ชนชั้นในอียิปต์

โดย นิตยา แก้วพล
     
ในสังคมเกือบจะทุกสังคมมีการแบ่งชนชั้นทางสังคมทั้งสิ้น ซึ่งการแบ่งชนชั้นนั้นมีมานานกว่า 5000 ปีทีเดียว อย่างในสมัยอียิปต์โบราณ ก็มีการแบ่งผู้คนในสังคมเป็นชนชั้นต่างๆ อย่างชัดเจน และแต่ละชนชั้นนั้นก็มีบทบาทหน้าที่ทางสังคมแตกต่างกันออกไป

ในสังคมอียิปต์ยุคโบราณนั้นการแบ่งชนชั้นเริ่มปรากฏชัดเจนเมื่อสมัยที่อียิปต์รวมกันเป็นราชอาณาจักร  มีราชวงศ์ที่มีกษัตริย์ปกครองประเทศอย่างมั่นคงแล้ว สังคมอียิปต์ได้แบ่งชนออกเป็นชั้นต่าง ๆ เปรียบได้กับรูปสามเหลี่ยม สามารถจัดแบ่งออกได้เป็น 3 ชนชั้นใหญ่ๆ และอาจแบ่งออกเป็นแต่ละชนชั้นย่อยๆ ได้ 6 ระดับ ดังนี้

ชนชั้น แบ่งเป็น 3 ชนชั้น ได้แก่

1. ชนชั้นสูง

- กษัตริย์และราชวงศ์ถูกกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งสูงสุด กษัตริย์สามารถมีมเหสีและสนมได้มากมาย ที่อาจเป็นพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน เพราะต้องการรักษาสายเลือดที่บริสุทธิ์ของชนชั้นไว้

- พระและขุนนาง มีบทบาททางด้านศาสนาและการปกครอง ชนทั้งสองกลุ่มนี้จัดเป็นชนชั้นสูงรองจากกษัตริย์

2.ชนชั้นกลาง

- พ่อค้า  เสมียน ช่างฝีมือและศิลปิน

3. ชนชั้นต่ำ

- พวกชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ชาวนาซึ่งจัดเป็นชนชั้นต่ำส่วนใหญ่ของดินแดนสภาพของชาวนาอยู่ในรูปข้าติดที่ดิน ชาวนาเป็นกำลังสำคัญในกองทัพและเป็นแรงงานหลักในการสาธารณประโยชน์

- ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดถูกกวาดต้อนมาภายหลังพ่ายแพ้สงคราม



นอกจากจะแบ่งกว้างๆ เป็น 3 ชนชั้นใหญ่ๆ แล้ว อาจแบ่งผู้คนในสังคมเป็นกลุ่มย่อยได้ 6 ระดับ ดังนี้

1. กษัตริย์ (pharaoh)  มีอำนาจสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งเทพ หรือสมมติเทพนั่นเอง มีความเป็นอมตะ คำสั่งของฟาโรห์คือประกาศิตทรงมีพระราชอำนาจและสิทธิขาดทางการทหาร ทรงเป็นผู้นำทางศาสนา ทรงเป็นประธานในการประกอบพิธีต่าง ๆ ตลอดจนเรียกเก็บภาษีอากรต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้บำรุงประเทศ พระองค์ทรงแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดีที่เรียกว่าวิเซียร์ (vizier) เป็นตำแหน่งของอุปราช เพื่อทำหน้าที่รักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศทั้งการปกครองภายในและภายนอกรวมถึงการเกษตร การและชลประทาน และเพื่อเตรียมพระองค์ที่จะเป็นฟาโรห์ที่ดีต่อไปในอนาคต

ความยิ่งใหญ่ของฟาโรห์จะเห็นได้จากความใหญ่โตของปิรามิดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บพระศพเพราะมีความเชื่อกันว่าฟาโรห์จะฟื้นคืนชีพ ปิรามิดจึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุด ความยิ่งใหญ่ของปิรามิดจึงแสดงให้เห็นถึงอำนาจของฟาโรห์และความศรัทธาของชาวอียิปต์ที่มีต่อฟาโรห์แต่ละพระองค์

2. คณะสงฆ์ (priests) เป็นผู้ช่วยของฟาโรห์ในด้านการศาสนา ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ฟาโรห์ทรงแบ่งที่ดินให้คณะสงฆ์เพื่อจะได้เก็บผลประโยชน์มาเลี้ยงชีพและทำนุบำรุงวัด ความเชื่อในพิธีกรรมทางศาสนาเพิ่มอำนาจให้กับคณะสงฆ์ซึ่งอำนาจของพระมีมูลฐานมาจากความกลัวพระผุ้เป้นเจ้า เช่น พิธีเซ่นสังเวยเทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์  ในสมัยจักวรรดิพวกคณะสงฆ์ให้ความสนับสนุนฟาโรห์เป็นอย่างมาก ฟาโรห์ทรงตอบแทนโดยการงดเว้นไม่เก็บภาษีและยังทรงแบ่งรายได้ของชาติแก่พวกพระประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์

3. ขุนนาง  (nobles) หรือผู้ว่าการมณฑลหรือโนมาร์ซ  (Nomarch) เป็นขุนนางที่ฟาโรห์ไว้พระทัย แต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงประจำตามมณฑลหรือเมืองที่ห่างไกลจากเมืองหลวง มณฑลหรือเขตนั้นเรียกว่านอม (Nome) มีหน้าที่เก็บภาษี อียิป์โบราณ ซึ่งไม่ได้เก็บเป็นตัวเงิน แต่เก็บเป็นสิ่งของ เช่น ข้าวปลาอาหารและปศุสัตว์ส่งเข้าฉางหลวง ขุนนางมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายหรูหรา ประดับประดาบ้านที่พักด้วยเครื่องประดับที่มีราคาแพง บ้านส่วนใหญ่จะมีบริเวณกว้างขวางดูโอ่อ่า อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ขุนนางประเภทนี้มักก่อกบฎวุ่นวายและเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ อาณาจักรสมัยต่างๆ ในอดีตต้องเสื่อมลง นอกจากนั้นการเก็บภาษีเป็นงานที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อนต้องมีการลงบัญชีจำนวนของ มีการทำบัญชีผู้รับภาษีและออกใบรับให้ งานนี้จำต้องมีเจ้าพนักงานจดบันทึกเป็นจำนวนมากเจ้าพนักงานเหล่านี้ได้แก่เสมียน หรือที่เรียกว่า สไคร้บ์ (scribe)

4. ช่างฝีมือและพ่อค้า (artists and merchant)  พ่อค้าและช่างฝีมือมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายกว่าชาวนา ซึ่งฝีมือช่างนั้นทำได้ประณีตมากแสดงสมรรถภาพทางเทคนิคอย่างยากที่จะเทียบได้ ส่วนอุตสาหกรรมพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้พวกช่างฝีมือและพ่อค้ามีบทบาทสำคัญในสังคมซึ่งพ่อค้าและช่างฝีมือเป็นชนชั้นที่ได้ความเคารพนับถือมากและช่างฝีมือยังไม่ต้องเสียภาษี เช่น ช่างสลัก ช่างปูน และช่างอาบน้ำยาศพ เป็นต้น

5. ชาวนา (farmers)  มีความเป็นอยู่อย่างยากแค้น เป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับชนชั้นอื่น ๆ และยังเป็นผู่ที่แบกภาระที่หนักที่สุดของสังคมไว้ด้วย เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของชาวอียิปต์ขึ้นอยู่กับการเกษตรกรรม และยังเป็นผู้ที่ทำที่ดินอันสมบูรณ์ให้เกิดพืชผล เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ ข้าวมิลเลย์ ผัก ผลไม้ ป่านลินินและฝ้ายจนอียิปต์ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกในสมัยโบราณ ชาวนานอกจากต้องทำงานหนักแล้วยังต้องเสียภาษีอย่างแพงให้แก่เจ้าพนักงานอีกด้วย

6. ทาส (slaves) จัดอยู่ในชนชั้นต่ำที่สุดของสังคมอียิปต์ มีหน้าที่หาวัตถุดิบทุกอย่างเท่าที่มีอยู่ในประเทศ เช่นหนังสัตว์ และลำเลียงหินที่ใช้ในการก่อสร้างปิรามิดหรือสถาปัตยกรรมทางศาสนาอื่น ๆ รวมถึงการขุดคลองเขื่อนทดน้ำเพื่อทำให้การกสิกรรมเจริญขึ้น ก็ล้วนแต่เป็นแรงงานของพวกทาสทั้งสิ้น แต่ชนชั้นนี้มีความเป็นอยู่ที่ยากจนมาก อาศัยอยู่ในกระท่อมที่มุงด้วยจาก และสร้างบ้านด้วยอิฐที่ทำจากดินเหนียว ซึ่งแตกต่างจากจากพวกเหล่าขุนนางที่มีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบายเป็นอันมาก

ถึงแม้พลเมืองของอียิปต์แบ่งได้หลายประเภท แต่ไม่แบ่งแยกอย่างถาวรอย่างของอินเดีย การแบ่งชนชั้นและหน้าที่ในสังคมล้วนมีจุดหมายเป็นหนึ่งเดียวนั่นคือ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ความสงบเรียบร้อย และมีความเป็นระเบียบในสังคม แต่การแบ่งชนชั้นไม่ได้แบ่งจิตใจของคน ไม่ว่าจะมีกำเนิดในชนชั้นวรรณะใด หากแต่ทุกคนมีความสามัคคีกัน และทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด ก็จะนำพาประเทศพัฒนาและก้าวพ้นวิกฤตินานาประการไปได้          

อ้างอิง

ธิติมา   พิทักษ์ไพรวัน และคณะ.  (2553).  อารยธรรมสมัยโบราณ – สมัยกลาง(4).  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นันทนา กปิลกาญจน์.  (2526).  ประวัติศาสตร์และอารยธรรมสมัยโลกยุคโบราณจนถึง ค. ศ. 1789(3). กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์

อุดม   เชยกีวงศ์.  (2517).  ประวัติศาสตร์อารยธรรมสมัยโบราณ.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจเทรดดิ้ง.

Historyteacherp. อารธรรมลุ่มน้ำไนล์ ค้นข้อมูลวันที่ 22 กันยายน 2557 จาก http://writer.dek-d.com/historyteacherp/story/viewlongc.php?id=1050712&chapter=5


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น