ถ้าหากจะกล่าวถึงบิดาแห่งการรวมชาติเยอรมันจนประสบความสำเร็จแล้วก็คงเป็นใครไม่ได้นอกจาก บิสมาร์ก (Bismarck) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษผู้รวมชาติของเยอรมัน
ออตโต เอดูอาร์ด ลีโอโปล ฟอน บิสมาร์ก (Otto Eduard Leopold Von Bismarck) เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1815 ที่เมืองชอนเฮาเซน อัลมาร์ค บนฝั่งแม่น้ำเอลเบอ ปรัสเซีย ในตระกูลขุนนางผู้ดีซึ่งมีที่ดินและร่ำรวย เข้าศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาในกรุงเบอร์ลิน การศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนพลามัน ระดับมัธยมศึกษาที่ฟรีดริช – วิลเฮล์ม และโรงเรียนมัธยมเกราเว่น โคลสเตอร์ จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยกอตติงเงน ในสาขาวิชากฎหมาย
ในช่วงวัยเด็กบิสมาร์กเป็นนักเรียนที่ไม่ได้มีผลการเรียนดีเลิศอะไรนัก ด้วยโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลบ้านมาก เขาจึงเป็นโรคคิดถึงบ้านบ่อยๆ ในช่วงวัยรุ่นแต่เดิมเป็นคนที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเชื่อมั่นว่า สาธารณรัฐเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด ด้วยที่ได้รับการอบรมในแบบปรัสเซียที่ให้นักเรียนตระหนักถึงหน้าที่และอำนาจบังคับบัญชา ทำให้โลกทัศน์ของบิสมาร์กเปลี่ยนไปในภายหลัง เมื่อบิสมาร์กเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เขากลับกลายเป็นนักอนุรักษ์นิยมผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสุดขั้ว
ที่มา ; https://www.jiji.com/jc/v6?id=ancestor10&a=1 |
ในช่วงวัยผู้ใหญ่ เมื่ออายุ 32 ปี บิสมาร์กเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเมื่อเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี ค.ศ.1847 เข้าได้เป็นสมาชิกของสภารวม (United Diet) ของพระเจ้า เฟรดเดอริค วิลเฮล์ม ที่ 4 มีผลงานโดดเด่นขึ้นมาเรื่อยๆ ประกอบกับความเฉลียวฉลาดและไหวพริบปฏิภาณการแก้สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ จึงเป็นที่ไว้ใจของกษัตริย์ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนปรัสเซียในการประชุมกับสมาพันธรัฐเยอรมันที่แฟรงค์เฟิร์สในปี ค.ศ. 1851 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำรัสเซียในปี ค.ศ. 1857 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1859 และเดินทางไปเป็นตัวแทนเจรจาการทูตกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ในยุโรปหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งทำให้ บิสมาร์กกลายเป็นผู้ช่ำชองทางการทูต สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์และคาดการณ์ท่าทีของผู้นำชาติต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ จนได้ชื่อว่าเป็นนักการทูตที่จัดจ้านและเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว
ในปี ค.ศ. 1962 บิสมาร์ก ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครเสนาบดีของปรัสเซีย จากพระเจ้าวิลเฮล์ม ที่ 1 โดยทำงานสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง บิสมาร์กมีความเห็นสอดคล้องกับพระเจ้าวิลเฮล์ม ที่ 1 ในการปฏิรูปกองทัพและการจะขยายบทบาทและอำนาจของปรัสเซียโดยให้ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นเป็นผู้นำ บิสมาร์กพิจารณาการเมืองที่เป็นจริง (Realpolitik) ด้วยการกำหนดนโยบาย “เลือดและเหล็ก (Blood & Iron)” ซึ่งเน้นความสำคัญของการทำสงครามและการใช้กำลังทหารในการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของรัฐชาติ รวมทั้งการวางแผนที่รัดกุมเป็นขั้นตอน
ในปีค.ศ. 1863 เกิดการลุกฮือของชาวโปลในรัสเซีย บิสมาร์กจึงทำข้อตกลงกับรัสเซียด้วยการตรึงกำลังทหารตามพรมแดนปรัสเซียตะวันออกที่ติดกับรัสเซียเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวโปหลบหนีข้ามพรมแดน รัสเซียซาบซึ้งปรัสเซียที่มีส่วนช่วยเหลือทั้งไม่สนับสนุนอังกฤษ ฝรั่งเศสและออสเตรียที่ประณามรัสเซีย รัสเซียจึงสัญญาว่าในกรณีที่ปรัสเซียทำสงครามกับประเทศอื่นๆ รัสเซียจะเป็นกลาง
ที่มา: http://historysaranaru.blogspot.com/2014/09/blog-post_16.html |
1.สงครามกับเดนมาร์ก ค.ศ.1864 ปรัสเซียและออสเตรียร่วมกันบุกโจมตีเดนมาร์กเป็นสงครามแย่งสิทธิครอบครองชเลสวิก (Schleswig) และโฮลสไตน์ (Holstein) เดนมาร์กยอมลงนามในสนธิสัญญาแกสไตน์ (Convention of Gastein) ค.ศ.1865 ทำให้ปรัสเซียได้ดูแลชเลสวิก ให้ออสเตรียได้ดูแลโฮลสไตน์
2. สงครามออสเตรีย (สงคราม 7 สัปดาห์) ค.ศ.1866 บิสมาร์กเริ่มกล่าวหาว่าออสเตรียยุยงโฮลสไตน์ต่อต้านปรัสเซีย จึงเริ่มการเจรจากับฝรั่งเศส ให้วางตัวเป็นกลางในกรณีที่ปรัสเซียทำสงครามโดยสัญญาว่าจะยกแคว้นอัลซาส-ลอเรนท์ให้ ต่อมาก็หันมาทำสัญญากับอิตาลีในการทำสงครามกับออสเตรียโดยอิตาลีก็หวังจะได้เวเนเซีย เมื่อพร้อมแล้วจึงประกาศขับออสเตรียออกจากสมาพันธรัฐเยอรมันในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1866 ออสเตรียตอบโต้โดยชวนรัฐอื่นต่อต้านปรัสเซีย ปรัสเซียจึงถือโอกาสยกเลิกสมาพันธรัฐเยอรมันในวันที่ 14 มิถุนายน ทั้งสองฝ่ายเกิดปะทะกัน ออสเตรียปราชัยภายใน 7 สัปดาห์ ผลคือปรัสเซียได้โฮลสไตน์ และสามารถจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันตอนเหนือ (North German Conferderation) มีพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ทรงเป็นประมุขและบิสมาร์กเป็นอัครมหาเสนาบดี
3. สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (The Franco-Prussian War) ค.ศ.1870 จากการที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ทางการทูตต่อปรัสเซียหลายครั้งและมีปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติสเปน ทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจประกาศสงครามกับปรัสเซีย ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1870-71 ปรัสเซียเป็นฝ่ายมีชัยเด็ดขาด รัฐเยอรมันทั้งหลายเริ่มมีความรู้สึกชาตินิยมร่วมกันจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมนี (German Empire) สำเร็จสมบูรณ์ในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1871 พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ทรงประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมนี ที่พระราชวังแวร์ซายส์ ของฝรั่งเศส พระองค์เองทรงเป็นพระจักรพรรดิวิลเลียมที่ 1 มีบิสมาร์กเป็นอัครมหาเสนาบดีหรือนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษ
หลังจากทำสงครามชนะฝรั่งเศสทำให้ยุโรปเปลี่ยนจาก “นายผู้หญิงจากเป็นนายผู้ชาย” ซึ่งก็คือจากฝรั่งเศสเป็นเยอรมัน นโยบายสำคัญของบิสมาร์ก คือการโดดเดี่ยวฝรั่งเศส
บิสมาร์กมีความขัดแย้งกับพวกคาทอลิก การต่อต้านสังคมนิยมและการขัดแย้งฝ่ายเสรีนิยมฝ่ายซ้าย ก็ทำให้ความไม่พอใจบิสมาร์กแผ่วงกว้างออกไปอีก ทำให้บิสมาร์กพบศัตรูหลายด้านจนต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ค.ศ.1890 เพราะมีพรรคการเมืองต่อต้านเขาถึงสามพรรค คือพรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคกลางและพรรคเสรีนิยมฝ่ายซ้าย ประจวบกับการที่พระเจ้าวิลเลียมที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.1888 ทรงมีนโยบายขัดแย้งกับบิสมาร์กตลอดมา จึงทรงบีบบิสมาร์กให้ลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1890 อีก 6 ปีต่อมาบิสมาร์กก็ถึงแก่อนิจกรรมลงด้วยวัย 83 ปี
บิสมาร์กถือได้ว่าเป็นยอดคนแห่งยุคเป็นนักการเมือง นักวางแผน ที่ปราดเปรื่องเปรียบเรียกได้ว่าเป็น ขงเบ้งแห่งตะวันตก มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของบิสมาร์กหลายแห่งเพื่อเชิดชูเกียรติผู้ก่อตั้งจักรวรรดิไรซ์ยุคใหม่ นักประวัติศาสตร์หลายคนเองก็ชื่นชมเขาในฐานะผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรวมเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียวและช่วยให้ยุโรปดำรงสันติภาพเอาไว้ได้ผ่านการทูตอันชาญฉลาด
อ้างอิง
mermaid. (16 กันยายน 2557). ความรู้ ประวัติศาสตร์โลก จักรวรรดิต่าง ๆ. เข้าถึงได้จาก จักรวรรดิเยอรมนี: http://historysaranaru.blogspot.com/2014/09/blog-post_16.html
นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. (2510). ประวัติศาสตร์เยอรมัน. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2558). ยุโรป ค.ศ.1815-1918. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
หลวงวิจิตรวาทการ. (2542). มหาบุรุษ. กรุงเทพฯ: บริษัทโรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด.
อนันตชัย จินดาวัฒน์. (2555). ประวัติศาสตร์ยุโรป. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป.
เอกนรี พรปรีดา. (2552). 100 คนดัง ผู้มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคใหม่ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: มายิก.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น