กาลิเลโอ ผู้ถูกประณามทางศาสนา

โดย ภานุมาส องคะศาสตร์

ถ้ากล่าวถึง กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลี่ยน หลายๆคนคงจะนึกถึงผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ของเขา อาทิเช่น การพัฒนากล้องโทรทรรศน์ และการเสนอทฤษฎีต่างๆทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ แต่ในอีกด้านหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ที่หลายคนไม่ได้นึกถึงคือการใช้วิทยาศาสตร์ต่อสู้กับหลักความเชื่อทางศาสนาของคนในสมัยก่อน

กาลิเลโอ กาลิเลอี เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 ที่เมืองปิซา ประเทศอิตาลี เมื่อกาลิเลโออายุ 8 ขวบ ครอบครัวของเขาได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์และได้เข้าศึกษาที่โบสถ์แห่งหนึ่ง กาลิเลโอมีความสามารถในด้านดนตรี งานศิลปะ และคณิตศาสตร์ เมื่อโตขึ้นเขาได้เข้าศึกษาวิชาการทางการแพทย์ตามความต้องการของบิดาที่มหาวิทยาลัยปิซา แต่กลับสำเร็จการศึกษาด้านคณิตศาสตร์มาแทน ด้วยความรู้และความสามารถทางวิชาการที่โดดเด่น หลังจากที่สำเร็จการศึกษาเขาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปิซา


ภาพการทดลองปล่อยก้อนตะกั่วของกาลิเลโอ ณ หอเอน เมืองปิซา

ขณะที่เขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยปิซานั้น เขาได้นำเอาทฤษฎีของอริสโตเติล (Aristotle) ที่กล่าวว่า “ของเบาจะตกถึงพื้นดินช้ากว่าของหนัก” มาพิสูจน์ เนื่องจากเขาไม่เชื่อในความคิดนี้ เช่น การที่ก้อนหินกับใบไม้ตกถึงพื้นไม่พร้อมกันซึ่งใบไม้จะตกช้ากว่านั้น เป็นเพราะว่าอากาศช่วยต้านไว้ ถ้าไม่มีอากาศก้อนหินและใบไม้ก็ย่อมจะตกถึงพื้นพร้อมกัน เมื่อเขาได้นำเอาความคิดของเขาไปเสนอในมหาวิทยาลัยก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วย เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าความคิดของเขาเป็นความจริง เขาจึงจะทดลองให้ผู้คนได้เห็นถึงสิ่งที่เขาคิดว่ามันถูกต้อง ณ หอเอน เมืองปิซา

เมื่อถึงเวลากาลิเลโอนำก้อนตะกั่วกลม 2 ก้อนหนัก 20 ปอนด์ และ 10 ปอนด์ ปล่อยลงมาด้านล่าง ปรากฏว่าตะกั่วทั้งสองก้อนตกลงถึงพื้นดินพร้อมกัน ท่ามกลางสายตาของนักศึกษา ศาสตราจารย์ และประชาชนมากมาย ฝ่ายที่เห็นด้วยกับแนวคิดของกาลิเลโอก็พากันโห่ร้องแสดงความยินดี แต่ฝ่ายที่เชื่อในคำสอนของศาสนาและพวกหัวเก่าต่างก็เกิดความแค้น เนื่องจากทฤษฎีของอริสโตเติลเป็นที่ยอมรับของชาวคริสต์ในสมัยโบราณและเชื่อกันต่อมาเรื่อยๆ จึงทำให้กาลิเลโอได้รับแรงกดดันจากหลายๆฝ่ายทั้งศาสตราจารย์และประชาชนบางกลุ่ม สุดท้ายเขาจึงได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยปิซาเมื่อปี ค.ศ. 1591


ภาพกาลิเลโอสาธิตกล้องโทรทรรศน์ (วาดโดย Giuseppe Bertini)
ที่มา : http://www.manager.co.th/

ต่อมากาลิเลโอได้เป็นอาจารย์สอนที่มหาลัยปาดัว เขาได้ทำการทดลองและศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์มากมาย โดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลของศาสนา เขาสอนอยู่ที่นี่เป็นระยะเวลา 18 ปี และในปี ค.ศ. 1609 เขาได้พัฒนากล้องโทรทรรศน์ให้มีกำลังขยาย 32 เท่าได้สำเร็จ และใช้อุปกรณ์นั้นศึกษาเทหวัตถุบนท้องฟ้าและได้พบความรู้ใหม่ๆ เช่น พื้นผิวของดวงจันทร์มีลักษณะขรุขระ ดาวพฤหัสมีดวงจันทร์บริวาร 4 ดวง ดาวเสาร์มีวงแหวนและมีสีต่างกันถึง 3 แถบ ดาวศุกร์เว้าแหว่งเป็นเสี้ยวคล้ายกับดวงจันทร์ และได้พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ เป็นต้น ด้วยความสำเร็จในการค้นพบทางดาราศาสตร์ ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง และถูกเชิญไปบรรยายในที่ต่างๆ

ใน ค.ศ. 1610 กาลิเลโอได้กลับไปอยู่ยังเมืองฟลอเรนซ์ โดยไปเป็นนักปราชญ์ประจำราชสำนักของ Grand Duke เขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการสังเกตการณ์และศึกษาทางดาราศาสตร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของเขา และที่สำคัญเขาได้เสนอแนวคิดที่ว่า “ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล” ซึ่งแนวคิดนี้สนับสนุนแนวคิดของโคเปอร์นิคัส แต่ก็ขัดแย้งกับทฤษฎีของอริสโตเติลซึ่งมีมานานกว่าพันที่ว่า “โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล” ในปีต่อมากาลิเลโอได้เดินทางไปยังกรุงโรมเพื่อสาธิตกล้องโทรทรรศน์ให้แก่ผู้ที่สนใจในขณะนั้นได้เห็นดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีอย่างที่เขาได้เห็นอีกด้วย

ปี ค.ศ. 1612 ชาวคริสต์ได้ต่อต้านแนวคิดของกาลิเลโอที่บอกว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล  เขาถูกประณามว่าเป็นบุคคลอันตรายและอาจเป็นพวกนอกรีต  ต่อมาเขาได้เดินทางไปยังโรมเพื่อต่อสู้กับข้อกล่าวหาเหล่านั้น ในปี ค.ศ. 1616 กาลิเลโอถูกสั่งห้ามไม่ให้สอนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสอีก ในระหว่างปี ค.ศ. 1621 – 1622 กาลิเลโอได้เขียนหนังสือเล่มแรก ชื่อ อิลซัจจาโตเร (II Saggiatore) ได้รับการเผยแพร่และตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1623 อีก 7 ปีต่อมาเขาได้กลับไปยังกรุงโรมเพื่อขออนุญาตตีพิมพ์หนังสือ ชื่อ Dialogue Concerning the Two Chief World Systems ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของบทสนทนาที่เกี่ยวกับระบบจักรวาลสองระบบ คือระบบของโคเปอร์นิคัสซึ่งเป็นแนวคิดใหม่และระบบของอริสโตเติลซึ่งเป็นแนวคิดเก่า


ภาพกาลิเลโอต่อสู้คดีในศาลศาสนา (วาดโดย Cristiano Banti)
ที่มา : http://www.manager.co.th/

ในเดือนตุลาของปี ค.ศ. 1632 กาลิเลโอได้รับคำสั่งให้ไปให้การต่อศาลศาสนาที่กรุงโรม ซึ่งจากเอกสารการทดลองและค้นคว้าของเขาทำให้ศาลตัดสินว่าเป็นพวกนอกรีต  ซึ่งถือว่าเป็นคำตัดสินที่ร้ายแรงมากในสมัยนั้น  เขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1634 เป็นต้นมา ที่บ้านในหมู่บ้านชนบทนอกเมืองฟลอเรนซ์  ในปี ค.ศ. 1638 กาลิเลโอตาบอดแบบถาวร และยังต้องทนทุกข์ด้วยโรคไส้เลื่อนและโรคนอนไม่หลับ สุดท้ายเขาได้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1642 ด้วยอาการไข้สูงและหัวใจล้มเหลว

ถึงแม้ว่าจุดจบของชายผู้นี้จะไม่ได้สวยงามมากนัก แต่ทฤษฎีของเขาก็ได้สร้างประโยชน์มากมายแก่มวลมนุษย์ และจากเรื่องราวของเขาก็ได้สะท้อนมุมมองหลายๆ ด้านระหว่างหลักความเชื่อและหลักแห่งความเป็นจริง ซึ่งบางครั้งความจริงอาจถูกปิดกั้นด้วยอำนาจที่เหนือกว่า และจะมีสักกี่คนที่จะลุกขึ้นมาคิดต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่


อ้างอิง

กาลิเลโอ มนุษย์นอกศาสนา ผู้ค้นพบความลับของพระเจ้า. (สิงหาคม 2543). เรียกใช้เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2560 จาก http://www.baanjomyut.com/library/5_great/galileo.html

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์. (ม.ป.ป.). การค้นพบของกาลิเลโอ. เรียกใช้เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2560 จาก http://www.lesa.biz/astronomy/cosmos/galileo

สุทัศน์ ยกส้าน. (30 สิงหาคม 2556). กาลิเลโอ: ผู้ถูกศาสนาคุกคาม. เรียกใช้เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2560 จาก http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000105059

สุทัศน์ ยกส้าน. (23 สิงหาคม 2556). กาลิเลโอ: ผู้เห็นความไม่สมบูรณ์ของดาวบนสวรรค์คนแรก. เรียกใช้เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2560 จาก http://www.manager.co.th/Science/viewnews.aspx?NewsID=9560000105022


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น