หากกล่าวถึงคาบสมุทรมลายูที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของไทยแล้ว หลายคนคงนึกถึงชนชาติมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นอันดับแรก และคงจะจินตนาการถึงดินแดนอาหรับย่อยๆ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทว่ายังมีอีกกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งที่แฝงอยู่ในดินแดนเหล่านั้น คือ กลุ่มวัฒนธรรมบาบ๋า ย่าหยา หรือเปอรานากัน อันเป็นกลุ่มชนลูกครึ่งที่รวบรวมวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนและวัฒนธรรมหลักในแผ่นดินที่พวกเขาได้อาศัย ทำให้เกิดการผสมผสานสรรค์สร้างวัฒนธรรมใหม่จนเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับเอกลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจนของชาวเปอรานากันนั้น คือ การแต่งกายและอาหาร สำหรับในเรื่องการแต่งกายของชาวเปอรานากันนั้น พวกเขาได้นำความเป็นจีนและมลายูผสมผสานเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นเครื่องแต่งกายที่สวยงามสำหรับผู้หญิงที่มีชื่อว่า “เกอบาญาลินดา” คือการนำผ้าฝ้ายลายลูกไม้มาตัดเย็บเป็นเสื้อแบบหญิงมลายู แต่เนื้อผ้าจะบางและลำตัวสั้นกว่าของชาวมลายูที่เป็นมุสลิม มีการนุ่งผ้าถุงปาเต๊ะแบบมลายู สวมรองเท้าปักแบบจีน สวมใส่เครื่องประดับแบบมลายูและกลัดเข็มกลัดสามตัวแทนกระดุม ส่วนผู้ชายนั้นก็จะสวมใส่เสื้อและกางเกงแบบจีน หรือเสื้อและโสร่งแบบมลายู อันเป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานอย่างลงตัว และในด้านอาหารนั้นชาวเปอรานากันได้นำเครื่องเทศจีนและมลายูมาผสมรวมเข้ากันมีทั้งเผ็ดแบบมลายูและหอมจืดแบบจีน เช่น ลักซา ก๋วยเตี๋ยวแบบจีนแต่น้ำซุปแบบแกงมลายู
คำว่าเปอรานากัน (Peranakan) นั้น เป็นภาษามลายู ที่แปลว่า เกิด ณ ที่แห่งนี้ และจะมีอีกชื่อเรียกหนึ่ง คือ บาบ๋า ย่าหยา (Baba-Nyonya) บาบ๋า ใช้เรียกผู้ชายเป็นภาษามลายูที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ให้เกียรติบรรพบุรุษ และคำว่าย่าหยา ใช้เรียกผู้หญิงเป็นภาษาชวาที่ยืมคำมาจากภาษาอิตาลี แปลว่า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เนื่องด้วยสภาพสังคมในขณะนั้นดินแดนแถบคาบสมุทรมลายูล้วนตกเป็นอาณานิคมของ สหราชอาณาจักร ทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเป็นอย่างมาก ด้วยต้นทุนเดิมของชาวเปอรานากันเป็นกลุ่มชนลูกผสมจึงสามารถพูดได้ 2 ภาษา คือจีนและมลายู อันเป็นภาษาแม่ ทำให้ได้เปรียบในเรื่องติดต่อการค้าและเป็นที่ต้องการในการเป็นล่ามแปลภาษาให้ชาวอังกฤษ จนทำให้ชาวเปอรานากันสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เพิ่มมาอีก 1 ภาษา และได้กระจายตัวไปยังหัวเมืองใหญ่ๆที่ชาวตะวันตกอาศัยอยู่ คือ ปีนัง มะละกา กัวลาลัมเปอร์ อินโดนีเซีย ทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต ตรัง สตูลและ3 จังหวัดชายแดนไทย และบางส่วนได้อพยพมาตั้งรกรากถิ่นฐานที่เกาะสิงคโปร์ ได้สร้างบ้านแปลงเมืองพัฒนาความเป็นอยู่เรื่อยมาจนเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน
จากการอพยพกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในที่ต่างๆจากอดีตถึงปัจจุบัน ชาวเปอรานากันแต่ละถิ่นก็จะปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับชาวท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ดังนี้
ในประเทศอินโดนีเซียนั้นที่ชาวท้องถิ่นนั้นส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทำให้ในเรื่องเครื่องแต่งกายต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดและไม่แนบตัว การปรุงอาหารจะไม่ใช้เนื้อหมูใน บางส่วนก็หันมานับถือศาสนาอิสลามและใช้ภาษาบาฮาซา
ในประเทศสิงคโปร์ อันเป็นประเทศที่ชาวเปอรานากันได้สร้างบ้านแปลงเมืองแต่ด้วยความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเปอรานากันได้ถูกหลงลืม ภาษาเปอรานากันจึงกลายเป็นคำแสลงในสิงคโปร์ มีการเปลี่ยนศาสนาไปนับถือคริสต์ อิสลามตามคู่ครองและวัตถุทางวัฒนธรรมเหลือเพียงให้ศึกษาในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น
ในประเทศมาเลเซีย อันเป็นแผ่นดินแรกที่ชาวเปอรานากันได้มาตั้งถิ่นฐานและความสนับสนุนจากรัฐบาลมาเลเซียเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม จึงทำให้ยังคงมีการรักษาทั้งวัฒนธรรม ภาษา ประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนี่ยวแน่นโดยเฉพาะเมืองปีนังและเมืองมะละกา
ในประเทศไทย ชาวเปอรานากันได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในทางภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ตรังและสตูลในสมัยยุคทองของเหมืองแร่ ด้วยที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธและชาวเปอรานากันก็นับถือพุทธศาสนา ทำให้ไม่ต้องปรับตัวในวิถีชีวิตมากนัก เพียงแต่เรียนรู้ภาษาไทยเพิ่มเติมและปรับจากนับถือพุทธนิกายมหายานเป็นเถรวาท และยังเป็นด้วยประชากรส่วนใหญ่ของทั้ง 3 จังหวัดจึงส่งผลให้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักของทั้ง 3 จังหวัด
ณ ตอนนี้หลายคนคงคลายฉงนสงสัยใน “วัฒนธรรมบาบ๋า ย่าหยา หรือเปอรานากัน” กันไปแล้ว เราเห็นถึงความงดงามของวัฒนธรรมที่ชวนให้น่าหลงใหล และเห็นถึงความพยายามในการปรับตัว เพื่อให้ตนเป็นที่ยอมรับในสังคมของชาวพื้นถิ่นเดิม จากฐานะผู้อพยพมาขอร่วมอาศัยจนเป็นประชากรของพื้นที่นั้นโดยใช้วิธีการสร้างสรรค์อัตลักษณ์ของตนที่ผสมผสานความเป็นจีนและมลายูเข้าไว้ด้วยกัน อันเป็นการไม่ปฏิเสธหรือรังเกียจวัฒนธรรมอื่น และยังต้องปรับตัวไปตามกระแสโลกาภิวัตน์แห่งโลกปัจจุบัน จนได้ข้อคิดที่ว่า “อย่าลืมรากเง้าของตัวเรา และจงปรับตัวให้อยู่กับปัจจุบัน”
อ้างอิง
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (บรรณาธิการ). (2553). พิพิธภัณฑ์สิงคโปร์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (บรรณาธิการ). (2555). คน-ของ-ท้องถิ่น: เรื่องเล่า “สยามใหม่” จากมุมมองของชุมชน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (2558). เกอบาญา (kebaya) ในวัฒนธรรมร่วม จากภูเก็ตถึงสิงคโปร์. ค้นข้อมูล 23 เมษายน พ.ศ. 2559, จาก http://www.academia.edu/12521703/เกอบาญา_kebaya_ในวัฒนธรรมร_วม_จากภูเก_ตถึงสิงคโป_
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (ม.ป.ป.). เปอรานากัน. ค้นเมื่อ 23 เมษายน พ.ศ. 2559, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/เปอรานากัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น