องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF (World Wide Fund for Nature)

โดย อริสรา จำปาสาร

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติมาโดยตลอด เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมทั่วโลก ซึ่งถือเป็นผลพวงมาจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ที่ได้กระตุ้นให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเด็นปัญหาข้อหนึ่งคือ มีสัตว์ป่าจำนวนมาก หลายชนิดต้องสูญพันธุ์ และหลายชนิดมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีกลุ่มคนที่ตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว และได้ร่วมกันก่อตั้ง WWF หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากลขึ้นมา

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือเรียกอีกชื่อว่า WWF (World Wide Fund for Nature) ถือเป็นองค์การอิสระด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศที่ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 29 เมษายน ปี พ.ศ. 2504 (ค..1961) และก่อตั้งขึ้นที่เมืองมอร์เกส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน  โดยกลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งได้ประกาศลงนาม โดย 16 นักอนุรักษ์ชั้นนำของโลก รวมทั้งนักชีววิทยาและผู้ที่ชื่นชอบสัตว์ป่าแอฟริกัน ซึ่งมี Julian Huxley รองประธานสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN (International Union for the Conservation of Nature and Natural), Peter Scott, Max Nicholson และ Guy Mountfort ที่ต่างก็มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะทำการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจัง



WWF ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์โดยนำหลักองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ควบคู่กัน ทั้งยังมีการนำข้อมูลทางวิชาการมาใช้ในการวางแผน การจัดการ และตัดสินใจ เพื่อหาทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด รวมถึงการประสานความร่วมมือกับกลุ่มองค์กร และบุคคลทุกระดับในหลายประเทศทั่วโลก การดำเนินงานเน้นการทำงานในภาคสนาม และปลูกสร้างจิตสำนึกผ่านกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา โดยต้องการให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาและความเจริญได้โดยไม่ไปทำลายหรือสร้างผลกระทบ หากแต่จะช่วยดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกให้ยั่งยืน

ภารกิจหลักของ WWF คือ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Save biodiversity) และการบรรเทาผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ (Reduce Humanity’s impact on natural habitats)

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามภารกิจที่ได้วางไว้ WWF ได้มุ่งไปที่การอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Critical species) อนุรักษ์ระบบนิเวศที่สำคัญและมีความเปราะบาง (Critical places) รวมถึงการลดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Ecological Footprint)ไปพร้อมๆ กันด้วย



แม้ในเรื่องสัญลักษณ์ขององค์กรเอง WWF ก็ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบสัญลักษณ์ขององค์กร โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากแพนด้ายักษ์เพศเมีย ชื่อชิชิ ที่ได้มาอยู่สวนสัตว์ในลอนดอนเมื่อปี พ.ศ.2504  ซึ่งตรงกันกับปีที่ WWF ได้ก่อตั้งขึ้นมา และแพนด้ายังเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ สื่อถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆที่ควรได้รับการช่วยเหลือ ด้วยรูปร่าง ลักษณะของมันยังเป็นที่รักของทุกคนบนโลกอีกด้วย และ WWF ยังได้คำนึงถึงว่านอกจากลักษณะของมันเองเป็นสัตว์ที่มีโทนสีขาวและดำ มีความน่าสนใจด้วยแล้ว จุดนี้ยังสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ได้อีกด้วย  แสดงให้เห็นถึงการใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกรายละเอียดการดำเนินงานขององค์กร

ปัจจุบัน WWF เป็นองค์กรอิสระด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่และได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก และแม้เวลาได้ผ่านไป ความตั้งใจของ WWF คงจะไม่หยุดเพียงแค่การรักษาชีวิตสัตว์ป่า แต่ยังรวมไปถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นที่จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับโลกใบนี้

มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาสภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งเราจะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพราะมีสัตว์ป่าและระบบนิเวศน์ที่ช่วยคงความสมดุลให้กับธรรมชาติ ทุกสิ่งต่างมีความสัมพันธ์กัน และล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกัน และแม้มนุษย์จะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ อาจมีความสามารถคิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยอพยพผู้คนไปอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นได้  แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากจะใช้ความฉลาดนั้น มาช่วยรักษาโลกใบเดิมของเราให้คงอยู่ต่อไปอีก เท่าที่ขีดความสามารถของเราจะทำได้ ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องร่วมมือกันทำให้โลกเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของทุกชีวิตในโลกใบนี้ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขต่อไป

อ้างอิง

Worldwildlife. (ม.ป.ป). “History WWF.” สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2559, จาก http://www.worldwildlife.org/about/history

WWF Global. (ม.ป.ป). “Global initiatives.” สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2559, จาก http://wwf.panda.org/what_we_do/how_we_work/key_initiatives/

WWF Thailand. (ม.ป.ป). “ย้อนอดีต WWF.” สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2559, จาก http://www.wwf.or.th/about_wwf/history/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น