สงครามอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf War)

โดย ชุติกาญจน์  ชมภูวัฒนา

ทวีปตะวันออกกลางนับเป็นดินแดนภูมิภาคหนึ่งที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆพยายามเข้าไปแทรกแซงและมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา ซึ่งรวมถึงการเข้าไปแสวงประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย อย่างเช่นเหตุการณ์ สงครามอ่าวเปอร์เซีย



สงครามอ่าวเปอร์เซีย เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2533 เป็นสงครามที่สืบเนื่องมาจากสงครามอิรัก-อิหร่าน ในปีพ.ศ.2523 ซึ่งมีสาเหตุมาจากประเทศอิรักได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศในตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความเกรงกลัวในการขยายอิทธิพลการปฏิวัติทางศาสนาของประเทศอิหร่านเข้ามายังประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง เพราะประเทศในตะวันออกกลางส่วนใหญ่นับถือนิกายซุนนี แต่ประเทศอิหร่านนับถือนิกายชีอะห์ และยังมีสาเหตุมาจากประเทศอิรักไม่พอใจที่ประเทศอิหร่านเข้ามายึดครองดินแดนเกาะสำคัญในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นเส้นทางควบคุมการขนส่งออกสู่อ่าวเปอร์เซีย อีกทั้งยังมีปัญหาการแบ่งเขตแดน ปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย จึงทำให้เกิดสงครามขึ้น และเกิดการค้าขายอาวุธสงครามครั้งใหญ่ สงครามยุติลงด้วยความเสียหายของทั้ง 2 ฝ่าย หลังจากสงครามจบลงทำให้ประเทศอิรักตระหนักว่าประเทศอิรักมีกองทัพที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะเปิดศึกกับประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างประเทศอิรัก ประเทศอียิปต์ และประเทศจอร์แดน มีความสัมพันธ์ที่ดี เพราะได้ให้การช่วยเหลือในการสงครามกับประเทศอิรักมาโดยตลอด เมื่อประเทศอิรักตระหนักว่าประเทศอิรักมีกองทัพที่เข้มแข็ง จึงทำให้กล้าที่จะยกกองทัพบุกประเทศคูเวต จนกลายเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซีย

จุดเริ่มต้นของสงครามอ่าวเปอร์เซีย คือ เมื่อสงครามอิรัก-อิหร่านยุติลงทำให้ประเทศอิรักล้มละลาย และเผชิญกับหนี้สินจากการทำสงคราม โดยกู้ยืมมาจากประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศคูเวตรวมกันเป็นจำนวนมาก ประเทศอิรักได้เรียกร้องให้ทั้ง 2 ประเทศ ยกหนี้ที่ติดค้างให้ แต่กลับถูกทั้ง 2 ประเทศปฏิเสธ ทำให้ประเทศอิรักกล่าวหาประเทศคูเวตว่าลักลอบขุดน้ำมันในเขตของตน และอ้างความชอบธรรมเหนือประเทศคูเวต ในฐานะที่เคยเป็นจังหวัดหนึ่งของอาณาจักรออตโตมัน ซึ่งประเทศอิรักถือว่าตนมีสิทธิในการปกครองประเทศคูเวตต่อจากออตโตมัน อีกทั้งยังกล่าวหาว่าประเทศคูเวตมีส่วนทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำจากช่วงที่ประเทศอิรักยุติสงครามกับประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ และยังกล่าวหาว่าประเทศคูเวตสูบน้ำมันมาจากแหล่งประเทศของตน ประเทศอิรักจึงขอเจรจาเรื่องพรมแดนกับประเทศคูเวต ซึ่งประเทศอิรักหวังว่าจะได้ดินแดนที่เป็นแหล่งน้ำมันเพิ่มขึ้น และอาจจะได้ดินแดนที่เป็นทางออกสู่อ่าวเปอร์เซียกว้างขึ้นด้วย แต่ถูกประเทศคูเวตปฏิเสธคำขอ เนื่องจากประเทศคูเวตมีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหนุนหลังธุรกิจน้ำมันอยู่

จนเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2533 กองกำลังทหารประเทศอิรัก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน บุกเข้ายึดประเทศคูเวต จึงทำให้สหประชาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศอิรักในทันที ให้ธนาคารทั่วโลกอายัดทรัพย์สินของประเทศอิรักและประเทศคูเวต และยังมีมติให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อขับไล่กองทัพอิรักออกจากประเทศคูเวต ทางฝ่ายประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ของประเทศอิรักไม่ยอมถอนกำลังทหารออกจากประเทศคูเวตตามคำสั่งของสหประชาชาติ กองกำลังสหประชาชาติภายใต้การนำของประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรกว่า 30 ประเทศ ได้ร่วมกับกลุ่มสันนิบาตอาหรับ 12 ประเทศ ร่วมปฏิบัติการทางทหารที่เรียกว่า ยุทธการพายุทะเลทราย กองกำลังสหประชาชาติได้เคลื่อนทัพปลดปล่อยประเทศคูเวต และยกทัพเข้าสู่ประเทศอิรักในเวลาต่อมา จนทำให้ประเทศอิรักยอมลงนามยุติการสู้รบ เป็นผลให้ประเทศอิรักถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ถูกตรวจสอบอาวุธ รวมถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

อีกหนึ่งความสูญเสียหลังการถอนกำลังออกจากประเทศคูเวตคือ ประเทศอิรักได้จุดไฟเผาบ่อน้ำมันหลายร้อยบ่อ และปล่อยลงสู่อ่าวเปอร์เซีย เป็นการจงใจทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ต่อมาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ส่งกองทัพบุกเข้าประเทศอิรักเพื่อปลดปล่อยประเทศอิรักจากระบอบเผด็จการของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน จึงโคนล้มรัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซนลง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่นิยมตะวันตก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้ทฤษฎีการทำสงครามก่อนที่จะถูกศัตรูโจมตี หรือเรียกว่า สงครามป้องกันตนเอง มีการถล่มทางอากาศครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นยุทธวิธีการทำลายขวัญและกำลังใจ สร้างความหวาดกลัว จนฝ่ายตรงข้ามยอมจำนนในรูปของสงครามจิตวิทยา ชนะโดยไม่ต้องสู้รบและสูญเสียน้อยที่สุด

ปฏิบัติการดังกล่าวเสร็จสิ้นลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการทหารและอาวุธสงครามที่เหนือกว่าของประเทศสหรัฐอเมริกา สงครามครั้งนี้ ถือเป็นสงครามไฮเทคดิจิตอลของระบบทุนนิยมโลก โดยอ้างความชอบธรรมในนามของความมั่นคงที่ยั่งยืน และสันติภาพที่ถาวรของโลก มีการนำอาวุธที่ทันสมัยออกมาสู้รบ

ต่อมาในวันที่ 13 ธันวาคม 2546 กองกำลังของประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถจับตัวซัดดัม ฮุสเซน ได้สำเร็จ และส่งมอบให้แก่รัฐบาลของประเทศอิรัก เพื่อนำตัวไปไต่สวน ซึ่งศาลของประเทศอิรักได้ตัดสินให้ซัดดัม ฮุสเซน มีความผิดในข้อหาอาชญากรสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และให้ลงโทษประหารชีวิตโดยการแขวนคอ

สงครามที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาที่ท้าทายบทบาทของสหประชาชาติ และเป็นปัญหาภาพลักษณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชี้นำและดำเนินการโดยพลการในนามสหประชาชาติ ถือเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและหลักการของประชาคมโลก ผลจากสงครามนี้ทำให้มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติได้บีบคั้นเศรษฐกิจของประเทศอิรักมากขึ้นกว่าเดิม ประชาชนอดอยากขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค และต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีการทำสงครามเล็กๆ และการรอบสังหารทหารและพลเรือน อยู่เป็นประจำ รวมทั้งยังเกิดกลุ่มกบฏตามเขตชายแดน และกลุ่มผู้ก่อการร้ายมาปฏิบัติการในประเทศอิรัก จากเหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า เมื่อประเทศมหาอำนาจร่วมมือกันระบบความมั่นคงร่วมเกิดขึ้นได้ และมีผลเด็ดขาด

อ้างอิง

กนกรัตน์ ใบแสด และพันธ์ทิพย์ อะภัย. (2555). สงครามอ่าวเปอร์เซีย. ค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560, จาก https://www.slideshare.net/sm037/ss-14727188

กฤษฎา พิจิตรแสงเสรี. (2554). มหาสงครามอ่าวเปอร์เซีย. ค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560, จาก https://krissada93.wordpress.com/เปียงยาง/

กองวิจัยและพัฒนาการรบ กรมยุทธการทหารอากาศ. (ม.ป.ป.). วิเคราะห์สงครามอิรัก (Operation Iraqi Freedom). ค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560, จาก http://www.awfc.rtaf.mi.th/index.php?option=com_content&view=article&id=104&Itemid=79

DLIT Resources คลังสื่อการสอน. (2016). สงครามอ่าวเปอร์เซีย ตอน 1 สังคมศึกษาฯ ม.4-ม.6 (วิดีทัศน์). ค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560, จาก https://www.youtube.com/watch?v=thdOdQwo-ck

DLIT Resources คลังสื่อการสอน. (2016). สงครามอ่าวเปอร์เซีย ตอน 2 สังคมศึกษาฯ ม.4-ม.6 (วิดีทัศน์). ค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560, จาก https://www.youtube.com/watch?v=tHjrK_EeSr8


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น