การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution)

โดย ธิดาแก้ว วงศ์โยธา

เนื่องจากสังคมโลกในยุคสมัยใหม่เป็นสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในด้านต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ ผลที่เกิดจากการที่โลกได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มาหลายต่อหลายครั้ง เช่น การปฏิวัติอุตสาหก รรม ซึ่งได้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงรูปแบบของการผลิตเพื่อเศรษฐกิจของโลก และการปฏิวัติทางสังคมในหลายประเทศ แต่สำหรับการปฏิวัติทางสังคมที่นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นองเลือดที่สุด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางการเมืองทั่วยุโรป พลิกยุโรปให้ก้าวสู่ยุคใหม่ ได้แก่ การปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789

การปฏิวัติฝรั่งเศส ระหว่าง ค.ศ. 1789-1799 เป็นยุคสมัยแห่งกลียุค (upheaval) ทางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนถึงรากฐานในฝรั่งเศสซึ่งมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อฝรั่งเศสและยุโรปที่เหลือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองฝรั่งเศสมาหลายศตวรรษล่มสลายลงใน 3 ปี สังคมฝรั่งเศสผ่านการปฏิรูปขนานใหญ่ โดยเอกสิทธิ์ในระบบเจ้าขุนมูลนาย ของอภิชนและทางศาสนาหมดสิ้นไปภายใต้การประทุษร้ายอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มการเมืองฝ่ายสาธารณรัฐมูลวิวัติ ฝูงชนบนท้องถนนและชาวนาในชนบท ความคิดเก่าเกี่ยวกับประเพณีและลำดับชั้นบังคับบัญชา ของอำนาจพระมหากษัตริย์ อภิชนและศาสนา ถูกโค่นล้มอย่างฉับพลันโดยความเสมอภาค ความเป็นพลเมืองและสิทธิที่ไม่โอนให้กันได้ อันเป็นหลักการใหม่แห่งยุคเรืองปัญญา                    

สาเหตุของการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส  ค.ศ.1789 สรุปได้ 3 ประการ คือ

1.ปัญหาทางเศรษฐกิจ ฝรั่งเศสกำลังประสบภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากการใช้จ่ายเพื่อการ ทำสงครามต่าง ๆ โดยเฉพาะในสงครามประกาศอิสรภาพของ ชาวอเมริกัน ระหว่าง ค.ศ.1776 ? 1781 เพื่อสนับสนุนให้ชาวอาณานิคมต่อสู้กับอังกฤษ ด้วยสาเหตุดังกล่าวรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis  XVI , ค.ศ. 1776-1792 ) จึงมีนโยบายจะเก็บภาษีอากรจากประชาชนเพื่อชดเชยรายจ่ายที่ต้องสูญเสียไป สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ

2. ความเหลื่อมทางสังคม  ฝรั่งเศสมีโครงสร้างทางสังคมแบบชนชั้น โดยฐานะของผู้คนในสังคมมีสองกลุ่ม ใหญ่ ๆ คือ  ชนชั้นอภิสิทธิ์และชนชั้นสามัญชน แต่ในทางปฏิบัติทางการจะแบ่งฐานะของ พลเมืองออกเป็น 3 ชนชั้นหรือ 3 ฐานันดร  ( Estates )  ได้แก่

ฐานันดร ที่ 1 คือ พระและนักบวชในคริสต์ศาสนา
ฐานันดรที่ 2 คืน ขุนนางและชนชั้นสูง ทั้งสองฐานันดรเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์  มีจำนวนประมาณร้อยละ 2 ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายและหรูหรา
ฐานันดรที่ 3 คือ สามัญชน ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ยากจนและถูกขูดรีดภาษีอย่างหนัก รวมทั้ง พวกชนชั้นกลาง เช่น พ่อค้า ช่างฝีมือ และปัญญาชน ฯลฯ

3. ความเสื่อมโทรมของระบอบการปกครองแบบเก่า  กษัตริย์ฝรั่งเศสในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงมีพระราชอำนาจเป็นล้นพ้นไม่ มีขอบเขตจำกัดและทรงอยู่เหนือกฎหมายของบ้านเมืองโดยเฉพาะในรัชสมัยของพระ เจ้าหลุยส์ที่ 16 มีหลายครั้งที่ทรงใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน ทรงไม่สนพระทัยการบริหาร บ้านเมือง อีกทั้งยังทรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระนางมารี อังตัวเนตต์ ( Marie Antoinette ) พระราชินี ซึ่งทรงนิยมใช้จ่ายในพระราชสำนักอย่างฟุ่มเฟือย

ผลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789
1. เปลี่ยนจากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (คนเดียว) มาสู่ระบอบสาธารณรัฐ (หลายตน)
2. มีการล้มล้างกลุ่มอภิสิทธิชน พระและขุนนางหมดอำนาจ, กลุ่มสามัญชน กรรมกร ชาวนา และโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง เข้ามามีอำนาจแทนที่
3. ศาสนาจักรถูกรวมเข้ากับรัฐ ทำให้อำนาจของสันตะปาปาถูกควบคุมโดยรัฐ
4. เกิดความวุ่นวายทั่วประเทศเพราะประชนชนบางส่วนยังติดอยู่กับการปกครองแบบเก่า
5. มีการทำสงครามกับต่างชาติ
6. มีการขยายอิทธิพลแนวความคิดและเป็นต้นแบบของการปฏิวัติไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรป

การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติใหญ่ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางการเมืองทั่วยุโรป โดยมีสาเหตุทางด้านการคลังเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการปฏิวัติโดยกลุ่ม ชนชั้นกลางที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองโดยการล้มล้างการปกครองใน ระบอบเก่า (Ancient Regime) หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolutism) มาสู่อำนาจอธิปไตยของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในการปฏิวัตินั้นล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆเพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าทันโลกสมัยใหม่ มีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ข้อเสียอาจต้องแลกด้วยเลือดเนื้อของใครหลายคนเนื่องจากมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน ดังนั้นเราทุกคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันควรจะร่วมมือร่วมใจกัน พูดคุยกันด้วยเหตุและผล จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นเช่นการปฏิวัติฝรั่งเศส

อ้างอิง

การปฏิวัติฝรั่งเศส. สืบค้นเมื่อ  29 มกราคม พ.ศ.2557, จาก th.wikipedia.org/wiki/การปฏิวัติฝรั่งเศส

สาเหตุการปฏิวัติฝรั่งเศส.สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม พ.ศ.2557, จาก http://www.trueplookpanya.com/true/blog_diary_detail.php?diary_id=26660

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น