ในบรรดาแม่ทัพที่ทำสงครามได้น่าโจษจันท์มากที่สุด ต้องนึกถึง ฮานนิบาล บาร์กา (Hannibal Barca) แม่ทัพผู้เกรียงไกรที่สุดในประวัติศาสตร์คาร์เธจที่ทำสงครามกับชาวโรมันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะแผนการรบที่คาดไม่ถึง จนทำให้ทัพโรมันพ่ายแพ้ไปในสงคามปูนิค (Punic) ครั้งที่ 2 จนเป็นที่กล่าวถึงมาถึงทุกวันนี้
อาณาจักรคาร์เธจ (Carthago) เป็นดินแดนที่อยู่ในแถบแอฟริกาเหนือ และยังเป็นอาณาจักรที่ร่ำรวยมั่งคั่ง ประชากรส่วนใหญ่นิยมทำการค้า ทำให้คาร์เธจเจริญรุ่งเรืองและขยายอาณาเขตบนแอฟริกาเหนือและเกิดการกระทบกระทั่งกับชาวโรมันที่ตั้งอาณาจักรบนคามสมุทรอิตาลี โดยทั้งสองอาณาจักรต่างก็ต้องการที่จะครอบครองผลประโยชน์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจนทำให้กลายเป็นข้อขัดแย้งและนำไปสู่สงครามในที่สุด
ฮานนิบาล บาร์กา (Hannibal Barca) เกิดที่สเปน เมื่อ 247 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นบุตรคนโตของ ฮามิลคาร์ บาร์กา (Hamilcar Barca) ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ของคาร์เธจในยุคนั้น ฮามิลคาร์มีบุตรและธิดาทั้งสิ้น 5 คน เป็นหญิงหนึ่งคน แต่งงานกับคนสำคัญผู้หนึ่งนามว่า ฮาสดรูบาล (Hasdrubal) ส่วนบุตรชายนั้นได้แก่ ฮานนิบาล รองลงมาคือ ฮาสดรูบาล (บังเอิญชื่อเหมือนพี่เขย) ตามด้วย มาโกและฮานโน (Hanno)
ฮามิลคาร์ ผู้เป็นบิดาได้เดินทัพออกจากกรุงคาร์เธจในปี 237 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ฮานนิบาลซึ่งตอนนั้นอายุ 9 ขวบ รบเร้าขอไปด้วย ฮามิลคาร์จึงตกลงจะพาไป และได้สาบานต่อหน้าเทพเจ้าว่า ตลอดชีวิตของฮานนิบาลจะต้องถือตนเป็นศัตรูกับกรุงโรมเสมอไป จะต้องพยายามแก้เผ็ดแทนกรุงคาร์เธจให้ได้
หลังจากนั้นฮานนิบาลได้มีโอกาสศึกษาวิชาทหารกับบิดาอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 9 ปีในระหว่างที่อยู่สเปน เมื่อฮามิลคาร์เสียชีวิต ฮัสดรูบาลซึ่งเป็นบุตรเขยก็ขึ้นเป็นแม่ทัพของคาร์เธจ โดยฮัสครูบาลสามารถสร้างกองทัพคาร์เธจใหม่ได้สำเร็จ แต่ไม่นาน เขาก็เสียชีวิตลงเพราะถูกชนพื้นเมืองชาวเคลท์ลอบสังหาร ฮันนิบาลจึงเดินทางไปสเปญ และได้ขึ้นเป็นแม่ทัพคนใหม่ทันที
ตั้งแต่ฮันนิบาลมีอายุพอที่จะออกรบได้ ทหารต่างพากันตื่นเต้นและรักใคร่ในตัวฮันนิบาลกันไปทั่ว เพราะไม่มีใครที่จะรู้จักฟังคำผู้ใหญ่และบังคับบัญชาผู้น้อยให้ดีได้ทั้งสองอย่างพร้อมกันเหมือนฮานนิบาลเลย ถ้าเวลามีภัยไม่มีใครกล้าเท่าฮานนิบาล และไม่มีใครใจเย็นเท่าฮานนิบาล หนักหนาแค่ไหนไม่เคยร้องว่าเหนื่อย นอนกลางดิน กินกลางทราย เป็นเช่นนี้จะไม่ให้ได้ใจทหารในกองทัพได้อย่างไร และฮานนิบาลได้สมรสกับหญิงสูงศักดิ์ชาวสเปญนางหนึ่ง ชื่อ อิมิลเซอา (Imilcea) เพราะเหตุผลทางการทหารล้วนๆ
หลังจากได้รับตำแหน่ง ฮานนิบาลยังไม่เข้าบุกโรมันในทันที เพราะต้องการที่จะสร้างพันธมิตรกับเมืองและชนเผ่าต่างๆ ในคาบสมุทรไอบีเรียเสียก่อน ในบรรดาเมืองที่ฮันนิบาลขอทำข้อตกลงด้วยนั้น มีนครซากุนตัม ซึ่งมีเหมืองเงินที่อุดมสมบูรณ์มาก ได้ปฎิเสธข้อเสนอของฮานนิบาลและไปขอเป็นพันธมิตรกับโรมันแทน ที่สำคัญยังพยายามที่จะดึงพันธมิตรต่างๆ ไปจากคาร์เธจอีกด้วย
ฮานนิบาลยกทัพเข้าโจมตีซากุนตัมในปี 219 ก่อนคริสต์ศักราช แน่นอนว่าคาร์เธจเป็นฝ่ายพิชิตซากุนตัมได้ แต่นั่นหมายถึงการเปิดศึกกับโรมันด้วย หลังจากนั้น ทางสภาแห่งโรมสั่งให้คาร์เธจส่งตัวฮานนิบาลไปให้ ซึ่งทางคาร์เธจได้ปฏิเสธไปและในปี 218 ก่อน คริสต์ศักราช ฮานนิบาลได้ยกทัพ ออกจากคาร์เธจใหม่ (สเปนในปุจจุบัน) โดยฮานนิบาลได้ทำสิ่งที่คาดไม่ถึงคือ วางแผนรุกข้ามเทือกเขาพีเรนีสและเทือกเขาแอลป์เข้าไปทางตอนเหนือของคาบสมุทรอิตาลีเพื่อโจมตีกรุงโรม อีกทั้งยังใช้ช้างทำศึกอีกด้วย
สงครามปูนิคครั้งที่สองก็ได้เริ่มขึ้น โดยแต่ละฝ่ายรบกันจนเสียไพร่พลไปมาก แต่เหตุการณ์ที่ทั้งสองกองทัพปะทะกันที่ คานาเอ ในวันที่ 2 สิงหาคม ปี 216 ก่อนคริสต์ศักราช กองทัพโรมันแพ้ยับเยิน ทั้งถูกสังหารและถูกจับเป็นเฉลยจำนวนกว่าสองหมื่นนาย ขณะที่คาร์เธจสูญเสียกำลังพลไปเพียง 5,700 นาย
ที่มา : http://www.guitarthai.com/
แต่สงครามยังไม่จบ เพราะโรมไม่ยอมจำนน จึงเริ่มแผนการณ์ใหม่ ปล่อยให้คาร์เธจโจมตีเมืองตนไปเรื่อยๆ ให้คาร์เธจอ่อนแรงและเสียกำลังพลไปเรื่อยๆ คาร์เธจจึงมีโอกาสโจมตีโรมถึงสองครั้งและชนะทั้งสองครั้ง และสงครามครั้งสุดท้ายก็จบลง หลังคาร์เธจและโรมรบกันยาวนานถึงสิบห้าปี คาร์เธจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพราะฮานนิบาลไม่ได้รับการสนับสนุนจากแผ่นดินใดเลย แม้กระทั่งแผ่นดินแม่อย่างกรุงคาร์เธจใหม่ ที่สำคัญโรมได้ศึกษากลยุทธของฮานนิบาลตลอดเวลาที่รบกัน ทำให้ฮานนิบาลไม่สามารถล่วงรู้เลยว่าโรมได้ลอบติดต่อกับชาวนูมิเดียนและซื้อทหารม้าที่เป็นแหล่งกำลังสำคัญของคาร์เธจไปฝึกจนเชี่ยวชาญและแข็งแกร่ง ทำให้คาร์เธจที่อ่อนแรงจากสงครามพ่ายแพ้ไปในที่สุด
หลังพ่ายแพ้สงคราม คาร์เธจต้องยกดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียให้โรมัน แต่โรมันก็ยังไม่ไว้ใจฮานนิบาล จึงสั่งให้คาร์เธจส่งฮานนิบาลให้อีกครั้ง แต่คราวนนี้ ฮานนิบาลหนีไปอยู่ที่เมืองเอเฟซุส (ตุรกีปัจจุบัน) และไปขอลี้ภัยกับพระเจ้าปรูซีอัสที่ 1 แห่งบิทิเนีย โดยฮานนิบาลได้ไปช่วยรบ แต่เมื่อโรมรู้ที่อยู่ของฮานนิบาล จึงบีบบังคับให้บิทิเนียส่งตัวฮานนิบาลให้ ตอนแรกดูเหมือนพระองค์จะไม่ให้ แต่สุดท้ายก็ยินยอม ฮานนิบาลจึงตัดสินใจดื่มยาพิษเป็นการฆ่าตัวตายในบ้านพักของเขา ในปี พ.ศ 360 (183 ปี ก่อน คริสต์ศักราช) ด้วยวัย 65 ปี
ฮานนิบาลเป็นบิดาแห่งยุทธศาสตร์ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ทำสงครามกับโรมัน ฮานนิบาลได้ทำในสิ่งที่โรมันคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทัพจากสเปนข้ามภูเขาแอลป์ รบด้วยช้าง และแผนการรบที่หาใครดีกว่าไม่ได้ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากแผ่นดินแม่เลยแม้แต่น้อย
อ้างอิง
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์.(2490).ชีวะประวัติของฮานนิบาลจอมทัพแห่งกรุงคาร์เทจ.นครนายก :โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า.
ฮันนิบาล (Hannibal) แม่ทัพผู้เขย่าขวัญกรุงโรม. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2560 จาก http://www.komkid.com/
ฮานนิบาล ยอดขุนศึกแห่งคาร์เธจ (Hannibal the great warlord of Carthage). สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2560 จาก http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-4-43813
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น