การปฏิวัติเกษตรกรรม

โดย ศุภนิดา วัฒนานนท์

พัฒนาการของยุโรปสมัยใหม่นั้นได้มีการพัฒนาด้านต่างๆไปหลายด้านด้วยกัน เนื่องจากมีวิทยาการใหม่เข้ามา จึงก่อให้เกิดการปฏิวัติทั้งทางด้านอุตสาหกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงด้านเกษตรกรรมด้วย  ประเทศแรกที่มีการปฏิวัติเกษตรกรรม คือ ประเทศอังกฤษ

การปฏิวัติเกษตรกรรมหรือการปฏิวัติเขียวนี้ได้เกิดจากการนำเอาความรู้ด้านและวิทยาการมาใช้ สาเหตุที่ทำให้มีการปฏิวัติเกษตรกรรมก็มาจาก การเพิ่มจำนวนประชากรในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากความก้าวหน้าทางสาธารณสุข มีพัฒนาการด้านการรักษาโรค เริ่มมีการนำความรู้มาผลิตยารักษาโรค ทำให้อัตราการตายน้อยลง มีการบำรุงรักษาความสมบูรณ์ของดินเพื่อให้สามารถปลูกพืชผลได้อย่างมีคุณภาพ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตต่างๆ และการที่ธนาคารและสถาบันการเงินมั่งคั่งทำให้เกษตรกรมีเงินกู้มาลงทุน

จริงๆ แล้วการปฏิวัติเกษตรกรรมเริ่มต้นมาตั้งแต่ประมาณกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 16 รัฐบาลออกพระราชบัญยัติล้อมเขตที่ดิน มาใช้ในการปรับปรุงเพิ่มผลการผลิตทางการเกษตร ระบบปิดล้อมทำให้เจ้าของที่ดินรายใหญ่สามารถรวบรวมที่ดินของตนให้เป็นผืนใหญ่ผืนเดียวกัน และกั้นรั้วล้อมให้เป็นสัดส่วน เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาดินให้อุดมสมบูรณ์ การคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม รวมถึง การป้องกันการเสียหายของพืช จากการทำลายของคน และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ยังทำให้สามารถนำเอาวิธีการเกษตร กรรมแบบใหม่ๆ เช่น เครื่องหว่านเมล็ดพืช และเครื่องกำจัดวัชพืช มีใบมีดติดกับล้อคันไถมาช่วยในการปรับปรุงวิธีการทำนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้จึงทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ จนทำให้พืชบางชนิดเป็นสินค้าส่งออก ประชากรมีสุขภาพดีขึ้นเพราะมีอาหารเพียงพอและมีคุณภาพ ระบบการผลิตทางเกษตรกรรมถูกสุขลักษณะและมีการใช้เครื่องทุ่นแรงมากขึ้น เกษตรกรมีอาหาร มีเวลาว่าง และมีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรรมเป็นแหล่งอาหาร วัตถุดิบ และแรงงานให้กับกิจการอุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากปริมาณอาหารที่เพิ่มขึ้นซึ่งนำไปหล่อเลี้ยงประชากรที่ขยายตัวตามเมืองใหญ่ นอกจากนี้ด้วยเงินทุน เครื่องมือ โลหะ การขยายตัวของเศรษฐกิจแบบตลาด, ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ ทำให้การปฏิวัติเกษตรกรรมเกิดขึ้นและดำเนินไปได้ การปฏิวัติทั้งสามด้านนี้ช่วยสนับสนุนกระบวนการของกันและกัน เป็นผลให้ทั้งสามการปฏิวัตินี้ยังคงเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ่งมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

การปฏิวัติเกษตรกรรมในอังกฤษ. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2557 จาก http://th.wikipedia.org/wiki/การปฏิวัติเกษตรกรรมในอังกฤษ

รศ.ดร.ไพฑูรย์  มีกุศล และคณะ. (2550). สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร:วัฒนาพานิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น