ทาไลลามะองค์ที่ 14 จากวิธีการค้นหาทาไลลามะแบบประเพณีทิเบต

โดย นริศรา ทางดี

หากกล่าวถึงเขตการปกครองตนเองทิเบต คงจะนึกถึงดินแดนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “หลังคาโลก” เนื่องจากตั้งอยู่บนที่ราบสูงที่สูงที่สุดในโลก บนเทือกเขาหิมาลัย พื้นที่ที่มีความกดอากาศต่ำ อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี จึงทำให้ทิเบตมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง แต่ถึงอย่างนั้นทิเบตก็ยังเป็นดินแดนที่นักเดินทางจำนวนมากใฝ่ฝันที่จะได้มาเยือนสักครั้ง ด้วยความที่มีสภาพภูมิศาสตร์ที่สวยงาม เต็มไปด้วยเรื่องราวลึกลับ น่าค้นหา วัฒนธรรมที่ดูแปลกตา นอกจากนี้ชาวทิเบตยังนับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยานอย่างเคร่งครัด พลเมืองชายของทิเบตเกือบครึ่งบวชเป็นพระ ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของทิเบต จนได้รับฉายา "แดนแห่งพระธรรม (land of dharma)”

ที่มา: https://twitter.com/dalailama/status/878183673463320576
เมื่อกล่าวถึงศาสนาพุทธในทิเบตจะเห็นได้ว่าทุกพื้นที่ในทิเบตเต็มไปด้วยวัดวาอารามจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นประชาชนทิเบตเดินสวดมนต์ไปตามท้องถนนจนเป็นเรื่องปกติ สถาบันสงฆ์ของทิเบตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของชาวทิเบต ชาวทิเบตจะมีประมุขสูงสุดที่เรียกว่า ทาไลลามะ (Dalai Lama) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของคณะสงฆ์ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และยังมีบทบาทในด้านการเมืองการปกครองของทิเบต ซึ่งชาวทิเบตให้การยอมรับและเคารพนับถือทาไลลามะมาก

ที่มาภาพ : https://www.twincities.com/
“ทาไลลามะ” มาจากคำว่า ทาไล ภาษามองโกเลีย แปลว่า มหาสมุทร ส่วน ลามะ เป็นภาษาทิเบต แปลว่าผู้มีความรู้ ทาไลลามะจึงหมายถึงมหาสมุทรแห่งปัญญา ชาวทิเบตเชื่อว่า ทาไลลามะ เป็นร่างอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ที่เรียกว่า เชนรีซี (Chen-re-zi) ซึ่งมาเกิดเป็นทาไลลามะเพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นจากทุกข์ และทาไลลามะจะเวียนกลับมาเกิดเป็นทาไลลามะองค์ใหม่ต่อไป จึงมีประเพณีที่ใช้ในการค้นหาทาไลลามะที่เป็นเอกลักษณ์ของทิเบต เมื่อทาไลลามะใกล้จะสวรรคต พระองค์จะบอกสัญญาณ รวมถึงบอกเป็นนัยๆ เกี่ยวกับบริเวณที่ทาไลลามะองค์ใหม่จะไปเกิด เหล่าคณะลามะจากวัดต่างๆ จะเดินทางออกค้นหาตามสัญญาณที่ทาไลลามะทิ้งไว้ ซึ่งสัญลักษณ์ของเชนรีซี (Chen-re-zi) ตามความเชื่อจะมีลักษณะดังนี้

  1. มีตำหนิคล้ายหนังเสือบนขาทั้งสองข้าง
  2. มีตาและคิ้วเรียวยาวโค้งขึ้นบนทั้งสองข้าง
  3. มีหูที่ใหญ่ทั้งสองข้าง
  4. มีปุ่มเนื้อบนหัวไหล่ทั้งสองข้าง
  5. มีลายคล้ายก้นหอยบนฝ่ามือทั้งสองข้าง

ถ้าหากเด็กชายที่มีลักษณะดังกล่าวถูกค้นพบหลายคน จะมีการเขียนชื่อเด็กแต่ละคนลงในกระดาษ ใส่ลงในโกศทองคำ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและใช้ตะเกียบคีบรายชื่อเด็กคนหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเด็กที่ถูกเลือกมักจะสามารถชี้เครื่องใช้ต่างๆ ของทาไลลามะองค์ก่อนได้ถูกต้องเสมอ จากนั้นคณะลามะจะนำเด็กไปดูแลเพื่อขัดเกลาจิตใจ เมื่ออายุครบ 18 ปี จะได้รับการสถาปนาเป็น “เกียลวา รินโปเช (Gyalwa Rinpoche)”

ปัจจุบันทิเบตมีทาไลลามะองค์ที่ 14 พระนามว่า สมเด็จพระเทน ซิน เกียตโซ ซึ่งพระองค์ทรงถูกค้นพบด้วยวิธีการตามประเพณีทิเบต เมื่อพระชนม์มายุ 3 พรรษา เมื่อครั้งที่ทาไลลามะองค์ที่ 13 สวรรคต พระศพของพระองค์ที่เดิมหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ แต่กลับหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คณะลามะชั้นสูงจึงได้เพ่งสมาธิลงไปทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์เห็นภาพอักษร 3 ตัว และเห็นภาพวัดเป็นตึก 3 ชั้นหลังคาสีฟ้าประดับลายทอง มีทางเดินขึ้นไปจากเชิงเขา มีบ้านหลังหนึ่งมีรางน้ำรูปร่างแปลก คณะค้นหาลงความเห็นว่าตัวอักษรที่เห็นคือ แคว้นอัมโด ซึ่งเป็นแคว้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต จึงเดินทางไปและได้พบกับวัดกุมดุมซึ่งมีลักษณะตรงกับภาพในสมาธิ ไม่ห่างจากวัดกุมดุมมากนักคณะค้าหาได้พบกับบ้านหลังหนึ่งที่ใช้ไม้สนคดงอทำเป็นรางน้ำตรงกับภาพในสมาธิเช่นกัน

บ้านหลังนั้นเป็นบ้านของเด็กชายลาโม ทอนดุป และครอบครัว คณะค้นหาจึงปลอมตัวเข้าไปขอพักค้างแรม โดยลามะชั้นสูงชื่อ คิวซัง รินโปเช ได้ปลอมตัวเป็นคนรับใช้ แต่เด็กชายลาโมกลับเรียกเขาว่า “ลามะจากซาร่า” ซึ่งคิวซัง รินโปเช มาจากวัดซาร่าจริง วันรุ่งขึ้นคณะค้นหาได้เดินทางต่อ หลังจากนั้น 3 วัน คณะค้นหาได้กลับมาอีกครั้ง และนำสิ่งของเครื่องใช้มาหลายชิ้น ซึ่งมีสิ่งของเครื่องใช้ของทาไลลามะองค์ที่ 13 ปะปนมาด้วย เด็กชายลาโมได้เลือกสิ่งของเครื่องใช้ของทาไลลามะองค์ที่ 13 ได้อย่างถูกต้อง เมื่อผลการพิสูจน์ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจึงมีการนำขบวนต้อนรับอย่างสมเกียรติเพื่อเดินทางไปยังเมืองหลวง



ทาไลลามะองค์ที่ 14 ได้รับการยอมรับทั้งด้านของผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาและด้านของผู้นำในการปกครอง พระองค์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2532 จากการที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยทิเบตจากการปกครองของจีนอย่างสันติ ซึ่งปัจจุบันพระองค์ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ประเทศอินเดีย แต่ก็ยังเป็นที่ศรัทธาและเคารพจากประชาชนทิเบตต่อไป

จะเห็นได้ว่าประเพณีการค้นหาทาไลลามะของทิเบตเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างช้านาน เป็นเรื่องที่พิสดารและยากที่จะหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับได้ ในยุคสมัยปัจจุบันที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ประเพณีการค้นหาทาไลลามะดังกล่าวจะยังคงสืบทอดต่อไปได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะตำแหน่งทาไลลามะไม่ใช่แค่เพียงผู้นำทางจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญกับการเมืองการปกครองของทิเบตที่จะบ่งบอกว่าทิเบตจะเดินไปในทิศทางใด


อ้างอิง

ชายนิรนาม.  (นามแฝง).  (2554).  ประวัติชีวิตบุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดาไลลามะองค์ที่ 14
แห่งธิเบต (ออนไลน์).  แหล่งที่มา : http://chaiwat201149.blogspot.com/2011/07/14.html .
20 สิงหาคม 2560.

ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. (2550).  สถานภาพและบทบาทของทาไลลามะ (ออนไลน์).  แหล่งที่มา :
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=12897 . 20 สิงหาคม 2560.

ประวัติองค์ดาไล ลามะองค์ปัจจุบัน (องค์ที่ 14 แห่งธิเบต) (ออนไลน์).  (2556).   แหล่งที่มา :
http://www.tibetthailand.info/ .  20 สิงหาคม 2560.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น