย่างไรก็ตาม เรือเล็กที่ตามมานั้นก็สามารถเข้าประชิดฝั่งและรับนายทหารไปได้ 16,000นายกลับมาได้  แต่ขณะลำเลียงอยู่นั้น เรือหลายต่อหลายลำก็อับปางลงเนื่องมาจากยุทธการทางอากาศของทางฟากฝั่งเยอรมันที่มีการทิ้งระเบิด อีกทิ้งยังมีตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำ ทำให้เรือหลายลำก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก รวมทั้งเรือพิฆาตอีก 9 ลำที่สามารถบรรทุกนายทหารได้จำนวนมาก โดยเป็นเรือพิฆาตของฝรั่งเศส 3 และเรือพิฆาตของอังกฤษอีก 6 ลำ จนเกิดความโกลาหลบนลำเรือและจำเป็นต้องสละเรือทิ้งไป

ที่มา: https://f.ptcdn.info/180/047/000/ogitdsq4x1efBBueNbn-o.jpg
นายกรัฐมนตรี วิสตัน เชอร์ชิลล์ ได้กล่าวถึงช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28-31 พฤษภาคม ว่า "เป็นช่วงเวลา 4 วันวิกฤตที่บุรุษชาวฝรั่งเศสเหล่านี้ ที่อยู่ภายใต้การนำอย่างกล้าหาญของนายพลมอลีนีเย สามารถยันพวกเยอรมันไว้ได้ไม่น้อยกว่า 7 กองพันที่อาจไปร่วมวงที่ดันเคิร์ก นี่คือผลงานอันยอดเยี่ยมที่เปิดทางให้บรรดาสหายซึ่งมีโชคกว่า ตลอดจนกองทหารบริติชสามารถหนีรอดได้"  และผลของช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่าสามารถช่วยชีวิตนายทหารได้เป็นจำนวนมาก เพราะในตอนโพล้เพล้ของวันที่ 30 พฤษภาคม เรือลำเล็กจำนวนมากเข้าเทียบท่าพร้อมกับช่วยทหาร 30,000 นาย  ในวันที่ 31 พฤษภาคม ทหารจำนวน 68,000 นายถูกอพยพกลับมา และอีก 10,000 นาย ภายในคืนเดียวกัน การอพยพครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายคือในในวันที่ 1 มิถุนายน ทหารอีก 65,000 นาย ได้เดินทางกลับมายังอังกฤษ แต่ปฏิบัติการอพยพ นั้นยังคงยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน และมีผู้รอดชีวิตทั้งหมด 338,226 นายดังที่กล่าวไปข้างต้น

นอกจากนี้ นายเชอร์ชิลล์ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ดันเคิร์กว่าเป็น "หายนะทางการทหารที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์" และเขาเองก็ยกย่องการช่วยเหลือทหารเหล่านี้ว่าเป็น "ปาฏิหาริย์การปลดปล่อย"  พร้อมกล่าวต่ออีกว่า... การอพยพดันเคิร์กได้สำเร็จ ถือเป็นสิ่งอัศจรรย์ยิ่ง เพราะเป็นภารกิจที่ทำได้ยากยิ่ง ช่วยสร้างขวัญกำลังใจต่อฝ่ายสัมพันธมิตรขึ้นเป็นอย่างมาก และด้วยสงวนกำลังพลถึงสามแสนกว่านายได้สำเร็จ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเตรียมกลับมารับศึกต่อไป ทั้งกำชับทำนองว่า ถึงครั้งนี้ทำการสำเร็จ แต่สงครามยังไม่จบ และสงครามมิได้แพ้ชนะกันด้วยการอพยพ...และภายหลังจากปฏิบัติการอพยพนายทหารที่ดันเคิร์กเสร็จสิ้นนั้น นาซีก็ยังคงลุกลามพร้อมเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มรูปแบบ

เหตุการณ์อพยพที่ดันเคิร์กนั้นสร้างความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ทหารหลายนายต้องจบชีวิชีวิตลงบนหาด แน่นอนว่าไม่มีใครอยากที่จะสูญเสีย แต่เมื่อมีสงครามการยืนอยู่ท่ามกลางสนามรบนั้นหมายความว่า หัวใจเราสามารถหยุดเต้นได้ตลอดเวลา เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นถึงการเอาตัวรอด เห็นถึงการช่วยเหลือกันและกันที่สะท้อนผ่านสิ่งเล็กๆที่ช่วยด้วยแรงและกำลังที่แต่ละคนมีและพร้อมจะช่วยเหลือเพื่อนและพวกพ้องตลอดเวลา ...และเชื่อว่าทหารทุกนายอยากกลับบ้าน แต่พวกเขาก็ได้พยายามจนถึงที่สุดแล้ว...


อ้างอิง

ยุทธการที่ดันเคิร์ก.สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560,จาก :  https://th.wikipedia.org/

ประวัติศาสตร์ปฏิบัติการอพยพที่ดันเคิร์ก สู่ภาพยนตร์ Dunkirk. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560,จาก: http://www.scifi.siligon.com/s_39dunk.html

เกิดอะไรขึ้นที่ดันเคิร์ก?.สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560,จาก :  http://www.bbc.com/thai/international-40686933


อ่านเพิ่มเติม »

“กอลมาร์ (Colmar)” เมืองเล็ก ๆ ที่เป็นดั่งเทพนิยาย

โดย ปรียากร ปะกิระคะ

สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้ปรากฏบนโลกใบนี้ช่างมีมากมาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่กว่าสถานที่เหล่านั้นจะได้รับความนิยม จะต้องได้มีผู้ไปสัมผัสและนำมันออกมาเผยแพร่ให้บุคคลอื่นได้รับรู้ ทั้งในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวไกล การได้เห็นเพียงภาพก็นึกฝันอยากเดินทางไปเยือนและสัมผัสสักครั้งในชีวิต ตัวผู้เขียนเองก็มีความฝันที่อยากจะเดินทางออกไปเที่ยวอยู่บ่อยครั้ง และครั้งนี้ผู้เขียนอยากที่จะถ่ายทอดสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้พบเจอมาในโลกออนไลน์ ซึ่งสถานที่นี้เรียกได้ว่าเป็นดั่งเทพนิยาย เหมือนร่ายล้อมและเต็มไปด้วยเวทมนตร์ จนอยากที่จะเดินทางไปสัมผัสความรู้สึกนั้นอย่างแท้จริง....

“กอลมาร์” หรือ “โกลมาร์” (Colmar) เมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ ที่มีความอบอุ่นและน่ารัก จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เมื่อไปประเทศฝรั่งเศสแล้วจะต้องได้ไปเยือนสักครั้งในชีวิต

ที่มา : https://www.neverendingvoyage.com/
เมืองกอลมาร์นั้น ตั้งอยู่ในแคว้นอาลซัส ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส ใกล้พรมแดนประเทศเยอรมนี ทั้งยังอยู่บน “เส้นทางไวน์ของอาลซัส” และได้ชื่อว่าเป็น “capitale des vins d'Alsace” (เมืองหลวงแห่งไวน์แห่งอาลซัส) เมืองกอลมาร์นั้นมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีการทำไร่องุ่นเป็นจำนวนมาก จนเรียกได้ว่าเป็นที่ผลิตไวน์ชั้นเยี่ยมของฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้นเมืองกอลมาร์ยังมีคลองที่ล้อมรอบไปด้วยอาคารที่ตั้งตระหง่านอยู่สองฝากฝั่ง และสามารถนั่งเรือชมคลองได้ จนถูกเรียกว่าเป็น “เวนิชน้อย” นอกจากนั้นอาคารบ้านเรือน พิพิธภัณฑ์ น้ำพุ รูปปั้น หรือห้องสมุด ที่ยังคงเป็นสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่โบราณ เพราะการรอดพ้นจากสงครามในการปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้ยังคงสภาพที่ดีอยู่จนถึงปัจจุบัน

และด้วยการสร้างอาคารที่เต็มไปด้วยสีสัน มีคลอง สถาปัตยกรรมจากยุคกลาง ราวกับว่าเป็นบ้านเมืองที่ปรากฎอยู่ในเทพนิยายซึ่งเต็มไปด้วยเวทมนตร์ และนี่จึงอาจเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้หลงใหลและสัมผัสไปกับเมืองแห่งเทพนิยายแห่งนี้ สถาปัตยกรรมที่สำคัญของกอลมาร์ที่นอกจากตัวอาคารบ้านเรือนแล้ว คือ St. Martin Church เป็นโบสท์ที่สร้างขึ้นในยุคกลาง โดยสร้างจากอิฐสีชมพูทั้งหลัง ทำให้มีความแปลกตาแต่สวยงามในคราเดียวกัน หรือจะเป็น Maison des Tetes ที่เป็นอาคารที่สร้างจากไม้และตกแต่งอย่างสวยงามในช่วงยุคเรเนอซองค์

นอกจากนั้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิของทุกปี กอลมาร์จะมีการจัดเทศกาลในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ หรือที่เรียกว่า “Colmar celebrates Spring (Fête le Printemps)” ซึ่งงานจะจัดเป็นเวลาสองอาทิตย์ โดยจะมีทั้งตลาดที่จัดแสดงนิทรรศการ และขายของที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ ที่มีการขายของที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และดั้งเดิม ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลอีสเตอร์ (Easter and Spring markets) หรือจะเป็นการชมนิทรรศการของศิลปะชื่อดัง ที่ได้มีการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ต้องใช้มือด้วยความปราณีตของตัวศิลปินเองให้ได้ชม (Three major arts & crafts sales exhibitions) และมีการจัดแสดงดนตรี หรือการแสดงวัฒนธรรมต่าง ๆ ให้ได้ชมกัน (the Music & Culture Festival) ซึ่งเต็มไปท่ามกลางความอบอุ่นของแสงแดด และสัมผัสความรู้สึกโบราณของเมืองกอลมาร์ และอีกช่วงของฤดูกาลที่ควรไปสัมผัสคือ ช่วงเทศกาลคริสมาสต์ เพราะเมืองกอลมาร์จะเต็มไปด้วยดวงไฟที่ประดับประดาหลาย ๆ ดวง พร้อมกับบรรยากาศที่เหมือนเต็มไปด้วยเวทมนตร์ และตลาดที่เต็มไปด้วยกลิ่นความหอมและกลิ่นของความมัวเมาของไวน์ชั้นดี

เพียงแค่ได้สัมผัสด้วยตา ผ่านรูปภาพเป็นสิบเป็นร้อย ยังสัมผัสได้ถึงเมืองที่มีความอบอุ่นและอบอวลไปด้วยเวทมนตร์ขนาดนี้ อีกทั้งสิ่งที่ก่อสร้างหรือเกิดขึ้นมานั้นช่วยส่งเสริมให้กอลมาร์มีความเป็นเอกลักษณ์ และควรค่าแก่การรักษาไว้อย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะมีความสวยงามแต่ยังมีคุณค่าในแง่ของประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนในช่วงเวลานั้น ที่ส่งสิ่งที่มีค่าให้แก่คนรุ่นต่อมาได้ชม เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและการระลึกถึงสิ่งที่เกิดในอดีต หากได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมเมืองที่ความเป็นตัวของตัวเองเช่นนี้คงจะดีอยู่มิน้อย และต้องไปสักครั้ง


อ้างอิง

Chanamol Pitipath. (2014). เมือง Colmar ประเทศฝรั่งเศส. ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2560. จาก http://urlchanamolpitipath.blogspot.com/2014/01/colmar.html

Colmar Fête le Printemps. (2017). Colmar Fête le Printemps. ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2560. จาก http://www.printemps-colmar.com/en/

Diana. (2017). Colmar France, The Fairytale Town You Need To Visit Now. ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2560. จาก http://inbetweenpictures.com/colmar-france-the-fairytale-town/

Erin. (2016). Colmar: A Fairytale Village in Alsace, France. ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2560. จาก https://www.neverendingvoyage.com/colmar-alsace-france/

Reign International Travel. (2016). กอลมาร์ ประเทศฝรั่งเศส. ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2560. จาก http://www.reigninter.com/home/blog/travel-city-beautiful-world/colmar-france/

อ่านเพิ่มเติม »

โทรศัพท์เครื่องแรกของโลก

โดย พลอยมณี บรรจงธนกร

การติดต่อสื่อสารในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ง่าย และสะดวกรวดเร็ว เพราะมีเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย  ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “โทรศัพท์” ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน โทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สามารถติดต่อกันได้รวดเร็วที่สุด ทำให้เรารู้เรื่องราวข่าวสารต่างๆได้อย่างง่ายดาย  อยู่ที่ไหนก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ห่างกันคนละประเทศหรือคนละทวีปก็ตาม จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่าทำไมโทรศัพท์ถึงเปรียบได้กับปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ เพราะมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบายหากขาดการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน แต่ใครเล่าจะรู้ว่า “โทรศัพท์เครื่องแรกของโลก” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ภาพ Alexander Graham Bell 
ที่มา https://chinadailymail.com/
จุดเริ่มต้นของโทรศัพท์ เกิดจากความไม่ตั้งใจของนักประดิษฐ์ที่ชื่อว่า อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) เดิมทีเขาตั้งใจที่จะประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับช่วยให้คนหูหนวกสามารถได้ยินเสียงได้  แต่เขากลับค้นพบวิธีส่งเสียงตามสายแทน และเกิดเป็นการคิดประดิษฐ์โทรศัพท์ไปในที่สุด

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) โตมาจากครอบครัวที่มีพ่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษาที่ใช้สำหรับคนหูพิการและมีแม่เป็นคนหูพิการ จึงทำให้เขาสามารถใช้ภาษาใบ้ได้ รู้จักวิธีการอ่านริมฝีปาก และมีหูที่สามารถแยกแยะเสียงได้อย่างละเอียด วันหนึ่งในขณะที่เขากำลังเล่นเปียโน เขาก็สังเกตว่าเสียงเพลงจากเปียโนเกิดจากการสั่นสะเทือนของเส้นลวด เขาจึงคิดว่าเส้นลวดน่าจะเป็นตัวนำเสียงจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้

ภาพ อุปกรณ์ส่งเสียง
เขาได้ร่วมมือกับ "โทมัส เอ. วัตสัน" (Thomas A. Watson) ผู้ช่วยของเขา ที่เป็นลูกชายเจ้าของร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยการใช้เส้นลวดโยงจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งส่วนปลายทั้งสองข้างจะเป็นหูฟัง ซึ่งภายในประกอบไปด้วยแท่งแม่เหล็กพันด้วยทองแดง ถัดไปเป็นแผ่นเหล็กบาง ๆ ที่สามารถสั่นสะเทือนจนเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าในขดลวดจากการพูดใส่กระบอกหูฟังในแต่ละข้าง แม้ในครั้งแรกพวกเขาอาจทำไม่สำเร็จ แต่พวกเขาก็ใช้เวลากว่า 8 เดือน ในการปรับปรุงแก้ไข จนทำให้สามารถส่งเสียงพูดคุยผ่านโทรศัพท์ได้ และในที่สุดพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการสร้างเครื่องโทรศัพท์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1876

ภาพ Alexander Graham Bell 
ที่มา http://www.mid-day.com/
เขาได้นำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ไปประกวดที่เมืองฟิลลาเดลเฟีย ในช่วงแรกแม้ว่าจะไม่มีใครสนใจก็ตาม แต่มีกรรมการท่านหนึ่งได้ลองทดลองเอาหูแนบตรงหูฟัง ซึ่งเมื่อเขาได้ยินเสียงคนพูดออกมาจากหูฟัง เขารู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก จึงทำให้กรรมการคนอื่นๆ เดินเข้ามาดูและลองทดสอบ ผลลัพธ์คือทุกคนต่างก็ตกใจและตื่นเต้นกับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ พวกเขาต่างทึ่งในความสามารถของเบลล์ จนในที่สุดเบลล์ก็สามารถคว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมในครั้งนั้นมาได้ และเขายังสามารถพัฒนาติดตั้งโทรศัพท์และเปิดบริษัทระหว่างเมืองได้สำเร็จ นำความสะดวกสบายในการสื่อสารมาให้เราจนถึงทุกวันนี้

นับได้ว่าความไม่ตั้งใจที่จะประดิษฐ์โทรศัพท์ตั้งแต่แรกของอเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ กลับกลายเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกที่ยิ่งใหญ่ให้กับมนุษยชาติ เขาเป็นแรงบันดาลให้เหล่านักประดิษฐ์ทุกคนที่มีความตั้งใจอยากที่จะประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ  เราไม่มีทางรู้เลยว่าวันหนึ่งผลงานที่เรียบง่ายของเราอาจจะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตก็เป็นได้ ทุกความสำเร็จทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เริ่มจาก “การลงมือทำ” เท่านั้นเอง


อ้างอิง

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ : Alexander Graham Bell. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560, จาก :     http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Alexander%20Graham%20Bell.html

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ได้สิทธิบัตรในการสร้างโทรศัพท์เครื่องแรกของโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 2560, จาก : http://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/51348/-timhis-tim-scieng-sci-his-

14 กุมภาพันธ์ ย้อนดูเหตุการณ์ 2 นักประดิษฐ์ แย่งชิงจดสิทธิบัตรโทรศัพท์. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560, จาก : https://hilight.kapook.com/view/149005


อ่านเพิ่มเติม »

ตระกูลเมดิซี (Medici) ผู้มีอิทธิพลแห่งเมืองฟลอเรนซ์

โดย ปิยธิดา สะตะ

เมื่อกล่าวถึงตระกูลที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศอิตาลีที่ทำให้ฟลอเรนซ์เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของอิตาลีมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น เศรษฐกิจและการปกครองที่มีอิทธิพลต่อฟลอเรนซ์ในอดีตนั้น คือ ตระกูลเมดิซี (Medici)ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองของฟลอเรนซ์ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17

ตระกูลเมดิซี (Medici) เป็นชาวทัสกันซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นกสิกรในบริเวณมูเกลโล (Mugello) ขายขนแกะในทางตอนเหนือของฟลอเรนซ์และก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นตระกูลนายธนาคารผู้มั่งคั่งร่ำรวย ได้ก่อต้องธนาคารเมดิซี (The Medici Bank) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป ตระกูลเมดิซี (Medici) ถือได้ว่าเป็นผู้ปกครองนครรัฐฟลอเรนซ์ในอิตาลีซึ่งเป็นเมืองอันมีความสำคัญไม่ย่อหย่อนไปจากโรมเลย ตระกูลเมดีซี (Medici) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปกครองที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่นครรัฐฟลอเรนซ์หลากหลายด้านด้วยกันนอกเหนือจากการเป็นนายธนาคารผู้มีอิทธพลทางด้านเศรษฐกิจของนครรัฐฟลอเรนซ์แล้ว ตระกูลเมดิซียังมีอิทธิพลในด้านอื่นอีกมากมาย

ลอเรนโซ เดอ เมดิชิ โดย จิโรลาโม มาชิเอตตี (Girolamo Macchietti)
ที่มา : http://www.bloggang.com/
ด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม ตระกูลเมดิซี ถือว่าเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปินในยุคเรเนซองส์ (Renaissance) อาจกล่าวได้ว่าตระกูลเมดิซีเปรียบเสมือนฟันเฟื่องอันสำคัญที่ช่วยผลักดันศิลปะในยุคนั้นให้เกิดความเจริญรุ่งเรื่องถึงขีดสุด งานศิลปะของนครรัฐฟลอเรนซ์ในยุคนั้นเกือบทั้งหมดเป็นอิทธิพลของตระกูลเมดิซี

ในทางสถาปัตยกรรมมีลักษณะเน้นความมีความสมมาตร (symmetry) ความได้สัดส่วน (proportion) การใช้รูปทรงเรขาคณิต และลักษณะที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมคลาสสิก  ตระกูลเมดิซี มีอิทธิพลต่อการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหลายแห่งในนครรัฐฟลอเรนซ์รวมทั้งพิพิธภัณฑ์อุฟฟิซิ วังฟิตติ สวนโบโบลิ (Boboli Gardens) ป้อมเบลเวเดเร (Belvedre) และวังเมดิซี

เมืองฟลอเรนซ์
ที่มา: http://www.manager.co.th/
นอกจากตระกูลเมดิซี จะให้การสนับสนุนทางศิลปะและสถาปัตยกรรมแล้วยังเป็นนักสะสมอีกด้วย จะเห็นได้จากสิ่งที่ตระกูลเมดิซีสะสมไว้ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ ในเมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งอดีตหอศิลป์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสำนักงานบริหารทางการยุติธรรมและเป็นที่เก็บเอกสารสำคัญของรัฐ ภายหลังถูกเปลี่ยนแปลงโดย ฟรานเชสโค ที่ 1 เดอ เมดิซี ให้เป็นสถานที่รวบรวมงานศิลปะชิ้นเด่นๆ ของตระกูลเมดิซี

ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แม้ว่าตระกูลเมดิซี จะไม่มีใครในตระกูลเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ตระกูลเมดิซี มีชื่อเสียงในการเป็นผู้อุปถัมภ์นักดาราศาสตร์คนสำคัญคือ กาลิเลโอ กาลิเลอี ผู้เป็นครูของลูกหลานในตระกูลเมดิซีหลายคน เมื่อกาลิเลโอถูกกล่าวหาโดยศาลศาสนาโรมัน (Roman Inquisition) ว่าคำสอนของกาลิเลโอเป็นคำสอนนอกรีต แต่ตระกูลเมดีชีก็ปกป้องกาลิเลโออยู่หลายปีจนกาลิเลโอตั้งชื่อพระจันทร์สี่ดวงของดาวพฤหัสบดีตามชื่อของลูกหลานตระกูลเมดีชี

ตระกูลเมดิซี มีอำนาจมากที่สุดในอิตาลีในสมัยนั้นจากการที่มีสมาชิกในตระกูลได้เป็นพระสันตปาปาสององค์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นเหตุให้เมดิซีกลายเป็นผู้ปกครองโรมและนครรัฐฟลอเรนซ์โดยปริยาย พระสันตะปาปาทั้งสองพระองค์มีบทบาทในการอุปถัมภ์ศิลปะอีกทางหนึ่งในยุคนั้น

แม้ตระกูลเมดิซี จะล่มสลายไปแล้วอย่างไรก็ตาม ตระกูลเมดิซยังถือว่าเป็นตระกูลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคเรเนซองส์ จึงถือได้ว่าเป็นตระกูลที่นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองในระยะเวลาหนึ่งและส่งผลให้ใจกลางเมืองฟลอเรนซ์ของอิตาลีได้รับเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1982 อีกทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ประเทศไม่น้อย


อ้างอิง

เมดีชี.ค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/

ประวัติตระกูลเมดีซี.ค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560, จาก: https://sites.google.com/site/503914rsu/prawati-trakul

ประวัติเมืองฟลอเรนซ์.ค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560, จาก: https://sites.google.com/site/5104815rsu/arc213/flor/significant-1/history

อ่านเพิ่มเติม »

โอกินาวา (Okinawa) ฮาวายญี่ปุ่น

โดย พัทธนันท์ อยู่เย็น

โอะฮะโยโกะไซมัส!  หากจะกล่าวถึงเกาะสวรรค์แห่งแดนอาทิตย์อุทัย หลายคนคงคุ้นเคยกันดีว่ามีเกาะแห่งหนึ่ง ได้รับสมญานามว่าเป็น “ฮาวายแห่งญี่ปุ่น” ที่มีหาดทรายขาว น้ำทะเลใส มองเห็นปลาแหวกว่ายไปมา ทั้งยังมีสภาพอากาศที่เหมาะสมแก่การว่ายน้ำและพักผ่อนกับครอบครัว  เกาะแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ทะเลหรือกิจกรรมทางทะเลเท่านั้น แต่ยังมีสถานที่อีกมากมายที่น่าสนใจและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ที่สำคัญเกาะแห่งนี้เคยเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ชาวญี่ปุ่นจำได้ไม่รู้ลืม

โอกินาวา (Okinawa) หรือจังหวัดโอะกินะวะ ตั้งอยู่ทางใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยหมู่เกาะริวกิวนับร้อยเกาะ เรียงเป็นแนวยาวกว่าหนึ่งพันกิโลเมตร เรียงตัวจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะคิวชู  เกาะหลักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือเกาะโอะกินะวะ ซึ่งมีเมือง  “นาฮา” เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะ อันเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของหมู่เกาะ

ที่มา: https://www.iam-tour.com/okinawa/
เมืองนาฮายังเป็นที่ตั้งของปราสาทชูริ (Shuri-jo) ปราสาทอันเก่าแก่ของกษัตริย์ แห่งอาณาจักรริวกิวที่เคยรุ่งเรืองในอดีต การเดินทางไปยังสถานที่สำคัญในเมืองนาฮาเป็นไปอย่างสะดวกสบาย โดยการใช้บริการรถโมโนเรล รถแท็กซี่ หรือรถเช่า ถือเป็นเมืองที่มีความคึกคัก และเจริญที่สุดของโอกินาวา

สิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวคงจะหนีไม่พ้น น้ำทะเลใสๆ และชายหาดละเอียด ซึ่งโอกินาวาถือเป็นเมืองที่มีชายหาดสวยงามที่สุดในญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ มีหาดทรายขาวสะอาดให้เลือกเล่นหรือทำกิจกรรมได้ทั้งเกาะ เป็นชายหาดที่แดดร่ม ลมสงบ เหมาะสำหรับว่ายน้ำและพักผ่อนหย่อนใจ หรืออาจเป็นชายหาดที่ลมแรง ก็สามารถเล่นโต้คลื่นได้ กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมก็คือ การดำน้ำดูปะการัง ซึ่งภายใต้ทะเลของเกาะโอกินาวานั้นราวกับซุกซ่อนความงามของสัตว์น้ำทะเล และสิ่งมีชีวิตมากมายที่เหมือนถูกจัดสรรมาไว้ภายใต้น้ำสีคราม  เกาะสวรรค์แห่งนี้ยังมีที่พัก โรงแรม รีสอร์ทมากมายหลายระดับ ตั้งแต่ห้องบังกะโลไปจนถึงความหรูหราระดับห้าดาว ตกแต่งอย่างหรูหราเพื่อให้ได้บรรยากาศแห่งการพักผ่อนอย่างเต็มที่

ชายหาดที่สวยงามบนเกาะส่วนใหญ่จะอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของเกาะ ท้องทะเลของเกาะโอกินาวาจะมีความแตกต่างจากทะเลในภาคใต้ของประเทศไทยคือ จะมีความลึก แต่ใส มีคลื่นลมแรงกว่าทะเลของประเทศไทย จึงเหมาะกับการเล่นกีฬา Extreme อย่างเรือใบและกระดานโต้คลื่น

เนื่องจากมีชายหาดเป็นจำนวนมากเรียงติดกันเป็นแนวยาวตามชายฝั่ง จึงทำให้เกิดการสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ทโดยใช้ทำเลที่เหมาะสมแก่การก่อตั้งเพื่อสร้างที่พักที่ติดทะเล เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด และทะเลบริเวณนั้นก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโรงแรม เช่น หาดมันซา (Manza Beach)   เป็นหาดที่ตั้งอยู่ภายในโรงแรม ANA InterContinental Manza Beach Resort นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเล่นน้ำได้ บริเวณริมหาดมีอุปกรณ์ดำน้ำให้เช่าดูปะการังและฝูงปลาอย่างใกล้ชิด หาดมูนบีช เป็นหาดส่วนตัวของโรงแรม Hotel Moon Beach มี Safe Zone สำหรับเล่นน้ำโดยเฉพาะ และมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ เกาะโอกินาวายังมีเกาะน้อยใหญ่กว่าร้อยเกาะที่อยู่บริเวณรอบ ๆ และยังมีความสวยงามไม่แพ้เกาะโอกินาวาอย่างแน่นอน และยังจะถือเป็นประสบการณ์สุดแสนประทับใจ หากได้มาเยือนเกาะที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเลที่สมบูรณ์ เช่น หมู่เกาะยาเอะยะมะ เกาะอิชิงากิ เกาะอิเฮยะและเกาะไนโฮ

ที่มา: https://www.iam-tour.com/okinawa/
ในเกาะโอกินาวาแห่งนี้ยังรวบรวมสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นทั้งแหล่งความรู้และความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยว อย่างปราสาทชูริ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของโอกินาวาเลยก็ว่าได้ ตัวปราสาทจะตั้งอยู่บนเนินเตี้ย ๆ มีความโดดเด่นตรงที่มีสีแดงสด มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน สุสานบรรพกษัตริย์ (Tamaudun) สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เป็นหลุมฝังศพสำหรับกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์แห่งราชอาณาจักรริวกิว ตัวสุสานสร้างด้วยหินตามแบบฉบับของริวกิวแต่มีขนาดใหญ่กว่า ถนน Kokusai dori เป็นถนนที่มีความคึกคักมากที่สุดบนเกาะโอกินาวา ได้รับการขนานนามว่าเป็นบรอดเวย์แห่งโอกินาวา (Broadway of Okinawa) อันเป็นศูนย์รวมของร้านขายอาหาร ของฝาก และของที่ระลึก

ที่มา: http://www.th.jal.co.jp/
หมู่บ้านวัฒนธรรมริวกิว (Ryukyu Mura Village)
นอกจากนี้ยังมีสถานที่ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเมืองโอกินาวา เช่น หมู่บ้านวัฒนธรรมริวกิว (Ryukyu Mura Village) สถานที่รวบรวมศิลปะและวัฒนธรรมของชาวริวกิวในอดีต Nakagusuku Castle Site เป็นปราสาทเก่าแก่ที่รอดพ้นจากการถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ชาวญี่ปุ่นและชาวโอกินาวาจดจำได้เป็นอย่างดีก็คือ การรบเพื่อชิงเกาะโอกินาวา ระหว่างกำลังยกพลขึ้นบกของสหรัฐอเมริกากับกองกำลังป้องกันเกาะของญี่ปุ่น ได้รับการกล่าวถึงเสมอว่า เป็นการรบที่ดุเดือดที่สุดของสงครามแปซิฟิกในสงครามโลกครั้งที่สอง และได้เคยมีการนำเสนอการรบครั้งนี้ในรูปแบบของภาพยนตร์ สารคดี และหนังสือต่าง ๆ มากมาย

โอกินาวา ฮาวายญี่ปุ่น ถือเป็นเกาะที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่มาสัมผัส เพราะนอกจากความงามของท้องทะเลแล้ว สถานที่อื่น ๆ ในเกาะต่างก็เป็นสิ่งสนับสนุนและดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก การมาเยี่ยมชมเมืองโอกินาวาแค่ครั้งเดียวจึงเป็นการมาท่องเที่ยงที่คุ้มค่าที่สุด


อ้างอิง

ตะวัน พันธ์แก้ว. โอกินาวา เยือนเกาะสวรรค์ที่ได้ชื่อว่า “ฮาวายญี่ปุ่น”. กรุงเทพฯ : โปรวิชั่น, 2557.

ยาฮาร่า ฮิโรมิฉิ. สมรภูมิเดือดโอกินาวา – The Battle for Okinawa. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.

โอะกินะวะ (Okinawa). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2560 , จาก https://sites.google.com/site/560410136sirinthip/xoa-kin-a-wa-okinawa

จังหวัดโอะกินะวะ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2560 , จาก  https://th.wikipedia.org/wiki/

อ่านเพิ่มเติม »

Freetown Christiania ดินแดนแห่งเสรีชน

โดย นิภาพร ชมภู

ท่ามกลางสังคมแห่งความวุ่นวายจากกระแสทุนนิยมที่ทำให้โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว ชีวิตผู้คนที่เร่งรีบในทุกย่างก้าว ความคิดที่อยู่บนพื้นฐานของกำไร ขาดทุน คุ้มหรือไม่คุ้ม สังคมที่พึ่งพากันเพื่อผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ และชีวิตถูกครอบงำอิสระเสรีภาพจากรัฐตลอดเวลา กลับมีดินแดนแห่งหนึ่งที่การเดินทางของชีวิตสวนทางกับโลกแห่งความเป็นจริง พื้นที่แห่งความฝัน ดินแดนแห่งสิทธิเสรีภาพที่หลายชีวิตต่างตามหาอยู่ที่นี่ “Freetown Christiania ดินแดนแห่งเสรีชน”

ท่ามกลางความตื่นตัวของขบวนการบุพผาชน ในปี 1971 Christiania พื้นที่รกร้างของกองทัพเดนมาร์กใจกลางกรุงโคเปนเฮเกน ถูกคนหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 16-25 ปี จำนวนหนึ่งบุกเข้ายึดครอง ก่อร่างชุมชนแห่งเสรีภาพที่ประกาศปกครองตนเอง พวกเขาเหล่านี้ค้นหาชีวิตทางเลือก มีจุดยืนในการต่อต้านสงคราม (โดยเฉพาะช่วงนั้นมีสงครามเวียดนามเกิดขึ้น) นิวเคลียร์ พวกเขามองว่าความรุนแรงไม่ใช่ทางออก แต่เป็นปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง และที่สำคัญพวกเขาปฏิเสธการมีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีชนชั้น สังคมแห่งการอุปถัมภ์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ


ซุ้มประตูทางเข้า Christiania 

Christiania มีพื้นที่ประมาณ 240 ไร่ หลังจากที่หนังสือพิมพ์นำรูป ‘Freetown Christiania’ ไปลง ผู้คนก็เริ่มสนใจ และแห่กันมาตั้งรกรากที่นี่ ชุมชน Christiania กลายเป็นที่เลื่องลือในหมู่เสรีชนต่างขนข้าวของมารวมหมู่อยู่ด้วยกัน มีประชากรทั้งหมดประมาณ 850-1000 คน ลักษณะโครงสร้างทางกายภาพของ Christiania มีความหลากหลาย ลักษณะคล้าย ๆ “ART LANE ถนนแห่งศิลปะ” ตึกรามบ้านช่อง ฝาผนัง กำแพงถูกเพ้นท์ด้วยลวดลายเอกลักษณ์ที่แปลกตา ซึ่งลวดลายเหล่านี้จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เราสามารถเขียนภาพทับของใครก็ได้ เพราะชาว Christiania มีหลักในการอยู่ร่วมกัน คือการถือกรรมสิทธิ์ในดินแดนแห่งนี้ร่วมกัน ดังนั้นพื้นที่แห่งนี้จึงไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เราสามารถทำอะไรก็ได้ เพราะเป็นพื้นที่ส่วนรวมนั่นเอง

สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (เจ้าของนามปากกานิ้วกลม) ได้เดินทางไปถ่ายทำรายการที่ Christiania เขาเล่าว่านอกจากตึกร้างของกองทัพเดนมาร์คแล้ว ก็ไม่มีบ้านหลังไหนที่ใหญ่อลังการกว่ากันเลย “บ้านทุกหลังมีความถ่อมตัวต่อธรรมชาติอยู่ มันเพียงแค่ขอที่ธรรมชาติแล้วซุกตัวอยู่ในนั้น” นอกจากตึกรามบ้านช่องแล้งก็ยังมีประติมากรรมหลายอย่างที่มีความเป็นเอกลักษณเฉพาะตัว หนึ่งในนั้นก็คือ สัญลักษณ์หอยทาก ที่บ่งบอกความเป็น Christiania ได้เป็นอย่างดี

ชาว Christiania กล่าวว่าหอยทากเป็นสัญลักษณ์ของความช้า เพราะความช้าจะทำให้ได้ยินทุกเสียง ซึ่งบ่งบอกถึงการปกครองที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกเสียง ทำความเข้าใจร่วมกัน แบบที่ไม่มีการลงประชามติ ไม่มีเสียงส่วนมาก และไม่มีเสียงส่วนน้อยด้วยเช่นกัน (Direct Democracy) นอกจากหอยทากจะสื่อความหมายด้านการปกครองแล้ว ยังสื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นหากท่านได้มีโอกาสเดินทางไปที่ Christiania ก็ไม่ต้องแปลกใจถ้าเห็นผู้คนมีม้า หรือจักรยานเป็นพาหนะแทนที่จะเป็นรถยนต์ สัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของ Christiania ที่นอกเหนือจากวัตถุสิ่งของ ก็คือจิตใจ สิ่งที่อยู่ภายในของคนที่นี่ พวกเขารวมตัวกันเพื่ออิสระ เคารพต่อเสรีภาพของผู้อื่น นอบน้อมต่อธรรมชาติ ปฏิเสธความเป็นทุนนิยม สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ชาว Christiania เดินทางสวนกับกระแสโลกแห่งทุนนิยมอย่างเห็นได้ชัด


บ้านเรือนใน Christiania

บางอย่างที่อยู่ใน Christiania สร้างขึ้นจากความไร้เหตุผล เช่น โต๊ะน้ำชาเล็กๆ กลางน้ำ (คงไม่มีใครที่สามารถลงไปนั่งกินน้ำชากลางน้ำได้) เสื้อผ้าของผู้หญิงที่ถูกแขวนบนต้นไม้ หลายคนอาจสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้ทำขึ้นมาเพื่ออะไร สิ่งนี้ถึงแม้จะดูไม่มีเหตุผลแต่กลับตอบโจทย์ของชีวิตได้ดี ชีวิตของคนเราคงไม่มีใครสามารถใช้เหตุผลได้ตลอดเวลา อาจมีบ้างที่เราต้องทำตามอารมณ์ ความอยาก ความต้องการ ที่ไม่มีเหตุผลใดที่จะมาอธิบายได้ แค่อยากทำมันขึ้นมาทำแล้วสบายใจ ทำแล้วมีความสุขก็แค่นั้น

พอมาถึงจุดนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าหลายคนคงมีความใฝ่ฝัน อยากเดินทางไปสู่ดินแดนในฝันนี้สักครั้ง ดินแดนที่สามารถทำอะไรก็ได้ตามแต่ใจเราอยากทำ ดินแดนที่ใกล้กับคำว่าอิสระเสรีภาพอย่าแท้จริง ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่า Christiania ไม่ได้มีอยู่แค่ที่เดนมาร์กเท่านั้น แต่มีอยู่ทุกที่ และมีอยู่ตลอดเวลาตราบที่ใจเราอยากให้มี เราต่างขวนขวายหาดินแดนอิสระเสรีภาพว่าอยู่ที่ใด แต่เราอาจไม่เคยมองให้ลึกลงในใจว่าดินแดนแห่งเสรีชนที่เราเฝ้าตามหานั้น อาจอยู่แค่ที่ใจเราก็เป็นได้ จงอย่าลืมที่จะสร้าง Christiania ให้เกิดขึ้นเต็มผืนใจก่อนที่จะตามหายังผืนดินอื่น เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะเป็นตัวคุณเองที่หลงทางอยู่แสนไกล โดยไม่รู้ว่า Christiania อยู่ในใจของคุณเอง
 

อ้างอิง

MAYA JETT. (2559). Freetown Christiania : เมืองเนี้ยใครจะทำอะไรก็ได้ จะสูบกัญชากลางถนนก็ยังด้ายยยย. ค้นข้อมูล 17 กันยายน 2560, จาก https://minimore.com/b/qhJY3/10

Thai PBS. (2556). พื้นที่ชีวิต คริสเทเนีย วิถีเสรีชน 26Jan12. ค้นข้อมูล 17 กันยายน 2560, จาก https://www.youtube.com/watch?v=cz-Cq34MkLY

Thus Noumong. (2558). COPENHAGEN: สัมผัสวิถีฮิปปี้ในชุมชนอิสระ Christiania ที่ เดนมาร์ก. ค้นข้อมูล 17 กันยายน 2560, จาก http://www.culturedcreatures.com


อ่านเพิ่มเติม »

เมืองลียง (Lyon)

โดย ณัชฌานนท์  ผุยปุโรย

ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ผู้คนนิยมไปท่องเที่ยวมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่หากพูดถึงประเทศฝรั่งเศสแล้ว หลายๆ คนอาจจะนึกถึง ปารีส ซึ่งเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศส ที่มีหอไอเฟล ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้   แต่นอกจากนี้ประเทศฝรั่งเศสยังมีเมืองต่างๆที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามอีกมากมายหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือจะเป็นสิ่งก่อสร้างด้านสถาปัตยกรรมต่างๆที่มีความสวยงามไม่แพ้กัน

วันนี้จะขอแนะนำสถานที่ให้ทุกคนในรู้จัก สถานที่ที่เป็นดั่งเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรม นั่นก็คือ…..“เมืองลียง (Lyon)” นั่นเอง หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักไม่คุ้นหูกับชื่อสถานที่นี้สักเท่าไร แต่ถ้าหากได้รู้จักสถานที่แห่งนี้แล้วจะทำให้ทุกคนตกหลุมรักและอยากไปสัมผัสบรรยากาศของสถานที่แห่งนี้อย่างแน่นอน

เมืองลียงถูกก่อตั้งขึ้นโดยพวกโรมันในคริสตศตวรรษที่ 1 เป็นเมืองอยู่ทางตะวันออกตอนกลางของประเทศฝรั่งเศส เป็นเมืองหลวงของจังหวัดโรน และเมืองหลวงของแคว้นโอแวร์ญ-โรนาลป์ ตั้งอยู่ระหว่างปารีสกับมาร์แซย์ โดยอยู่ห่างจากปารีส 470 กิโลเมตร เป็นเมืองใหญ่อันดับสามของฝรั่งเศสรองจากปารีสและมาร์แซย์ โดยมีแม่น้ำสองสายได้แก่ แม่น้ำซาโอน (Saône) และแม่น้ำโรห์น (Rhône) ไหลผ่านใจกลางเมืองแล้วบรรจบกันทางใต้ของเมือง ทำให้ลียงมีทัศนียภาพแบบเกาะกลางน้ำอยู่ใจกลางเมือง และยังมีเนินเขาขนาดใหญ่ทางด้านฝั่งตะวันตกและทางเหนือของเมืองอีกด้วย

จากการจัดอันดับของ Tripadvisor เมืองลียงถูกเลือกให้เป็นเมืองยอดนิยมอันดับ 3 รองจากปารีส และนีซ โดยลียงเป็นเมืองสำคัญทางธุรกิจ และมีชื่อเสียงในด้านสถาปัตยกรรมและสถานที่ต่างๆทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการทอผ้าไหมโบราณ และได้รับขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี 1998 ในคริสตศตวรรษที่ 20 เมืองลียงยังเป็นส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ โดยเป็นบ้านเกิดของพี่น้องลูมิแยร์ (โอกุสต์ ลูมิแยร์ และหลุยส์ ลูแมร์) ผู้ประดิษฐ์เครื่องฉายภาพยนตร์ในลียง ซึ่งทุกวันที่ 8 ธันวาคมของทุกปีจะมีเทศกาล Fête des Lumières หรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง ทำให้ลียงได้รับการขนานนามว่าเป็น เมืองหลวงแห่งแสงสว่าง อีกด้วย

ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/
เมืองลียงนั้นมีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะแยะมากมาย สำหรับที่แรกที่จะขอแนะนำนั่นก็คือ ศาลเมืองลียง (Lyon Courthouse - Palais de Justice) เป็นสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ที่ออกแบบสไตล์นีโอคลาสสิก สร้างขึ้นในปี 1835 ซึ่งถูกยกให้เป็นผลงานชิ้นเอกทางสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่ง โดยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ เสาที่มีอยู่จำนวนมาก หัวเสาเป็นแบบโครินเธียน โดยมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "พระราชวังแห่งเสา 24 ต้น (Palace of the Twenty-Four Columns) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของการออกแบบแบบนีโอคลาสสิก โดยสถาปนิกนามว่า หลุยส์-ปิแอร์ บัลตาร์ด (L-P. Baltard) เป็นผู้ออกแบบอาคารซึ่งใช้เวลากว่าทศวรรษจึงสร้างเสร็จ โดยศาลแห่งนี้เป็นที่ตัดสินคดีดังๆ มาแล้วหลายคดีด้วยกัน

ที่มา : http://www.overline-systems.com/
สถานที่ต่อมามีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมไม่แพ้กันนั่นก็คือ โอเปราลียง (Opéra de Lyon) เป็นโรงละครโอเปร่าที่ใช้จัดการแสดงหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ โอเปรา บัลเลต์ และอื่นๆ โรงละครแห่งนี้มีการตกแต่งในแบบศตวรรษที่ 19 ผสมผสานกับรูปทรงทันสมัยได้อย่างลงตัว ทำให้อาคารมีความสะดุดตา โครงสร้างสถาปัตยกรรมเป็นแบบคลาสสิกดั้งเดิม โดยส่วนหน้าอาคารจะตัดกับหลังคากระจกที่มีความทันสมัย ลักษณะของหลังคาจะเป็นหลังคาโค้งและยังมีชั้นใต้ดินซึ่งจะช่วยทำให้โรงละครโอเปร่าแห่งนี้มีพื้นที่ที่กว้างขวาง ซึ่งภายในด้านในอาคารจะมีสถานที่จัดแสดง 2 แห่ง ได้แก่ ห้องรูปทรงเกือกม้า และห้องทรงครึ่งวงกลมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมเกรโก-โรมัน

และสถานที่สุดท้ายที่จะขอแนะนำก็คือ…

ที่มา: http://www.fourviere.org/
โบสถ์นอเทอร์ดาม (Notre Dame Basilica) ตั้งอยู่บนเนินเขาฟูร์วิแยร์ (Fourvière) สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากและถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนี้ โดยโบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นบนพื้นที่ของชาวโรมันโบราณในปี 1896 โดยผสมผสานศิลปะไบแซนไทน์และโรมาเนสก์เข้าด้วยกัน ซึ่งรับเงินสนับสนุนจากการบริจาคและสร้างขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจของโบสถ์คาทอลิกต่ออำนาจของฝ่ายอาณาจักร และเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพระเจ้า ซึ่งลักษณะของอาคารจะมีรายละเอียด คือ ส่วนของด้านบนจะมีหอคอยทรงแปดเหลี่ยม 4 หลัง มีหอระฆังหนึ่งหลังซึ่งมีรูปปั้นพระแม่มารีทองคำ ต่อมาในส่วนของด้านในจะมีรายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อน มีการตกแต่งที่ประดับด้วยทอง กระจกสี กระเบื้องโมเสก และภาพปูนปั้นสีสันสวยงามไปทั่วบริเวณ และยังมีชั้นล่างที่เป็นห้องเก็บโลงศพของ Saint-Jean อีกด้วย โบสถ์แห่งนี้ถึงแม้ว่าด้านนอกจะดูเรียบๆ แต่ด้านในนั้นกลับตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม สำหรับการเดินทางขึ้นไปยังโบสถ์นอเทอร์ดามอาจจะมีความลำบากเล็กน้อย แต่ก็มีบริการกระเช้าไฟฟ้าสำหรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังไม่เก็บค่าเข้าชมอีกด้วย

นอกจากสถานที่ที่ได้แนะนำไปข้างต้นแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายที่สวยงามและยังมีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ มีคุณค่าทางด้านศิลปกรรม และความสวยงามทางธรรมชาติที่หลายๆคนยังไม่เคยไปสัมผัสที่เมืองแห่งนี้ เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของประเทศแต่กลับไม่นำเอาการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาสิ่งต่างๆของโลกมาส่งผลกระทบให้คุณค่าความงามของสิ่งที่ตนเองมีหายไป ซึ่งนี่ก็คือ “เมืองลียง”


อ้างอิง

ท่องเที่ยวลียง เมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ วันที่ 19 กันยายน 2560 จาก : http://thairats.com/

ลียง. สืบค้นเมื่อ วันที่19 กันยายม 2560 จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/

ไพลิน  ปีติสันต์. (2555). เที่ยวฝรั่งเศส เมืองในฝัน. นนทบุรี: ธิงค์ บียอนด์ บุ๊คส์.


อ่านเพิ่มเติม »