การปฏิวัติดอกมะลิ (The Jasmine Revolution)

โดย อัญชนา   สุริยะ

“ดอกมะลิ” เมื่อกล่าวถึงคำๆ นี้ เรามักนึกถึงความเป็นดอกไม้ประจำวันแม่ของไทยเรา ทำให้รู้สึกถึงความขาวบริสุทธิ์ของดอกมะลิ ความเป็นดอกไม้ที่สวยบริสุทธิ์และงดงามปราศจากสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรง ความดุดัน หรือแม้กระทั่งความวุ่นวาย ผู้ใดจะคิดว่าดอกมะลินั้นจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ของตัวมันเอง แต่แล้วความขาวบริสุทธิ์และนุ่มนวลนั้นก็ถูกนำมาเป็นชื่อของการเคลื่อนไหวทางการเมืองประเทศหนึ่งในตะวันออกกลางในชื่อว่า “The Jasmine Revolution”

The Jasmine Revolution หรือการปฏิวัติดอกมะลิในประเทศตูนีเซียนั้น เหตุที่ใช้ชื่อว่าปฏิวัติดอกมะลิเพราะดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำชาติของตูนีเซีย  การปฏิวัติดอกมะลิยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ อาทิ การปฏิวัติตูนีเซีย, Jamine Domino หรือ Sidi Bouzid Intifadah” ที่แปลว่า การประท้วงการกดขี่ในเมือง Sidi Bouzid เป็นต้น


ที่มา : http://www.ctrnet.net/node/17

ก่อนอื่นนั้นเรามารู้จักกับตูนีเซียกันก่อน ประเทศตูนิเซีย (อังกฤษ: Tunisia, อาหรับ: تونس‎ /tūnis,ตูนิส/, ฝรั่งเศส: Tunisie /ตูนีซี/) เป็นประเทศทางตอนเหนือสุดของทวีปแอฟริกา ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นประเทศในกลุ่มมาเกร็บ (Maghreb) คือกลุ่มประเทศทางตอนเหนือของแอฟริกา มีพรมแดนติดกับประเทศแอลจีเรียและลิเบีย ส่วนเมืองหลวงคือ ตูนิส (Tunis)

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติในตูนีเซียครั้งนี้ มีอยู่มากมากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ เงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง ชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น อัตราการว่างงานสูง มีการปิดกั้นเสรีภาพในการพูด และที่สำคัญที่สุดคือ การคอร์รัปชั่นของข้ารัฐการและสมาชิกคณะรัฐมนตรีและครอบครัว ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ได้สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้คนเบื่อหน่ายและเหลืออดกับสภาพความเป็นอยู่ จึงเกิดความต้องการ “การเปลี่ยนแปลง”

ความเปลี่ยนแปลงในตูนิเซียเริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2553 บัณฑิตวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชื่อว่า นาย Mohamed Bouazizi เพิ่งจบการศึกษาวัย 26 ปี ซึ่งตกงานอยู่และต้องหาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวอีกถึง 8 คน ด้วยการเข็นรถขายผักในเมืองซิด บูซิด  (Sidi Bouzid) เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของตูนิเซีย โดยที่นาย Mohamed Bouazizi ไม่มีใบอนุญาตทำการค้า จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงคนหนึ่งจับและยึดรถขายผัก ชายหนุ่มคนนี้จึงให้เงินจำนวน 10 ดินาร์ เพื่อไถ่รถคืน แต่ถูกตำรวจหญิงคนนั้นตบหน้าและถ่มน้ำลายใส่หน้า และด่าทอถึงบิดาของเขา นาย Mohamed Bouazizi จึงไปฟ้องร้องต่อ provincial headquarters องค์การบริหารระดับจังหวัด แต่สิ่งที่ได้รับคือ การไม่สนใจ การไม่ใส่ใจใยดี การได้รับการปฏิบัติแบบคนไร้ค่า และการดูถูกว่าเป็นพลเมืองขยะ ทำให้นาย Mohamed Bouazizi เกิดมีอารมณ์โมโห เขาจึงใช้สีสเปรย์เขียนรำพันความคับแค้นใจและด่าตำรวจกับเจ้าหน้าที่รัฐตามที่สาธารณะ ก่อนจะเอาทินเนอร์ป้ายตามตัวและจุดไฟเผาตัวเองตัวตายลงในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2554 สิ่งที่นาย Mohamed Bouazizi กระทำลงไปนั้น ทิ้งไว้ซึ่งความไม่พอใจ โกรธแค้น และเกลียดชังที่ประชาชนมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบธรรม

เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ประชาชนรวมตัวกันก่อการชุมนุมประท้วงในเมือง Sidi Bouzid และขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากการส่งข่าวสารผ่านสังคมออนไลน์อย่าง Facebook Twitter และ YouTube ไปยังที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จนเกิดการชุมนุมใหญ่ขึ้นในตูนีเซีย

ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2554  Zine El Abidine Ben Ali ประธานาธิบดีซึ่งอยู่ในอำนาจมานาน 23 ปีก็ได้ยุบคณะรัฐมนตรี ประกาศกฎอัยการศึก และสัญญากับประชาชนว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งในปีพ.ศ. 2557 แต่แล้วในที่สุด Zine El Abidine Ben Ali ได้ขอลี้ภัยทางการเมืองกับประเทศฝรั่งเศลแต่ถูกปฏิเสธ จึงขอลี้ภัยทางการเมืองกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งทางซาอุดิอาระเบียก็ได้ให้ข้อแม้ว่าจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก Zine El Abidine Ben Ali จึงได้ขึ้นเครื่องบินอพยพไปยังซาอุดิอาระเบีย พร้อมครอบครัวเขา และได้นำทองคำมากถึง 1.5 ตัน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 45 ล้านยูโรไปด้วย นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลและเป็นอันสิันสุดการปฏิวัติโดยประชาชนที่ใช้เวลาเพียง 28 วัน

อย่างไรก็ตามการประท้วง หรือ Jasmine Revolution ครั้งนี้จะไม่สำคัญเลยถ้าหากไม่เป็น domino effect เหมือนการปฏิวัติฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1789 เพราะในครั้งนั้นมีผู้กล่าวว่า "เมื่อฝรั่งเศสจาม ยุโรปก็จะติดหวัด" ซึ่งหมายความว่า เมื่อฝรั่งเศสเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นก็ตาม มักจะมีผลกระทบไปทั่วยุโรปด้วย ดังเช่นการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่มีการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์ที่มีมายาวนานเพื่อเสรีภาพของพลเมืองประชาชนภายในประเทศ เช่นเดียวกันทั่วยุโรปต่างก็มีการประท้วงและพยายามปฏิวัติต่อระบอบนี้เต็มไปหมด ซึ่งปฏิวัติตูนิเซียครั้งนี้ ก็ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศรอบข้างในแถบอาหรับเป็นจำนวนมากที่มีการปกครองคล้ายคลึงกับตูนิเซีย คือ “เผด็จการที่ถูกบังหน้าด้วยประชาธิปไตย”

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาที่ถูกสั่งสมมานาน เมื่อเกิดประกายไฟขึ้นถูกที่และถูกเวลา ก็มักเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น และมักมีผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ รอบข้าง เช่นเดียวกับปัญหาในประเทศตูนีเซียที่อยู่ในระบอบเผด็จการที่ถูกบังหน้าด้วยประชาธิปไตยมานาน เมื่อประกายถูกจุดโดยบัณทิตคนหนึ่งพร้อมกับร่างของเขา Jasmine Revalution จึงเกิดขึ้น ประเทศรอบๆ ข้างในแถบอาหรับก็ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติครั้งนี้ด้วย

อ้างอิง

คมชัดลึกออนไลน์. (2554). ปฏิวัติดอกมะลิ. สืบค้นเมื่อ วันที่ 29 กุมภาพันธ์, 2559, จาก http://www.komchadluek.net/detail/20110307/90746/ปฏิวัติดอกมะลิ.html

Let you learn. (2555). การปฏิวัติดอกมะลิ (The Jasmine Revolution). สืบค้นเมื่อ วันที่ 29 กุมภาพันธ์, 2559, จาก https://letyoulearn.wordpress.com/2012/01/03/การปฏิวัติดอกมะลิ-jasmine-revolution/

ยุทธ  อิสระไท. (2555). ผลกระทบจากการปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution’s Effect). สืบค้นเมื่อ วันที่ 29 กุมภาพันธ์, 2559, จาก http://issarathai.blogspot.com/2012/08/jasmine-revolutions-effect.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น