ถ้าให้กล่าวถึงงานเทศกาล นอกจากชิงช้าสวรรค์ กับบ้านผีสิงแล้ว หลายคนน่าจะเคยผ่านหูผ่านตากับซุ้มแสดงคนประหลาดมาบ้าง ร่างกายที่ดูพิลึกพิลั่น ผิดธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นอสูรกายแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับโรคประหลาดอันเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก และเนื่องด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสมัยก่อน จึงเป็นการยากในการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ดังนั้นเพื่อมิให้หลักฐานแสนสำคัญเหล่านี้สูญหาย จึงจำเป็นต้องมีสถานที่เพื่อเก็บรักษา
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้มีการก่อตั้ง ‘คลังสะสม’ของพวกนี้ขึ้น และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ “The Mütter Museum หรือพิพิธภัณฑ์โรคประหลาด”
ภาพ 1 นายแพทย์โทมัส เดนต์ มัตเตอร์
ที่มา: https://bit.ly/2PYwfgT
พิพิธภัณฑ์โรคประหลาดมัตเตอร์เป็นพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ของวิทยาลัยการแพทย์ฟิลาเดลเฟีย ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1858 จากการบริจาคของนายแพทย์โทมัส เดนต์ มัตเตอร์ (Thomas Dent Mütter) ถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับรวบรวมตัวอย่างของคนที่เป็นโรคประหลาด ข้อมูลทางกายวิภาคและพยาธิวิทยา หุ่นขี้ผึ้ง รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์สมัยโบราณไว้มากมายจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเดิมทีมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการศึกษาและการวิจัยด้านชีวการแพทย์
ภาพ 2 ภายในพิพิธภัณฑ์
ที่มา:https://bit.ly/2P2jFhi
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์มัตเตอร์ถือเป็นคลังสะสมตัวอย่างของคนที่เป็นโรคประหลาดไว้มากที่สุดในโลก ถึงกว่า 20,000 รายการ ไม่นับรวมสิ่งตีพิมพ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ถูกรวบรวมไว้ที่หอสมุดประวัติศาสตร์การแพทย์ ซึ่งตัวอย่างที่จัดแสดงนั้นเป็นเพียง 13% จากของสะสมทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ โดยรายการของสะสมแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
ตัวอย่างโครงกระดูก: ซึ่งมีอยู่กว่า 3,000 ตัวอย่าง และที่โด่งดังที่สุดคือ โครงกระดูกของนายเรมอนด์ อีสแลก (Raymond Eastlack) ผู้ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการของโรคกล้ามเนื้อและเอ็นแข็งเป็นกระดูก หรือ Fibrodysplasia Ossificans Progressiva (FOP) และโครงกระดูกยักษ์แห่งอเมริกาเหนือเป็นต้น
ตัวอย่างคนที่เป็นโรคประหลาด: ส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในโหลดองกว่า 1,500 โหล ที่มีอายุในช่วงระหว่างคริสตศตวรรษที่ 19-21
หุ่นขี้ผึ้ง: หุ่นขี้ผึ้งจำลองมนุษย์ที่ต้องเผชิญโรคร้ายต่าง ๆ
วิทยาการทางการแพทย์: เครื่องมือแพทย์ ยา ภาพถ่าย เอกสาร และตำราวิจัย
ภาพ 3 ของสะสมในพิพิธภันฑ์
ที่มา: https://bit.ly/2QKLK1x
นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ยังแบ่งนิทรรศการออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
นิทรรศการถาวร: โดยจัดแสดงของสะสมส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น สาวสบู่ (ศพของหญิงสาวที่กลายสภาพเป็นสบู่), แผ่นสไลด์สมองของอัลเบิร์ต ไอน์ไสตน์, รูปหล่อแฝดสยามอิน-จัน และของสะสมของนายแพทย์เชอร์วาเลียร์ แจ็คสัน สำหรับส่วนนี้จะจัดแสดงทุกวัน
นิทรรศการพิเศษ: ประกอบด้วยหอศิลป์ทอมป์สันและสวนสมุนไพรของเบญจามิน รัช เปิดให้บริการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แต่ไม่มีการกำหนดตารางเวลาที่ตายตัว ดังนั้นทางผู้เข้าชมต้องติดต่อทางพิพิภัณฑ์ล่วงหน้า โดยหอศิลป์ทอมป์สันจัดแสดงของสะสมในธีมที่ต่างกันและสับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตัวอย่างของนิทรรศการที่จัดแสดงระหว่างปี 2560-2561 (อ้างอิงจากเว็บไซต์ของพิพิธภัรณฑ์) เช่น กายวิภาคในเทพนิยาย; เวทย์มนตร์ศาสตร์และเวชศาสตร์, มนุษย์ประหลาด, 150 ปีอลิซผจญแดนมหัศจรรย์; ยา·พิษ·อลิซ·ความผิดปกติ เป็นต้น
นิทรรศการออนไลน์: สามารถรับชมผ่านทางเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์โดยตรงได้ที่ http://muttermuseum.org/
หอจดหมายเหตุ: จัดแสดงนิทรรศการที่ถ่ายทอดเรื่องราวน่าสนใจในอดีตและปัจจุบันมากมาย
ภาพ 4 การจองตั๋วออนไลน์
ที่มา: http://muttermuseum.org/
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชม พิพิธภัณฑ์โรคประหลาดมัตเตอร์เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 - 17.00 น. มีค่าเข้าชมอยู่ที่ 13-18 USD (430-590 บาท) โดยสามารถตรวจสอบเวลาทำการและซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ หรือที่เคาท์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ยกเว้นนิทรรศการพิเศษ; หอศิลป์ทอมป์สันและสวนสมุนไพรของเบญจามิน รัช ที่ผู้เข้าชมต้องติดต่อทางพิพิธภัณฑ์ล่วงหน้า
ที่อยู่: พิพิภัณฑ์โรคประหลาดมัตเตอร์ เลขที่ 19 ถนนหมายเลข 22 เมืองฟิลาเดลฟียสุดท้ายนี้ สำหรับพิพิธภัณฑ์โรคประหลาดมัตเตอร์แห่งนี้ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของวงการแพทย์ เป็นคลังความรู้ที่อัดแน่นไปด้วยกลิ่นอายของของความลึกลับที่ดึงดูดผู้คนได้ทุกช่วงสมัย สถานที่ที่ทุกอย่างผสมผสานอย่างลงตัวเรียกได้ว่าเป็นความสยองที่งดงามเลยทีเดียว
รัฐเพลซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอมเริการ รหัสไปรษณีย์ 19103
เว็บไซต์: http://muttermuseum.org/
อีเมล์: info@collegeofphysicians.org
โทร: (1)215.560.8564
*ส่วนลดพิเศษ 2$ เมื่อซื้อตั๋วหน้าเคาท์เตอร์ทุกวันจันทร์แลวันอังคาร
*สมัครสมาชิกจ่ายค่าธรรมเนียมครั้งเดียว เข้าฟรีไม่จำกัดตลอดปี พร้อมสิทธิพิเศษมากมาย
อ้างอิง
วรวุฒิ เจริญศิริ. (2549).โรค“เอฟโอพี”. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาม 2561, จาก: https://bit.ly/2Sgwl5A
สดชื่สลื่นบาน. (2555).“พิพิธภัณฑ์สุดแปลกและสยอง” จากทั่วทุกมุมโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2561, จาก: http://2g.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X13040316/X13040316.html
Janet Golden. (2557).The Müttet Museum. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาม 2561, จาก: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3483761/
Muttermuseum.The Mütter Museum. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561, จาก: http://muttermuseum.org/about/
Wikipedia.The Mütter Museum, College of Physicians of Philadelphia, 19 South 22nd Street, Philadelphia, PA 19303, USA. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561, จาก: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Mütter_Museum
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น