ปฏิบัติการอพยพที่ดันเคิร์ก (Dunkirk evacuation)

ไม่ระบุชื่อ | 18:00 | | |
โดย สาธิตา  วงษาบุตร

“ดันเคิร์ก” เหตุการณ์จริงที่ถูกหยิบขึ้นมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านจอฟิล์ม โดยผู้กำกับฝีมือดี คริสโตเฟอร์ โนแลน  ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวมหากาพย์ของการอพยพที่โกลาหลของทหารอังกฤษและฝรั่งเศสฝ่ายสัมพันธมิตรออกจากชายหาดทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ในปี 1940 ซึ่งได้รับคำชมเป็นอย่างมากจากนักวิจารณ์และสร้างความประทับใจแก่คอภาพยนตร์ทั่วโลก แต่ความเป็นจริงน่ากลัวกว่าภาพฉายนั้นหลายเท่าทวีคูณ และยังเป็นเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลและความทรงจำที่ไม่อาจลืมได้ แก่เหล่านายทหารและผองเพื่อนผู้กล้าหลายชีวิต

เมื่อย้อนกลับไปในช่วงวันที่ 27 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 1940 เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 9 วัน ของนายทหารผู้รอดชีวิตทั้งหมด 336,228 นาย ที่ทุกวินาทีขณะอยู่บนหาดและท่าเรือดันเคิร์กนั้นคือชีวิต และต้องอพยพหนีเพื่อเอาชีวิตรอด โดยต้นตอของปฏิบัติการอพยพอันโกลาหลครั้งนี้มาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มอุบัติในพื้นที่ยุโรปโดย นาซีเยอรมัน ภายใต้การนำของ อดอร์ฟ ฮิตเลอร์ และทำการบุกยึดโปแลนด์ ต่อมาอังกฤษและฝรั่งเศส จึงประกาศสงครามกับเยอรมนี 

เพราะด้วยภายใต้สนธิสัญญาช่วยเหลือกันระหว่าง อังกฤษและฝรั่งเศสและโปแลนด์ ที่ได้ทำกันไว้ก่อนหน้า จึงเรียกว่าฝ่ายดังกล่าวว่า  "สัมพันธมิตร"  สงครามครั้งนี้กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส พยายามต้าน นาซีเยอรมัน แต่ยับยั้งไม่ได้ นาซียังคงแข็งแกร่ง ดังนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสจำเป็นต้องถอยร่นมาตั้งหลัก ณ เมืองดันเคิร์ก ประเทศฝรั่งเศส บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค จากนั้นไม่นานนาซีก็ได้บุกเข้าปิดล้อมดันเคิร์ก ซึ่งทำให้นายทหารกว่า 3 แสนกว่าชีวิตถูกขนาบล้อมไปด้วยกองทัพทหารนาซี ซึ่งการจะเอาชีวิตรอดจากนาซีได้ก็มีเพียงการหนีออกทางทะเลเท่านั้น

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.1940 นาซีก็มีสั่งทหารดำเนินการบุกโจมตีดันเคิร์กอย่างหนักทั้งทางบกและทางอากาศอย่างเต็มกำลัง ทางด้านฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเห็นว่าตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ จึงมีคำสั่งถอนทัพพร้อมอพยพทันที จากชายฝั่งดันเคิร์กข้ามช่องแคบโดเวอร์ ไปขึ้นยังเมืองชายฝั่งของประเทศอังกฤษ อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งระยะทางการอพยพก็ไม่ได้ใกล้ เพราะมีระยะทางเฉลี่ยถึง 100 กว่ากิโลเมตร แต่เมื่อชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย แน่นอนว่าถ้าไม่เดินหน้าก็คงจะต้องจบชีวิตลงบนหาดนี้ ซึ่งช่วงระหว่างการอพยพนี้  การอพยพครั้งแรกได้เริ่มขึ้น วันที่ 27 พฤษภาคม  โดยวันแรกนั้นสามารถอพยพนายทหารได้จำนวน 7,011 คน
                     
ที่มา: https://f.ptcdn.info/179/047/000/ogis3nnsluPAeK8iEzc-o.jpg
การอพยพนายทหารนั้นได้รับการช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรเอง ที่มีการรวบรวมเรือของกองทัพเรือ  ทั้งเรือโดยสารข้ามฟาก เรือหาปลา เรือยอร์ช และแม้กระทั่งเรือออกทะเลสำหรับพักผ่อน เพื่อช่วยในการอพยพทหารครั้งนี้ โดยจะเดินเรือไประดมพลกันที่เมืองเชียร์เนส แล้วทุกลำจึงจะมุ่งหน้าไปยังดันเคิร์กและล้อมชายฝั่งใกล้ๆ เพื่อขนถ่ายกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมา และนอกเหนือจากการช่วยเหลือทางน้ำแล้ว ทางอังกฤษก็ได้มีการส่งเครื่องบินเข้ามาช่วยอีกด้วย

ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม การอพยพครั้งที่สองได้เริ่มขึ้น เรือพิฆาตนับสิบลำได้ถูกเรียกระดมให้เข้ามาช่วยเหลือแต่กลับไม่ราบรื่นอย่างที่หวัง เมื่อน้ำนั้นตื้นเขินเกินไป ก็ไม่สามารถนำเรือประชิดฝั่งได้มากนัก แต่อย่างไรก็ตาม เรือเล็กที่ตามมานั้นก็สามารถเข้าประชิดฝั่งและรับนายทหารไปได้ 16,000นายกลับมาได้  แต่ขณะลำเลียงอยู่นั้น เรือหลายต่อหลายลำก็อับปางลงเนื่องมาจากยุทธการทางอากาศของทางฟากฝั่งเยอรมันที่มีการทิ้งระเบิด อีกทิ้งยังมีตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำ ทำให้เรือหลายลำก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก รวมทั้งเรือพิฆาตอีก 9 ลำที่สามารถบรรทุกนายทหารได้จำนวนมาก โดยเป็นเรือพิฆาตของฝรั่งเศส 3 และเรือพิฆาตของอังกฤษอีก 6 ลำ จนเกิดความโกลาหลบนลำเรือและจำเป็นต้องสละเรือทิ้งไป

ที่มา: https://f.ptcdn.info/180/047/000/ogitdsq4x1efBBueNbn-o.jpg
นายกรัฐมนตรี วิสตัน เชอร์ชิลล์ ได้กล่าวถึงช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28-31 พฤษภาคม ว่า "เป็นช่วงเวลา 4 วันวิกฤตที่บุรุษชาวฝรั่งเศสเหล่านี้ ที่อยู่ภายใต้การนำอย่างกล้าหาญของนายพลมอลีนีเย สามารถยันพวกเยอรมันไว้ได้ไม่น้อยกว่า 7 กองพันที่อาจไปร่วมวงที่ดันเคิร์ก นี่คือผลงานอันยอดเยี่ยมที่เปิดทางให้บรรดาสหายซึ่งมีโชคกว่า ตลอดจนกองทหารบริติชสามารถหนีรอดได้"  และผลของช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่าสามารถช่วยชีวิตนายทหารได้เป็นจำนวนมาก เพราะในตอนโพล้เพล้ของวันที่ 30 พฤษภาคม เรือลำเล็กจำนวนมากเข้าเทียบท่าพร้อมกับช่วยทหาร 30,000 นาย  ในวันที่ 31 พฤษภาคม ทหารจำนวน 68,000 นายถูกอพยพกลับมา และอีก 10,000 นาย ภายในคืนเดียวกัน การอพยพครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายคือในในวันที่ 1 มิถุนายน ทหารอีก 65,000 นาย ได้เดินทางกลับมายังอังกฤษ แต่ปฏิบัติการอพยพ นั้นยังคงยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน และมีผู้รอดชีวิตทั้งหมด 338,226 นายดังที่กล่าวไปข้างต้น

นอกจากนี้ นายเชอร์ชิลล์ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ดันเคิร์กว่าเป็น "หายนะทางการทหารที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์" และเขาเองก็ยกย่องการช่วยเหลือทหารเหล่านี้ว่าเป็น "ปาฏิหาริย์การปลดปล่อย"  พร้อมกล่าวต่ออีกว่า... การอพยพดันเคิร์กได้สำเร็จ ถือเป็นสิ่งอัศจรรย์ยิ่ง เพราะเป็นภารกิจที่ทำได้ยากยิ่ง ช่วยสร้างขวัญกำลังใจต่อฝ่ายสัมพันธมิตรขึ้นเป็นอย่างมาก และด้วยสงวนกำลังพลถึงสามแสนกว่านายได้สำเร็จ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเตรียมกลับมารับศึกต่อไป ทั้งกำชับทำนองว่า ถึงครั้งนี้ทำการสำเร็จ แต่สงครามยังไม่จบ และสงครามมิได้แพ้ชนะกันด้วยการอพยพ...และภายหลังจากปฏิบัติการอพยพนายทหารที่ดันเคิร์กเสร็จสิ้นนั้น นาซีก็ยังคงลุกลามพร้อมเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มรูปแบบ

เหตุการณ์อพยพที่ดันเคิร์กนั้นสร้างความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ทหารหลายนายต้องจบชีวิชีวิตลงบนหาด แน่นอนว่าไม่มีใครอยากที่จะสูญเสีย แต่เมื่อมีสงครามการยืนอยู่ท่ามกลางสนามรบนั้นหมายความว่า หัวใจเราสามารถหยุดเต้นได้ตลอดเวลา เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นถึงการเอาตัวรอด เห็นถึงการช่วยเหลือกันและกันที่สะท้อนผ่านสิ่งเล็กๆที่ช่วยด้วยแรงและกำลังที่แต่ละคนมีและพร้อมจะช่วยเหลือเพื่อนและพวกพ้องตลอดเวลา ...และเชื่อว่าทหารทุกนายอยากกลับบ้าน แต่พวกเขาก็ได้พยายามจนถึงที่สุดแล้ว...


อ้างอิง

ยุทธการที่ดันเคิร์ก.สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560,จาก :  https://th.wikipedia.org/

ประวัติศาสตร์ปฏิบัติการอพยพที่ดันเคิร์ก สู่ภาพยนตร์ Dunkirk. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560,จาก: http://www.scifi.siligon.com/s_39dunk.html

เกิดอะไรขึ้นที่ดันเคิร์ก?.สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560,จาก :  http://www.bbc.com/thai/international-40686933


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น