ชาวโรฮิงญา ปัญหาที่ไม่สิ้นสุด

โดย ปณิดา รัตนประเสริฐ

ชาว ‘โรฮิงญา’ หรือ ‘โรฮีนจา’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไร้รัฐ หรือไร้ถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ความเป็นมาของพวกเขายังคลุมเครือ บ้างก็ว่ามาจากพม่า บ้างก็ว่ามาจากบังกลาเทศ แต่พวกเขากลับไม่เป็นที่ต้องการของทั้งสองประเทศ เรื่องราวของพวกเขากลายเป็นปัญหาใหญ่ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน


ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา  

ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ (อาระกัน) ทางตะวันตกของประเทศพม่า และพูดภาษาโรฮีนจา ชาวโรฮิงญาและนักวิชาการบางส่วนกล่าวว่า โรฮิงญาเป็นชนพื้นเมืองในพื้นที่รัฐยะไข่ ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางส่วนอ้างว่า พวกเขาอพยพเข้าพม่าจากเบงกอลในสมัยการปกครองของสหราชอาณาจักรเป็นหลัก และนักประวัติศาสตร์ส่วนน้อยกล่าวว่า พวกเขาอพยพมาหลังจากพม่าได้รับเอกราชในปี 2491 และหลังจากบังกลาทศทำสงครามประกาศเอกราชในปี 2514

ชาวโรฮิงญาได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐยะไข่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 แต่ไม่สามารถประมาณจำนวนผู้ตั้งถิ่นฐานก่อนการปกครองของสหราชอาณาจักรได้อย่างแม่นยำ หลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่หนึ่งในปี 2369 สหราชอาณาจักรผนวกรัฐยะไข่และสนับสนุนให้มีการย้ายถิ่นจากเบงกอลเพื่อทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานในไร่นา โดยบว่าประชากรชาวโรฮิงญาอาจมีจำนวนถึงร้อยละ 5 ของประชากรรัฐยะไข่ เมื่อปี 2412 ได้มีการประเมินของปีก่อนหน้าก็พบว่ามีจำนวนสูงกว่านี้ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ความรุนแรงระหว่างชุมชนก็ปะทุขึ้นระหว่างชาวยะไข่ซึ่งนับถือศาสนาพุทธกับหน่วยกำลังวี (V-Force) ชาวโรฮิงญาที่สหราชอาณาจักรติดอาวุธให้ และการแบ่งขั้วก็รุนแรงมากขึ้นในพื้นที่ ในปี 2525 รัฐบาลพลเอกเนวีนตรากฎหมายความเป็นพลเมืองซึ่งปฏิเสธความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญา

ในปี 2556 พบว่ามีชาวโรฮิงญาประมาณ 735,000 คน อาศัยอยู่ในประเทศพม่า ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองทางเหนือของรัฐยะไข่ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80–98 ของประชากร สื่อระหว่างประเทศและองค์การสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก อย่างเช่น การโดนสังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ รวมถึงกฏหมายในพม่าที่กำจัดสิทธิพวเขาทุกอย่างตั้งแต่เรื่องการแต่งงาน การศึกษา และการมีบุตรได้เพียง 2 คนเท่านั้น ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากหนีไปอยู่ในย่านชนกลุ่มน้อยและค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ รวมทั้งพื้นที่ตามชายแดนไทย–พม่า ชาวโรฮิงญากว่า 100,000 คนยังคงอาศัยอยู่ในค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นในประเทศ ซึ่งทางการไม่อนุญาตให้ออกมา

ชาวโรฮิงญาได้รับความสนใจจากนานาชาติในห้วงเหตุจลาจลในรัฐยะไข่ พ.ศ. 2555 โดยเหตุการณ์นี้เริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่างชาวยะไข่ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ กับชาวโรฮิงญาที่นับถือศาสนาอิสลาม และเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวโรฮิงญาเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งถูกเผาบ้านเรือน เป็นเหตุทำให้เกิดการประท้วงของชาวโรฮิงญาในย่างกุ้ง รัฐบาลจึงตอบสนองโดยการตั้งรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจอาวุโส เพื่อเป็นผู้นำในการสืบสวนสาเหตุและการยั่วยุที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นี้และจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป


ภาพนี้มาจากบังกลาเทศในปี 1971 แต่ถูกส่งต่อในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อบอกว่าชาวโรฮิงญาในเมียนมาเป็นกลุ่มก่อการร้าย 
ที่มา : https://ichef.bbci.co.uk/

อาจกล่าวได้ว่าชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของพม่า เนื่องจากความหวาดกลัวการแพร่กระจายของชาวมุสลิมที่มาจากอินโด-อาระยัน หรือที่เรียกว่า ‘อินโดฯ โฟเบีย’ ที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งต่างๆ ตามคำกล่าวของ ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช (โรฮิงญาคือใคร ทำไมชื่อนี้เป็น "ของแสลงหู" ของเมียนมา?) อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าในแง่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ชาวโรฮิงญาอยู่ในวงแหวนแห่งความขัดแย้ง 3 วง คือ
1.การขยายตัวของลัทธิอิสลามนิยม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มมุสลิมสุดโต่ง ขบวนการหัวรุนแรงที่เรียกตัวเองว่าไอซิส กระแสการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงมุสลิมจากประเทศบังกลาเทศที่ทะลักเข้ามา จนกลายเป็นกระแสกลัวอิสลาม (อิสลามโฟเบีย)
2.ลัทธิพุทธนิยมแท้ นำโดยพระวีระธู แกนนำสงฆ์ชาตินิยมของเมียนมา ที่เทศน์ไว้ว่าในปี ค.ศ.2100 หากเมียนมาไม่สามารถหยุดการขยายพันธุ์มุสลิมก็จะกลายเป็นประเทศมุสลิม
3.ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิประชากรศาสตร์ในรัฐยะไข่ของเมียนมา และอ่าวเบงกอลของบังกลาเทศ ที่สภาพอากาศแปรปรวน มีพายุไซโคลนถล่ม จึงเกิดการแย่งชิงที่ดินทำกินชาวมุสลิมจากบังกลาเทศหลั่งไหลเข้าพม่ามาต่อเนื่อง ทำให้นักการทหารมองว่าพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่จะเป็นพื้นที่อันตราย หากไม่หยุดก็จะพังทลายแบบโดมิโน
คำว่า ‘โรฮิงญา’ ไม่มีความหมายในภาษาพพม่า เพราะชาวพม่าและรัฐบาลพม่าถือว่าคำนี้เป็นคำใหม่ที่ถูกคิดขึ้นมาจากกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ตามเขตชายแดนติดกับบังกลาเทศ และพวกเขาต้องการมีอัตลักษณ์ของตัวเองจึงคิดคำเรียกตัวเองว่าโรฮิงญา แม้สหประชาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งระบุว่าทุกคนเหล่านี้มีสิทธิที่จะถูกเรียกตามชื่อที่พวกเขาต้องการ แต่รัฐบาลพม่ากังวลว่าหากชื่อโรฮิงญาได้รับการยอมรับ นั่นอาจหมายถึงว่าชาวโรฮิงญาจะได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมา ในอดีตเคยใช้คำเรียกคนเหล่านี้ว่าโรฮิงญาจากรัฐบาลชุดก่อน เพราะช่วงทศวรรษ 1940-1960 มีชาวโรฮิงญาไม่มากเท่านี้


ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายพันคนซึ่งรวมถึงเด็กและผู้หญิงข้ามพรมแดนเข้าไปยังบังกลาเทศ
ที่มา: https://ichef.bbci.co.uk/

อีกทั้งชาวโรฮิงญาก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในบังกลาเทศ และแม้ว่าพวกเขาจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของพม่า เนื่องจากพวกเขาเป็นชาวเมืองอาระกัน สถานะของพวกเขากลับไม่เป็นที่ยอมรับในพม่า ชาวบังกลาเทศเองก็มองว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชนชาติ จึงถือเป็นผู้อพยพ แม้รัฐบาลเองพยายามที่จะดูแลพวกเขา แต่ไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะรองรับผู้อพยพจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าประเทศในช่วงเวลาสั้น ๆ

ชาวโรฮิงญานั้นได้ตกอยู่ในภาวะลำบากถึงขั้นวิกฤตมานานหลายปีแล้ว ทั้งจากพวกเขาถูกขับไล่ด้วยการเผาทำลายบ้านเรือนของตัวเอง ถูกเจ้าหน้าที่จากกองทัพพม่าทารุณกรรม และยังขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มระหว่างการอพยพลี้ภัยทางเรือไปยังประเทศต่าง ๆ แม้ว่าสหประชาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนได้ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือและหาแนวทางแก้ไข้ให้กับพวกเขา ถึงอย่างไรก็ตามอนาคตของกลุ่มชาติพันธุ์นี้แทบมองไม่เห็นว่าจะมีจุดจบอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะสามารถหลุดพ้นจากฐานะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งจนกลายเป็นกลุ่มคนไร้รัฐได้


อ้างอิง

บีบีซี นาวิเกชัน. (2559). วิกฤตโรฮิงญา ในสายตานักประวัติศาสตร์ไทย-เมียนมา (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2563, จาก: https://www.bbc.com/

บีบีซี นาวิเกชัน. (2559). โรฮิงญาคือใคร ทำไมชื่อนี้เป็น "ของแสลงหู" ของเมียนมา? (ออนไลน์). สืบค้น
เมื่อ 9 มกราคม 2563, จาก: https://www.bbc.com/

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2561). โรฮีนจา (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2563, จาก:
https://th.wikipedia.org/wiki/โรฮีนจา

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2555). เหตุจลาจลในรัฐยะไข่ พ.ศ. 2555 (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม
2563, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/เหตุจลาจลในรัฐยะไข่_พ.ศ._2555

GQ. (2558). โรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยที่ถูกขมเหงทารุณมากที่สุดในโลก (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม
2563, จาก: https://www.gqthailand.com/life/article/rohingya

MTHAI. (2558). ต้นกำเนิด โรฮิงญา บุคคลไร้สัญชาติ เหยื่อค้ามนุษย์ (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม
2563, จาก: https://news.mthai.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น