ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ผู้นำหญิงคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา

โดย  ธันย์ภมรรัตน์  ฤทธิ์มะหา

ในช่วงทศวรรษนี้  เราจะเห็นว่าสตรีได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองระดับโลกจำนวนมาก  แต่เชื่อเหลือเกินว่า  มีอยู่คนหนึ่งที่เป็นผู้มีอิทธิพลและบทบาทอย่างมากต่อการเมืองโลก และหลายคนจะนึกถึงเธอเป็นลำดับแรก นั่นก็คือ  “ฮิลลารี คลินตัน”  หรือชื่อเต็มๆ ของเธอก็คือ  “ฮิลลารี ไดแอน ร็อดแดม คลินตัน” สตรีผู้นี้กลายเป็นทั้งต้นแบบและแรงบันดาลใจในการทำงาน  รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้หญิงหลาย ๆ คนในปัจจุบัน  แต่กว่าที่เธอจะมายืนอยู่จุดนี้ได้  ชีวิตของเธอก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ฮิลลารี  คลินตัน  เกิดเมื่อวันที่  26  ตุลาคม ค.ศ.1947  ที่โรงพยาบาลเอดจ์วอเตอร์  ในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์  ก่อนจะย้ายไปที่เมืองปาร์ก  ริดจ์ในรัฐเดียวกันเมื่อฮิลลารีมีอายุได้ 3 ขวบ  ฮิลลารีเป็นบุตรสาวคนโตของฮิวจ์  เอลส์เวิร์ท  ร็อดแดม  และโดโรธี  เอ็มม่า  โฮเวลล์  บิดาของฮิลลารีเป็นเจ้าของธุรกิจสิ่งทอขนาดเล็ก  ส่วนมารดาเป็นแม่บ้าน  เธอมีน้องอีก 2 คน  คือ ฮิวจ์และโทนี่

ในด้านการศึกษา  ฮิลลารีสำเร็จการศึกษาด้านรัฐศาสตร์  จากวิทยาลัยสตรีเวลเลสลีย์  โดยเธอเรียนจบที่นี่ด้วยเกียรตินิยม  จากนั้นได้ศึกษาต่อทางด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยเยล  และที่แห่งนี้ก็ทำให้เธอได้รู้จักกับ  บิล  คลินตัน ซึ่งก็เรียนด้านกฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้  หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้รักกัน และแต่งงานกันในที่สุด เมื่อวันที่ 11  ตุลาคม ค.ศ. 1975  โดยมีบุตรีด้วยกัน 1 คน คือ  เชลซี  คลินตัน


ภาพฮิลลารี คลินตัน  ในระหว่างการปราศรัย

ครั้งหนึ่งของชีวิตฮิลลารี  เธอได้ถูกเรียกว่าเป็น  “สตรีหมายเลขหนึ่ง”  ของสหรัฐฯ มาแล้ว  ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่บิล  คลินตัน  สามีของเธอได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ  เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20  มกราคม  ค.ศ. 1993 นั่นเอง  ฮิลลารีนั้นเป็นคนฉลาดและมีความสามารถ เธอเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญา พร้อมทั้งมีอาชีพเป็นทางการก่อนได้รับตำแหน่งที่สำคัญ  เธอยังเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกที่มีสำนักงานของตัวเองอยู่ในปีกฝั่งตะวันตกของทำเนียบขาว  ซึ่งก่อนหน้า สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนอื่นๆ จะดูแลปีกฝั่งตะวันออกเท่านั้น  จนทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในการที่เธอเข้ามามีบทบาทในการทำงานของคณะรัฐบาลมากเกินไป  ข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้ดูเหมือนว่าจะรุนแรงเกินไป สำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอ  แต่แทนที่เธอจะปฏิเสธกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เธอกลับตอบกลับให้ทุกคนเห็นว่า  สิ่งที่เธอทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศแห่งนี้ เธอมองว่าการปฏิเสธหรือการบิดเบือนความจริงนั้น  ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดอย่างร้ายแรง

ด้วยปัญหาเหล่านี้  ทำให้ฮิลลารีเห็นว่า หมดเวลาแล้วที่เธอจะต้องอยู่แต่หลังฉาก  เธอจึงได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งวุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์ก  ในปีค.ศ. 2000  ซึ่งเธอก็ประสบความสำเร็จ  ได้ดำรงตำแหน่งนี้ถึง 2 สมัย  นับเป็นจุดเริ่มต้นบนเส้นทางการเมืองของสตรีที่มากไปด้วยความสามารถอย่างฮิลลารี

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.2007  ฮิลลารีได้ตัดสินใจลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต  ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี  แต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่นายบารัค โอบามา  ไปอย่างสูสี  ความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น  ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของผู้หญิงเก่ง  และแกร่งอย่างเธอ  เพราะเมื่อบารัค  โอบามา ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44  ของสหรัฐฯ  ทางฮิลลารีก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี  ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2009 – 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013


ภาพบารัค โอบามา และ ฮิลลารี  คลินตัน
ที่มา: http://cdn2.thr.com/

ช่วงที่ฮิลลารีได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศนี้  ถือว่าเป็นบททดสอบครั้งสำคัญในชีวิตของเธอ  เพราะเป็นตำแหน่งที่เป็นตัวแทนของคนอเมริกาในเวทีระดับโลก  ซึ่งในขณะนั้นสถานการณ์ของสหรัฐฯ  อยู่ในภาวะตึงเครียดทุก ๆ ด้าน  โดยเฉพาะเรื่องของการก่อการร้ายที่มีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11  ทั้งในและนอกประเทศ  เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวอเมริกานอนหลับไม่สนิท   ภาวะตึงเครียดดังกล่าวได้ถูกคลี่คลายลง  หลังจากการสังหารนายอุซามะห์  บิน  ลาเดน  โดยฮิลลารีก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย  ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลโอบามาเลยก็ว่าได้

อีกเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง  ที่ฮิลลารีได้แสดงถึงศักยภาพของความเป็นผู้นำในหน้าที่ที่ตนได้รับผิดชอบอยู่  นั่นคือ  การที่เธอต้องเป็นตัวแทนของสหรัฐฯ  คอยเป็นกันชน ทั้งปะทะและประนีประนอมกับเหตุการณ์การเผาโจมตีสถานทูตสหรัฐ  ประจำเมืองเบงกาซี  ประเทศลิเบีย ในเหตุการณ์นี้เอกอัครราชทูตพร้อมกับเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันเสียชีวิต 3 คน บริเวณสถานกงสุล  โดยในการปฏิบัติหน้าที่นั้น  เธอก็ได้แสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาอย่างเยือกเย็นและตรงไปตรงมา  จนสามารถผ่านพ้นปัญหาเหล่านี้ไปได้

เมื่อปี 2016  ที่ผ่านมาฮิลลารี  กลายเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดี  ซึ่งเธอเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ  และเข้าช่วงชิงตำแหน่งกับ นายดอนัลด์  ทรัมป์  ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน  ซึ่งมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016  ผลปรากฏว่านายดอนัลด์  ทรัมป์  เป็นผู้ชนะ หลังจากผลการเลือกตั้งประกาศออกมา  เธอได้โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับนายทรัมป์  ประธานาธิบดีคนใหม่  และนายทรัมป์  ก็ได้กล่าวชื่นชมฮิลลารีว่า "ทำงานหนักอย่างยิ่งเพื่อสหัฐฯ"

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ที่เธอได้ก้าวเข้ามาสู่เส้นทางสายการเมือง  ตลอดระยะเวลาที่เธอได้ปฏิบัติหน้าที่  เธอก็ได้ทุ่มเททั้งแรงกาย  แรงใจ  ให้กับหน้าที่ของเธอ  ฮิลลารีได้แสดงให้ผู้หญิงและคนทั่วโลกเห็นว่า  สตรีก็สามารถที่จะเป็นผู้นำได้ทัดเทียมกับบุรุษ  เพียงแค่มีความสามารถ  ความคิด  และการลงมือทำอย่างจริงจัง  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการพัฒนาตนเองทั้งสิ้น  คนอเมริการวมถึงคนทั่วโลก  จึงให้คำจำกัดความเกี่ยวกับตัวเธอว่า “ผู้หญิงแถวหน้า” ไปโดยปริยาย


อ้างอิง

ธีระวุฒิ  ปัญญา. (2556). ผู้หญิงที่เกิดมาเพื่อเป็นยอดคน ยอดหญิงหัวใจเพชร. กรุงเทพมหานคร : บริษัท รุ่งแสง การพิมพ์ จำกัด

ฮิลลารี  คลินตัน. (2546). บันทึก ฮิลลารี  คลินตัน. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด

ฮิลลารี  คลินตัน. (2557). ชีวิต และทางเลือก.  สมุทรปราการ :  บริษัท ดับบลิวพีเอส จำกัด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น