วินาศกรรมช็อกโลก! ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (World Trade Center)

โดย ชัญญานุช รู้บุญ

ตึกแฝดที่สูงเฉียดฟ้ากลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่ทั่วโลกต่างขนานนามเรียกว่าประเทศมหาอำนาจ ตึกที่มีทั้งความสวยงาม ความทันสมัย และความโดดเด่นเพราะมีการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร แต่แล้วตึกที่เรียกได้ว่าเป็นดั่งสัญลักษณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา มาบัดนี้ได้หายไปในชั่วพริบตาเหลือไว้แต่เพียงร่องรอยความโศกเศร้าเสียใจเมื่อนึกย้อนกลับไปถึงวันที่ตึกถล่มและไฟลุกไหม้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน จากสิ่งที่เคยยิ่งใหญ่กลายเป็นเพียงแค่ซากปรักหักพัง อันเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกและสหรัฐอเมริกาไม่เคยลืมเลือน

ตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ (World Trade Center) เป็นตึกที่มีความสูง 530 เมตร และ 431 เมตร มีกลุ่มอาคารรวมกันอยู่ทั้งหมด 7 อาคาร กลางมหานครนิวยอร์ก เริ่มต้นก่อสร้างอาคารครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1966 ก่อนที่ตึกแรกจะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1970 และตึกที่ 2 เสร็จในปี ค.ศ. 1972 มีพิธีการเปิดตึกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1973 ตึกเวิลด์เทรดแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่น นามว่า มิโนรุ ยามาซากิ ร่วมกับบริษัท เอเมอร์รี่ รอทแอนด์ซันส์ ซึ่งตัวตึกนี้สร้างขึ้นจาก เหล็กกล้าและอะลูมิเนียม                               


ภาพ ตึกเวิลด์เทรด 

วันที่ 11 กันยายน 2544 กลายเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของโลกและเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อเครื่องบินโดยสารได้พุ่งเข้าชนตึกแฝดเวิลด์เทรดโดยพุ่งเข้าชนที่ตึกเวิลด์เทรดเหนือก่อน หลังจากนั้นจึงพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดใต้ ก่อนที่อาคาร 110 ชั้นจะถล่มและเกิดไฟลุกไหม้จนไม่เหลือเค้าโครงของอาคารเดิมอยู่เลย

โดยเหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 มีกลุ่มโจรจี้เครื่องบินจำนวน 19 คนยึดเครื่องบินพาณิชย์สี่เครื่องระหว่างทางไปซานฟรานซิสโกและลอสแอนเจลิสหลังนำเครื่องขึ้นจากบอสตัน เนวาร์ค และวอชิงตัน ดี.ซี. กลุ่มโจรเหล่านี้เจตนาเลือกจี้เครื่องบินที่ต้องบินเป็นระยะทางไกลเพราะมีน้ำมันอยู่มาก

โดยเมื่อเวลา 8.46 น. โจรจี้เครื่องบินห้าคนนำเที่ยวบินอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 11 พุ่งเข้าชนกับตึกเหนือของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และเมื่อเวลา 9.03 น. โจรอีกห้าคนได้นำเที่ยวบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 175 พุ่งเข้าชนตึกใต้ จากนั้นคนร้ายห้าคนนำเที่ยวบินอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 77 พุ่งเข้าชนอาคารเพนตากอนเมื่อเวลา 9.37 น.
   
ส่วนเที่ยวบินที่สี่ ภายใต้การควบคุมของคนร้ายสี่คน ชนยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 93 ใกล้กับแชงค์วิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อเวลา 10.03 น. หลังผู้โดยสารสู้กับคนร้าย เป้าหมายแท้จริงของเที่ยวบิน 93 นั้นเชื่อกันว่าน่าจะเป็นอาคารรัฐสภาหรือไม่ก็ทำเนียบขาว จากวินาศกรรมครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,996 คน ประกอบด้วยโจรจี้เครื่องบิน 19 คน และเหยื่อ 2,977 คน
 

ภาพ ตึกเวิลด์เทรดและอาคารเพนตากอนหลังจากถูกเครื่องบินพุ่งชน 

เหตุการณ์ในครั้งนี้อเมริกาได้พุ่งเป้าสงสัยไปที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์อย่างรวดเร็ว โดยมีบิน ลาเดน เป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องในตอนแรก แต่ต่อมาในภายหลังบิน ลาเดน ก็ได้ยอมรับและบอกถึงชนวนในการก่อเหตุครั้งนี้เนื่องมาจากความโกรธแค้นอเมริกาจากการที่อเมริกาสนับสนุนอิสราเอล การคงทหารสหรัฐประจำการไว้ในซาอุดิอาระเบีย และการลงโทษต่ออิรัก


ภาพ นายโอซามา บิน ลาเดน 

ส่วนสาเหตุที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายเจาะจงถล่มตึกเวิลด์เทรดและตึกเพนตากอนนั้นสืบเนื่องมาจากตึกเวิลด์เทรดนับว่าเป็นสัญลักษณ์ทุนนิยมของอเมริกาที่รวมความมั่งคั่งทางธุรกิจการเงิน การค้าข้ามชาติ แต่ความมั่งคั่งนี้เบื้องหลังคือการเอาเปรียบประเทศอื่นของอเมริกา ดังนั้นการทำลายตึกเวิลด์เทรดที่เปรียบเสมือนตัวแทนของอเมริกาก็เหมือนกับทำลายอเมริกาไปด้วยเช่นกัน

ส่วนการขับเครื่องบินชนตึกเพนตากอนนั้น ผู้ก่อการร้ายต้องการทำให้อเมริกาขาดความน่าเชื่อถือซึ่งก็ได้ผลเมื่อนานาประเทศส่วนใหญ่มองว่าอเมริกาหละหลวมเรื่องการรักษาความปลอดภัยไม่อาจพึ่งพาได้อีกต่อไป ขนาดว่าสถานที่สำคัญลับสุดยอดอย่างตึกเพนตากอนอเมริกายังรักษาป้องกันไว้ไม่ได้

หลังจากเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด สหรัฐอเมริกาจึงดำเนินมาตรการตอบโต้เหตุวินาศกรรมนี้โดยทันทีด้วยการเริ่มสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การรุกรานอัฟกานิสถานเพื่อขับรัฐบาลตอลิบัน ซึ่งให้ที่พักพิงแก่สมาชิกอัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มของบิน ลาเดน

ในด้านผลกระทบจากเหตุการณ์ตึกถล่มในครั้งนี้ได้ส่งผลอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อสหรัฐอเมริกา หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมืองภายในประเทศจะเห็นถึงความร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของทุกองค์กร ส่วนทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการความสนับสนุนของประเทศต่าง ๆ ในการตอบโต้เครือข่ายก่อการร้ายสากล จึงมีการประกาศให้ประเทศต่าง ๆ เลือกว่าจะสนับสนุนการปราบปรามการก่อการร้ายหรือเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ พร้อมทั้งให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นรูปธรรมแก่ประเทศที่ให้การสนับสนุนในทันที

ต่อมาทางด้านเศรษฐกิจ คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ชะลอตัวซึ่งจะกระทบต่อประเทศที่เป็นระบบเศรษฐกิจพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศและการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นต้น

ดังนั้นเหตุการณ์ในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อทั่วโลกเพราะนานาประเทศล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องหลังจากที่เกิดเหตุการณ์นี้ ทั้งในด้านที่ให้ความช่วยเหลือและได้รับความเดือดร้อน แต่ทว่าการโจมตีอันโหดร้ายในครั้งนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากสหรัฐอเมริกาไม่เป็นฝ่ายเริ่มในการไปบุกรุกหรือขยายอำนาจในพื้นที่ของประเทศอื่นก่อน ฉะนั้นการก่อการร้ายในครั้งนี้จึงอาจจะไม่มีฝ่ายใดถูกหรือผิดเพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ไปรุกล้ำทำลายประเทศอื่นเหมือนกัน สิ่งนี้จึงเป็นเหมือนบ่อเกิดสงครามระหว่างประเทศอย่างไม่รู้จบไม่รู้สิ้นอยู่เรื่อยมา
                   

อ้างอิง

โจอี้ เและ ทอมมี่. (2544). ย้อนตำนานอาหรับ-ยิวที่มาของเหตุการณ์ช็อกโลก .ใน ถล่มอเมริกา , (น 125). (ม.ป.ท.) : สำนักพิมพ์สันทราย

มณีรัตน์ รูปประดิษฐ์.(2555).ผลกระทบจากการก่อการร้าย สหรัฐอเมริกา, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561.จาก: https://www.gotoknow.org/posts/140323

อุทัย เลิกสันเทียะ. (2560). รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ฯ, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561.จาก: http://www.tnews.co.th/contents/356912

admin. (2560). ประวัติของ ตึกเวอร์เทส เวอร์เทส เซ็นเตอ, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561. จาก: http://www.kenchiku-interior-shikakunavi.com/ประวัติของ-ตึกเวอร์เทส-เซ็นเตอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น