มหาสฟิงซ์ (The Great Sphinx of Giza)

โดย ชนัญญา วุฒิภิรมย์

อารยธรรมอียิปต์ เป็นอารยธรรมที่เก่าแก่และมีความยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลก และยังเป็นอารยธรรมที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีมรดกทางสถาปัตยกรรมที่ผู้คนทั่วโลกต่างรู้จัก คือ รูปสลักสฟิงซ์ที่มีความมหัศจจรรย์ งดงาม และลึกลับ  โดยสฟิงซ์ที่ใหญ่และได้รับความสนใจจากนักโบราณคดีมากที่สุด คือ มหาสฟิงซ์ (The Great Sphinx of Giza)



มหาสฟิงซ์ (The Great Sphinx of Giza) คือ รูปสฟิงซ์แกะสลักด้วยหินก้อนเดียวที่ขนาดใหญ่ที่สุด ในโลกชิ้นหนึ่ง ซึ่งพันธุ์ของสฟิงซ์ในอียิปต์ถูกเรียกว่า แอนโดรสฟิงซ์ (Andro-Sphinx) โดยมีตัวเป็นสิงโตและมีหัวเป็นมนุษย์อยู่ในบริเวณพีระมิดแห่งกิซ่า มีความยาววัดจากหัวถึงหางกว่า 240 ฟุต (74 เมตร) มีความสูงประมาณ 66 ฟุต (20 เมตร) และเฉพาะส่วนใบหน้าของ มหาสฟิงซ์ กว้างประมาณ 14 ฟุต หมอบเฝ้าอยู่ใกล้กับพีระมิดคาเฟร โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

โครงสร้างก่อหินภายในมหาสฟิงซ์ก่อตัวสูงขึ้นจากด้านทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก กล่าวคือจากส่วนนอกไปยังส่วนหลัง แล้วลาดลงจากด้านทิศเหนือไปทางทิศใต้ ดังนั้นมหาสฟิงซ์จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกับทิศทางตำแหน่งของมหาพีระมิดดังที่กล่าวไปในข้างต้น



ใบหน้าของมหาสฟิงซ์นับแต่ส่วนหัวลงมาไม่รวมใบหู มีลักษณะเอียงเล็กน้อย ตาด้านซ้ายสูงกว่าตาด้านขวา และตรงกลางริมฝีปากไม่อยู่ในตำแหน่งที่สมดุล กล่าวคือ ค่อนไปทางด้านขวามากกว่า ซึ่งบริเวณใบหน้าของมหาสฟิงซ์นั้นถูกทำลายไปอย่างมาก โดยส่วนจมูกหายไป ดวงตาและบริเวณโดยรอบแตกต่างจากสภาพเดิมที่สร้างในระยะแรก

ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า สฟิงซ์เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของกษัตริย์ หรือเป็นสัตว์ที่ชาญฉลาดและมีพลังเพื่อปกป้องพระศพและทรัพย์สมบัติภายในพีระมิด และนอกจากสฟิงซ์จะมีหน้าที่เฝ้าพีระมิดแล้ว บริเวณรอบๆด้านหลังและทุกด้านของสฟิงซ์มีพื้นที่ที่เรียกว่า นครมรณะ ซึ่งนครมรณะประกอบไปด้วยอาณาบริเวณที่คลอบคลุมผืนทรายทางใต้ ทางตะวันตกและทางเหนือของสฟิงซ์ ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกขุดเจาะเป็นโพรง เพื่อใส่โลงหินที่บรรจุร่างของพระราชวงศ์ ขุนนาง และนักบวชชั้นสูงโดยผ่านกรรมวิธีการทำมัมมี่มาแล้ว สฟิงซ์จะคอยทำหน้าที่ขจัดวิญญาณชั่วร้ายให้พ้นจากหลุมศพเหล่านั้นด้วย

นักโบราณคดีเชื่อว่า มหาสฟิงซ์แห่งกิซ่าเป็นอนุสาวรีย์ของ ฟาโรห์คาเฟร (Khafre) หรือ คีเฟรน(Chephren) ฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 4 ผู้สร้างพีระมิดคาเฟร เมื่อประมาณ 2600 ปี ก่อนคริสตกาล โดยเชื่อว่าใบหน้าของมหาสฟิงซ์ จำลองมาจากใบหน้า ของฟาโรห์คีเฟรน และสามารถสังเกตว่าส่วนหัวของมหาสฟิงซ์ มีสัญลักษณ์ของฟาโรห์อียิปต์ แสดงเอาไว้อย่างชัดเจน คือมีเคราที่คางซึ่งปัจจุบันถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีงูจงอางแผ่แม่เบี้ยที่หน้าผาก และยังมีเครื่องประดับ รัดเกล้าแบบฟาโรห์ ประกอบเข้ากับผ้าคลุมศีรษะ และคอ อียิปต์โบราณถือกันว่าสฟิงซ์เป็นร่างจำแลงภาคหนึ่งของเทพเจ้า การที่ฟาโรห์คาเฟร ให้แกะสลักใบหน้าสฟิงซ์เป็นใบหน้าของพระองค์ จึงเป็นการแสดงว่าพระองค์เปรียบดังเทพเจ้านั่นเอง

ประมาณ 1 พันปีต่อมา คือ1400 ก่อนคริสตกาล หลังจากยุคสมัยของฟาโรห์คาเฟรที่มหาสฟิงซ์ถูกสร้างขึ้น ซึ่งตรงกับรัชกาลฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 4 มหาสฟิงซ์ถูกพายุทรายพัดทับถมจนเหลือให้เห็นเพียงส่วนหัว เล่ากันว่ามีเทพเจ้ามาเข้าฝันเจ้าชายทุตโมส บอกให้พระองค์นำทรายที่ทับถมมหาสฟิงซ์ออก หากทำตามจะส่งผลให้ พระองค์ได้เป็นฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่ มหาสฟิงซ์ จึงได้รับการดูแลรักษาเป็นครั้งแรกต่อมาเจ้าชายทุตโมสได้ขึ้นครองอียิปต์เป็น ฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 4 (Thutmosis IV) แห่งราชวงศ์ที่ 18 นับเป็นฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง หลังยุคสมัยของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 4 ในเวลาต่อมา มหาสฟิงซ์ถูกทรายทับถม  แต่ก็ได้รับการดูแลรักษาขึ้นมาใหม่ จนเห็นเต็มตัวอย่างในปัจจุบัน




อย่างไรก็ตามปัจจุบันใบหน้ามหาสฟิงซ์ ถูกทำลายจนแทบสังเกตรายละเอียดไม่ออก เนื่องจาก
การถูกทำลายโดยการสึกกร่อนตามธรรมชาติซึ่งความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นการถูกทำลาย
โดยการสึกกร่อนตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่มีคำกล่าวขานกันว่าเกิดจากทหารของนโปเลียน ที่มาอียิปต์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ใช้ใบหน้าของมหาสฟิงซ์ เป็นเป้าซ้อมยิงปืนใหญ่ อย่างไรก็ตามจากหลักฐานภาพวาดเก่าแก่เมื่อ 400 ปีก่อน พบว่าจมูกของมหาสฟิงซ์ชำรุด ตั้งแต่สมัยดังกล่าวแล้ว และมีบันทึกของอาหรับว่า ใบหน้าสฟิงซ์ถูกทำลาย เนื่องจากกลุ่มชาวอาหรับบางกลุ่มทำลายโดยมีความเชื่อว่าเป็นรูปจำลองอัปมงคลของพวกนอกรีต ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นเวลาก่อนหน้ายุคสมัยของนโปเลียนหลายร้อยปี

ปัจจุบันได้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมมหาสฟิงซ์ นอกจากนั้นแล้วยังได้สัมผัสโลกของอายธรรมอียิปต์โบราณอย่างเต็มรูปแบบ เช่น มหาพีระมิดแห่งกีซาที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน

มหาสฟิงซ์ (The Great Sphinx of Giza) จึงถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่น ลึกลับ งดงาม และยังสะท้อนถึงอารยธรรมของชาวอียิปต์โบราณได้เป็นอย่างดี ทั้งด้านศาสนาและความเชื่อ ด้านสังคมวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง และที่สำคัญที่สุดคือความเพียรพยายามและความอดทนของชาวอียิปต์ที่พยายามสร้างสรรค์ และแกะสลักจากหินก้อนใหญ่กลายเป็นสถาปัตยกรรมระดับโลกจนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง

บรรยงค์ บุญฤทธิ์. (ม.ป.ป.). มหาสฟิงซ์ แห่งอาณาจักรไอยคุปต์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์น้ำฝน

มหาสฟิงซ์. (2557). สืบค้นวันที่ 2 มีนาคม 2560, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/มหาสฟิงซ์

สฟิงซ์(Sphinx). (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 2 มีนาคม 2560, จาก http://www.tumnandd.com/สฟิงซ์-sphinx/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น